ไทลื้อ หรือ คนลื้อ เป็นชาวไทยกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาลื้อ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่าง ๆ
เดิมชาวลื้อ หรือไทลื้อ มีถิ่นที่อยู่บริเวณ เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า "ลือแจง" ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่าคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำน้ำโขง สิบสองปันนาปัจจุบัน ประมาณศตวรรษที่ 12 จึงเกิดมีวีรบุรุษชาวไทลื้อชื่อ เจ้าเจื๋องหาญ ได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในสิบสองปันนาปัจจุบันตั้งเป็นอาณาจักรแจ่ลื้อ (เซอลี่) โดยได้ตั้งศูนย์อำนาจการปกครองเอาไว้ที่หอคำเชียงรุ่ง นาน 790 ปี ต่อมาถึงสมัยเจ้าอิ่นเมือง ครองราชต่อมาในปี ค.ศ. 1579-1583 (พ.ศ. 2122-2126) ได้แบ่งเขตการปกครองเป็นสิบสองหัวเมือง แต่ละหัวเมืองให้มีที่ทำนา 1,000 หาบข้าว (เชื้อพันธุ์ข้าว) ต่อนาหนึ่งที่/หนึ่งหัวเมือง จึงเป็นที่มาจนถึงปัจจุบันเมืองสิบสองปันนาได้แบ่งเขตการปกครองเอาไว้ในอดีตดังนี้ (ที่มาของคำว่า สิบสองพันนา อ่านออกเสียงเป็น "สิบสองปันนา")
ชาวไทลื้ออาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง คือ ด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ มีเมืองต่างๆ ดังนี้ภาษาไทลื้อ ได้กล่าวไว้ว่า ห้าเมิงตะวันตก หกเมิงตะวันออก รวมเจียงฮุ่ง (เชียงรุ่ง) เป็น 12 ปันนา และทั้ง 12 ปันนานั้น ประกอบด้วยเมืองใหญ่น้อยต่างๆ เช่น
การขยายตัวของชาวไทลื้อสมัยรัชกาลที่ 24 เจ้าอินเมืองได้เข้าตีเมืองแถน เชียงตุง เชียงแสน และล้านช้าง กอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น พร้อมทั้งตั้งหัวเมืองไทลื้อเป็นสิบสองเขต เรียกว่า สิบสองปันนา และในยุคนี้ได้มีการอพยพชาวไทลื้อบางส่วนเพื่อไปตั้งบ้านเรือนปกครองหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น จึงทำให้เกิดการกระจายตัวของชาวไทลื้อ ในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง (รัฐฉานปัจจุบัน) อันประกอบด้วยเมืองยู้ เมืองยอง เมืองหลวย เมืองเชียงแขง เมืองเชียงลาบ เมืองเลน เมืองพะยาก เมืองไฮ เมืองโก และเมืองเชียงทอง (ล้านช้าง) เมืองแถน(เดียนเบียนฟู) ซึ่งบางเมืองในแถบนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทลื้ออยู่แล้ว เช่น อาณาจักรเชียงแขง ซึ่งประกอบด้วย เมืองเชียงแขง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงกก เมืองเชียงลาบ เมืองกลาง เมืองลอง เมืองอาน เมืองพูเลา เมืองเชียงดาว เมืองสิง เป็นต้น
ชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพหรือถูกกวาดต้อน ออกจากเมืองเหล่านี้เมื่อประมาณหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปีที่ผ่านมา แล้วลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศตอนล่าง เช่น พม่า, ลาว และไทย
ในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) และเจ้าสุมนเทวราช (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน และเมืองบางส่วนในประเทศลาว และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าสุริยะพงษ์ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ก็ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน
ชาวไทยอง หรือ ชาวเมืองยอง ใช้เรียกกลุ่มคนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณเมืองยอง และกระจายอยู่ในด้านตะวันออกของรัฐฉาน ประเทศพม่า เขตสิบสองพันนา ในมณฑลยูนนานของจีน ภายหลังได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนใน จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย และน่าน ในสมัยรัชกาลที่ 1 ภายใต้กุศโลบาย "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ของ พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ เพื่อรื้อฟื้นอาณาจักรล้านนาภายหลังการยึดครองของพม่าสิ้นสุดลง จากตำนาน ชาวเมืองยองนั้น ได้อพยพมาจากเมืองเชียงรุ้งและเมืองอื่นๆ ในสิบสองปันนา ซึ่งเป็นคนไทลื้อ และได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งใหญ่ในเมืองลำพูน และ เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2348 ด้วยสาเหตุของสงคราม เจ้าเมืองยองพร้อมด้วยบุตรภรรยา น้องทั้ง 4 ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์และไพร่พลจากเมืองยอง จำนวน 20,000 คนเข้ามาแผ้วถางเมืองลำพูนที่ร้างอยู่ ตั้งบ้านเรือนตามลุ่มน้ำแม่ทา น้ำแม่ปิง ผู้คนทั่วไปในแถบนั้นจึงเรียกคนที่มาจากเมืองยองว่า ชาวไทยอง ในสมัยนั้นผู้คนต่างเมืองที่มาอยู่ร่วมกัน จะเรียกขานคนที่มาจากอีกเมืองหนึ่งตามนามของคนเมืองเดิม เช่น คนเมืองเชียงใหม่ คนเมืองลำปาง คนเมืองแพร่ คนเมืองน่าน คนเมืองเชียงตุง เป็นต้น แต่ของคนเมืองยองนั้น ต่อมาคำว่าเมืองได้หายไป คงเหลืออยู่คำว่า คนยอง ดังนั้น ยอง จึงมิใช่เป็นเผ่าพันธุ์ และเมื่อวิเคราะห์จากพัฒนาการ ประวัติศาสตร์ของเมืองยองแล้ว ชาวไทยอง ก็คือ ชาวไทลื้อนั่นเอง
ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 เจ้าสุนันทะ โอรสเจ้าเมืองเชียงรุ่ง ได้พาบริวารชาวไทลื้อจากเมืองเชียงรุ่ง เข้ามาปกครองเมืองยองเหนือคนพื้นเมือง ซึ่งเป็นชาวลัวะ โดยมีทั้งปัจจัยสนับสนุน ได้แก่
อำเภอท่าวังผา มีชาวไทลื้ออยู่ 5 ตำบล คือ ต.ศรีภูมิ บ้านห้วยเดื่อ ต.ป่าคา เป็นชาวไทลื้อที่มาจากเมืองล้า มี 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านหนองบัว บ้านดอนแก้ว บ้านต้นฮ่าง บ้านดอนมูล บ้านแฮะ ,ตำบลยม มีชาวไทลื้อ 5 หมู่บ้านเป็นชาวไทลื้อที่มาจากเมืองเชียงลาบ และเมืองยอง ประกอบด้วย บ้านลอมกลาง บ้านทุ่งฆ้อง บ้านเชียงยืน บ้านเสี้ยว บ้านหนองช้างแดง ,ต.จอมพระ เป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองยู้มีชาวไทลื้อ 5 หมู่บ้าน บ้านถ่อน และถ่อนสอง บ้านยู้ บ้านยู้เหนือ บ้านยู้ใต้
อำเภอปัว เป็นอำเภอที่มีชาวไทลื้ออยู่มากที่สุด ประกอบด้วย ต.ศิลาเพชรเป็นชาวไทลื้อ ที่อพยพมาจากเมืองยอง คือ บ้านดอนไชย บ้านทุ่งรัตนา มาจากเมืองเลน คือ บ้านป่าตอง บ้านนาคำ(หัวโต้ง) บ้านทุ่งศรีบุญยืน ,ตำบลศิลาแลง เป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองเชียงรุ่ง เมืองเลน เมืองยอง เมืองเงิน และเมืองพวน(ลื้อในเมืองพวนไม่ใช่ไทพวน) คือ บ้านดอนไชย-ไร่อ้อย บ้านฝาย(นาร้าง) บ้านหัวน้ำ บ้านตีนตก บ้านเฮี้ย บ้านหัวดอย, ต.วรนคร อพยพมาจากเมืองเลน (ลิน) เมืองยอง ปัจจุบันอยู่ในเขตพม่า คือ บ้านเก็ต บ้านร้องแง บ้านดอนแก้ว บ้านมอน ต.ปัว อพยพมาจากเมืองขอน เมืองยองและเมืองพวน คือ บ้านขอน บ้านป่าลาน อพยพมาจากเมืองยอง เมืองพวน คือ บ้านดอนแก้ว อพยพมาจากเมืองยอง คือ บ้านปรางค์ ต.สถาน อพยพมาจากเมืองยอง เมืองเชียงลาบ เมืองล้า เมืองเงิน คือ บ้านนาป่าน บ้านสันติสุข นอกนั้นในยังมีอีกไม่ต่ำกว่า 20 หมู่บ้านในอำเภอปัวที่เป็นชาวไทลื้อ
ส่วนในต่างประเทศนั้น มีการกระจายตัวกันเกือบทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่นในรัฐฉาน ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม(เมืองแถน และ เมืองเดียนเบียนฟู ก็มีการบันทึกไว้ว่ามีชาวไทลื้อ อยู่ที่นั่นด้วย)
ชาวไทลื้อมีชีวิตที่คล้ายคลึงกับชาวไทยหรือชนเผ่าอื่นในภูมิภาค คือมีการสร้างบ้านเรือนเป็นบ้านไม้ มีใต้ถุนสูง มีครัวไฟบนบ้าน ใต้ถุนเลี้ยงสัตว์ แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตได้เปลี่ยนไป การสร้างบ้านเรือนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย เรือนที่ยังคงสภาพเป็นเรือนไม้แบบเดิมสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อผสมล้านนายังพอจะมีให้เห็นบ้างในบางชุมชน เช่น บ้านธาตุสบแวน และบ้านหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
ชาวไทลื้อส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด นิยมสร้างวัดในชุมชนต่างๆ แทบทุกชุมชนของชาวไทลื้อ ทั้งยังตกแต่งด้วยศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์งดงาม มีการบูรณะ ซ่อมแซม ให้คงสภาพดีอยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียงบางแห่ง เช่น วิหารวัดดอนมูล วิหารวัดหนองแดง วิหารวัดหนองบัว วิหารวัดท่าฟ้าใต้ วิหารวัดแสนเมืองมา(วัดมาง) วิหารวัดหย่วน เป็นต้น
ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อได้แก่งานผ้าทอไทลื้อ นิยมใช้ผ้าฝ้าย บางสมัยนิยมใช้เส้นไหมจากต่างถิ่น ทอลวดลายที่เรียกว่า "ลายเกาะ" ด้วยเทคนิคการล้วง ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกว่า ลายน้ำไหล มีการฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแบบไทลื้อในหลายชุมชนของภาคเหนือในปัจจุบัน
ผู้ชายไทลื้อส่วนใหญ่จะนิยมสวมเสื้อขาวแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม เรียกว่า "เสื้อปา" สวมกางเกง[หม้อห้อม]]ขายาวต่อหัวกางเกงด้วยผ้าสีขาว เรียกว่า "เตี่ยวหัวขาว" นิยมโพกศีรษะ ("เคียนหัว") ด้วยผ้าสีขาว สีชมพู ส่วนหญิงไทลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ด (เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุมแต่สาบเสื้อจะป้ายเฉียงมาผูกไว้ที่เอวด้านข้าง) นุ่งซิ่นต๋าลื้อ สะพายกระเป๋าย่าม ("ถุงย่าม")และนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือสีชมพู
ชาวไทลื้อในสิบสองปันนาบางส่วนได้สมรสกับชาวหุยและเข้ารีตเป็นมุสลิม พวกเขาจะเรียกแทนตัวว่า "ไทหุย" พูดภาษาและแต่งกายอย่างไทลื้อแต่สวมหมวกและมีผ้าคลุมศีรษะ ในปี พ.ศ. 2553 มีจำนวนไทหุยทั้งหมด 743 คน ตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านหม่านล้วนหุย และบ้านหม่านซ่ายหุยในเขตเมืองฮาย