ไทยรัฐทีวี เป็นช่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในประเทศไทย ความคมชัดสูง ผลิตโดย บริษัท ทริปเปิลวีบรอดคาสต์ จำกัด ในเครือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 ไทยรัฐทีวีเริ่มทดลองออกอากาศ ผ่านอุปกรณ์รวมส่งสัญญาณ ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นภาพทดสอบพร้อมเสียงระบบดอลบี 5.1[ต้องการอ้างอิง]
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ฝ่ายข่าวไทยรัฐทีวีทดลองออกอากาศผ่านอินเทอร์เน็ตรายงานสดการอ่านคำพิพากษาศาลอาญาระหว่างประเทศ กรณีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร[ต้องการอ้างอิง]
เริ่มออกอากาศวันที่ 24 เมษายน เวลา 18:00 น.[ต้องการอ้างอิง] เวลา 19:00 น. จึงเข้าสู่ภาคข่าวประจำวัน ไทยรัฐนิวส์โชว์ ก่อนมีการถ่ายทอดสด พิธีเปิดไทยรัฐทีวี ซึ่งจัดขึ้นที่เซ็นเตอร์พอยต์สตูดิโอ ซอยลาซาล โดยนำเสนอในรูปของรายการพิเศษ ทีวีแบตเทิล ระหว่างเวลา 19:15-21:00 น. ซึ่งแสดงตัวอย่างรายการใหม่ คราวละสองรายการ แล้วให้ผู้ชมในสตูดิโอ ลงคะแนนให้รายการทั้งสอง เมื่อได้ผลว่ารายการใดมีคะแนนมากกว่า ไทยรัฐทีวีจะนำรายการนั้นมาออกอากาศ ในผังรายการระยะแรกสุดของช่อง[ต้องการอ้างอิง]
ไทยรัฐทีวี จัดซื้อระบบบริหารกราฟิกออ?กอากาศ (Broadcast Graphics; BG) ของบริษัทวิซอาร์ที (Vizrt) จากประเทศนอร์เวย์ มูลค่า 1,400,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่องโทรทัศน์ชั้นนำของโลก อย่างซีเอ็นเอ็น, บีบีซี, อัลญะซีเราะฮ์, ซีซีทีวี, เอ็นเอชเค จัดซื้อไปใช้งานเช่นกัน นอกจากนี้ ยังจัดซื้ออุปกรณ์กระจายเสียง ด้วยเทคโนโลยีระบบดอลบี เพื่อให้เสียงในการออกอากาศ เป็นไปอย่างคมชัด ทว่าต่อมาราวเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 กลับยกเลิกการส่งสัญญาณเสียง ในระบบดอลบีดังกล่าวลง[ต้องการอ้างอิง]
จากการที่ไทยรัฐทีวีใช้ระบบกราฟิกออกอากาศของวิซอาร์ที ทำให้กราฟิกบนหน้าจอในระหว่างการออกอากาศ มีความโดดเด่นกว่าช่องอื่นๆ เช่น ช่วงก่อนเข้ารายการและช่วงก่อนตัดเข้าสู่ช่วงพักโฆษณา อัตลักษณ์จะมีการเคลื่อนไหวเข้าและออกตลอดเวลา รวมถึงมีการแสดงอัตลักษณ์ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ อีกด้วย[ต้องการอ้างอิง]
ทั้งนี้ ไทยรัฐทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์ช่องแรกในประเทศไทยที่นำข้อความจากแอพลิเคชันไลน์ของผู้ชมมาแสดงขึ้นบนหน้าจอ โดยใช้บัญชีไลน์กลางของไทยรัฐเอง โดยไทยรัฐทีวีเริ่มนำเสนอในลักษณะนี้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558 โดยแสดงเป็นแถบถัดจากสัญลักษณ์รายการที่มุมล่างซ้าย ก่อนที่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ได้ย้ายลงมาไว้ที่ด้านล่างของจอ เพื่อความต่อเนื่องในการแสดงข้อความ ซึ่งต่อมาสถานีโทรทัศน์ไทยหลายช่องทั้งที่เป็นฟรีทีวีดิจิทัลรวมถึงช่องโทรทัศน์ดาวเทียม ต่างนำรูปแบบดังกล่าวไปใช้กับแต่ละช่องตามลำดับ
ไทยรัฐทีวีใช้ช่องยูทูบ ของไทยรัฐเองในการถ่ายทอดสดรายการต่าง ๆ เช่น ถ่ายทอดสดรายการกีฬาต่าง ๆ หรือถ่ายทอดสดกิจกรรมพิเศษ หรือเหตุการณ์ข่าวที่เกิดหลัง โดยไม่มีโฆษณาคั่น แตจะแทนที่ด้วยโฆษณารายการต่างๆของสถานีฯ (กรณีดึงสัญญาณจากการออกอากาศปกติ เช่น ถ่ายทอดสดโตโยต้ามวยไทยลีก ฯลฯ ) และภาพบรรยากาศสดจากสถานที่ที่ทำการถ่ายทอด (กรณีใช้สัญญาณแยกต่างหาก เช่น ถ่ายทอดสดศึกยอดมวยไทยรัฐ ฯลฯ)