โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย ในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2457 ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่ตั้งและที่ดำเนินการเรียนการสอนให้กับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นโรงพยาบาลฝึกหัดแพทย์แห่งที่สองของประเทศไทย คณาจารย์สังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพร้อมด้วยพระราชภาดาและภคินี เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์ ด้วยเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระชนม์อยู่นั้น ได้ทรงพระราชดำริจัดตั้ง สภากาชาดไทย ซึ่งเรียกในเวลานั้นว่า สภาอุณาโลมแดง ขึ้นไว้ โดยรับการรักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ตามคติของนานาชาติที่เจริญแล้ว แต่การสภากาชาดไทยยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ ถ้าจะบริจาคทรัพย์สร้างโรงพยาบาลสภากาชาดขึ้น ก็จะเป็นพระกุศล อันประกอบด้วยถาวรประโยชน์อนุโลม ตามพระราชประสงค์แห่งองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ และเป็นเกียรติแก่ราชอาณาจักรโดยทรงพระดำริเห็นพ้องกัน บรรดาพระราชโอรส พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบริจาคทรัพย์รวมกันเป็นจำนวนเงิน 122,910 บาท สมทบกับทุนของสภากาชาด สร้างโรงพยาบาลขึ้น และพระราชทานนามตามพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์รำลึงถึงพระบรมชนกนารถ โรงพยาบาลของกาชาดนี้จึงมีนามว่า "โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์" เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2457 ตามแจ้งความสภากาชาดสยาม ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2457 ได้กำหนดจุดมุ่งหมายให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลที่ดีจริงต้องตามวิทยาศาสตร์แผ่พระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวกับทั้งแพร่เกียรติยศของชาติไทย บริการรักษาพยาบาลช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ให้บริการรักษาผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ทั้งในยามสงครามและปกติ โดยยึดมั่นในปณิธาณอันแน่วแน่ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั่วไป โดยไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ ลัทธิ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง
เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) พระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "...พระองค์มีพระราชประสงค์ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ผู้ได้สำเร็จหลักสูตรให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อออกมาช่วยเหลือประเทศชาติ..." โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นโรงเรียนแพทย์จึงได้รับการประสานงานจากรัฐบาลให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่สองของประเทศไทย โรงเรียนแพทย์แห่งใหม่นี้ถือกำเนิดในนาม "คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" จนกระทั่งมีมติให้โอนคณะที่ซ้ำซ้อนของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ให้กับมหาวิทยาลัยเดิมที่เป็นรากฐานของคณะนั้น ๆ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงถูกโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามใหม่ว่า "คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ให้บริการทางการแพทย์ พยาบาล ตลอดจนการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย มาใช้ศึกษาเพื่อการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยนับตั้งแต่โรงพยาบาลได้เปิดบริการและพัฒนาการรักษา พัฒนาบุคลากรทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการรักษาพยาบาลและงานวิจัย ทั้งนี้ด้วยการประสานงานกันเป็นอย่างดีระหว่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นอกจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยแล้ว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยังทำหน้าที่เป็นสถานฝึกอบรมนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษาพยาบาลของวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย นิสิตคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นหน่วยงานในสังกัดของสภากาชาดไทยซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลไม่แสวงหาผลกำไร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนเพื่อดำเนินการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะเมื่อมีความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้โรงพยาบาลมีภารกิจหลากหลายด้านมากขึ้น เช่น ให้บริการการรักษา ร่วมกับคณะแพทย์จัดการศึกษาเพื่อผลิตแพทย์ที่สมบูรณ์สู่สังคม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องสำคัญและใช้ทรัพยากรมาก ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลจึงเปิดรับความช่วยเหลือจากภาคประชาชนหลายด้าน อาทิ
ประชาชนผู้บริจาคร่างกายจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาแพทยศาสตร์อย่างมาก เพราะการอุทิศร่างกายถือเป็นการสอนนิสิตแพทย์ให้เข้าใจร่างกายมนุษย์อย่างครบทุกมิติ ทำให้นิสิตแพทย์สามารถปฏิบัติหัตถการกับผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ เป็นการฝึกทักษะการผ่าตัด จึงเป็นการได้ช่วยพัฒนาโรงพยาบาลทั้งด้านวิชาการและการรักษาและนอกจากจะได้ส่งเสริมการเรียนแพทย์ของนิสิต ผู้อุทิศร่างกายยังสามารถช่วยสร้างองค์ความรู้เมื่อท่านอุทิศร่างกายเพื่อการฝึกผ่าตัดและวิจัยทางการแพทย์ ผู้มีความประสงค์จะอุทิศร่างกายฯ เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดขอแบบฟอร์มพร้อมส่งแบบฟอร์มที่กรอกข้อความแล้วได้ที่ ศาลาทินทัต ด้านข้างอาคาร ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีอาการเจ็บป่วยขั้นร้ายแรงจากที่อวัยวะสำคัญไม่สามารถทำงานได้หรือทำงานผิดปกติเป็นจำนวนมาก การได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคจึงเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด อวัยวะที่สามารถบริจาคได้ ได้แก่ หัวใจ ตับ ไต ปอด ตับอ่อน กระดูก ฯลฯ ติดต่อแสดงความจำนงได้ที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. 1666
ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีอาคารและสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นพระราชานุสรณ์ของบุคคลสำคัญในราชวงศ์หลายพระองค์
เนื่องจากอาคารจักรพงษ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นอาคารผู้ป่วยนอกเดิม เริ่มคับแคบลงเพราะมีผู้ป่วยเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มากขึ้นอย่างมาก ในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ในปี พ.ศ. 2530 และในโอกาสครบรอบ 72 ปี แห่งงานสถาปนาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปี พ.ศ. 2529 สภากาชาดไทยจึงได้จัดสร้างอาคารผู้ป่วยนอกแห่งใหม่เพื่อเฉลิมพระเกียรติและให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่นี้ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 และมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกทรงเป็นประธานกรรมการอุปการะฝ่ายบรรพชิตและประทานพระอุปการะในเรื่องต่าง ๆ มาตลอด อาคารแห่งใหม่นี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมแรงด้วยเหล็ก สูง 24 ชั้นเมื่อรวมชั้นใต้ดินและชั้นลอย ก่อสร้างขึ้นบริเวณหน้าตึกจักรพงษ์ มูลค่าการก่อสร้าง 400 ล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อาคารว่า "ภปร." อาคาร ภปร. เป็นจุดสังเกตที่สำคัญของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพราะตั้งอยู่บริเวณหัวมุมแยกศาลาแดงและยังมีป้ายอักษรชื่อ"โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย" และตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชประดับอาคารด้วย
ด้วยในปี พ.ศ. 2508 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงมีพระชนมายุ 60 พรรษา มีองค์กร ประชาชน ได้เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าถวายเงินโดยพระอัธยาศัย จึงทรงพระราชทานเงินสร้างตึกสำหรับผู้ป่วย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในด้านสวนลุมพินี โดยมิได้ใช้พระนามของพระองค์เป็นนามตึก เนื่องด้วยทรงพอพระทัยที่จะบำเพ็ญพระกุศลแบบปิดทองหลังพระ ต่อมาทรงเสด็จพร้อมด้วยพระธิดามาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ อาคารนี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด "ตึกมงกุฎ-เพชรรัตน" เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยมี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ในโอกาสนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเหรียญกาชาดสรรเสริญ แด่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ด้วย ในพิธีเปิด ตึกมงกุฎ-เพชรรัตน ทั้งสองพระองค์ ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์หนังสือ "ตำนานสภากาชาดสยาม" เป็นอนุสรณ์ในการเปิดตึกดังกล่าว และเพื่อให้ผู้สนใจได้ทราบประวัติความเป็นมาของสภากาชาดไทย
" อาคารวชิรญาณวงศ์ " ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยใช้เป็นที่รักษาพยาบาลพระภิกษุและสามเณรอาพาธ และใช้ประกอบพิธีทำบุญเลี้ยงพระ รวมถึงการเปิดรับบริจาคเงินเพื่อบำรุงพระภิกษุ และสามเณรอาพาธในเรื่องการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ ตลอดรวมถึงการรับบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสำนักงานต่างๆของสภากาชาดไทย " อาคารวชิรญาณวงศ์ " เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๔ ชั้น แบบทรงไทยประยุกต์ ได้ดำเนินการก่อสร้างมาแต่ต้นปี ๒๕๒๕ และเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ในปี ๒๕๒๖ ทดแทนอาคารหลังเก่า ( ตึกวชิรญาณ ) และเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ( ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ ) พระราชอุปัธยาจารย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระอุปัชฌาจารย์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึกฯในวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
สืบเนื่องจากความไม่เพียงพอของแพทย์ รัฐบาลจึงมีนโยบายให้คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่งผลิตแพทย์เพิ่ม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างตึกใหม่ เพื่อรองรับจำนวนนิสิตแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยได้รับอนุมัติงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2536 และในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญอักษรพระปรมาภิไธย " อปร. " มาเป็นชื่ออาคาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งได้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือลงวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2539 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย " อปร. " เป็นชื่ออาคาร เมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเมื่อวันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2546 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 8 อาคารดังกล่าวเป็นย่อมุม 8 มุม สูง 19 ชั้น บนยอดอาคารประดับอักษรพระปรมาภิไธย " อปร. " ตั้งอยู่ริมถนนราชดำริ ลักษณะเด่นของอาคารคือมีการอัญเชิญพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขึ้นแสดงไว้บนผนังด้านนอกของอาคาร เป็นที่มองเห็นได้อย่างโดดเด่นข้อความว่า
ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ตัวท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์
ด้วยในปีพุทธศักราช 2535 ที่ผ่านมาเป็นศุภมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถองค์สภานายิกาสภากาชาดไทย ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม กอปรทั้งเมื่อครั้งมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปีพุทธศักราช 2530 วัดบวรนิเวศวิหาร และสภากาชาดไทยได้ร่วมกันจัดสร้าง “ ตีก ภปร. ” เป็นอาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่ของโรงพยาบาลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สาธารณชนเสร็จเรียบร้อยไปแล้วอาคารหนึ่ง ด้วยเหตุทั้งสองประการนี้คณะข้าราชการบริพารร่วมกับสภากาชาดไทยจึงดำริที่จะดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถอีกอาคารหนึ่งในพื้นที่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความจงรักภักดีที่ประชาชนชาวไทยมีอยู่อย่างมั่นคงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจึงได้นำความกราบทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในฐานะองค์อุปนายิกาสภากาชาดไทยทรงเห็นชอบด้วยที่จะก่อสร้างอาคารผู้ป่วยทางกุมารเวชศาสตร์แทนอาคารรักษาพยาบาลกุมารเวชกรรมเดิม คือ “ ตึก หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ” ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมลงมาก อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานที่ยิ่งคับแคบลงเด็กผู้ป่วยอยู่กันโดยไม่ถูกต้องตามสุขลักษณะ กับทั้งเพื่อใช้เป็นศูนย์ผู้ป่วยโรคหัวใจของโรงพยาบาลด้วยอาคารที่สร้างใหม่นี้ ได้รับพระราชทานพระราชาอนุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ “ สก. ” เป็นมงคลนาม การก่อสร้างครั้งนี้ตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการด้วยเงินบริจาคตลอดทั้งจำนวนโดยไม่รบกวนงบประมาณแผ่นดิน หรืองบประมาณของสภากาชาดไทยเลย เดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาจนกระทั่งบัดนี้ศรัทธาจากมหาชนผู้เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย เป็นผลให้การดำเนินงานทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความราบรื่นทุกประการ บัดนี้ตึก “ สก. ” สร้างเสร็จสมบูรณ์ภายในพื้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย “ ตึก ภปร. ” และ “ ตึก สก. ” ได้ประดิษฐานอยู่คู่กันเป็นนิมิตหมายแห่งพระมหากรุณาธิคุณอันมากล้นพ้นประมาณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยเสมอมา
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จัดสร้างอาคารรักษาพยาบาลใหม่ขึ้น ได้รับพระราชทานชื่ออาคารจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ว่า อาคาร “ ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ” มีความหมายว่า “ อนุสรณ์ที่เป็นมงคลของสองพระองค์ ” ตั้งอยู่ริมถนนราชดำริ ลักษณะภายในอาคารเป็นอาคารเดี่ยว 29 ชั้น ชั้นใต้ดิน 4 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 224,652.25 ตารางเมตร ภายในอาคารนี้จะรวบรวมศูนย์ความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ เช่น ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์ผ่าตัด ศูนย์ผู้ป่วยศัลยกรรมประสาท ศูนย์บริการมารดาและทารกแรกคลอด ซึ่งในส่วนนี้จะให้บริการอย่างครบวงจรโดยจะดูแลตั้งแต่การปฏิสนธิของมารดาจนถึงการคลอด และศูนย์บริการฉุกเฉิน ห้องไอซียูเพื่อพร้อมรับสภาวะภัยพิบัติ และอุบัติภัยหมู่ ทั้งนี้งบประมาณในการก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์อยู่ที่ 12,500 ล้านบาท โดยงบที่ได้ในการก่อสร้างมาจากสภากาชาดไทย 2,500 ล้านบาท และจากรัฐบาล 4,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการสมทบทุนโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเป็นผู้เปิดโครงการสมทบทุนในครั้งนี้ ซึ่งเงินสมทบทุนที่ได้นอกจากการก่อสร้างแล้ว ยังนำไปใช้จัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ให้มีความทันสมัยมากขึ้นโดยรวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท
เนื่องจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีแผนกในการรักษาต่าง ๆ กระจายตัวอยู่ในอาคารหลายหลังทั่วพื้นที่ในโรงพยาบาล จึงทำให้เกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการบอบช้ำมากในขณะเดินทางจากอาคารหนึ่งไปอีกอาคารหนึ่ง รวมถึงทำให้เสียเวลาเป็นอย่างมากในการรักษา อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน อาคารต่าง ๆ ที่ให้บริการนั้นมีขนาดพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ต้องสร้างอาคารอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ขึ้นเพื่อรวบรวมความเป็นเลิศของศูนย์การรักษาไว้ในอาคารเดียว เมื่ออาคารหลังนี้เปิดให้บริการจะช่วยเสริมศักยภาพของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ การวิจัย และการให้บริการ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “ โรงพยาบาลชั้นนำระดับโลก ” ของประชาชนชาวไทย ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการสร้างอาคารเดี่ยวสำหรับรักษาผู้ป่วยที่สูงวัย หรือชราภาพขึ้นอย่างครบวงจรเพื่อความสะดวกในการรักษา และการเดินทางรวมถึงขนาดพื้นที่ที่จะมีมากขึ้นเพื่อรองรับในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีมากขึ้นในอนาคตต่อไป
ตามข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และสภากาชาดไทยให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นบุคคลคนเดียวกันแต่แยกการบริหารออกเป็น 2 หน่วยงาน แม้ว่าคณะแพทยศาสตร์จะถูกโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้อตกลงนี้ยังคงใช้ปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน รายนามผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีดังนี้
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตั้งอยู่ใกล้เขตธุรกิจของกรุงเทพมหานคร อาทิ สีลม สามย่าน จึงมีระบบขนส่งมวลหลายชนิดที่สามารถมายังโรงพยาบาลแห่งนี้ได้ ดังนี้