โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์ (เปอร์เซีย: ??????? ???? ??????) เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศอิหร่าน ตั้งอยู่ห่างจากนครบูเชห์ (Bushehr) ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 17 กิโลเมตร บริเวณริมอ่าวเปอร์เซีย โรงไฟฟ้าดังกล่าวตั้งอยู่ที่รอยต่อของแผ่นธรณีภาคสามแผ่น
การก่อสร้างโรงไฟฟ้าเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2518 โดยบริษัทจากเยอรมนี แต่งานหยุดลงใน พ.ศ. 2522 หลังการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน สัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้าจนแล้วเสร็จมีการลงนามระหว่างอิหร่านกับกระทรวงพลังงานอะตอมของรัสเซียใน พ.ศ. 2538 โดยมีบริษัท Atomstroyexport ของรัสเซียเป็นผู้รับจ้างหลัก งานก่อสร้างล่าช้าหลายปีด้วยปัญหาทางเทคนิคและปัญหาทางการเงิน เช่นเดียวกับแรงกดดันทางการเมืองจากตะวันตก หลังการก่อสร้างเกือบหยุดชะงักใน พ.ศ. 2550 ได้มีการบรรลุข้อตกลงใหม่ ซึ่งอิหร่านสัญญาจะชดเชยค่าก่อสร้างและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นหลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จ การส่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เริ่มต้นในปีเดียวกัน โรงไฟฟ้าดังกล่าวเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าแก่สายไฟฟ้าทั่วประเทศเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 กันยายน โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย เซียร์เกย์ ชมัทโค (Sergei Shmatko) และประธานรอสอะตอม (Rosatom) เซียร์เกย์ คีรีเยนโก (Sergei Kiriyenko)
โครงการก่อสร้างดังกล่าวถูกมองว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะทั้งในแง่ของเทคโนโลยีที่ใช้ สิ่งแวดล้อมทางการเมือง และสภาพภูมิอากาศทางกายภาพที่ท้าทาย โรงไฟฟ้าดังกล่าวถูกมองว่าเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พลเรือนแห่งแรกในตะวันออกกลาง แม้อิสราเอลจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์