แนวคิดของ โลกที่หนึ่ง (อังกฤษ: First World) ถือกำเนิดขึ้นระหว่างสงครามเย็น เป็นคำซึ่งใช้เพื่ออธิบายถึงประเทศที่เข้าเป็นฝ่ายเดียวกับสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้มักมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมีระบบเศรษฐกิจทุนนิยม หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการสิ้นสุดของสงครามเย็น ความหมายของคำว่า "โลกที่หนึ่ง" ได้เปลี่ยนไปให้สามารถปรับใช้ได้กับยุคสมัย จากการจำกัดความดั้งเดิม คำว่า "โลกที่หนึ่ง" ได้มามีความหมายในทำนองเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว (ขึ้นอยู่กับว่ากำลังใช้คำจำกัดความใด)
ประเทศโลกที่หนึ่งโดยทั่วไปมักมีเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้าและมีดัชนีการพัฒนามนุษย์ในระดับสูงมาก ในอีกมุมมองหนึ่ง สหประชาชาติจำกัดความ "โลกที่หนึ่ง" ขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งของรายรับและผลผลิตของชาติต่าง ๆ การจำกัดความของ "โลกที่หนึ่ง" ในปัจจุบัน จึงประจักษ์ชัดเจนน้อยกว่าระหว่างสงครามเย็น
ความเคลื่อนไหวในระดับโลกระหว่างโลกที่หนึ่งและโลกอื่น ๆ สามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน ความสัมพันธ์กับโลกที่สองเป็นไปในเชิงการแข่งขัน และความเป็นปรปักษ์ทางความคิด ความสัมพันธ์กับโลกที่สาม โดยปกติมักเป็นไปในเชิงบวกตามทฤษฎี ในขณะที่อาจมีความสัมพันธ์ในเชิงลบอยู่บ้างในทางปฏิบัติ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างโลกในปัจจุบันมิได้เป็นไปอย่างตายตัวอย่างในอดีต ถึงแม้ว่าจะมีความไม่เสมอกันซึ่งโลกที่หนึ่งมีอิทธิพล ความมั่งคั่ง ข้อมูลข่าวสาร และความเจริญก้าวหน้าเหนือกว่าโลกอื่น ๆ
โลกาภิวัตน์ได้เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อย ๆ มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากโลกที่หนึ่งและความเชื่อมโยงกับโลกอื่น ๆ ตัวอย่างของโลกาภิวัตน์ภายในโลกที่หนึ่ง คือ สหภาพยุโรป ซึ่งได้นำความร่วมมือและการบูรณาการเข้ามาสู่ภูมิภาคเป็นอันมาก บริษัทข้ามชาติยังเป็นตัวอย่างของผลกระทบของโลกที่หนึ่งซึ่งมีต่อโลกาภิวัตน์ เมื่อบริษัทเหล่านี้ได้นำมาซึ่งการรวมเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในหลายประเทศ ด้วยการเติบโตของบริษัทข้ามชาติมักมีปัญหาในกระบวนการติดต่อกับบุคคลที่สามในหลายประเทศโลกที่หนึ่ง
หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ โลกได้แบ่งออกเป็นสองขั้วทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ โลกคอมมิวนิสต์และทุนนิยม อันนำไปสู่สงครามเย็น ระหว่างสงครามเย็น พบว่ามีการใช้คำ "โลกที่หนึ่ง" เนื่องจากประเด็นของการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าว คำว่า "โลกที่หนึ่ง" ปรากฏใช้ครั้งแรกในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 โดยองค์การสหประชาชาติ
ในปัจจุบัน คำว่า "โลกที่หนึ่ง" ค่อนข้างเป็นคำที่ล้าสมัยและไม่มีคำจำกัดความอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่คิดกันว่าหมายถึงประเทศทุนนิยม อุตสาหกรรม หรือประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเข้ากับสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การจำกัดความดังกล่าวรวมไปถึงประเทศส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย ในสังคมปัจจุบัน "โลกที่หนึ่ง" ถูกมองว่าเป็นประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้ามากที่สุด มีอิทธิพลมากที่สุด มีมาตรฐานความเป็นอยู่สูงที่สุด และมีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด
หลังสงครามเย็น ประเทศโลกที่หนึ่งดังกล่าว รวมไปถึงรัฐสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ประเทศซึ่งเข้ากับสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เป็นกลางซึ่งพัฒนาแล้วและเป็นประเทศอุตสาหกรรม และอดีตอาณานิคมอังกฤษ นอกจากนี้ การจัดประเทศเป็น "โลกที่หนึ่ง" ยังขึ้นอยู่กับอารยธรรมของแต่ละประเทศ
ดัชนีการพัฒนามนุษย์เป็นองค์กรทั่วโลกซึ่งใช้ตัวชี้วัดที่แตกต่างกันในการระบุประเทศขั้นอยู่กับสถานภาพการพัฒนาของประเทศนั้น ๆ ข้อมูลสถิติ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) อัตราการรู้หนังสือ และการศึกษา จะถูกใช้ประกอบกันเพื่อร่างรายชื่อประเทศเรียงตั้งแต่ประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์สูงมากไปจนถึงประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำ ประเทศที่มีระดับการพัฒนามนุษย์สูงมากมักเป็นประเทศพัฒนาแล้วและประเทศอุตสาหกรรมของโลกเป็นส่วนใหญ่
หากการจัดประเทศหนึ่งประเทศใดเป็น "โลกที่หนึ่ง" ตามคำจำกัดความด้านบนแล้ว ดัชนีการพัฒนามนุษย์เป็นตัวชี้วัดที่ดีในการระบุประเทศโลกที่หนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ตามดัชนีการพัฒนามนุษย์ มีการจัดอันดับ 38 ประเทศให้อยู่ในระดับประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์สูงมาก ประเทศส่วนใหญ่ในรายชื่อดังกล่าวรวมไปถึงข้อมูลประเทศซึ่งพบใน เนชั่นส์ ออนไลน์ ประเทศที่ปรากฏในดัชนีการพัฒนามนุษย์ แต่ไม่ปรากฏในรายชื่อนาโตด้านบน ประกอบด้วย:
นับตั้งแต่สงครามเย็นยุติ คำจำกัดความดั้งเดิมของโลกที่หนึ่งไม่สามารถปรับใช้อย่างจำเป็นได้อีกต่อไป ส่งผลให้มีการจำกัดความที่หลากหลายของ "โลกที่หนึ่ง" อย่างไรก็ตาม แนวคิดใหม่ในปัจจุบันก็เป็นไปตามแนวคิดในอดีต จอห์น ดี. แดเนียลส์ อดีตประธานสำนักธุรกิจระหว่างประเทศ ให้คำจำกัดความของ "โลกที่หนึ่ง" ว่าประกอบด้วย "ประเทศอุตสาหกรรมซึ่งมีรายได้สูง" นักวิชาการและศาสตราจารย์ จอร์จ เจ. ไบรจัค ให้คำจำกัดความโลกที่หนึ่งว่าเป็น "ประเทศสมัยนิยม อุตสาหกรรม ทุนนิยม ในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป" แอล. โรเบิร์ต โคลห์ส อดีตกรรมการการฝึกอบรมให้กับหน่วยงานข้อมูลสหรัฐอเมริกาและศูนย์เมอริเดียนระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตัน ใช้ "โลกที่หนึ่ง" และ "ประเทศพัฒนาเต็มที่" เป็นคำที่มีความหมายคล้ายกัน
ความหลากหลายของการจำกัดความ "โลกที่หนึ่ง" และความไม่แน่นอนของคำดังกล่าวในโลกปัจจุบัน นำไปสู่ตัวชี้วัดที่แตกต่างกันของสถานะโลกที่หนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2488 สหประชาชาติใช้คำว่า โลกที่หนึ่ง โลกที่สอง โลกที่สาม และโลกที่สี่ เพื่อใช้เทียบเคียงความมั่งคั่งของชาติ (ถึงแม้ว่าการใช้คำว่า "โลกที่สี่" จะยังไม่ใช้เป็นที่นิยมจนกระทั่งในภายหลัง) การจำกัดความดังกล่าวรวมไปถึงการเปรีบเทียบผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ปะรกอบกับตัวแปรด้านสังคมและการเมืองอื่น ๆ โลกที่หนึ่งยังประกอบด้วยชาติประชาธิปไตยและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โลกที่สองรวมไปถึงชาติสมัยใหม่ ซึ่งมีความมั่งคั่งและเป็นชาติอุตสาหกรรม แต่อยู่ในการควบคุมของคอมมิวนิสต์ ส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่นั้นเห็นว่าเป็นส่วนของโลกที่สาม ในขณะที่โลกที่สี่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นประเทศซึ่งประชากรอยู่อาศัยโดยมีรายได้น้อยกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
หากเราให้คำจำกัดความของโลกที่หนึ่ง หมายถึง เศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูง ดังนั้น ก็สามารถใช้การจัดอันดับประเทศของธนาคารโลกโดยใช้อัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GNI) ธนาคารโลกได้แบ่งประเทศทั่วโลกออกเป็นสี่หมวด: ประเทศที่มีรายได้สูง, รายได้ปานกลางค่อนข้างสูง, รายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ, และรายได้ต่ำ โลกที่หนึ่งได้รับการพิจารณาว่าเป็นประเทศซึ่งมีรายได้สูง เศรษฐกิจรายได้สูงเทียบได้กับประเทศอุตสาหกรรมซึ่งพัฒนาแล้ว ตามข้อมูลของธนาคารโลก ประเทศซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติสูงที่สุด ประกอบด้วย:
คำว่าโลกที่หนึ่ง โลกที่สอง และโลกที่สาม ถูกใช้เป็นครั้งแรกเพื่อแบ่งประเทศในโลกออกเป็นสามหมวดหมู่ ความเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ของฐานะเดิมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือที่รู้จักกันว่าสงครามเย็น ทำให้สองรัฐอภิมหาอำนาจ (สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต) แข่งขันกันเพื่อความยิ่งใหญ่ในระดับโลกท้ายที่สุด ทั้งสองประเทศได้สร้างกลุ่มประเทศสองกลุ่ม หรือที่รู้จักกันว่า ค่าย ค่ายเหล่านี้ก่อตั้งขึ้นโดยพื้นฐานแนวความคิดของโลกที่หนึ่งและโลกที่สอง
ช่วงต้นของสงครามเย็น องค์การนาโตและสนธิสัญญาวอร์ซอได้ริเริ่มขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตตามลำดับ ซึ่งสองกลุ่มประเทศนี้ยังอาจเรียกว่าเป็น ค่ายตะวันตก และ ค่ายตะวันออก ก็ได้ สภาพของค่ายทั้งสองนี้มีความแตกต่างกันมากจนสามารถแยกออกเป็นสองโลกได้โดยพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการระบุตัวเลขว่ากลุ่มใดเป็นโลกที่หนึ่งและโลกที่สอง จุดเริ่มต้นของสงครามเย็นเกิดขึ้นจากสุนทรพจน์ "ม่านเหล็ก" อันมีชื่อเสียงของวินสตัน เชอร์ชิลล์ ในสุนทรพจน์ดังกล่าว เชอร์ชิลล์อธิบายถึงการแบ่งแยกระหว่างตะวันตกและตะวันออกว่ามีความหนาแน่นมากจนกระทั่งเรียกได้ว่า "ม่านเหล็ก"
ในปี พ.ศ. 2495 นักประชากรศาสตร์ชาวฝรั่งเศส อัลเฟรด โซวี ได้ประดิษฐ์คำว่าโลกที่สามเพื่อใช้อ้างอิงถึงฐานันดรทั้งสามในฝรั่งเศสยุคก่อนการปฏิวัติ ฐานันดรสองอย่างแรก คือ ชนชั้นสูงและพระสอนศาสนา ส่วนฐานันดรที่สามประกอบด้วยประชากรอื่น ๆ ทั้งหมดนอกเหนือจากสองฐานันดรแรก เขาได้เปรียบเทียบโลกทุนนิยมกับชนชั้นสูง และโลกคอมมิวนิสต์กับพระสอนศาสนา โซวีเรียกประเทศที่เหลือซึ่งไม่รวมอยู่ในการแบ่งแบบสงครามเย็นดังนี้ว่าโกที่สาม ซึ่งก็คือ ประเทศซึ่งไม่เข้ากับฝ่ายใดและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใน "ความขัดแย้งตะวันออก-ตะวันตก" ด้วยการประดิษฐ์คำว่า "โลกที่สาม" โดยตรง ทำให้สองกลุ่มแรกกลายมาเป็น "โลกที่หนึ่ง" และ "โลกที่สอง" ตามลำดับ ระบบโลกสามใบจึงเกิดขึ้นโดยประการฉะนี้
หัวหน้าชน Secwepemc จอร์จ มานูเอล เชื่อว่า โมเดลโลกสามใบ เป็นแนวคิดที่ล้าสมัย ในหนังสือของเขาซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2517 The Fourth World: An Indian Reality เขาบรรยายถึงการถือกำเนิดของโลกที่สี่ซึ่งเป็นการประดิษฐ์คำใหม่เช่นกัน โลกที่สี่หมายถึง "ชาติ" (สิ่งทางวัฒนธรรมและกลุ่มเชื้อชาต) ของชาวพื้นเมืองอันมิได้ประกอบขึ้นเป็นรัฐในแง่ของความรู้สึกดั้งเดิม แต่พวกเขาอาศัยอยู่ภายในหรือระหว่างพรมแดนของรัฐแทน (ดูที่ กลุ่มปฐมชาติ) ตัวอย่างหนึ่ง คือ ชาวอเมริกันอินเดียนในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน
การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2534 ทำให้ค่ายตะวันออกไม่มีอีกต่อไป; เช่นเดียวกับการปรับใช้คำว่า "โลกที่สอง" ทั้งหมด การจำกัดความของโลกที่หนึ่งและโลกที่สามเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่โดยทั่วไปแล้ว ยังอธิบายถึงแนวคิดเดียวกัน
ระหว่างช่วงสงครามเย็น ความสัมพันธ์ระหว่างโลกที่หนึ่งกับโลกที่สอง และโลกที่หนึ่งกับโลกที่สามมีความตายตัวอย่างมาก โลกที่หนึ่งและโลกที่สองยังต่อสู้กันอย่างไม่ลดละกับอีกฝ่ายหนึ่งผ่านความตึงเครียดระหว่างแก่นของทั้งสองฝ่าย คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตตามลำดับ โดยพื้นฐานแล้ว สงครามเย็นเป็นการต้อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างโลกที่หนึ่งและโลกที่สอง หรือหากจะระบุให้เจาะจงยิ่งขึ้น คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ทฤษฎีต่าง ๆ และแผนซึ่งปรากฏในกลไกของสงครามเย็น ได้แก่ ลัทธิทรูแมน แผนมาร์แชลล์ (จากสหรัฐอเมริกา) และแผนโมโลตอฟ (จากสหภาพโซเวียต) ขอบเขตของการต่อสู้ระหว่างทั้งสองโลกได้ปรากฏหลักฐานในกรุงเบอร์ลิน – ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นส่วนตะวันออกและตัวนตก ในการที่จะหยุดยังมิให้พลเมืองในเบอรลินตะวันตก จากที่มีโอกาสเสี่ยงภัยสูง ไปยังตะวันตกและทุนนิยมซึ่งมีความมั่งคั่งและความสุข สหภาพโซเวียตจึงสร้างกำแพงเบอร์ลิน ขึ้นภายในเขตเมืองที่แท้จริง
ความสัมพันธ์ระหว่างโลกที่หนึ่งและโลกที่สามแสดงลักษณะโดยคำจำกัดความแท้ ๆ ของโลกที่สาม เนื่องจากกลุ่มประเทศโลกที่สามไม่ผูกมัดตัวเองและไม่เข้ากับทั้งโลกที่หนึ่งและโลกที่สอง กลุ่มประเทศเหล่านี้จึงเป็นเป้าหมายของการหาสมาชิกเพิ่มเติมของทั้งสองโลก ในความพยายามขยายเขตอิทธิพลของตน สหรัฐอเมริกาพยายามสร้างประชาธิปไตยและทุนนิยมในโลกที่สาม นอกเหนือจากนั้น เนื่องจากสหภาพโซเวียตก็ต้องการขยายตัวเช่นกัน โลกที่สามจึงมักกลายมาเป็นสถานที่ของสงครามตัวแทน
บางตัวอย่างรวมไปถึงในเวียดนามและเกาหลี ความสำเร็จจะเป็นของโลกที่หนึ่งหากผลของสงครามปรากฏว่าประเทศนั้นกลายมาเป็นทุนนิยมและปรชาธิปไตย และจะเป็นของโลกที่สองหากประเทศนั้นกลายมาเป็นคอมมิวนิสต์ ในขณะที่เวียดนามทั้งประเทศกลายมาเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งหมด มีเพียงครึ่งส่วนเหนือของประเทศเกาหลีเท่านั้นที่เป็นคอมมิวนิสต์ทฤษฎีโดมิโนเป็นทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานของนโยบายสหรัฐอเมริกาต่อโลกที่สามและต่อคู่ปรปักษ์ในโลกที่สองเป็นส่วนใหญ่ ในแง่คิดของทฤษฎีโดมิโน สหรัฐอเมริกาเห็นว่าการเอาชนะในสงครามตัวแทนในโลกที่สามเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเพื่อ "สร้างความน่าเชื่อถือของการผูกมัดสหรัฐอเมริกาทั่วโลก"
ความเคลื่อนไหวของประชากรและข้อมูลข่าวสารเป็นลักษณะที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างโลกในปัจจุบันนี้ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิทยากรใหม่ ๆ ส่วนมากเกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ซึ่งในภายหลังผลกระทบของวิทยากรเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โรงเรียนธุรกิจวอร์ทันของมหาวิทยาลัยเพนนิซิลเวีย ประเมินว่าสุดยอดนวัติกรรม 30 อย่างในช่วง 30 ปีหลังนี้ถือกำเนิดในอดีตประเทศโลกที่หนึ่ง (คือ สหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปตะวันตก)
ความไม่เสมอกันระหว่างความรู้ในโลกที่หนึ่งเมื่อเปรียบเทียบในโลกที่สามปรากฏชัดเจนในความเจริญก้าวหน้าด้านสาธารณสุขและการแพทย์ การเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวกับน้ำได้ถูกกำจัดไปแล้วส่วนใหญ่ใน "ประเทศที่มีความมั่งคั่งกว่า" ในขณะที่ยังคง "เป็นปัญหาใหญ่หลวงในประเทศกำลังพัฒนา"มาลาเรียและวัณโรคเป็นโรคซึ่งรักษาได้อย่างกว้างขวางในประเทศพัฒนาแล้วในโลกที่หนึ่ง ในขณะที่ยังคร่าชีวิตประชากรในประเทศกำลังพัฒนา (โลกที่สาม) สถิติพบว่ามีปผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย 900,000 คนต่อปี และการรับมือกับโรคมาลาเรียคิดเป็นต่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขกว่า 40% ในหลายประเทศทวีปแอฟริกา มาลาเรียและโรคอื่น ๆ ที่ถูกกำจัดไปแล้วในโลกที่หนึ่ง ยังคงแพร่ระบาดในโลกที่สาม ซึ่งทำให้ "ประชาคมจมลงสู่ความยากจน" อย่างไรก็ตาม ประเทศโลกที่หนึ่งหลายประเทศมีแผนการช่วยเหลือประเทศดลกที่สามเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลและความเจริญก้าวหน้า ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา บารัก โอบามา รับประกันที่จะ "ยุติการเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียภายในปี พ.ศ. 2558" โดยบรรลุ "การเข้าถึงการรักษาและความพยายามป้องกันราคาถูกซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วของประชาชนทั่วโลก"
เมื่อไม่นานมานี้ องค์กรความร่วมมือเพื่อการกำหนดชื่อและหมายเลขอินเทอร์เน็ต (ICANN) เพิ่งจะประกาศว่าชื่อโดเมนที่ใช้อักขระท้องถิ่น (IDNs) แรกจะสามารถใช้การได้อย่างเร็วที่สุดในฤดูร้อน พ.ศ. 2553 โดเมนที่ไม่ใช่ภาษาละตินเหล่านี้ อย่างเช่น ภาษาจีน ภาษาอารบิก และภาษารัสเซีย จะเป็นหนึ่งหนทางในการไหลของข้อมูลข่าวสารระหว่างโลกที่หนึ่งและโลกที่สามมีความสม่ำเสมอยิ่งขึ้น
ความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีจากโลกที่หนึ่งไปยังหลายประเทศโลกที่สามได้สร้าง "ความปรารถนาที่จะไปถึงคุณภาพชีวิตของโลกที่หนึ่ง" โดยทั่วไป โลกที่สามมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเมื่อเทียบกับโลกที่หนึ่ง ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่สูงกว่าของโลกที่หนึ่งได้ส่งผ่านทางโทรทัศน์ โฆษณาทางการค้า และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางไปยังประเทศนั้น ๆ การเปิดเผยนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสองประการ: 1) คุณภาพชีวิตในประเทศโลกที่สามบางประเทศจะสูงขึ้น และ 2) การเปิดเผยดังกล่าวจะสร้างความหวังและทำให้มีการอพยพจำนวนมากจากประเทศโลกที่สามไปยังประเทศโลกที่หนึ่ง โดยหวังว่าจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตและความร่ำรวย ทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ในความเป็นจริง การอพยพเช่นนี้เป็น "ส่วนสำคัญที่ทำให้ประชากรสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปเพิ่มมากขึ้น" ในขณะที่การอพยพนี้ได้มีส่วนสำคัญต่อโลกาภิวัตน์ ก็ยังได้ก่อให้เกิดกระแสสมองไหลอย่างรวดเร็วและมีปัญหาในการส่งกลับประเทศเดิม การอพยพนี้ยังสร้างปัญหาของการเข้ามาอยู่และเป็นภาระให้กับรัฐบาลที่มีประชากรอพยพไปอยู่เป็นจำนวนมาก (ส่วนใหญ่คือโลกที่หนึ่ง)
เป็นที่โต้เถียงกันว่าปัญหาของประชากรมนุษย์ที่สำคัญที่สุดมิใช่อัตราการเกิดที่สูงของประชากรในกลุ่มประเทศโลกที่สาม หากแต่เป็น "การเพิ่มผลกระทบของมนุษย์โดยรวม" ผลกระทบต่อหัว ซึ่งหมายถึงการบริโภคทรัยะยากรและการสร้างของเสียโดยมนุษย์แต่ละคน มีความแตกต่างกันทั่วโลก; โดยที่ค่าดังกล่าวสูงสุดในโลกที่หนึ่ง และต่ำสุดในโลกที่สาม: ผู้อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น บริโภคทรัพยากรคิดเป็น 32 เท่า และก่อให้เกิดของเสียเป็น 32 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่อยู่อาศัยในโลกที่สาม เช่นเดียวกัน ประเทศโลกที่หนึ่ง อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และแคนาดา เป็นประเทศผูผลิตคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก ซึ่งมีส่วนแพร่ก๊าซเรือนกระจกอย่างมโหฬาร ประเทศโลกที่หนึ่งเหล่านี้ได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากจนกระทั่งเกือบจะหมดไป; ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะประเทศโลกที่หนึ่งมีรายได้ที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่มีข้อยกเว้นในบางประเทศ กลุ่มประเทศโลกที่หนึ่งอย่างเช่นนอร์เวย์ สวีเดน และเยอรมนี ได้ทำงานกับธรรมชาติ และได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการมีอยู่ของธรรมชาติ
ประเทศจีนถือได้ว่าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดในโลก แต่ประชากรจำนวนมหาศาลเฉลี่ยค่าสถิติต่อหัวลงจนกระทั่งน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด
ประเทศโลกที่หนึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงได้หันไปให้ความสนใจกับมลพิษที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมพิธีสารเกียวโตเป็นสนธิสัญญาซึ่งตั้งอยู่บนอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2534 ในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกในริโอ ในที่ประชุมได้มีการเสนอปัญหาของการป้องกันภูมิอากาศแก่สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศโลกที่หนึ่งอื่น ๆ ประเทศซึ่งได้รับพิจารณาว่ากำลังพัฒนา อย่างเช่น จีนและอินเดีย ไม่จำเป็นที่จะต้องอนุมัติสนธิสัญญาดังกล่าวเนื่องจากประเทศเหล่านี้มีความกังวลว่าการลดการแพร่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นการบั่นทอนการพัฒนาของตน
ในอดีต มีการให้ความสนใจน้อยมากในผลประโยชน์จากกลุ่มประเทศโลกที่สาม ซึ่งเป็นเพราะว่านักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศส่วนมากมาจากประเทศโลกที่หนึ่งซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรม เมื่อมีประเทศมากขึ้นที่ดำเนินการพัฒนาจนพัฒนาแล้ว ผลประโยชน์ของโลกจึงได้เริ่มเปลี่ยนแปลงทีละน้อย อย่างไรก็ตาม ประเทศโลกที่หนึ่งยังคงมีมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ วารสาร และการประชุมมากที่สุด ทำให้เป็นการยากแก่ประเทศโลกที่สามในการได้รับความชอบและความเคารพนับถือในความคิดและวิธีการใหม่ของตนเองในการมองโลก
ระหว่างสงครามเย็น ทฤษฎีการทำให้ทันสมัยและทฤษฎีการพัฒนาได้ถือกำเนิดขึ้นในทางตะวันตกอันเป็นผลมาจากการตอบสนองทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศเหล่านั้นบริหารจัดการอดีตดินแดนอาณานิคมของตน นักวิชาการตะวันตกและผู้ประกอบกิจด้านการเมืองระหว่างประเทศหวังว่าจะสร้างทฤษฎีแนวคิดและจากนั้นสร้างนโยบายอันตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดซึ่งจะทำให้เกิดอาณานิคมเอกราชใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่รัฐชาติซึ่งได้รับอธิปไตยอันมีพัฒนาการทางการเมือง อย่างไรก็ตาม นักทฤษฎีส่วนมากมาจากสหรัฐอเมริกา และไม่ให้ความสนใจในการบรรลุการพัฒนาตามรูปแบบใด ๆ ของกลุ่มประเทศโลกที่สาม พวกเขาต้องการให้ประเทศเหล่านี้พัฒนาผ่านกระบวนการเสรีทางการเมือง เศรษฐกิจ และการขัดเกลาทางสังคม; หรืออาจกล่าวได้ว่า พวกเขาต้องการให้ประเทศโลกที่สามดำเนินรอยตามทุนนิยมเสรีแบบตะวันตกอันเป็นตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า "รัฐโลกที่หนึ่ง" ดังนั้น การทำให้ทันสมัยและวัฒนธรรมการพัฒนาจึงเป็นความคิดซึ่งถือกำเนิดในรูปของทางเลือกของตะวันตก (ส่วนใหญ่เป็นสหรัฐอเมริกา) ต่อยุทธศาสตร์มาร์กซิสต์และนีโอมาร์กซิสต์ซึ่งเสนอโดย "รัฐโลกที่สอง" อาทิ สหภาพโซเวียต นอกจากนี้ การทำให้ทันสมัยและวัฒนธรรมการพัฒนายังใช้เพื่ออธิบายว่ารัฐโลกที่สามจะพัฒนาตนเองอย่างเป็นธรรมชาติไปสู่รัฐโลกที่หนึ่งซึ่งพัฒนาแล้ว และมันยังอยู่บนพื้นฐานบางส่วนจากทฤษฎีเศรษฐกิจเสรีและรูปแบบทฤษฎีสังคมของทัลคอตต์ พาร์สันส์
ตามที่จำกัดความไว้ในเว็บไซต์ขององค์การการค้าโลก (WTO) "เป็นเพียงองค์กรระหว่างประเทศในระดับโลกเพียงแห่งเดียวซึ่งรับผิดชอบกับระเบียบการค้าระหว่างประเทศ" ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 ซึ่งดำเนินการสืบต่อจากข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) องค์กรดังกล่าวมุ่งให้ความสนใจเจริญเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจในเรื่องการเจรจาเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ
มี 117 จาก 153 ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกซึ่งได้รับพิจารณาว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ประเทศอย่างเช่น จีน บราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้ได้รับพิจารณาว่าเป็นสมาชิกซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดในองค์การ มีการกล่าวว่าประเทศกำลังพัฒนาได้รับการปฏิบัติพิเศษและข้อกำหนดเกี่ยวกับข้อตกลงทั่วไปซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การการค้าโลก การปฏิบัติพิเศษอาจจำกัดความได้ว่าเป็น "รวมไปถึงระยะเวลาที่นานกว่าในการปฏิบัติตามข้อตกลงและการผูกมัด มาตรการเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและความช่วยเหลือในการสร้างสาธารณูปโภคสำหรับงานองค์การการค้าโลก การรับมือกับข้อพิพาท และการปฏิบัติตามมาตรฐานทางเทคนิค" การใช้สิทธิพิเศษเหล่านี้อาจถูกตั้งคำถามและท้าท้ายจากสมาชิกอื่น ๆ ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในบรรดากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้คือกลุ่มที่ซับซ้อนขนาดเล็ก เช่น พันธมิตร; กลุ่มประเทศส่งออกสินค้าเกษตร (The Cairns group) ประกอบด้วยประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ก่อตั้งขึ้นนับตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1980 ในขณะที่พันธมิตรดังกล่าวดูเหมือนว่าจะเลือนหายไปตามกาลเวลา กลุ่มประเทศยี่สิบประเทศ หรือ "จี-20" ก็ได้ผงาดขึ้นมาแทนที่ ประกอบด้วยประเทศอย่างเช่น อินเดีย จีน อียิปต์ อาร์เจนตินา และแอฟริกาใต้ กลุ่มประเทศทั้งหลายกำลังพัฒนาที่จะรับมือกับปัญหาอย่างเช่นการพัฒนา สมาชิกภาพ และการค้าในภูมิภาค