โรงเรียนชลประทานวิทยา เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดนนทบุรี โดยมีกรมชลประทานเป็นเจ้าของ ตั้งอยู่เลขที่ 201 หมู่ 1 ถนนติวานนท์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สังกัดเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 2 โรงเรียนชลประทานวิทยา มีเนื้อที่ประมาณ 56 ไร่ มีอาคารเรียน 10 หลังและอาคารเรียนประกอบล้อมรอบสนามฟุตบอล และสนามกรีฑา ผังของโรงเรียนท่านอาจารย์ประหยัด ไพทีกุล นำแบบอย่างมาจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันโรงเรียนชลประทานวิทยามีนักเรียน 6,423 คน ชาย 3,339 คน หญิง 3,084 คน มีครู 305 คน มีห้องเรียนทั้งหมด 138 ห้องในปีการศึกษา 2551 และเพิ่มขึ้นเป็น 141 ในปีการศึกษา 2557 โดยโรงเรียนชลประทานวิทยาทำการสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเปิดสอน 2 แผนการเรียนคือ
โรงเรียนชลประทานวิทยาเปิดสอนวันแรกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2498 โดยดำริของหม่อมหลวงชูชาติ กำภู อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เนื่องจากในขณะนั้น กรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่จังหวัดชัยนาท และมีโครงการที่จะก่อสร้างเขื่อนภูมิพลที่จังหวัดตาก ในการนี้จะต้องมีการย้ายหน่วยงานบางหน่วยงานของกรมชลประทานจากสามเสนมาอยู่ที่อำเภอปากเกร็ด ทำให้ข้าราชการต้องย้ายสถานที่ทำงาน ท่านหม่อมหลวงชูชาติ กำภู มีความห่วงใยในเรื่องสถานศึกษาของบุตรหลานข้าราชการกรมชลประทาน จึงให้ท่านอาจารย์ประหยัด ไพทีกุล หัวหน้าแผนกอาณาบาลกรมชลประทานในขณะนั้น ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 การจัดตั้งโรงเรียนนั้นเต็มไปด้วยปัญหา เพราะเวลานั้นโรงเรียนต่าง ๆ ได้เปิดภาคเรียนของปีการศึกษา 2498 ไปแล้วถึง 4 วัน (เปิดเรียนวันที่ 16 พฤษภาคม) และการจัดตั้งโรงเรียนต้องขออนุญาตภายในเดือนกุมภาพันธ์ โดยให้อาจารย์ประหยัด ไพทีกุลเป็นผู้จัดการโรงเรียน และอาจารย์โกศล ภาสวณิช เป็นอาจารย์ใหญ่
สัญลักษณ์ของโรงเรียนชลประทานวิทยาคือพระวรุณ หรือพระพิรุณ พระหัตถ์ขวาถืออาโภค พระหัตถ์ซ้ายถือบ่วงบาศพัดโบก ประทับบนเมฆ