โทรเลขซิมแมร์มันน์ (อังกฤษ: Zimmermann Telegram หรือ หมายเหตุซิมแมร์มันน์ อังกฤษ: Zimmermann Note) คือข้อเสนอทางการทูตระหว่างจักรวรรดิเยอรมันและเม็กซิโกในปี พ.ศ. 2460 ที่เสนอให้เม็กซิโกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีในกรณีที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกับฝ่ายไตรภาคี ซึ่งเป็นฝ่ายที่ต่อต้านเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ข้อเสนอดังกล่าวถูกดักจับและถอดรหัสโดยหน่วยสืบราชการลับของสหราชอาณาจักร เนื้อความของข้อเสนอที่ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมาสร้างความไม่พอใจให้แก่สาธารณชนชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ตอบสนองด้วยการติดยุทโธปกรณ์สงครามแก่เรือพาณิชย์อเมริกันเพื่อเป็นการป้องกันเรือดำน้ำของเยอรมันหลังจากที่ถูกโจมตีบ่อยครั้ง และยังส่งผลให้สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อเยอรมนีในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน
ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2460 ข้อเสนอดังกล่าวถูกส่งด้วยโทรเลขในรูปแบบของรหัสลับจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจักรวรรดิเยอรมัน อาร์ทูร์ ซิมแมร์มันน์ (Arthur Zimmermann) ไปยังเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำเม็กซิโก ไฮน์ริช ฟอน เอคคาดท์ (Heinrich von Eckardt) ก่อนการกลับไปใช้ยุทโธบายการสู้รบด้วยเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตอีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งเยอรมนีสันนิษฐานว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ ใจความของโทรเลขแนะนำเอกอัครราชทูตเอคคาดท์ว่าหากท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่จะเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปรากฏเป็นที่ชัดแจ้งแล้ว ให้เอคคาดท์ทาบทามรัฐบาลเม็กซิโกด้วยข้อเสนอการเป็นพันธมิตรทางการทหารและรับเงินทุนสนับสนุนจากเยอรมนี อีกทั้งเยอรมนียังจะสนับสนุนให้เม็กซิโกทวงคืนรัฐเท็กซัสและดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือจากสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้เอคคาดท์ยังถูกแนะให้เร่งเร้าเม็กซิโกในการเป็นตัวกลางชี้ชวนญี่ปุ่นให้มาเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เม็กซิโกที่ซึ่งด้อยกว่าสหรัฐอเมริกาอย่างมาก เพิกเฉยต่อข้อเสนอดังกล่าว และได้ปฏิเสธข้อเสนออย่างเป็นทางการเมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อเยอรมนีในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน
โทรเลขซิมแมร์มันน์ถูกดักจับและถอดรหัสโดยนักวิทยาการรหัสลับ (cryptographers) แห่งห้อง 40 (Room 40) ของสหราชอาณาจักร มีใจความดังนี้
โทรเลขซิมแมร์มันคือส่วนหนึ่งของความพยายามจากเยอรมนีเพื่อหยุดยั้งการลำเลียงเสบียงและยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ของฝ่ายไตรภาคี จุดมุ่งหมายหลักของโทรเลขก็คือทำให้รัฐบาลเม็กซิโกประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นการกีดกันกองกำลังของสหรัฐอเมริกาไม่ให้ไปยังสมรภูมิในยุโรปและชะลอการส่งออกยุทโธปกรณ์ลง ทั้งนี้กองบัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีเชื่อว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาโยกกองกำลังจากแนวรบด้านตะวันออกมาต่อสู้กับอังกฤษและฝรั่งเศสในแนวรบด้านตะวันตก รวมถึงบีบเค้นสหราชอาณาจักรด้วยสงครามเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขต ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะฝึกฝนและส่งกำลังพลมายังยุโรปได้มากพอ
ประธานาธิบดีเม็กซิโก เวนุสเตียโน การันซา (Venustiano Carranza) มอบหมายให้กองบัญชาการทหารเป็นผู้ประเมินความเป็นไปได้ที่เม็กซิโกจะทวงคืนดินแดนจากสหรัฐอเมริกา โดยนายพลในกองทัพสรุปแนวคิดดังกล่าวว่าเป็นไปไม่ได้และไม่พึงปรารถนาด้วยเหตุผลดังนี้
รัฐบาลของการันซาจึงถูกยอมรับในทางนิตินัยจากสหรัฐอเมริกาในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2460 อันเป็นผลโดยตรงจากกรณีโทรเลขซิมแมร์มันและเพื่อดำรงความเป็นกลางของเม็กซิโกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเอาไว้ ซึ่งหลังจากที่สหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงเวราครูซด้วยกองกำลังทหารในปี พ.ศ. 2457 แล้ว ทำให้เม็กซิโกไม่เข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในยุทธการทางทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นการทำให้แน่ใจว่านี่คือข้อตกลงที่ดีที่สุด แม้ว่าความเป็นกลางของเม็กซิโกจะเปิดโอกาสให้กิจการต่าง ๆ ของเยอรมันยังคงดำเนินไปได้ตามปกติ โดยเฉพาะในกรุงเม็กซิโกซิตี
โทรเลขดังกล่าวถูกส่งไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันในสหรัฐอเมริกาสำหรับการทวนสัญญาณและส่งซ้ำอีกรอบไปยังฟอน เอคคาดท์ ในเม็กซิโก เดิมทีมีกากล่าวอ้างว่าโทรเลขถูกส่งโดยผ่านสามเส้นทางได้แก่ การส่งผ่านสัญญาณวิทยุ การส่งผ่านสายโทรเลขทรานส์แอตแลนติกซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลฝ่ายที่เป็นกลางในสงคราม (สหรัฐอเมริกาและสวีเดน) โดยมีไว้เพื่อการใช้งานด้านการทูตของตน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าโทรเลขถูกส่งผ่านเพียงเส้นเดียวคือผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเบอร์ลิน ก่อนจะส่งผ่านสายโทรเลขทางการทูตไปยังกรุงโคเปนฮาเกน จากนั้นจึงจะถูกส่งไปยังกรุงลอนดอนและต่อไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ผ่านสายโทรเลขทรานส์แอตแลนติก ข้อมูลเป็นของการส่งผ่านสามเส้นทางนี้ถูกเผยแพร่โดยเรจินัลด์ บลิงเคอร์ ฮอลล์ หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับห้อง 40 เพื่อเป็นการปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่าหน่วยงานของเขากำลังดักจับสัญญาณบนสายโทรเลขของสหรัฐอเมริกาอยู่
การส่งสัญญาณโดยตรงจากกรุงเบอร์ลินไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในขณะนั้นไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากฝ่ายสหราชอาณาจักรได้ทำการตัดสายโทรเลขของเยอรมันในมหาสมุทรแอตแลนติก อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาอนุญาตการให้เยอรมนีใช้งานสายโทรเลขทางการทูตของตนอย่างจำกัดไว้สำหรับการติดต่อสื่อสารกับสถานทูตของเยอรมนีในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
สายโทรเลขของสวีเดนวิ่งจากสวีเดน ส่วนสายโทรเลขของสหรัฐอเมริกาวิ่งจากสถานทูตในเดนมาร์ก อย่างไรก็ตาม สายโทรเลขทั้งสองเส้นที่วิ่งตรงสู่สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องผ่านสถานีทวนสัญญาณในพอร์ธเคอร์โน ใกล้กับแลนด์เอนด์ ซึ่งเป็นส่วนปลายสุดด้านทิศทะวันตกของเกาะบริเตนใหญ่ ณ สถานที่นี้เองที่สัญญาณถูกขยายและเพิ่มกำลังก่อนจะว่างผ่านสายโทรเลขทรานส์แอตแลนติกข้ามมหาสุมทรแอตแลนติก สัญญาณซึ่งถูกส่งผ่านสถานีในพอร์ธเคอร์โนถูกทำสำเนาและส่งให้แก่หน่วยสืบราชการลับของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะแก่นักถอดรหัสลับและนักวิเคราะห์แห่งห้อง 40 ใน แอดมิแรลตี (Admiralty) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของราชนาวีอังกฤษ> ภายหลังจากที่สายโทรเลขถูกตัด กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีอุทธรณ์ต่อสหรัฐอเมริกาเพื่อขอใช้สายโทรเลขสำหรับการส่งข้อความทางการทูต ประธานาธิบดีวูดโร์ วิลสัน ตอบรับคำอุทธรณ์ดังกล่าว โดยเชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีให้ยั่งยืนต่อไป รวมทั้งช่วยให้ภารกิจทางการทูตระหว่างสองประเทศมีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่เป้าหมายของประธานาธิบดีวิลสันในการเจรจาให้สงครามยุติลงในที่สุด ซึ่งการใช้สายโทรเลข ขั้นแรกเยอรมนีต้องส่งข้อความไปที่สถานทูตสหรัฐอมริกา ณ กรุงเบอร์ลิน จากนั้นข้อความจึงจะถูกถ่ายโอนไปยังเดนมาร์กและสู่สหรัฐอเมริกาโดยผู้ให้บริการโครงข่ายโทรเลขสัญชาติอเมริกัน อย่างไรก็ตาม สหรัฐกำหนดเงื่อนไขไว้หลายข้อ ข้อที่ชัดเจนที่สุดคือห้ามไม่ให้ส่งข้อความที่เป็นรหัสลับและข้อความต้องมีความหมายชัดเจน ทั้งนี้เยอรมนีเชื่อว่าสายโทรเลขของสหรัฐอเมริกามีความปลอดภัย จึงมีการใช้งานที่อยู่นอกเหนือเงื่อนไขข้อห้ามอยู่ด้วย
แน่นอนว่าข้อความในโทรเลขซิมแมร์มันน์ไม่ได้ถูกส่งให้สหรัฐอเมริกาในรูปแบบที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา โดยทางเยอรมันได้โน้มน้าวให้เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเบอร์ลิน เจมส์ ดับเบิลยู. เจราร์ด ยอมรับโทรเลขดังกล่าวโดยเนื้อความเป็นรหัสซ้อนอยู่ และถูกส่งผ่านสายโทรเลขในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2460
ในวันต่อมา ณ ห้อง 40 ไนเจล เดอ เกรย์ สามารถถอดรหัสข้อความได้บางส่วน เนื่องจากก่อนหน้านี้ห้อง 40 สามารถเก็บกู้เอกสารรหัสลับของเยอรมันมาได้ ซึ่งรวมไปถึงเอกสารลับหลายเลข 13040 ที่เก็บกู้มาจากยุทธการเมโสโปเตเมีย และเอกสารลับทางราชนาวีหมายเลข 0075 ที่เก็บกู้มาได้จากซากเรือเอสเอ็มเอส มากเดอบูร์ก โดยฝ่ายรัสเซียก่อนที่จะส่งต่อมาให้สหราชอาณาจักร
แน่นอนว่าหากนำโทรเลขนี้ไปเผยแพร่จะทำให้สาธารณชนอเมริกันแปรเปลี่ยนทัศนคติไปต่อต้านฝ่ายเยอรมนี และหากส่งมอบโทรเลขให้แก่สหรัฐอเมริกาก็จะยิ่งเป็นการยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลความจริง แต่กระนั้นเอง ผู้บังคับบัญชาห้อง 40 วิลเลียม ฮอล์ รู้สึกไม่เต็มใจที่จะเปิดเผยโทรเลขดังกล่าว เพราะเท่ากับเป็นการป่าวประกาศว่าสหราชอาณาจักรสามารถถอดรหัสข้อความของเยอรมันได้แล้ว (ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายเยอรมันไหวตัวทันและเปลี่ยนรูปแบบรหัสข้อความลับ) และว่าสหราชอาณาจักรกำลังดักฟังสายส่งโทรเลขของสหรัฐอเมริกาอยู่ วิลเลียม ฮอลล์จึงตัดสินใจรอต่อไปอีกสามสัปดาห์ ช่วงเวลานี้เองที่เดอ เกรย์ และวิลเลียม มอนโกเมอรี ทำการถอดรหัสโทรเลขทั้งฉบับจนเสร็จสิ้น ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เยอรมนีประกาศใช้ยุทธการสู้รบด้วยเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตอีกครั้งหนึ่ง จนนำไปสู่การตัดสัมพันธ์ทางการทูตของสหรัฐอเมริกากับเยอรมนีในวันที่ 3 กุมภาพันธ์
ฮอล์ส่งต่อโทรเลขไปยังกระทรวงการต่างประเทศในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และยังคงเตือนว่าไม่ควรเผยแพร่โทรเลขดังกล่าวออกไป ในขณะเดียวกันนั้นก็กำลังมีการหารือว่าจะปิดบังเรื่องราวครั้งนี้อย่างไร จะอธิบายแก่ฝ่ายสหรัฐ ฯ อย่างไรว่าได้รหัสลับมาโดยไม่เป็นการยอมรับว่าทำการดักฟังสายโทรเลข และจะทำอย่างไรให้ฝ่ายเยอรมันไม่รู้ตัวว่ารหัสลับของตนถูกถอดออกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น สหราชอาณาจักรเองขังต้องคิดหาทางโน้มน้าวให้ชาวอเมริกันเชื่อได้ว่าโทรเลขดังกล่าวไม่ได้ถูกปลอมแปลงขึ้นมา
ในประเด็นแรก สหราชอาณาจักรแก้ต่างว่าได้ชุดรหัสลับของโทรเลขมาจากสำนักโทรเลขพาณิชย์ของเม็กซิโก เนื่องจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะต้องส่งโทรเลขผ่านสายส่งพาณิชย์ไปยังเม็กซิโกอีกครั้ง ดังนั้นสำนักโทรเลขพาณิชย์ของเม็กซิโกจึงมีข้อความที่ได้จากส่งในครั้งนี้อยู่ และสายลับของสหราชอาณาจักรในเม็กซิโก นายเอช (Mr. H) ได้ติดสินบนพนักงานในสำนักงานโทรเลขพาณิชย์จนได้สำเนาของข้อความดังกล่าวมา (เซอร์ โทมัส โฮห์เลอร์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำเม็กซิโกขณะนั้น อ้างว่าไว้ในอัตชีวประวัติว่าตนคือ นายเอช หรืออย่างก็เกี่ยวข้องกับการดักจับโทรเลขซิมแมร์มันน์) ด้วยข้อแก้ต่างนี้สหราชอาณาจักรจึงสามารถเปิดเผยโทรเลขแก่สหรัฐอเมริกาได้โดยไม่ทำให้ขุ่นข้องใจกัน ส่วนประเด็นที่สอง สหราชอาณาจักรแก้ต่างว่าในการทวนสัญญาณโทรเลข ข้อความถูกเข้าเป็นหัสลับด้วยเอกสารลับหมายเลข 13040 ดังนั้นเมื่อถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ สหราชอาณจักรจึงได้ข้อความที่ถอดรหัสสำเร็จฉบับเต็มและสามารถเผยแพร่โทรเลขโดยไม่ทำให้เยอรมันล่วงรู้ว่าชุดรหัสลับล่าสุดของตนถูกถอดออกแล้ว แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ยังคงมีความเสี่ยงที่เยอรมนีจะตระหนักได้ว่าเอกสารลับหมายเลข 13040 ตกไปอยู่ในมือฝ่ายศัตรูและชุดรหัสลับถูกถอดออกแล้ว แต่เมื่อนำมาพิจารณาหักกลบกับผลผระโยชน์ที่จะได้จากการผลักดันสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ ก็คุ้มค่าพอที่จะเสี่ยงทำให้เยอรมนีไหวตัวทัน และเมื่อสำเนาของเอกสารลับหมายเลข 13040 ถูกเก็บไว้ในบันทึกข้อมูลของสำนักโทรเลขพาณิชย์สหรัฐ ฯ สหราชอาณาจักรจึงสามารถพิสูจน์ความจริงแท้ของข้อความแก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ในที่สุด
ด้วยเนื้อเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นนี้ สหราชอาณาจักรจึงทำการกล่าวอ้างแก่สาธารณชนว่าสายลับของตนในเม็กซิโกสามารถล้วงเอาชุดข้อความที่ได้รับการถอดรหัสจากโทรเลขเป็นผลสำเร็จ และยังต้องส่งเอกสารลับหมายเลข 13040 ให้แก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อได้ตรวจสอบข้อความที่ได้รับการถอดรหัสในเม็กซิโก เทียบกับชุดข้อความที่ถูกเก็บบันทึกไว้โดยสำนักโทรเลขพาณิชย์ด้วยตนเอง ถึงกระนั้นก็ตามฝ่ายสหรัฐ ฯ ก็ตกลงใจที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องปกปิดในครั้งนี้ของฝ่ายสหราชอาณาจักร ด้านกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีกลับเพิกเฉยว่ารหัสลับของตนอาจถูกถอดได้โดยฝ่ายศัตรู และส่งเอคคาดท์ไปตาล่าตัวผู้ทรยศ ณ สถานเอกอัครราชทูตในเม็กซิโกแทน (ฟอน เอคคาดท์ ตอบปฏิเสธข้อครหานี้อย่างฉุนเฉียว จนในที่สุดกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีจึงยอมรับว่าสถานเอกอัครราชทูตไม่มีส่วนรู้เห็นในเรื่องนี้)
ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ฮอลล์นำโทรเลขแสดงให้แก่เอ็ดเวิร์ด บอลล์ เลขานุการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหราชอาณาจักร ในทีแรก บอลล์รู้สึกกังขาและคิกว่าโทรเลขดังกล่าวเป็นของที่ถูกปลอมแปลงขึ้น แต่เมื่อเขาถูกโน้มนาวให้เชื่อได้ว่าเป็นของจริง บอลล์ก็รู้สึกโกรธเกรี้ยวเป็นอย่างมาก ต่อมาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ฮอลล์ส่งสำเนาให้แก่เอกอัครราชทูตวอลเตอร์ ไฮนส์ เพจ อย่างไม่เปิดเผย และในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เอกอัครราชทูตเพจจึงเข้าพบกับรัฐมนตรีการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร อาเธอร์ บัลโฟร์ และได้รับข้อความต้นฉบับที่ถูกเข้ารหัส พร้อมด้วยคำแปลรหัสฉบับภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ จากนั้นเพจจึงรายงานเรื่องนี้โดยตรงต่อประธานาธบดีวิลสัน ซึ่งรวมถึงรายละเอียดที่จะต้องถูกตรวจสอบจากบันทึกของสำนักโทรเลขในสหรัฐอเมริกา ต่อมาประธานาธิบดีวิลสันจึงได้เผยแพร่ข้อความจากโทรเลขดักล่าวแก่สื่อมวลชนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460
ในสหรัฐอเมริกาขณะนั้น ทัศนคติโดยรวมของสาธารณชนเป็นไปในทิศทางต่อต้านทั้งเม็กซิโกและเยอรมนี ในขณะที่เม็กซิโกเองก็มีทัศนคติต่อต้านสหรัฐอเมริกา ส่วนชาวเม็กซิโกฝ่ายเสรีนิยมมีทัศนคติต่อต้านฝรั่งเศส เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าในขณะนั้นเองนายพลจอร์จ เจ. เพิร์ชชิง ของสหรัฐอเมริกา ได้ไล่ล่านักปฏิวัติชาวเม็กซิโกอย่างปันโช บียา ผู้ก่อการกำเริบตามแนวชายแกนหลายครั้ง ข่าวเรื่องโทรเลขดังกล่าวยังช่วยปลุกเร้าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกให้เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีทัศนคติต่อต้านสหราชอาณาจักรปรากฏอยู่อย่างแจ่มชัดในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันและชาวอเมริกันเชื้อสายไอริช ในขณะที่ชาวอเมริกันจำนวนมากปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงสงครามในยุโรป เมื่อสาธารณชนรับรู้ข่าวการโจรกรรมข้อความที่ถูกถอดรหัสในเม็กซิโก (ที่สหราชอาณาจักรแต่งขึ้น) เริ่มแรกพวกเขาส่วนมากเชื่อกันว่าเป็นโทรเลขที่ถูกปลอมแปลงขึ้นอย่างรอบคอบของหน่วยราชการลับสหราชอาณาจักร ความเชื่อนี้เองที่ได้รับการสนับสนุนจากนักการทูตเยอรมัน นักการทูตเม็กซิกัน นักพูดชีชวนฝ่ายเยอรมัน และชาวอเมริกันแถบชายฝั่งแปซิฟิก รวมไปถึงหนังสือพิมพ์อเมริกันบางฉบับอย่าง เฮิร์สเพรสเอ็มไพร์ ความเชื่อแบบผิด ๆ นี้เอง ที่ทำให้รัฐบาลกลางของประธานาธิบดีวิลสันตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากหลักฐานที่สหราชอาณาจักรส่งให้สหรัฐอเมริกาในทางลับเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าโทรเลขฉบับดังกล่าวไม่ได้ถูกปลอมแปลงขึ้น แต่ก็ไม่สามารถเผยแพร่หลักฐานดังกล่าวแก่สาธารณชนได้ เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโปงปฏิบัติการถอดรหัสลับของสหราชอาณาจักรให้ฝ่ายเยอรมันได้รับรู้
อย่างไรก็ตาม อาร์ทูร์ ซิมแมร์มันน์ กลับเป็นผู้คลายข้อสงสัยถึงความจริงแท้ของโทรเลขด้วยตนเอง ครั้งแรกในการแถลงข่าววันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2460 เขากล่าวต่อนักข่าวชาวอเมริกันว่า "ข้าพเจ้าไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามันคือเรื่องจริง" จากนั้นในวันที่ 29 มีนาคม เขากล่าวสุทรพจน์ที่ยอมรับว่าโทรเลขฉบับนั้นเป็นของจริง ทั้งนี้ซิมแมร์มันน์คาดหวังว่าชาวอเมริกันจะเข้าใจแนวคิดของเยอรมนี ว่าเยอรมนีจะสนับสนุนเงินทุนแก่เม็กซิโกในเฉพาะกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมสงครามเท่านั้น
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460 ฝ่ายเยอรมันประกาศใช้การสู้รบด้วยเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตต่อเรือทุกลำในมหาสมุทรแอตแลนติกที่ติดธงชาติอเมริกันไม่ว่าจะเป็นเรือโดยสารหรือเรือพาณิชย์ก็ตาม ทำให้ในเดือนนั้นเองมีเรือถูกจมสองลำ บริษัทเดินเรืออเมริกันส่วนมากต่างหวั่นเกรงภัยคุกคามดังกล่าว จึงทอดสมอเรือของตนไว้ตามท่าเรือต่าง ๆ ซึ่งกรณีเองเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอโดยฝ่ายเยอรมันว่าจะ "ทำการปล่อยเรือดำน้ำสู้รบอันเหี้ยมโหดของตน" นั่นเอง และกรณีนี้เองส่งผลให้สาธารณชนเรียกร้องให้มีการตอบโต้ แต่ประธานาธิบดีวิลสันปฏิเสธที่จะส่งปืนกลและนาวิกโยธินไปประจำการตามเรือพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการเผยแพร่โทรเลขซิมแมร์มันน์ ประธานาธิบดีวิลสันเรียกร้องให้มีการติดอาวุธเรือพาณิชย์ แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกขัดขวางโดยฝ่ายต่อต้านสงครามในวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา
เยอรมนีพยายามที่จะจุดชนวนสงครามระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกามานานแล้ว ซึ่งสงครามดังกล่าวจะช่วยกันกองกำลังของสหรัฐ ฯ ไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับสงครามในฝั่งยุโรป ขณะเดียวกันยังจะช่วยชะลอการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่สหรัฐ ฯ สนับสนุนแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร เยอรมนียังเข้าไปเกี่ยวพันกับการสนับสนุนอาวุธ เงินทุน และคำแนะนำแก่เม็กซิโกหลากหลายครั้ง เช่นในเหตุการณ์อือพีรันกา (Ypiranga incident) ที่เรือกลไฟสัญชาติเยอรมัน เอสเอส อือพีรันกา ลำเลียงอาวุธสงครามส่งแก่รัฐบาลกลางเม็กซิโก ซึ่งขณะนั้นถูกคว่ำบาตรทางอาวุธจากสหรัฐอเมริกา และบทบาทของที่ปรึกษาชาวเยอรมันในสมรภูมิอัมโบสโนกาเลส พ.ศ. 2461 (Battle of Ambos Nogales) นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองราชนาวีเยอรมัน ฟรันซ์ ฟอน รินเทเลิน พยายามจุดชนวนสงครามระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2458 ด้วยการสนับสนุนเงินจำนวน 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ แก่วิกโตเรียโน อัวร์ตา และผู้ก่อวินาศกรรมชาวเยอรมัน โลทาร์ วิทซ์เคอ ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ในเม็กซิโก ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์คลังแสงระเบิดที่อู่ต่อเรือนายวิกโยธิบนเกาะมาเร บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก เดือนมีนาคม พ.ศ. 2460 และอาจรวมไปถึงเหตุระเบิด แบล็กทอม ในนิวเจอร์ซีย์ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2459 ทั้งนี้ความล้มเหลวของกองกำลังสหรัฐอเมริกาในการจับกุมตัวปันโช บียา ในปี พ.ศ. 2459 และความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีการันซาที่นิยมชมชอบเยอรมนี มีส่วนทำให้เยอรมีกล้าที่จะส่งโทรเลขซิมแมร์มันน์ไปยังเม็กซิโก
อย่างไรก็ตามเยอรมนีก็ประสบความสำเร็จอยู่บ้างในการยุยงให้เกิดการเผชิญทางการทหารหน้าระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา เช่น กรณีการเข้ายึดครองเวราครูซของสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2457 โดยคำสั่งของประธานาธิบดีวิลสันเพื่อเป็นการตอบโต้เหตุการณ์อือพีรันกา ส่งผลให้พลทหารเม็กซิโกจำนวน 170 นายและพลเรือนอีกไม่ทราบจำนวนเสียชีวิต แต่สงครามเต็มรูปแบบไม่ได้ขึ้นตามประสงค์ของเยอรมนี เนื่องจากการประชุมสันติภาพน้ำตกไนแอการาซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มประเทศเอบีซีช่วยไกล่เกลี่ยความตึงเครียดในครั้งนี้เอาไว้ และเหตุการณ์ในครั้งนี้เองยังเป็นปัจจัยช่วยดำรงความเป็นกลางของเม็กซิโกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเอาไว้ เม็กซิโกปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการคว่ำบาตรเยอรมนี และในขณะเดียวกันกลับให้คำมั่นสัญญาอย่างหนักแน่นว่าจะคงไว้ซึ่งกิจการด้านการทูตของเยอรมนี โดยเฉพาะในกรุงเม็กซิโกซิตี คำมั่นสัญญานี้ยืนยาวต่อไปได้อีก 25 ปี และสิ้นสุดลงเมื่อเม็กซิโกประกาศสงครามต่อฝ่ายอักษะในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 หลังจากที่สูญเสียบรรทุกน้ำมันสองลำจากการโจมตีของเรือดำน้ำอูแห่งกองทัพเรือ ครีกซมารีเนอ (Kriegsmarine) และในช่วงปี พ.ศ. 2460 - 2461 ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ยังได้พิจารณาการรุกรานเวราครูซและทัมปิโกอีกครั้ง เพื่อได้เข้าควบคุมคอคอดเตฮวนเตเปกและครอบครองบ่อน้ำมันในทัมปิโก ซึ่งประธานาธิบดีเม็กซิโก เวนุสเตียโน การันซา ผู้ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน ข่มขู่ว่าจะทำลายบ่อน้ำมันทิ้งหากนาวิกโยธินสหรัฐ ฯ ขึ้นฝั่งที่นั่น ดังเช่นที่นักประวัติศาสตร์ เลสเตอร์ แลงลีย์ บันทึกไว้ว่า: "การันซามิอาจบรรลุเป้าประสงค์ทางสังคมของการปฏิวัติ แต่เขาก็ช่วยขับไล่พวก กริงโก (Gringo; ชาวต่างชาติ) ให้พ้นจากเม็กซิโกซิตี"