โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดทำการสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2448 ปัจจุบันโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เปิดสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ซึ่งในปัจจุบันเป็นการจัดการศึกษาแบบสหศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมปัจจุบันตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School) ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนมีศักยภาพเป็นพลโลก เป็นเลิศทางวิชาการ สื่อสารสองภาษา ล้ำหน้าทางความคิด ผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมโลก ปัจจุบันสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 (นนทบุรี-พระนครศรีอยุธยา)
ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นตามมณฑลต่าง ๆ โดยทั่วกัน ยึดแบบอย่างของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยโรงเรียนหลวงแห่งแรกของประเทศไทย (จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2425) ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลในพระองค์ที่มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง โรงเรียนหลวงขึ้นนี้ เพราะพระองค์มีพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา ความตอนหนึ่งว่า
เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นไป จนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉะนั้นจึงขอบอกได้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองนี้ จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันอุตส่าห์จัดให้เจริญขึ้นให้จงได้
ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดการปฏิรูปการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยปกครองส่วนภูมิภาคนั้น โปรดให้จัดการปกครองแบบเทศาภิบาลขึ้น โดยให้รวมเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน 3-4 เมือง ขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง โดยในปี พ.ศ. 2438 โปรดให้จัดตั้งมณฑลกรุงเก่าขึ้น ประกอบด้วยหัวเมืองต่าง ๆ คือ กรุงเก่าหรืออยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี พรหมบุรี อินทร์บุรี และสิงห์บุรี โดยมี พระยาโบราณบุรานุรักษ์ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลประจำมณฑล และได้สนองพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านจัดตั้งโรงเรียนประจำมณฑลขึ้นใน ร.ศ.123หรือปีพ.ศ. 2448โดยในระยะแรกใช้กุฏิพระ และศาลาวัดและบริเวณใกล้เคียงกับวัดเสนาสนาราม หลังพระราชวังจันทรเกษม เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอน โดยเรียกชื่อว่า "โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า"
ครั้นถึงปีพ.ศ. 2450กระทรวงธรรมการเห็นว่าประชาชนนิยมส่งบุตรหลานมาศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมากจนทำให้สถานที่เดิมคับแคบ จึงได้จัดสร้างอาคารเรียนแบบประยุกต์ครึ่งตึกครึ่งไม้ ลักษณะถาวร2ชั้นแบบ6ห้องเรียนและห้องประชุมอีก1ห้อง ประชาชนในมณฑลกรุงเก่าขณะนั้นเรียกชื่อโรงเรียนกันว่า "โรงเรียนหลังวัง" (ซึ่งตึกที่กระทรวงธรรมการได้สร้างนั้นต่อมาโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ขอใช้ตึกนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียน เพราะโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยย้ายมาอยู่ในสถานที่ปัจจุบัน)
เนื่องจากมณฑลกรุงเก่า ได้รับการยกย่องให้เป็นหัวเมืองเอกอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นโรงเรียนจึงอยู่ในความสนใจของผู้ใหญ่และเจ้านายชั้นสูงตลอดมา จนทำให้โรงเรียนมีมาตรฐานการศึกษาอบรมสูงสมฐานะเมื่อ ร.ศ.127 และในปีต่อๆมานักเรียนของโรงเรียนทุกคนต้องไป ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ทุกๆปี แม้ภายหลังจะยกเลิกเสีย แต่ก็ย่อมแสดงถึงฐานะของโรงเรียนเป็นอย่างดีครู-อาจารย์และนักเรียนเก่าๆก็ล้วนแต่เป็นผู้มีวิทยาคุณและเกียรติอันควรคารวะ ทั้งสิ้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 ทางราชการได้ยุบเลิกมณฑลต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองอินทร์บุรีและเมืองพรหมบุรีเข้ากับเมืองสิงห์บุรี ตั้งที่ว่าการมณฑลที่อยุธยา ซึ่งก็คือพระราชวังจันทรเกษม ตึกที่ทำการภาค (อาคารมหาดไทย)และพระที่นั่งพิมานรัตยาแต่อาคารหลังอื่นๆในพระราชวัง ทางโรงเรียนก็ได้ขอใช้ทำการเรียนการสอนต่อ แต่ก็ส่งผลทำให้สถานที่เล่าเรียนของโรงเรียนมีพื้นที่น้อยลง และในปี พ.ศ. 2469พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจาก "มณฑลกรุงเก่า" เป็น "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" ซึ่งจากการจัดตั้งมณฑลอยุธยามีผลให้อยุธยามีความสำคัญทางการบริหารการปกครองมากขึ้น การสร้างสิ่งสาธารณูปโภคหลายอย่างมีผลพัฒนาเมืองอยุธยาในเวลาต่อมา จนเมื่อยกเลิกการปกครองระบบเทศาภิบาลตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารส่วนอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2467 เปลี่ยนให้มณฑลต่างๆนั้นเลื่อนฐานะเป็นจังหวัดแต่อยุธยายังคงเป็นมณฑลเทศาภิบาลอยู่ จนกระทั่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อยุธยาจึงเปลี่ยนฐานะเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน และก็เป็นผลทำให้โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า เปลี่ยนชื่อมาเป็น โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ดังปัจจุบัน
หลังจากที่เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจาก โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า มาเป็น โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยแล้วนั้น การเรียนการสอนก็เป็นไปอย่างราบรื่นและได้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด นับจากปีพ.ศ. 2448 จนถึงปีพ.ศ. 2483 โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีอายุถึง35ปี ที่ใช้อาคารเรียนอยู่ด้านหลังพระราชวังจันทรเกษม จนประชาชน ชาวบ้านเรียกกันว่า โรงเรียนหลังวัง จนมีศิษย์เก่าสำเร็จการศึกษาเป็นจำนวนมาก และซึ่งศิษย์เก่ารุ่นแรกๆเหล่านี้เป็นบุคคลที่มีเกียรติอันควรคารวะ อาทิเช่น
ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรี3สมัย เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เข้าศึกษาใน ร.ศ.131หรือพ.ศ. 2455 เลขประจำตัว791
นายวิโรจน์ กมลพันธ์อดีตธรรมการจังหวัดและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเลขประจำตัว 684 ฯลฯ
ชื่อเสียงและประวัติศาสตร์อันยาวนานของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย และรวมทั้งครูบาอาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิอีกมากมายหลายท่าน ทำให้ประชาชนในมณฑลกรุงเก่าขณะนั้น ให้การยอมรับและพร้อมใจกันส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้นทุกๆปีจนสถานที่นั้น คับแคบลงทุกปี
จนกระทั่งเมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2481 - พ.ศ. 2484) ได้ตั้งปณิธานที่จะใช้เครื่องมือทางการคลังสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ สร้างความเป็นธรรมและความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎร และได้มีแผนที่จะปรับปรุงเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา และได้เล็งเห็นว่า สถานที่ตั้งของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย แต่เดิมนั้นคับแคบ ไม่มีโอกาสขยายได้อีกเท่าที่ควร ซึ่งโดยความหวังของท่านดร.ปรีดีนั้น มุ่งหวังที่จะให้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีมหาวิทยาลัยด้วย
ฉะนั้น เมื่อนายวิโรจน์ กมลพันธ์ นักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัยซึ่งดำรงตำแหน่งธรรมการจังหวัดในขณะนั้น ได้ปรึกษาหารือกัน ในเรื่องการย้ายสถานที่ตั้งของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ดร.ปรีดี พนมยงค์มีความเห็นชอบด้วย จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จาก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชการที่8 ซึ่งได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่าน บริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1 แสนบาท และได้มีพระราชดำรัสตรัสสั่ง ให้จัดสร้าง อาคารตึกถาวร 2 ชั้น เป็นสถานศึกษาโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยที่แข็งแรง สง่างามพร้อมกันนี้ยังได้จัดสร้าง หอประชุมพระราชทานอีก 1 หลัง และบ้านพักครูอีก 20 หลัง''
จากนั้นดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายให้ หลวงบริหารชนบท ข้าหลวงประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้พิจารณาเลือกสถานที่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นโชคดีของโรงเรียน ที่จะได้ไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมมาก โดยหลวงบริหารชนบท ได้เสนอแผนการก่อสร้างสนองความประสงค์ของท่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้รับการเห็นชอบ เพราะเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม เป็นโรงเรียนรัฐบาลของจังหวัด และนอกจากนี้ยังสามารถขยายบริเวณออกไปให้กว้างขวางได้อีก ซึ่งความหวังของท่านดร.ปรีดีนั้น มุ่งหวังที่จะให้ มี มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นด้วยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอนาคต
หลวงบริหารชนบทได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า"สถานที่ตั้งของโรงเรียนนี้เหมาะสมมาก โดยอยู่จุดกึ่งกลางของเกาะเมองและมีบริเวณสภาพแวดล้อมที่สวยงาม มีปูชนียสถาน ซึ่งเหมาะสมกับสถานศึกษา ด้านหน้าของโรงเรียนก็เป็นที่ตั้งของ สวนสาธารณะบึงพระราม ด้านหลังก็เป็นถนนที่ตัดตรงมาจากกรุงเทพฯ มี สถานที่ราชการสองฝั่งถนน ซึ่งเหมาะสมในทุกๆด้าน"
งานก่อสร้างได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2482แล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2483 โดยมีหลวงบริหารชนบท เป็นกรรมการควบคุมการก่อสร้าง พร้อมกันนี้ยังได้ควบคุมงานก่อสร้างหอประชุมพระราชทานอีก1หลัง และบ้านพักครูอีก 20 หลังด้วย และอาคารเรียนนั้นได้ทำพิธีเปิดอาคารเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 และเนื่องจากอาคารหลังนี้สร้างขึ้นจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทีได้พระราชทานให้สร้าง ครู-อาจารย์และนักเรียนตั้งแต่บัดนั้นจึงเรียกว่า “อาคารพระราชทาน”
และเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่ออาคารนามว่า “สิริมงคลานันท์” ยังความปลาบปลื้มมาแก่ชาวอยุธยาวิทยาลัยอีกครั้ง ที่ได้รับพระเมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนาม “สิริมงคลานันท์”นี้ให้มาตราบเท่าทุกวันนี้
ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชการที่8 ที่ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ยิ่งกว่าจะหาที่เปรียบได้ ยังความปลาบปลื้มแก่พวกเราชาวอยุธยาวิทยาลัยและชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างยิ่ง การเรียนการสอนของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยดำเนินไปอย่างราบรื่นและก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2486-2487ประเทศไทยต้องประสบปัญหาภัยคุกคามจากสงครามโลกครั้งที่2 อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น และผลกระทบจากภัยสงครามก็ทำให้โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยจำเป็นต้องรับภาระด้วย กล่าวคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมทั้งขออาศัยใช้สถานที่เรียนเป็นการลี้ภัยชั่วคราว จึงทำให้นักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีการเรียน กันอย่างกระท่อนกระแท่น ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ครู-อาจารย์และนักเรียนก็เต็มใจและยินดี เพราะถือได้ว่าได้ให้ความช่วยเหลือเอื้ออารี ที่ยิ่งใหญ่แก่เพื่อนร่วมชาติและแก่สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทยอันสูงส่ง
เมื่อชาติบ้านเมืองกลับคืนสู่สภาวะปกติในยุคต่อๆมา การเรียนการสอน การศึกษาของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ได้ขยายตัวอย่ารวดเร็ว มีอาคารเรียนถาวรเพิ่มขึ้นอีกหลายอาคาร ภายใต้การบริหารของผู้อำนวยการ ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่อีกหลายท่าน ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาก จำนวนครูและนักเรียนก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เทคนิคและวิธีการสอนรูปแบบต่างๆตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆจึงถูกนำมาบรรจุเข้าไว้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน อย่างค่อนข้างพร้อมมูลในโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
ปัจจุบัน โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนแบบสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีการพัฒนาทุกด้านมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนได้รับรางวัลพระราชทาน จำนวน 4 ครั้งด้วยกัน ดังนี้
เป็นความมงคลสำหรับชาวอยุธยาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับสมาคมนักเรียนอยุธยาวิทยาลัย ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปีพุทธศํกราช2527
โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งแสนบาท ในการสร้างอาคารเรียน 1 หลัง หอประชุม 1 หลัง และบ้านพักครูอีกจำนวน 20 หลัง โดยพระบรมราชานุสาวรีย์ฯจะตั้งอยู่ ณ สนามกลางโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย บริเวณด้านหน้าอาคารสิริมังคลานันท์ ซึ่งในทุกๆวันจันทร์นักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยจะทำการถวายพวงมาลัยข้อพระกรและทำการถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ โดยพร้อมเพรียงกัน และในทุกๆวันที่ 9 มิถุนายน ในทุกๆปีทางโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อันประกอบด้วย คณะผู้บริหาร คณะครู สมาคมนักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นักเรียนปัจจุบัน และศิษย์เก่า ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน พิธีวางพวงมาลาและถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน
รวมมีห้องเรียนทั้งสิ้น 104 ห้อง จำนวนนักเรียนประมาณ 4,776 คน ครู 250 คน เจ้าหน้าที่,พนักงาน,นักการภารโรงและคนขับรถ 24 คน
(แต่เดิมโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยเคยใช้ตราพระปรมาภิไธย่อ อปร.ภายใต้พระมหาภิชัยมงกุฎ ด้านล่างตราเป็นชื่อโรงเรียน"อยุธยาวิทยาลัย" บนแถบแพรโค้ง แต่ในปัจจุบันได้อัญเชิญตรานี้เป็นตราเข็มกรรมการนักเรียนและตราของสมาคมนักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์)
แต่สีที่ใช้บนธงของโรงเรียนจะเป็น แดง ขาว แดง สลับกัน และมีตราปราสาทสังข์อยู่กึ่งกลาง
ต่างจากของโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ ที่ใช้สีบนธงคือ ขาว แดง ขาว แต่สีประจำโรงเรียนคือ ??? สีแดงและ ??? สีขาว
ตั้งแต่สถาปนาโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่าขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2448 โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยก็ได้เจริญรุดหน้ามาโดยตลอด ทั้งนี้ก็เป็นเพราะบุคลากรทางการศึกษา ต่างๆ ของโรงเรียนที่ได้ทุ่มเท ทั้งชีวิต และจิตใจ จนทำให้ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จ มาถึงทุกว้นนี้ และผู้ที่สำคัญท่านหนึ่งในการเป็นผู้นำที่จะขับเคลื่อน สถานศึกษา ให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ ในทุกๆ ด้าน บุคคลนั้น ก็คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2448 –ปัจจุบัน มีรายนามผู้บริหาร สถานศึกษา เรียงตาม ลำดับดังนี้