ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส อาศัยอยู่ร่วมกับชาวจีนในแถบกุฎีจีน ซึ่งย่านนี้ยังเป็นที่อยู่ของพวกเข้ารีตเชื้อสายโปรตุเกส และญวน ดังมีกล่าวไว้ในหนังสือสาสน์สมเด็จว่า “...ส่วนฝรั่งเชื้อสายโปรตุเกสที่เคยอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยา ก็ให้รวมกันตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำใต้กุฎีจีนต่อลงไป จึงเรียกกันว่า “ฝรั่งกุฎีจีน” คำว่า “ฝรั่งกุฎีจีน” นี้แสดงให้เห็นว่าชาวโปรตุเกสมาอยู่ทีหลังชาวจีน เพราะชื่อกุฎีจีนติดปากอยู่แล้ว
ชาวโปรตุเกสในปัจจุบันนั้นมีอยู่ที่บ้านวัดคอนเซ็ปชัญ (Conception) ซึ่งสืบเชื้อสายจากชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสเหล่านี้ส่วนใหญ่รับราชการเป็นทหาร ออกรบหลายครั้งจนได้รับความดีความชอบ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัด และเป็นที่อยู่อาศัยของชาวโปรตุเกสกลุ่มหนึ่งราว 60-70 ครอบครัว จึงมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลสวนพลู (ปัจจุบันคือโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และสุสาน) สังฆราชหลุยส์ลาโน ได้รวบรวมครอบครัวคริสตัง สร้างวัดพระแม่ปฏิสนธินิรมล (วัดน้อย) ขึ้นราว พ.ศ. 2217 ซึ่งเป็นโบสถ์เครื่องไม้ ต่อมาได้ทรุดโทรม พระสังฆราชปาเลอกัวซ์จึงได้สร้างวัดคอนเซ็ปชัญราว พ.ศ. 2379 สง่างามด้วยสถาปัตยกรรมยุโรปเคียงข้างวัดน้อย
เรื่องราวของหมู่บ้านคอนเซ็ปชัญปรากฏอีกครั้งใน พ.ศ. 2325 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในชาวเขมรเข้ารีตที่หนีภัยจากการจลาจลราว 400-500 คน ให้มาอยู่รวมกับชาวโปรตุเกส ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่าชาวเขมรนับถือศาสนาคริสต์เหมือนกับชาวโปรตุเกส ตั้งแต่นั้นบ้านโปรตุเกสจึงถูกเรียกว่า บ้านเขมร วัดคอนเซ็ปชัญ ก็ถูกเรียกว่าวัดเขมร แต่นั้นมา และอยู่อาศัยปะปนรวมกับชาวเขมร รวมถึงบ้านญวนสามเสนที่อยู่ใกล้ๆกันนั้นเอง
จากประวัติพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อพระเจ้าตากสินสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว คุณพ่อกอร์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและพาพวกเข้ารีตหลบหนีไปอยู่เขมรเมื่อกรุงแตก ได้กลับมาพร้อมพวกเข้ารีตและได้พบหมู่คริสตังจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่รวมกันใกล้ป้อมที่บางกอก จึงได้ขอพระราชทานที่ดินบริเวณนี้จากพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อสร้างโบสถ์ ตั้งชื่อว่า “ซางตาครู้ส” (Santa Cruz) เป็นโบสถ์โรมันคาทอลิกเก่าแก่อันดับ 2 รองจากวัดคอนเซ็ปชัญ ที่สามเสนฝั่งตะวันออก ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พวกโปรตุเกสนอกจากจะตั้งถิ่นฐานในชุมชนกุฎีจีนแล้ว ยังมีที่วัดกาลหว่าร์ บริเวณตลาดน้อย ซึ่งเป็นโบสถ์โรมันคาทอลิกหลังที่ 3 ในบางกอก อันถือมาจากความขัดแย้งในหมู่ชาวโปรตุเกสที่วัดซางตาครู้ส ซึ่งบางส่วนไม่ยอมรับการปกรองของบาทหลวงชาวฝรั่งเศส จึงแยกมาตั้งวัดเป็นของตนเอง ทว่าภายหลังชาวโปรตุเกสที่วัดกาลหว่าร์น้อยลงกว่าชาวคริสตังเชื้อสายจีนที่อพยพมาอาศัยมากขึ้น
ฝรั่งโปรตุเกสกุฎีจีนกลุ่มนี้ได้แต่งงานผสมผสานกับคนไทย มีลูกหลานสืบเชื้อสายจนถึงปัจจุบัน เช่นตระกูลทรรทรานนท์ จันทรัคคะ ดากรู้ด สิงหทัต จาค๊อป สงวนยวง เดฮอตา สงวนแก้ว ทองหล่อ มรดกที่ตกทอดจากตระกูลวงศ์แล้ว ผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยบริเวณข้างโบสถ์ซางตาครู้สบางคนได้ให้ข้อมูลว่าแต่ก่อนมีการใช้คำว่า “อาโว” เป็นสรรพนามเรียกแม่เฒ่า และ “จง” เป็นสรรพนามเรียกพ่อเฒ่า ส่วนในบ้านโบสถ์คอนเซ็ปชัญยังมีตระกูล ดาครุส โรดิเกส ลิเบโรย และใช้ภาษาโปรตุเกสบ้างอย่างคำว่า “ป๋าย” แปลว่าพ่อ ติว แปลว่า อาผู้ชาย เต แปลว่า อาผู้หญิง นอกจากนี้ยังมีอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ และในอดีตเคยใช้ชาวโปรตุเกสจากที่ชุมชนกุฎีจีนติดต่อค้าขายกับต่างประเทศด้วย จนเรียกว่าชาวโปรตุเกสที่บ้านกุฎีจีนเป็นฝ่ายบุ๋น และฝ่ายบ้านคอนเซ็ปชัญเป็นฝ่ายบู๊ เนื่องจากสืบเชื้อสายของพระยาวิเศษสงครามรามภักดี ต้นตระกูลวงศ์ภักดี และวิเศษรัตน์ ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสทั้งสองกลุ่มจะมีความแตกต่างกันบ้าง อย่างที่ชุมชนคอนเซ็ปชัญจะอยู่ปะปนกันทั้งชาวโปรตุเกส เขมร และญวน ส่วนที่ชุมชนกุฎีจีนชาวโปรตุเกสจะมีปะปนอยู่กับชาวจีน และญวน
อาหารของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส เป็นอาหารที่ได้รับตำรับจากโปรตุเกส แต่ได้ผสมผสานกับไทยไปไม่น้อยเช่นกัน แม้แต่ไทยเองยังรับตำรับขนมหวานของโปรตุเกสมา อย่างทองหยิบ ทองหยอด อาหารที่สำคัญๆของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสได้แก่