โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ตั้งอยู่บนถนนคอนแวนต์ แขวงสีลม เขตบางรัก เป็นโรงเรียนสตรีและคอนแวนต์ของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร จากประเทศฝรั่งเศส ที่เข้ามาเผยแพร่ธรรมและช่วยส่งเสริมงานพัฒนาสังคมไทยด้านการศึกษา การรักษาพยาบาลและการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ยากไร้
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2450 คณะภคินีฯ โดยคุณแม่อธิการิณีแซงต์ ซาเวียร์ (MERE SAINT - XAVIER) ได้ก่อตั้งโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ขึ้น บนเนื้อที่ 16 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวาของคณะมิสซังกรุงเทพ เดิมที่เป็นที่นา ณ บริเวณถนนคอนแวนต์ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยสถาปนิกผู้ออกแบบคือ นายอัลเฟรโด รีกาซซี (Alfredo Rigazzi) สถาปนิกชาวอิตาลี อาคารโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ในยุคแรกเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคาปั้นหยามุงกระเบื้องว่าว ต่อมาปี พ.ศ. 2512 ได้มีการก่อสร้างอาคาร 72 ปี และในปี พ.ศ. 2530 ได้ก่อสร้างหอประชุมทรินิตี้ เป็นหอประชุมอเนกประสงค์ขนาดใหญ่
อย่างไรก็ดี ภายในกลุ่มอาคารใหม่ โบสถ์น้อยซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์ ยังคงดำรงอยู่และเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ การรับศีลกำลัง การรับศีลมหาสนิท เป็นต้น
ในช่วงแรกโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์รับนักเรียนจากบุตรและธิดาชาวยุโรป ที่เข้ามาพำนักอาศัยในประเทศไทย ซึ่งหลักสูตรการศึกษาจะเน้นทางด้านภาษา ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก ในด้านวิชาการจะเน้นการศึกษา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ จริยธรรม วาดเขียน ดนตรี และการฝีมือ หลังจากนั้นบรรดาคหบดี ข้าราชการ และพ่อค้าชาวไทยได้ให้ความสนใจและเริ่มนิยมส่งบุตรหลานของตนมาเข้ารับการศึกษาในโรงเรียน จึงมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็นตามลำดับ โรงเรียนจึงพัฒนาหลักสูตรและปรับปรุงให้เหมาะสมกับภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป มีการจัดระบบการเรียนการสอนใหม่ให้สอดคล้องกับแนวทางของระบบการศึกษาในประเทศไทย
จนในปี พ.ศ. 2479 เริ่มทดลองส่งนักเรียนจำนวน 11 คน เข้าสอบแข่งขันระดับประเทศ ในระดับชั้นประโยคมัธยมบริบูรณ์ หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนักเรียนทั้ง 11 คนสามารถสอบผ่านได้ทั้งหมด และมีคะแนนติดอันดับที่หนึ่งถึงที่สามของแผนกภาษาอีกด้วย กระทรวงศึกษาธิการจึงมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้แก่นักเรียนทั้ง 2 คน ที่มีผลการสอบดีเด่นดังกล่าว และในปีต่อมาจึงได้ประกาศรับรองวิทยฐานะของโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล
นอกจากนี้ ระหว่างปี พ.ศ. 2482 ถึง 2486 กระทรวงศึกษาธิการยังได้อนุญาตให้โรงเรียน เปิดทำการสอนหลักสูตรนักเรียนฝึกหัดครูขึ้นอีกแขนงหนึ่ง เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถออกไปรับใช้สังคม และช่วยพัฒนางานการศึกษาของไทยอีกด้วย
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์