โลกาภิวัตน์ (มักเขียนผิดเป็น โลกาภิวัฒน์) หรือ โลกานุวัตร (อังกฤษ: globalization) คือ ผลจากการพัฒนาการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ อันแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน หน่วยธุรกิจ และรัฐบาล ทั่วทั้งโลก
โลกาภิวัตน์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง "การแพร่กระจายไปทั่วโลก; การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศเป็นต้น" โลกาภิวัตน์ เป็นคำศัพท์เฉพาะที่บัญญัติขึ้นเพื่อตอบสนองปรากฏการณ์ของสังคมโลกที่เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในส่วนหนึ่งของโลก ส่งผลกระทบอันรวดเร็วและสำคัญต่อส่วนอื่นๆของโลก
โลกาภิวัตน์ หมายถึงกระบวนการที่ประชากรของโลกถูกหลอมรวมกลายเป็นสังคมเดี่ยว กระบวนการนี้เกิดจากแรงของอิทธิพลร่วมทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและสังคม-วัฒนธรรมและการเมือง
คำว่า “โลกาภิวัตน์” ในภาษาอังกฤษคือ “Globalization” สามารถสืบย้อนไปได้ถึง พ.ศ. 2487 (1944) แต่ได้นำมาใช้โดยนักเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 (1981) มานี้เอง อย่างไรก็ดี แนวคิดยังไม่แพร่หลายและเป็นที่นิยมจนกระทั่งหลัง พ.ศ. 2538 (1995) เป็นต้นมา แนวคิดแรกสุดและการพยากรณ์ถึงการหลอมรวมของสังคมของโลกเกิดจากข้อเขียนของนักประกอบการที่ผันตัวเป็นศาสนาจารย์ชื่อ “ชารลส์ ทาซ รัสเซลล์ (Charles Taze Russell) ผู้ใช้คำว่า “บรรษัทยักษ์ใหญ่” (corporate giants ) เมื่อปี พ.ศ. 2440 นักวิทยาศาสตร์สังคมหลายท่านได้พยายามแสดงให้เห็นความต่อเนื่องระหว่างแนวโน้มร่วมสมัยของโลกาภิวัตน์กับยุคก่อนหน้านั้นยุคแรกของโลกาภิวัตน์ (ในความหมายเต็ม) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พ.ศ. 2344 – พ.ศ. 2443) เป็นการเติบโตที่รวดเร็วมากในด้านการค้านานาชาติระหว่างจักรวรรดิอำนาจในยุโรป อาณานิคมของยุโรปและสหรัฐฯ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกาภิวัตน์ได้เริ่มขึ้นใหม่และถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าใหญ่ๆ ที่ช่วยทำให้ลดค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าลงได้มาก
โลกาภิวัตน์ถูกมองว่าเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาเป็นศตวรรษที่ติดตามการขยายตัวของประชากรและการเจริญเติบโตทางอารยธรรมที่ถูกเร่งในอัตราสูงมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา รูปแบบโลกาภิวัตน์ยุคแรกๆ มีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน จักรวรรดิพาเธีย (จักรวรรดิอิหร่านระหว่าง พ.ศ. 296 – พ.ศ. 763) และสมัยราชวงศ์ฮั่นเมื่อเส้นทางสายไหมที่เริ่มจากจีนไปถึงชายแดนของจักรวรรดิพาเทียและต่อเนื่องไปสู่กรุงโรม ยุคทองของอิสลามนับเป็นตัวอย่างหนึ่งเมื่อพ่อค้าและนักสำรวจชาวมุสลิมวางรากฐานเศรษฐกิจของโลกยุคแรกไปทั่ว “โลกเก่า” ยังผลให้เกิดโลกาภิวัตน์กับพืชผล การค้า ความรู้และเทคโนโลยีต่อมาถึงระหว่างยุคของจักรวรรดิมองโกลซึ่งมีความเจริญมากขึ้นตามเส้นทางสายไหม การบูรณาการโลกาภิวัตน์มีความต่อเนื่องมาถึงยุคขยายตัวทางการค้าของยุโรป เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษ ที่ 16 และ17 (ระหว่าง พ.ศ. 2043 – พ.ศ. 2242) เมื่อจักรวรรดิโปรตุเกสและจักรวรรดิสเปนได้แผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลกหลังจากที่ได้ขยายไปถึงอเมริกา
โลกาภิวัตน์กลายเป็นปรากฏการณ์ทางธุรกิจในคริสต์ศตวรรษที่ 17 (พ.ศ. 2143 – พ.ศ. 2242) เมื่อบริษัทดัทช์อินเดียตะวันออก ซึ่งถือกันว่าเป็น “บรรษัทข้ามชาติ” แรกได้รับการจัดตั้งขึ้น แต่เนื่องจากการมีความเสี่ยงที่สูงมากในการค้าระหว่างประเทศ บริษัทดัทช์อินเดียตะวันออกได้กลายเป็นบริษัทแรกของโลกที่ใช้วิธีกระจายความเสี่ยง ยอมให้มีการร่วมเป็นเจ้าของด้วยการออกหุ้นซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญที่ทำให้เกิดโลกาภิวัตน์
การปล่อยหรือการเปิดเสรีทางการค้าในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งบางครั้งเรียกกันว่า “ยุคแรกแห่งโลกาภิวัตน์” เป็นยุคที่มีลักษณะการเจริญเติบโตของการค้าและการลงทุนของโลกในอัตราที่รวดเร็วระหว่างจักรวรรดิอำนาจยุโรปกับอาณานิคมอละต่อมากับสหรัฐฯ ในยุคนี้เองที่พื้นที่บริเวณใต้สะฮาราและหมู่เกาะแปซิฟิกถูกจัดรวมเข้าไว้ในระบบโลก “ยุคแรกแห่งโลกาภิวัตน์” เริ่มแตกสลายเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มขึ้น และต่อมาได้ล่มสลายในช่วงวิกฤติมาตรฐานทองคำในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2468 – พ.ศ. 2478
โลกาภิวัตน์ในยุคตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผลที่ตามมาจากการวางแผนของนักเศรษฐศาสตร์และผลประโยชน์ทางธุรกิจ รวมทั้งนักการเมืองได้ตระหนักถึงค่าใช้จ่ายที่สัมพันธ์กับลัทธิคุ้มครอง (Protectionism) การถดถอยของการรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ ผลงานของพวกเขาได้นำไปสู่การประชุม “เบรทตัน วูด” (Bretton Woods) ที่ทำให้เกิดสถาบันนานาชาติหลายแห่งที่มีวัตถุประสงค์คอยเฝ้ามองกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่ฟื้นตัวใหม่ คอยส่งเสริมการเจริญเติบโตและจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา สถาบันดังกล่าวได้แก่ “ธนาคารสากลเพื่อการฟื้นฟูและการพัฒนา" (ธนาคารโลก) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ทั้งสองสถาบันแสวงหาเทคโนโลยีขั้นก้าวหน้าต่างๆ มาใช้ เพื่อการลดต้นทุนการค้า มีการเจรจาทางการค้า ที่เดิมอยู่ภายใต้ความอุปถัมภ์ของ GATT ซึ่งจัดการให้มีการประชุมเพื่อเจรจาตกลงยกเลิกข้อจำกัดที่กีดขวางการค้าโดยเสรีอย่างต่อเนื่อง การประชุมรอบอุรุกวัย (พ.ศ. 2527 – พ.ศ. 2538) นำไปสู่การก่อตั้งองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อใช้เป็นที่ไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งทางการค้า และเพื่อจัดวางพื้นฐานให้การค้าเป็นในบรรทัดฐานเดียวกัน ข้อตกลงทวิภาคี และพหุภาคีทางการค้า รวมถึงส่วนของ “สนธิสัญญามาสทริชท์” ( Maastricht Treaty) ของยุโรป และมีการตกลงและลงนามใน “ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ” (NAFTA) เพื่อให้บรรล
เมื่อมองโลกาภิวัตน์เฉพาะทางเศรษฐกิจ การวัดอาจทำได้หลายทางที่แตกต่างกัน โดยดูจากการรวมศูนย์การเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่อาจบ่งชี้ความเป็นโลกาภิวัตน์เห็นได้ 4 แนวดังนี้:
นั่นคือ เป็นการวัดดูว่าชาติ หรือวัฒนธรรมนั้นๆ มีความเป็นโลกาภิวัตน์ตั้งแต่ต้นมาถึงในปีที่ทำการวัดล่าสุด โดยใช้ตัวแทนง่ายๆ เช่น การเคลื่อนไหลของสินค้าเข้า-ออก การย้ายถิ่นฐาน หรือเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศดังกล่าวข้างต้น
เนื่องจากโลกาภิวัตน์ไม่ใช่ปรากฏการณ์อย่างเดียวทางเศรษฐกิจ การใช้การเข้าสู่ปัญหาด้วยวิธีแบบหลายตัวแปรมาเป็นตัวชี้วัดความเป็นโลกาภิวัตน์จึงเกิดขึ้นโดยเริ่มของ “ถังความคิด” (Think tank) ในสวิสเซอร์แลนด์ KOF ดัชนีมุ่งชี้วัดไปที่มิติหลัก 3 ตัวของโลก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง นอกจากการใช้ตัวชี้วัดหลักทั้งสามตัวนี้แล้ว ดัชนีรวมของโลกาภิวัตน์และตัวชี้วัดกึ่งดัชนีโยงไปถึงการเคลื่อนไหวจริงทางเศรษฐกิจ ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อของบุคคล ข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร และข้อมูลของความใกล้ชิดติดต่อกันทางวัฒนธรรม เหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการคำนวณด้วย มีการเผยแพร่ข้อมูลนี้เป็นรายปี เป็นข้อมูลรวมของประเทศต่างๆ 122 ประเทศดังในรายละเอียดใน “Dreher, Gaston and Martens (2008)” .
จากดัชนีดังกล่าว ประเทศที่เป็นโลกาภิวัตน์มากที่สุดในโลกได้แก่เบลเยียม ตามด้วยออสเตรีย สวีเดน สหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่เป็นโลกาภิวัตน์น้อยที่สุดตามดัชนี KOF ได้แก่เฮติ พม่า สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และบุรุนดี การวัดอื่นๆ มองภาพโลกาภิวัตน์ในฐานะเป็นกระบวนการที่เป็นปฏิสัมพันธ์ของการหลอมกระจายเพื่อหาระดับของผลกระทบ (Jahn 2006)
เอ.ที. เคียร์นีย์ ( A.T. Kearney) และวารสารนโยบายต่างประเทศ ( Foreign Policy Magazine) ได้ร่วมกันตีพิมพ์ “ดัชนีโลกาภิวัตน์” (Globalization Index) ขึ้นอีกแหล่งหนึ่ง จากดัชนีเมื่อ พ.ศ. 2549 ผลปรากฏว่า สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และเดนมาร์กเป็นโลกาภิวัตน์มากที่สุด อียิปต์ อินโดนีเซีย อินเดียและอิหร่านเป็นโลกาภิวัตน์น้อยที่สุด ส่วนไทยอยู่ในลำดับที่ 45 และจากดัชนีในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2550 อับดับความเป็นโลกาภิวัตน์ของไทย ตกลงไปอยู่ที่อันดับที่ 59
ผู้สนับสนุนการค้าเสรีอ้างว่า การเพิ่มความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจรวมทั้งโอกาส โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ได้ช่วยส่งเสริมให้เสรีภาพของพลเมืองดีขึ้นและนำไปสู่การกระจายทรัพยากรที่ดีขึ้น ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เรื่อง “ข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ” ( comparative advantage) ชี้ให้เห็นว่าการค้าเสรีนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการกระจายทรัพยากรที่ทุกประเทศได้รับประโยชน์จากการค้า ซึ่งโดยทั่วไปจะทำให้ราคาสินค้าลดลง มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ผลผลิตสูงขึ้นและมาตรฐานการดำรงชีวิตในประเทศกำลังพัฒนาดีขึ้น.
หนึ่งในคำเหน็บแนมที่มีต่อความสำเร็จของจีนและอินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ คือการกลัวว่า..... ความสำเร็จของสองประเทศนี้เกิดขึ้นได้ด้วยค่าใช้จ่ายของอเมริกา ความกลัวนี้ โดยพื้นฐานแล้วนับว่าผิดและยังอันตรายมากด้วย ที่ว่าผิดก็เนื่องจากโลกไม่ได้ดิ้นรนกระเสือกกระสนแบบมีแพ้มีชนะ..... แต่เป็นโอกาสในเชิงบวกแก่ทั้งสองฝ่ายมากกว่าเนื่องจากการปรับปรุงทางเทคโนโลยีและทักษะที่เกิดขึ้นจะช่วยยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตของโลกโดยรวม
ฝ่ายอิสรนิยม ( Libertarians) และฝ่ายสนับสนุนระบบทุนแบบเสรีนิยม ( laissez-faire capitalism]) กล่าวว่าระดับที่สูงขึ้นของเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางเศรษฐกิจในระบบประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาจบลงได้ในตัวเองและสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ในระดับสูงกว่า พวกเขามองโลกาภิวัตน์ว่าเป็นการกระจายตัวของเสรีภาพและระบบทุนนิยม
ฝ่ายสนับสนุนโลกาภิวัตน์แบบประชาธิปไตยในบางครั้งถูกเรียกว่า “pro-globalists” หรือนักโลกาภิวัตน์พวกนี้เชื่อว่าโลกาภิวัตน์ช่วงแรกซึ่งเน้นการตลาดควรตามาด้วยขั้นการสร้างสถาบันทางการเมืองรับโลกที่เป็นตัวแทนประชากรโลก ที่แตกต่างกับโลกาภิวัตน์อื่นๆ ตรงที่ไม่มีการบ่งชี้คตินิยมหรืออุดมการณ์ใดๆ ล่วงหน้าเป็นการนำทาง แต่จะปล่อยในประชาคมโลกเลือกเอาเองผ่านกระบวนการประชาธิปไตย[ต้องการอ้างอิง].
บางคน เช่นสมาชิกวุฒิสภาแคนาดาคือ ดักลาส โรช มองโลกาภิวัตน์อย่างง่ายๆ ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถาบัน เช่น สภาสหประชาชาติ ที่ได้สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเพื่อทำหน้าที่ดูแลสมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้วโดยตรง
ฝ่ายสนับสนุนโลกาภิวัตน์อ้างเหตุผลสนับสนุนว่า ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ใช้หลักฐานเล็กๆ น้อยๆ หรือเกร็ด[ต้องการอ้างอิง] มาใช้ในการปกป้องมุมมองของตนในขณะที่สถิติที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกสนับสนุนโลกาภิวัตน์:
ด้วยการยกระดับทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นอย่างมากและรวดเร็วได้ทำให้กำแพงที่ขวางกั้นการค้าและการลงทุนลดลงเป็นอย่างมากด้วย แต่กระนั้น นักวิจารณ์บางคนก็ยังอ้างเหตุผลว่า ควรนำตัวแปรที่มีรายละเอียดมากกว่านี้มาวัดความยากจนแทนการใช้เพียงตัวเลขธนาคารโลก .
แม้นักวิจารณ์จะบ่นว่าโลกาภิวัตน์เป็นต้นเหตุของการกลายเป็นตะวันตกก็ตาม รายงานของ ยูเนสโกเมื่อ พ.ศ. 2548 แสดงให้เห็นว่าการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเป็นปรากฏการณ์ร่วมกัน ใน พ.ศ. 2545 จีนเป็นประเทศส่งออกสินค้าวัฒนธรรมใหญ่ที่สุดในโลกรองจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2545 ทั้งอเมริกาเหนือและสหภาพยุโรปต่างมีอัตราการส่งออกวัฒนธรรมที่ลดลง ในขณะที่การส่งออกวัฒนธรรมของเอเชียเจริญเติบโตล้ำหน้าอเมริกาเหนือ
คำขวัญที่ใช้ในการประชุมสาธารณะสังคมโลก คือ “อีกโลกหนึ่งก็เป็นไปได้” (Another World Is Possible) ซึ่งได้มีการรับรอง “กฎบัตรแห่งหลักการสังคมโลก” สำหรับใช้เป็นกรอบงานของการประชุมสาธารณะในครั้งต่อๆ ไป
การประชุม WSF กลายเป็นการประชุมที่มีวาระรายปี ใน พ.ศ. 2545 และ พ.ศ. 2546 ได้ประชุมที่เดิมคือที่นครปอร์โตอัลเกร และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านสหรัฐไปทั่วโลกในการรุกรานอิรัก ใน พ.ศ. 2547 ได้ย้ายที่ประชุมไปที่บอมเบย์ ในอินเดียเพื่อความสะดวกในการเดินทางมาร่วมประชุมของประชาชนเอเซียและแอฟริกา การประชุมครั้งนั้นมีผู้แทนเข้าร่วมประชุมมากถึง 75,000 คน
ในขณะเดียวกัน การประชุมสาธารณะในระดับภูมิภาคได้เกิดตามตัวอย่างของ WSF ได้รับเอากฎบัตรแห่งหลักการ” มาใช้ด้วย การประชุมสาธารณะสังคมยุโรป (ESF) เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2445 ที่เมืองฟลอเรนซ์ โดยใช้คำขวัญว่า “ต่อต้านสงคราม ต่อต้านการแบ่งเชื้อชาติและต่อต้านเสรีนิยมแนวใหม่" มีผู้แทนเข้าร่วมประชุม 60,000 คนและจบด้วยการประท้วงสงครามที่มีขนาดใหญ่มาก (ผู้จัดประชุมอ้างว่ามีผู้ร่วมประท้วงมากถึง 1,000,000 คน) การประชุมครั้งต่อมาของ ESF มีขึ้นที่ปารีสและลอนดอนเมื่อ พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2548 ตามลำดับ
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับเบื้องหลังของบทบาทของการประชุมสังคมฯ บางคนเห็นว่าเป็น “มหาวิทยาลัยยอดนิยม” เป็นโอกาสที่จะให้ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาของโลกาภิวัตน์ อีกหลายคนเห็นว่าผู้แทนที่เข้าประชุมควรเน้นในการประสานงานและการจัดรูปองค์การของขบวนการและวางแผนการรณรงค์ครั้งต่อๆ ไปมากกว่า อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้อ้างเหตุผลมาโต้ว่า สำหรับประเทศใหญ่ๆ ทั้งหลายในโลกมองว่า WSF เป็นเพียง “งานหมกรรมเอ็นจีโอ” ที่ผลักดันโดยเอ็นจีโอฝ่ายเหนือและผู้บริจาคซึ่งทั้งหมดเป็นปฏิปักษ์ต่อขบวนการคนจน
ปฏิโลกาภิวัตน์ หรือ การต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Anti-globalization) เป็นคำปฏิเสธที่ใช้กับท่าทีทางการเมืองของบุคคลและกลุ่มที่ต่อต้านเสรีนิยมแนวใหม่ ( neoliberal) ในนามของโลกาภิวัตน์
“ปฏิโลกาภิวัตน์” อาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการ หรือ การกระทำของรัฐเพื่อแสดงให้เห็นอำนาจอธิปไตย หรือ รัฐาธิปไตยและการตัดสินใจแบบประชาธิปไตยของตน ปฏิโลกาภิวัตน์ อาจเกิดขึ้นเพื่อหยุดการไหลถ่ายเทของประชากรในระดับนานชาติ สินค้า และอุดมการณ์ โดยเฉพาะที่กำหนดโดยองค์การเช่น IMF หรือ WTO ที่จะออกมาตรการลัทธิการค้าเสรีมาทะลายกฎเกณฑ์เดิมของรัฐบาลของประเทศต่างๆ และประชากร นอกจากนี้ ดังที่นักหนังสือพิมพ์แคนาดาชื่อนาโอมิ ไคลน์ อ้างเหตุผลในหนังสือของเธอชื่อ “ไม่มีตรา: เล็งไปที่ยี่ห้อ” (No Logo: Taking Aim at the Brand Bullies) ซึ่งมีหัวเรื่องย่อยว่า “ไม่มีที่ ไม่มีทางเลือก ไม่มีงาน” นักปฏิโลกาภิวัตน์อาจนำมาใช้เพื่อให้เห็นทั้งขบวนการสังคมโดดๆ หรือเป็นคำที่ครอบคลุมรวมขบวนการสังคมที่แยกกันอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ชาตินิยมและสังคมนิยม ทั้งสองกรณีผู้เข้าร่วมยืนอยู่ในตำแหน่งของฝ่ายอำนาจการเมืองที่ไม่มีการกำกับดูแล บรรษัทข้ามชาติที่ใหญ่ ในขณะที่บรรษัทใหญ่ เหล่านั้นใช้อำนาจผ่านข้อตกลงทางการค้าที่สร้างความเสียหายแก่สิทธิ์ประชาธิปไตยบางแง่ของพลเมือง สร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะดัชนีคุณภาพอากาศและป่าฝนเขตร้อน รวมทั้งรัฐาธิปัตย์ของรัฐบาลในการให้สิทธิ์แก่ผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งสิทธิ์ในการตั้งสหภาพเพื่อเรียกร้องค่าจ้างให้สูงขึ้นและสภาพการทำงานที่ดีขึ้น หรือกฎหมายที่อาจทำความเสียหายกับจประเพณีของประเทศกำลังพัฒนา
ฝ่ายที่ถูกตราว่าเป็นพวกปฏิโลกาภิวัตน์มองคำที่ใช้เรียกตนว่าคลุมเครือและคลาดเคลื่อน โพโดนิก (Podobnik) กล่าวว่า “กลุ่มที่เข้าร่วมประท้วงส่วนใหญ่ ดึงโครงข่ายนานาชาติมาช่วยสนับสนุน และพวกเหล่านั้นเรียกร้องหารูปแบบของโลกาภิวัตน์ที่เกื้อหนุนเป็นตัวแทนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสมภาคนิยม" (egalitarianism)
สมาชิกที่อยู่ข้างแนวคิดนี้ชอบให้เรียกพวกตนว่าเป็นพวก “ขบวนการโลกยุติธรรม” (Global Justice Movement) “ขบวนการต่อต้านบรรษัท-โลกาภิวัตน์” บ้าง “กระบวนการแห่งกระบวนการ” (อิตาลี) บ้าง รวมทั้งขบวนการ “หลังโลกาภิวัตน์”( Alter-globalization) และชื่ออื่นๆ อีกมาก
มีนักวิจารณ์วิจารณ์ช่วงกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆ นี้ที่มองว่าเป็นการทำความเสียหายแก่ดาวเคราะห์โลกในแง่ของการสร้างอันตรายที่เกิดจากความไม่ยั้งยืน รวมทั้งยังมองว่าเป็นการทำความเสียหายแก่มนุษย์ เช่นการเพิ่มความยากจน สร้างความไม่เท่าเทียม เพิ่มการสมรสกับคนต่างผิว ความอยุติธรรมและการผุกร่อนของวัฒนธรรม นักวิจารณ์ยืนยันว่าทั้งหมดเกิดจากการเปลี่ยนรูปแบบทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากโลกาภิวัตน์ พวกเขาท้าทายตัวเลข เช่น GDP ที่ใช้ชี้วัดความก้าวหน้าที่บังคับใช้โดยสถาบันเช่น ธนาคารโลก โดยให้มองมาตรการอื่นด้วย เช่น “ดัชนีความสุขของโลก" ( Happy Planet Index) ที่จัดทำโดย “มูลนิธิเศรษฐกิจใหม่” (New Economics Foundation). ที่ชี้ให้เห็น “ความมากมายของผลกระทบที่อาจทำให้สังคมแตกสลาย การล่มของประชาธิปไตย การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในอัตราที่รวดเร็ว การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของเชื้อโรค ความยากไร้และการลดคุณค่าของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น” ซึ่งนักวิจารณ์กล่าวว่าข้ออ้างนี้ไม่ใช้เป็นการเจตนา แต่เป็นตามมาที่แท้จริงของโลกาภิวัตน์
เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกชื่อ แบรนโค มิลาโนวิก ได้ยกเอางานวิจัยเชิงประจักษ์ที่ว่าด้วยความยากจนและความไม่เท่าเทียมของโลกที่ตีพิมพ์มานานแล้วขึ้นมาเป็นคำถาม เนื่องจากมิลาโนวิกเองเห็นว่าการประมาณกำลังซื้อเสมอภาคที่ปรับตัวเลขใหม่บ่งชี้ว่าประเทศกำลังพัฒนายิ่งลงมากกว่าที่เคยคิดกันไว้ และให้ข้อสังเกตว่า “ความจริงแล้วบทความวิชาการนับร้อยเรื่องว่าด้วยการลู่เข้าและการเบนออกของรายได้ประเทศได้ที่ตีพิมพ์ในช่วงทศวรรษก่อนใช้พื้นฐานที่เราทราบกันแล้วในขณะนี้เต็มไปด้วยตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง ด้วยข้อมูลใหม่ นักเศรษฐศาสตร์จะปรับปรุงแก้ไขตัวเลขใหม่และอาจได้ข้อสรุปที่ถูกต้องกว่าเดิม” นอกจากนี้มิลาโนวิกยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า “การบ่งชี้โดยนัยสำหรับการประมาณความไม่เท่าเทียมของโลกและความยากจนมีมากเหลือคณา ตัวเลขใหม่แสดงให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมกันของโลกมีมากกว่าเคยคาดการณ์แบบมองโลกแง่ร้ายของผู้เขียนบทความก่อนๆ นั้นเป็นอันมาก จนกระทั่งเมื่อเดือนที่แล้ว ความไม่เท่าเทียมของโลก หรือความแตกต่างในรายได้จริงระหว่างบุคคลในโลก ได้รับการประมาณว่าเท่ากับ 65 จุดกินี (Gini points) ด้วยตัวเลขแสดง 100 เท่ากับการไม่มีความเท่าเทียมกันเลยแม้แต่น้อย และ 0 เท่ากับความเท่าเทียมเท่ากัน โดยถือว่ารายได้ของทุกคนเท่ากัน ระดับของความไม่เท่าเทียมระดับของความไม่เท่าเทียมดูเหมือนจะสูงกว่าแอฟริกาใต้ แต่ตัวเลขใหม่แสดงให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมกันของโลกเท่ากับ 70 จุดกินี เป็นระดับที่ไม่เคยมีการบันทึกไว้ที่ใดมาก่อน”
นักวิจารณ์โลกาภิวัตน์จะเน้นแบบทั่วไปว่า โลกาภิวัตน์คือกระบวนการปรองดองกับผลประโยชน์ของบรรษัท และมักเลือกเอาทางเลือกที่เป็นไปได้ตามนโยบายของสถาบันโลกาภิวัตน์ต่างๆ ในโลกซึ่งตนเชื่อว่าเป็นการแสดงออกทางศีลธรรมกับคนจนและชนชั้นแรงงานทั่วโลก รวมทั้งความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมในทางที่เท่าเทียมกัน
ขบวนการเป็นไปในลักษณะที่กว้างมาก รวมทั้งกลุ่มศาสนา กลุ่มเสรีนิยมของชาติ ชาวไร่ชาวนา พวกสหภาพ ปัญญาชน ศิลปิน นักลัทธิปกป้อง นักอนาธิปไตย พวกสนับสนุนการเคลื่อนย้ายและอื่นๆ บางกลุ่มเป็นนักปฏิรูป (โดยให้เหตุผลว่าเป็นลัทธิทุนนิยมที่มีความเป็นมนุษย์มากกว่า) ในขณะที่กลุ่มอื่นเอนไปทางพวกปฏิวัติมากกว่า (โดยให้เหตุผลว่าสิ่งที่ตนเชื่อเป็นระบบมนุษยธรรมมากกว่าระบบทุนนิยม) อีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวกปฏิกิริยา ที่เชื่อว่าโลกาภิวัตน์เป็นตัวทำลายอุตสาหกรรมและการจ้างานของประเทศ
จุดสำคัญที่นักวิจารณ์เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์เมื่อเร็วๆ นี้ได้แก่รายได้ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างประเทศ และภายในประเทศซึ่งกำลังเพิ่มมากขึ้นจากกระบวนการนี้ บทความวิชาการบทหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2543 พบประเด็นที่สำคัญว่า 7 ใน 8 ของชาติที่มีความไม่เท่าเทียมของรายได้เพิ่มมาเป็นเวลา 20 ปีนับถึงปี พ.ศ. 2543 และ “รายได้ที่ต่ำในระบบนับสิบของการกระจายรายได้ของโลกอาจตกลงมาโดยสิ้นเชิงมาตั้งแต่ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2523 -2533” และนอกจากนี้ ตัวเลขความจนสัมบูรณ์ของธนาคารโลกยังเป็นที่น่าท้าทายความถูกต้องอีกด้วย บทความแสดงความน่าสงสัยการอ้างของธนาคารโลกที่ว่าตัวเลขของจำนวนคนที่ดำรงชีวิตด้วยรายได้ที่ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ มีความคงที่ที่ 1.2 พันล้านคนจาก พ.ศ. 2530 – พ.ศ. 2541 เนื่อจากกรรมวิธีที่มีความลำเอียง
แผนภูมิที่ให้ภาพของความไม่เท่าเทียมได้ชัดเจนและให้ความเข้าใจได้ดี ที่เรียกว่าปรากฏการณ์ “แก้วแชมเปญ” ปรากฏในรายงานโปรแกรมการพัฒนาของสหประชาชาติปี พ.ศ. 2535 ซึ่งแสดงให้เห็นการกระจายรายได้ของโลกที่ไม่สม่ำเสมอมากๆ โดยพวกร่ำรวยที่สุดซึ่งมีจำนวนร้อยละ 20 ของประชากรโลกเป็นพวกที่ควบคุมรายได้ร้อยละ 82.7 ของโลกทั้งหมด
เหตุผลที่ยกมาโดยนักทฤษฎีการค้าเสรีอ้างว่าการไม่ควบคุมการค้าเสรีมีผลดีต่อพวกที่การเงินมีระดับคงที่ (financial leverage) เช่น พวกร่ำรวยด้วยการสละของคนจน
การซึมซับเป็นอเมริกัน (Americanization) สัมพันธ์กับช่วงที่สหรัฐอเมริกามีพลังทางการเมืองสูงและมีการเจริญเติบโตของร้านค้า ห้าง ตลาดอเมริกันและสิ่งต่างๆ ที่ประเทศต่างๆ นำเข้า ดังนั้น โลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หลากหลายมากนี้จึงสัมพันธ์กับการเมืองของโลกเชิงพหุภาคี และการเพิ่มสิ่งของ ตลาดและอื่นๆ ในระหว่างประเทศด้วยกัน
ฝ่ายตรงข้ามกับโลกาภิวัตน์บางคนมองปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นการส่งเสริมให้ประโยชน์แก่พวกบรรษัทนิยม (corporatist) พวกนี้ยังอ้างด้วยว่าการเพิ่มความเป็นอิสระในการบริหารตนเองที่มากขึ้นแก่บรรษัท ทำให้บรรษัทเข้ามามีอิทธิพลในนโยบายของรัฐบาลมากขึ้นด้วย