โฟล์กซองคำเมือง คือเพลงประจำถิ่นภาคเหนือ ที่ใช้ภาษาถิ่นพื้นเมือง หรือ คำเมืองขับร้อง ลักษณะใกล้เคียงกับเพลงลูกทุ่ง และหมอลำ ทางภาคอีสาน แต่ทำนองนั้นใกล้เคียงกับเพลงสมัยปัจจุบันมากกว่า
ลักษณะเด่นของเพลงเหล่านี้คือการใช้ภาษาเหนือล้วนๆ ในบทเพลงส่วนใหญ่มีความไพเราะทั้งในด้านท่วงทำนองและการขับร้อง ไม่ว่าจะเป็นทำนองแบบท้องถิ่น ทำนองที่ดัดแปลงมาจากเพลงต่างประเทศหรือทำนองที่แต่งขึ้นเอง
การที่จรัล มโนเพ็ชร นำเอากีตาร์มาใช้ในการขับขานเพลงท้องถิ่นได้อย่างมีฝืมือ นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เพลงของเขาได้รับความนิยม เพลงของจรัลยังมีลักษณะเด่นอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะความหลากหลายในด้านเนื้อหาและอารมณ์ความรู้สึก เช่น การนำเอาเพลงท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงมาร้องให้คนรู้จักทั่วประเทศ เช่น เพลงน้อยไจยา เพลงอันเป็นเรื่งอราวชีวิตของท้องถิ่นที่สะเทือนใจ เช่น เพลงอุ๊ยคำ มะเมียะ เจ้าดวงดอกไม้ แม่ค้าปลาจ่อม เพลงที่เล่าชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่น เช่น เพลงสามล้อ สาวโรงบ่ม มิดะ และลุงต๋าคำ รวมทั้งเพลงที่ให้ความรู้สึกสนุกสนาน เช่น เพลงสาวมอเตอร์ไซด์ สาวเชียงใหม่ ผักกาดจอ ของกิ๋นบ้านเฮา และพี่สาวครับ ฯลฯ
ความรู้สึกอันลึกซึ้งของเขาที่มีต่อคนแก่ เด็กและบ้านเมืองซึ่งแสดงออกทั้งในเนื้อหาของเพลงที่เขาแต่งและเวลาเขาพูดทำให้จรัลได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปินที่มีน้ำใจ มีความหวังดีต่อสังคมโดยรวม
ที่สำคัญกว่านั้นคือ การพูดคุยกับผู้ฟังตลอดรายการด้วยคำเมือง รวมไปถึงการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในความเป็น "คนเมือง" และการพูด "คำเมือง" ทำให้จรัลมีบทบาทสำคัญในการช่วยยกฐานะศิลปวัฒนธรรมของล้านนา ให้ขึ้นมาทัดเทียมกับศิลปวัฒนธรรมเมืองหลวง และทำให้คนในท้องถิ่นมีความภูมิใจกับความเป็นคนท้องถิ่น เพิ่มความปรารถนาที่จะช่วยกันพิทักษ์รักษาและสืบทอดความเป็นตัวของตัวเองต่อไป
จรัล มโนเพชร มิใช่ศิลปินล้านนาเพียงคนเดียว ยังมีนักร้องนักแต่งเพลงอีกหลายคนที่มีผลงานในยุคเดียวกับจรัล แต่ข้อเด่นที่กล่าวข้างต้นทำให้เขาเป็นแบบอย่างของศิลปินท้องถิ่นที่ผลิตงานเพื่อเชิดชูและรักษาความเป็นท้องถิ่นเอาไว้ การที่เพลงคำเมืองของจรัลได้รับความนิยมอย่างมาก ได้ส่งผลให้เพลงคำเมืองของนักร้องคนอื่นๆ เช่น ว.วัชญาน์ วินัย พันธุรักษ์ นิทัศน์ ละอองศรี และวงไม้เมือง ปรากฏสู่ท้องตลาดในเวลาต่อมา