โซตัส (SOTUS) คือระบบหนึ่งซึ่งเป็นรูปแบบของการฝึกนักเรียนนักศึกษาใหม่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงกิจกรรมต้อนรับนักศึกษาใหม่หรือที่เรียกว่าการรับน้อง โซตัสเป็นที่ถกเถียงในสังคมไทยทั่วไปว่าระบบนี้มีความถูกต้องชอบธรรมในการใช้ฝึกอบรบหรือสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันหรือไม่ แม้ว่าผู้บริหารหรือองค์การนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งมีนโยบายอย่างชัดเจนว่าไม่สนับสนุนระบบโซตัส แต่ระบบนี้ก็ยังพบอย่างแพร่หลายอยู่ทั่วไปในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาต่างๆ รวมถึงโรงเรียนมัธยมบางแห่งด้วย
ระบบโซตัสมักจะมีการใช้หลักจิตวิทยาและสร้างเหตุการณ์ขึ้นโดยยกข้ออ้างเรื่องความสามัคคีในหมู่คณะและการเคารพผู้อาวุโสที่ได้เข้าศึกษาก่อน เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาที่เข้าศึกษาใหม่เกิดความเกรงกลัวและปฏิบัติตามกฎที่รุ่นพี่ได้วางเอาไว้ ซึ่งบ่อยครั้งที่การใช้ระบบโซตัสเป็นการแบ่งชนชั้นให้รุ่นพี่ให้มีอำนาจมากกว่ารุ่นน้องที่เข้ามาใหม่ หากรุ่นน้องหากไม่ปฏิบัติตามอาจได้รับการลงโทษให้เกิดความเกรงกลัวหรือถูกตัดขาดจากกลุ่มคณะสาขาที่เรียนด้วยกันแม้ว่าการปฏิบัตินั้นจะเป็นเรื่องผิดในสังคมก็ตาม ระบบโซตัสจึงถูกมองว่าเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของรุ่นน้องและเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดระบบอุปถัมป์ในประเทศไทย
ระบบโซตัสมักจะถูกควบความหมายรวมกับการรับน้อง ซึ่งในความเป็นจริงระบบโซตัสกับการรับน้องเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันหรือจะควบคู่กันก็ได้
คำว่าโซตัสมาจากตัวอักษรนำของคำในภาษาอังกฤษ 5 คำ โดยปัจจุบันยึดความหมายตามโคลงโซตัสซึ่งเป็นโคลงสี่สุภาพที่พบในหนังสือเฟรชชี่รุ่นโบราณจากห้องสมุดภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นต้นกำเนิดของระบบโซตัสขึ้นมาครั้งแรก โดยแต่ละคำและความหมายของโคลงสี่สุภาพนี้ประกอบด้วย
แม้ว่าความหมายของแต่ละคำของโซตัสนั้นจะชัดเจน แต่ว่าขอบเขตเงื่อนไขนั้นค่อนข้างจะคลุมเครือ ทำให้มีการพยายามนิยามและกำหนดความหมายของคำเหล่านี้มีความเข้มข้นไม่เท่ากันแต่ก็มีนิยามคล้ายๆกันในเรื่องของการเคารพผู้อาวุโส การปฏิบัติตามระเบียบวินัย การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี และการมีน้ำใจ ในปัจจุบันความหมายของระบบโซตัสสามารถพบได้ทั่วไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆที่มีการใช้ระบบนี้นอกเหนือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีการใช้ระบบโซตัส ซึ่งถูกสันนิษฐานว่าเริ่มต้นขึ้นจากการนำระบบอาวุโสของโรงเรียนประจำในประเทศอังกฤษหรือระบบแฟกกิงเข้ามาใช้ในโรงเรียนมหาดเล็กตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 2440 ซึ่งเป็นระบบที่มีการแต่งตั้งดรุณาณัติเพื่อช่วยครูในการอบรมสั่งสอนและดูแลคณะนักเรียนซึ่งมักแต่งตั้งจากนักเรียนอาวุโสผู้เรียนดีและประพฤติดี เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้พัฒนาเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้รับระบบอาวุโสมาปรับใช้ผนวกกับแนวคิดเรื่องระเบียบ ประเพณี ความสามัคคีและการมีน้ำใจจนเกิดเป็นความหมายของระบบโซตัสขึ้นในการอบรมสั่งสอนทั้งในระดับผู้บริหารและนิสิตเอง
ระบบโซตัสของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในยุคแรกเป็นลักษณะของระบบที่เป็นนามธรรมที่เกิดจากระบบอาวุโสรวมกับการปฏิบัติตามศีลธรรมและจริยธรรมในสังคมไทยและไม่ปรากฏการใช้ความรุนแรงใดๆ
ระบบโซตัสเริ่มมีการผนวกรวมกิจกรรมการว้ากและการลงทัณฑ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามระบบทำให้มีความเข้มข้นขึ้นในช่วงประมาณทศวรรษ 2480 ซึ่งมีการส่งนักศึกษาไปเรียนระดับปริญญาตรีด้านเกษตรกรรมในต่างประเทศ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยโอเรกอนและมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ลอสแบนยอส ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีรูปแบบของการใช้ระบบว้ากและการลงโทษอยู่ เมื่อนักศึกษาไทยเรียนจบและกลับประเทศจึงได้นำระบบเหล่านี้มาใช้กับมหาวิทยาลัยไทยโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษากลับมาเป็นอาจารย์ด้านเกษตรกรรมด้วย รวมถึงใน
จากมุมมองทางประวัติศาสตร์นี้ ระบบ โซตัส ถือเป็น "ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรม" ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากการหยิบยืม "องค์ความรู้" และ "เทคโนโลยี" สมัยใหม่มาจากมหาอำนาจจักรวรรดินิยมทั้งอังกฤษและอเมริกัน แม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่ก็อิงอยู่บนฐานกรอบคิดเดียวกัน กล่าวคือ กรอบคิดแบบเจ้าผู้ปกครองอาณานิคม ซึ่งมีรูปแบบที่เข้มข้นรุนแรงเพื่อกำราบ "เมืองขึ้น" ให้สยบยอม โดยในทางเนื้อหานั้น การเข้าไปรุกรานและควบคุม จำต้องนำรูปแบบการปกครองแบบทหารเข้ามาใช้ โดยผ่านกลไกของระบบการศึกษาของพลเรือน
นอกจากนี้ หากพิจารณาบริบททางการเมืองของไทยในยุคที่โซตัสลงหลักปักฐานอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยไทยนั้น เรากำลังอยู่ในยุค "รัฐนิยม" ที่มาพร้อมกับการปลูกฝังลัทธิชาตินิยมให้แก่เยาวชนและราษฎรไทย จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากแนวคิดและรูปแบบของการปกครองนี้จะถูกหยิบมาใช้ในสถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยมีจุดประสงค์เชิงอุดมการณ์ เพื่อสร้างราษฎรที่มีคุณภาพ (ตามอุดมคติของรัฐ) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติ เพราะในลัทธิชาตินิยม ไม่มีพื้นที่ให้กับความเป็นปัจเจกและความเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเป็นของตน จะมีก็เพียงแต่สำหรับราษฎรที่เชื่อฟังและปฏิบัติตามหน้าที่ของตน (ตามที่รัฐบอก) อย่างเชื่องๆ
ต่อมาในทศวรรษ 2510 เมื่อกระแสสำนึกประชาธิปไตยถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้งเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารโดยเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษา ประเพณีและวิถีปฏิบัติจารีตนิยมหลายอย่างได้ถูกตั้งคำถามในฐานะฟันเฟืองสำคัญทางวัฒนธรรม ซึ่งผู้นำเผด็จการและเครือข่ายอุปถัมภ์นำมาใช้ครอบงำความคิดในระดับจิตใต้สำนึกของประชาชนอย่างแนบเนียน
ระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยไทยมีต้นกำเนิดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่นำระบบโซตัสเข้ามาคืออาจารย์รุ่นแรกๆที่จบจากมหาวิทยาลัยบอสบานยอสในฟิลิปปินส์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล และมหาวิทยาลัยโอเรกอนในสหรัฐอเมริกา
โซตัสเป็นรูปแบบการรับน้องที่เข้มข้น ที่เห็นเด่นชัดที่สุดในปัจจุบันคงเป็นการว๊าก และการลงโทษผู้กระทำผิดที่ค่อนข้างจะรุนแรงต่อสภาพร่างกายและจิตใจพอสมควร(บางกรณีอาจจะมากเกินไป) ซึ่งวิธีการนั้นก็ตามแต่ที่รุ่นพี่ผู้ผูกขาดอำนาจจะสรรหาวิธีการมา
จุดประสงค์ของระบบ คือ การฝึกทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ของนักศักษาชั้นปีที่ 1 ที่เพิ่งเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ร่วมจัดขึ้นโดยรุ่นพี่ในคณะในแต่ละชั้นปี โดยยึดถือกฎโซตัสทั้งหมด 5 ข้อ โดยรวมถึงการเคารพผู้อาวุโสซึ่งเป็นคุณค่าของขนบธรรมเนียมประเพณีไทย การปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อฝึกการมีระเบียบวินัย การปฏิบัติตามประเพณี เพื่อการถ่ายทอดธรรมเนียมและความรู้จากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง การฝึกความเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้นักศึกษาเข้าใหม่ที่มาจากพื้นฐานทางสังคมแตกต่างกันมีการแลกเปลี่ยนความรู้และความเข้าใจ เพื่อพัฒนาจิตใจของนักศึกษาสำหรับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย พัฒนาการทำงานเป็นกลุ่ม ในขณะเดียวกันพัฒนาความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง และสุดท้ายการฝึกจิตใจเพื่อพร้อมรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าทั้งทางด้านการเรียน หรือการทำงาน[ต้องการอ้างอิง]
หากรุ่นน้องตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว รุ่นพี่จะอ้างอภิสิทธิ จะใช้การว้ากหรือการตะโกนด่าและต่อว่ารุ่นน้อง การออกคำสั่งกับรุ่นน้อง เพื่อบังคับให้รุ่นน้องต้องเกรงกลัวรุ่นพี่ อีกทั้งเพื่อลงโทษผู้ที่ไม่ทำตามที่สั่ง หรือไม่เห็นด้วยกับระบบดังกล่าว ที่เรียกว่า การกดขี่ หรือลงโทษวินัย กล่าวคือ หากผู้กระทำผิด หรือไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งรุ่นพี่ จะถูกประนามหรือกลั่นแกล้งต่างๆนานา ใช้อำนาจสั่งลงโทษต่างๆ เช่น ให้วิ่งรอบสนามจนกว่าจะหมดแรง ให้หมอบลงกับพื้นดินในเวลากลางวันและกลิงบนพื้นร้อนๆ หมอบคลานในสถานที่ต่างๆ ให้วิ่งลุยโคลน รวมทั้งให้แทงปลาไหล หรือวิดพื้นจนกว่ารุ่นพี่จะพอใจ ซึ่งอาจเลยเถิดไปถึงการทำอนาจารย์ต่างๆ เช่น ให้ถอดเสื้อนักศึกษา ให้นักศึกษาหญิงลูกคลำอวัยวะเพศของฝ่ายชายหรือของรุ่นพี่ โดยอ้างว่ารุ่นพี่มีสิทธิสั่ง เพราะมีความอาวุโส ทั้งที่จริงแล้วไม่มีสิทธิหรืออำนาจใดๆ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและริดรอนเสรีภาพของนักศึกษาอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ ระบบโซตัสก็คือ ผลสะท้อนของโครงสร้างของวัฒนธรรมในสังคมใหญ่ที่เตรียมคนรุ่นใหม่ ให้ออกไปอยู่ในระบบที่ยอมรับว่าสังคมไม่เท่าเทียมกัน ขณะที่ผู้ที่สนับสนุนระบบนี้ ก็มักจะอธิบายว่าระบบโซตัสนั้นมีคุณประโยชน์เป็นอย่างมาก
ระบบโซตัสมีเป้าหมายที่ฝึกให้คนในกลุ่มมีความรักสามัคคีกัน มีความเป็นพวกพ้องกัน ซึ่งระบบนี้ที่ผ่านมามีผู้เชื่อว่ามีส่วนทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มคนที่ไม่อยู่ในกลุ่ม เช่น ทำงานพบคำกล่าวว่าสถานที่บางแห่ง "มีสี" เป็นต้น
ในปัจจุบัน ปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความรุนแรงของการรับน้อง ได้กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ยกตัวอย่างเช่น
กลุ่มผู้สนับสนุนโซตัสให้ความเห็นว่าเกิดมาจากการที่รุ่นพี่ในแต่ละมหาวิทยาลัย นำระบบโซตัสไปใช้ในทางที่ผิด โดยกล่าวอ้าง หลักการเคารพผู้อาวุโส และ การปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งเป็น 2 ใน 5 ของโซตัส ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาทีเกิดขึ้นรวมทั้ง ความรุนแรงในมหาวิทยาลัย หรือการลวนลามนักศึกษาที่เข้าใหม่
แม้ผู้สนับสนุนระบบโซตัสอ้างผลดีที่ได้จากระบบนี้ แต่ผู้ไม่สนับสนุนก็ตั้งคำถามว่า ผลดีนั้นจำเป็นต้องได้มาโดยระบบโซตัสหรือไม่, หรือพูดอีกอย่างคือ มีวิธีอื่นที่จะได้ผลลัพธ์นั้นโดยไม่ต้องใช้ระบบโซตัสหรือไม่ หรือกระทั่งตั้งคำถามว่า สิ่งที่ผู้สนับสนุนระบบโซตัสเรียกว่า "ผลดี" นั้น ที่สุดแล้ว เป็นสิ่งที่ดีงาม หรือจำเป็นจริงหรือไม่[ต้องการอ้างอิง]