ไทเขิน หรือ ไทขึน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทกลุ่มหนึ่งที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า มีบ้างที่อาศัยในประเทศไทย หรือจีน
สาเหตุที่เขาเรียกตนเองว่า "ขึน" นั้นยังไม่มีข้อยุติ บ้างก็ว่าตั้งชื่อตามแม่น้ำขึน ซึ่งไหลผ่านเมืองเชียงตุงจากตะวันตกขึ้นไปทางเหนือแล้วจึงไหลลงใต้แปลกจากแม่น้ำสายอื่น จึงเรียกแม่น้ำนั้นว่า "ขึน" (ทำนองคำว่า ขัดขืน หรือ ฝืน) ด้วยเหตุนี้พลเมืองที่อาศัยอยู่ตามสองฝั่งน้ำจึงเรียกตนเองว่า "ขึน" หรือ "ไตขึน" บ้างก็ว่าในรัชสมัยพญามังรายรบได้เมืองเชียงตุงแล้ว ได้ส่งไพร่พลจากเชียงแสนและเชียงรายขึ้นไปอยู่ ชาวเมืองทั้งสองไม่ชอบเมืองเชียงตุงจึงหนีกลับกันลงมา พญามังรายก็ส่งกลับขึ้นไปอีกแล้วก็หนีลงมาอีก ชาวเมืองจึงได้ชื่อว่า "ขืน" ที่หมายถึง "กลับคืน"
ชาวไทขึน หรือไทยเรียกว่า ไทเขิน เป็นพลเมืองหลักของเมืองเชียงตุง ที่เข้ามาแทนที่ชนพื้นเมืองที่ตั้งรกรากอยู่ก่อนหน้าคือชาวลัวะ จากแต่เดิมไทเขินเข้าไปอยู่ปะปนก่อนหน้านี้ บางแห่งก็ว่าไทเขินสืบเชื้อสายมาจากไทลื้อ ด้วยมีลักษณะและขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายกัน บ้างก็ว่ามีบรรพบุรุษเป็นไทยวนที่อพยพขึ้นเหนือช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ตั้งแต่สมัยพญามังราย และสันนิษฐานว่าชนกลุ่มนี้น่าจะเคยเรียกตัวเองว่า "โยน" หรือ "ยวน" มาก่อน
ใน ตำนานพื้นเมืองเชียงตุง กล่าวถึง พิธีนั่งเมืองในรัชสมัยพญามังราย ที่ส่งเจ้าน้ำท่วมขึ้นมาครองเมืองว่า เมืองเชียงตุงเป็นเมือง "นามจันทร์" ไม่ต้องโฉลกในโหราศาสตร์กับ "โยน" ซึ่งเป็นเมือง "นามราหู" ดังนั้นพวกโยนขึ้นไปปกครองเมืองเชียงตุงจะอยู่ได้ไม่มั่นคง ต้องแก้เคล็ดด้วยการตามพวก "เขินหลวง" 96 คนจากทางใต้ที่ถูกนามเมืองให้ร่วมพิธีด้วย แล้วให้พวกโยนที่ขึ้นไปอยู่เชียงตุงตัดผมสั้นอย่างเขินหลวง หลังจากนั้นเจ้าน้ำท่วมก็ครองเมืองเชียงตุงด้วยความผาสุกสืบมา จนกระทั่งรัฐบาลทหารพม่ายกเลิกตำแหน่งเจ้านายไป เมื่อปี พ.ศ. 2505
บางแห่งก็ว่าบรรพบุรุษชาวไทเขินเป็นชาวญี่ปุ่น ปรากฏครั้งแรกในงานเขียนของ ดอกเตอร์ วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ โดยกล่าวว่า ในปี ค.ศ. 1931 มีคณะทูตญี่ปุ่นประจำพม่าได้มาสืบเรื่องราวของชาวญี่ปุ่นในเชียงตุง ก็พบว่าเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวไทเขิน อาทิ หมวก, รองเท้า และแบบแผนบ้านเรือนนั้น คล้ายกับชาวญี่ปุ่นในสมัยก่อน และตีความว่า "เขินหลวง" 96 คนในตำนานเมืองเชียงตุงนั้น อาจเป็นซะมุไรในบัญชาของยะมะดะ นะงะมะซะ อดีตขุนนางในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ได้พาพรรคพวกหนีมายังเชียงตุงเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่อย่างไรก็ตามการตีความดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองรัฐฉาน ก็ถือโอกาสแพร่โฆษณาชวนเชื่อว่าชาวเชียงตุงและชาวญี่ปุ่นเป็นสายเลือดเดียวกัน และปัจจุบันนี้เรื่องดังกล่าวก็ได้รับการเชื่อถือจากชาวไทเขินพอสมควร และปรากฏในงานเขียนประวัติศาสตร์ของไทเขินอยู่ดาษดื่น
ภาษาไทเขิน มีความคล้ายและใกล้เคียงกับภาษายองและไทลื้อมาก ทั้งยังคล้ายกับภาษาไทยวน ต่างเพียงแค่สำเนียง และการลงท้ายคำ ซึ่งชาวเขินแบบได้เป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มเขินก่อ-เขินแด้, กลุ่มเขินอู และกลุ่มเขินหวา
ส่วนอักษรนั้นชาวไทเขินได้รับอิทธิพลอักษรจากไทยวนจากการเผยแผ่ศาสนาในเมืองเชียงตุง ไทเขินรับอักษรธรรมล้านนาและอักษรฝักขามไปพร้อม ๆ กับศาสนา อักษรไทเขินจึงมีลักษณะคล้ายกับอักษรธรรมล้านนา รวมทั้งยังรับวรรณกรรมล้านนาที่แพร่หลายสู่เชียงตุงด้วย
นอกจากนี้ชาวไทเขินในเชียงตุงบางส่วนที่เคยได้รับการเรียนภาษาไทยช่วงที่ไทยเข้าปกครอง สามารถพูดและอ่านภาษาไทยได้ดี
ในอดีตชาวไทเขินนับถือความเชื่อเรื่องและวิญญาณ แม้หลังการรับศาสนาแล้วความเชื่อดังกล่าวก็ยังคงอยู่ นอกจากนี้ยังนับถือกบและนาคเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ ดังปรากฏในพิธีปั้นกบเรียกฝนในช่วงสงกรานต์ และการระบำนางนาค เป็นต้น
เมืองเชียงตุงมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรล้านนาช้านาน จึงมีการติดต่อด้านศาสนาและรับศาสนาพุทธนิกายเถรวาทสืบมา ทั้งนี้พระสงฆ์เขินจะไม่สังฆกรรมร่วมกับพระสงฆ์พม่าและไทใหญ่ แม้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคณะสงฆ์ไทใหญ่ แต่คณะสงฆ์เขินกลับสนิทสนมกับคณะสงฆ์ไทยเสียมากกว่า โดยคณะสงฆ์เขินมี สมเด็จอาชญาธรรม เป็นประมุขสงฆ์แห่งเมืองเชียงตุงและหัวเมืองทางฟากตะวันออกของลุ่มน้ำสาละวิน
ครั้นรัฐบาลพม่าได้จัดประชุมตัวแทนพระสงฆ์ทั่วประเทศ โดยให้ตัวแทนของพระสงฆ์แต่ละนิกายแสดงสถานภาพตนเองว่าจะสังกัดนิกายใด หรือจะใช้นิกายเดิม หรือรวมกับนิกายอื่น ปรากฏว่าพระสงฆ์เขินได้มีเจตจำนงรวมเข้ากับนิกายสุธรรมาซึ่งเป็นนิกายที่ใหญ่ที่สุดของพม่า หลังจากนั้นเป็นต้นมา สมเด็จอาชญาธรรม ประมุขของคณะสงฆ์เขินจึงถูกลดฐานะลงเทียบเจ้าคณะอำเภอเชียงตุงเท่านั้น
อย่างไรก็ตามแม้ล้านนาจะถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยแล้ว การจัดระเบียบปกครองสงฆ์ล้วนทำเป็นอย่างสงฆ์ในกรุงเทพมหานคร และได้รับอิทธิพลศาสนาพุทธแบบกรุงเทพฯ ในยุคหลังมานี้ แม้คณะสงฆ์เขินจะคงจารีตสมณะศักดิ์แบบล้านนาเดิมไว้ แต่ในด้านการศึกษาของพระสงฆ์เขินเชียงตุงได้พยายามอิงหลักสูตรนักธรรมและบาลีของคณะสงฆ์ไทย ทำให้มีความแตกต่างจากศาสนาพุทธแบบพม่า และแบบไทใหญ่ ทั้งศาสนิกชนยังนิยมพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์แบบไทย มากกว่าพระพุทธรูปพุทธศิลป์แบบพม่า ทางรัฐบาลพม่าเองก็ไม่พอใจคณะสงฆ์เขินนักด้วยมองว่าคณะสงฆ์เขินฝักใฝ่คณะสงฆ์ไทย