ไข้รากสาดน้อย หรือ ไข้ไทฟอยด์ (อังกฤษ: Typhoid fever; Enteric fever) เป็นการเจ็บป่วยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonella enterica serovar Typhi พบได้ทั่วโลกโดยติดต่อผ่านทางการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วย โดยเชื้อแบคทีเรียก่อโรคนี้จะเจาะทะลุผนังลำไส้แล้วถูกจับกินโดยเซลล์แมโครฟาจ (macrophage) จากนั้นเชื้อ Salmonella typhi จะเปลี่ยนโครงสร้างตัวเองเพื่อดื้อทำลายและสามารถหลบหนีออกจากแมโครฟาจได้ กลไกดังกล่าวทำให้เชื้อดื้อทำลายโดยแกรนูโลไซต์ ระบบคอมพลีเมนต์ และระบบภูมิคุ้มกัน จากนั้นเชื้อก่อโรคจะกระจายไปทั่วร่างกายผ่านทางน้ำเหลืองขณะที่อยู่ในเซลล์แมโครฟาจ ทำให้เชื้อเข้าสู่ระบบเรติคูโลเอนโดทีเลียม (reticuloendothelial system) และไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย
จุลชีพก่อโรคนี้เป็นแบคทีเรียแกรมลบ รูปแท่งสั้น ซึ่งเคลื่อนที่โดยแฟลกเจลลัมหลายเส้น (peritrichous flagella) แบคทีเรียเจริญได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิกาย 37 ?C (99 ?F)
ไข้รากสาดน้อยมีอาการไข้สูงคงตัวที่ประมาณ 40 ?C (104 ?F) เหงื่อออกมาก กระเพาะและลำไส้อักเสบ และท้องเสียไม่มีเลือดปน อาการที่พบไม่บ่อยเช่นจุดผื่นราบสีกุหลาบหรือสีแดง
โดยทั่วไปแล้วการดำเนินโรคไทฟอยด์แบ่งออกเป็น 4 ระยะหากไม่ได้รับการรักษา ในแต่ละระยะกินเวลาราว 1 สัปดาห์ ในสัปดาห์แรกมีอาการไข้สูงขึ้นทีละน้อยร่วมกับหัวใจเต้นช้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และไอ อาจพบการตกเลือดกำเดาราว 1 ใน 4 ของผู้ป่วยและอาจพบอาการปวดท้อง มีภาวะเม็ดเลือดขาวน้อยเกินร่วมกับภาวะอีโอสิโนฟิลน้อยเกินและภาวะลิมโฟไซต์มากเกินสัมพัทธ์ ผลปฏิกิริยาไดอะโซ (diazo reaction) ให้ผลบวก และการเพาะเชื้อจากเลือดปรากฏเชื้อ Salmonella typhi หรือ paratyphi การทดสอบไวดัล (Widal test) เพื่อวินิจฉัยโรคนี้มักให้ผลลบในสัปดาห์แรก
ในสัปดาห์ที่สองหลังติดเชื้อ ผู้ป่วยมักนอนหมดกำลังร่วมกับไข้สูงลอยราว 40 ?C (104 ?F) และหัวใจเต้นช้า มักพบชีพจรสองยอด (dicrotic pulse wave) ในคลื่นความดันหัวใจ มักพบอาการเพ้อ ผู้ป่วยมักสงบแต่บางครั้งอาจกระสับกระส่าย จุดแดงปรากฏในหน้าอกส่วนล่างและท้องในผู้ป่วยราว 1 ใน 3 หากฟังเสียงปอดอาจพบเสียงอึ๊ด (rhonchi) ที่ฐานปอด ที่ท้องอาจบวมและกดเจ็บที่จตุภาคล่างขวา (right lower quadrant) ซึ่งสามารถได้ยินเสียงท้องร้อง (borborygmi) อาจพบอาการท้องเสียได้ในระยะนี้ โดยถ่ายราว 6-8 ครั้งต่อวันเป็นสีเขียวร่วมกับกลิ่นคล้ายซุปถั่ว แต่ก็อาจพบท้องผูกได้บ่อย ม้ามและตับโตและกดเจ็บ ตรวจเอนไซม์ตับทรานสอะมิเนส (transaminases) สูงขึ้น ปฏิกิริยาไวดัลเป็นบวกชัดเจน ร่วมกับพบแอนติบอดี antiO และ antiH เพาะเชื้อจากเลือดบางครั้งยังให้ผลบวกในระยะนี้
ไข้จะคงสูงมากและแกว่งเล็กน้อยใน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำและผู้ป่วยเพ้อจากพิษไข้ (ระยะไทฟอยด์; typhoid state) ช่วงท้ายสัปดาห์ที่สามอาการไข้ลดลง (ระยะไข้สร่าง) ซึ่งดำเนินต่อไปในสัปดาห์ที่สี่และสัปดาห์สุดท้าย