โจรกรรมทางวรรณกรรม หรือ การลอกเลียนวรรณกรรม (อังกฤษ: plagiarism) หมายถึง การลอกงานเขียน ความคิดหรืองานสร้างสรรค์ดั้งเดิมทั้งหมดหรือบางส่วนที่เหมือนหรือเกือบเหมือนงานดั้งเดิมของผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นงานดั้งเดิมของตนเอง
ในวงวิชาการ โจรกรรมทางวรรณกรรมโดยนิสิตนักศึกษา อาจารย์หรือนักวิจัยถือเป็น “ความไม่สุจริตทางวิชาการ” (en:academic dishonesty) หรือ “การฉ้อฉลทางวิชาการ” (en:academic fraud) และผู้กระทำผิดจะต้องถูกตำหนิทางวิชาการ (academic censure) โจรกรรมทางวรรณกรรมในงานสื่อสารมวลชนถือเป็นละเมิดจรรยาบรรณทางวารสารศาสตร์ (en:journalistic ethics) นักข่าวที่ถูกจับได้โดยทั่วไปจะถูกลงโทษทางวินัยตั้งแต่พักงานถึงการถูกให้ออกจากงาน สำหรับบุคคลทั่วไปที่ถูกจับได้ว่าทำโจรกรรมทางวรรณกรรมทางวิชาการหรือทางงานหนังสือพิมพ์มักอ้างว่าได้กระทำลงไปโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยลืมใส่อ้างอิง หรือใส่คำประกาศกิตติคุณ (en:citation) ที่เหมาะสมไว้ ปัญหาโจรกรรมทางวรรณกรรมเป็นปัญหาที่เกิดมานานนับศตวรรษมาแล้วซึ่งเป็นแบบรูปเล่ม การพัฒนาทางอินเทอร์เน็ตที่บทความปรากฏในรูปของอีเล็กทรอนิกส์ ทำให้งานคัดลอกทำได้เพียง “ลอก” ข้อความในเว็บมา “ใส่” ไว้ในอีกเว็บหนึ่งอย่างง่ายดายที่เรียกว่า “การคัดลอก-แปะ” (en:copying and pasting)
โจรกรรมทางวรรณกรรมต่างกับการละเมิดลิขสิทธิ์แม้ทั้งสองคำนี้ใช้กับพฤติกรรมที่คล้าย ๆ กัน เพียงแต่เน้นการละเมิดที่ต่างมุมกัน การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการละเมิดสิทธิ์ด้วยการไม่บอกกล่าวกับผู้ถือลิขสิทธิ์ แต่ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งโจรกรรมทางวรรณกรรมเกี่ยวข้องกับการสร้างชื่อเสียงให้ตนเองของผู้กระทำด้วยการแอบอ้างว่าตนเป็นผู้เขียน
ในวงวิชาการ โจรกรรมทางวรรณกรรมโดยนักศึกษาถือเป็นการกระทำความผิดขั้นร้ายแรงมากและมีผลให้ได้รับการลงโทษ เช่นปรับตกในงานที่นำส่ง (ระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา) หรือปรับให้ตกในรายวิชานั้น ๆ (ระดับอุดมศึกษา) ในกรณีที่กระทำความผิดซ้ำ หรือกระทำโจรกรรมทางวรรณกรรมขั้นร้ายแรง (เช่น นำบทความหรืองานทางวิชาการทั้งหมดของผู้อื่นมาส่งโดยอ้างว่าเป็นของตนเอง) นักศึกษาผู้นั้นอาจถูกพักการศึกษาหรือถูกไล่ออก มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกถูกกดดันให้ทำรายงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่จำกัดและต้องมีคุณภาพดีมักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตลอกหรือทำโจรกรรมทางวรรณกรรมด้วยวิธี “คัดลอก-แปะ” ข้อมูลที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ มาเป็นของตนเอง ในกรณีเช่นนี้อาจารย์มักจับได้โดยไม่ยากด้วยเหตุผลหลายประการ
มีหลายมหาวิทยาลัยที่มีบทลงโทษด้วยการถอนหรือเรียกปริญญาคืนหากพบภายหลังจากนักศึกษาประกอบอาชญากรรมทางวิชาการ
ปัจจุบันยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับโจรกรรมทางวรรณกรรมในโรงเรียนน้อยมาก ที่มีส่วนมากมักเป็นการวิจัยหลังระดับชั้นมัธยมไปแล้ว ในการฉ้อโกงแบบต่าง ๆ (เช่นการลอกและแอบอ้างงานบางส่วนของผู้อื่น การปลอมข้อมูลขึ้นมาเองและการทุจริตในการสอบ) นักเรียนและนักศึกษายอมรับว่า ที่ทำมากที่สุดคือการลอกและแอบอ้างงานบางส่วนของผู้อื่นมากที่สุด แต่อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงโจรกรรมทางวรรณกรรมขั้นร้ายแรง (ได้แก่การลอกรายงานของผู้อื่นมาทั้งหมด หรือจ้างผู้อื่นทำรายงานทั้งหมดให้ทางเว็บไซต์) ตัวเลขจะลดลงมาก การพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการตรวจจับการลอกงานผู้อื่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ (ดูข้างล่าง) ได้ช่วยทำให้เห็นภาพของลักษณะโจรกรรมทางวรรณกรรมชัดเจนมากขึ้น
สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิจัย การลงโทษการโจรกรรมทางวิชาการมีหลายรูปแบบ มีตั้งแต่การพักงานไปถึงขั้นไล่ออกหรือเลิกจ้าง ซึ่งผู้กระทำการดังกล่าวยังต้องเสียชื่อเสียงหมดความเชื่อถือ การกล่าวโทษนักศึกษาหรืออาจารย์มักได้ยินมาจากกรรมการสอบวินัยภายในสถาบันที่เป็นที่ยอมรับของนักศึกษาและอาจารย์
เนื่องจากหัวใจของวิชาการหนังสือพิมพ์คือการได้รับความเชื่อจากสาธารณชน ดังนั้นการบิดเบือนข่าวหรือแหล่งข่าวของผู้สื่อข่าวจึงมีส่วนทำให้สาธารณชนมองเห็นถึงความไม่สุจริตและลดความเชื่อถือไว้วางใจในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นหรือโทรทัศน์สถานีนั้นลงได้มาก นักหนังสือพิมพ์ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำโจรกรรมทางวรรณกรรมส่วนใหญ่จะถูกพักงานจากงานสื่อข่าวในระหว่างการสอบสวนโดยผู้บริหารหนังสือพิมพ์หรือสถานีโทรทัศน์นั้น ๆ
ความง่ายของในการเรียกข้อมูลด้วยเทคโนโลยีข้อความอีเลกทรอนิก (electronic text) ออนไลน์ ล่อใจให้ผู้ส่อข่าวกระทำโจรกรรมทางวรรณกรรมมากขึ้น มีนักหนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อยที่ถูกจับไว้ว่าทำข่าวหรือบทความด้วยการ “คัดลอก-แปะ” จากเว็บไซต์ต่าง ๆ จำนวนมาก
เนื่องจากความง่ายในการขโมยเนื้อความจากเว็บด้วยวิธีคัดลอก-แปะดังกล่าว โจรกรรมทางวรรณกรรมออนไลน์จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์นี้เรียกกันว่า “เนื้อความจากขยะ” (content scraping) ซึ่งมีผลกระทบ โดยเฉพาะกับเว็บไซต์จำนวนมากที่ตั้งตัวแล้ว และบลอก แรงจูงใจให้กระทำการดังกล่าวเกิดจากการดึงเว็บแทรฟฟิกส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของโปรแกรมค้นหาของเว็บไซต์หรือบลอกนั้นแล้วขโมยหรือโยกย้ายผู้เข้าชมเว็บไซต์/บลอกนั้นไปใช้หาเงินผ่านการโฆษณาออนไลน์
ปัจจุบันมีโปรแกรมเครื่องมือฟรีออนไลน์ที่สามารถนำมาใช้ตรวจกับโจรกรรมทางวรรณกรรมอออนไลน์ได้ทำให้การป้องกันทำได้ง่ายขึ้น และยังมีโปรแกรมเครื่องมือแบบอื่นที่จะช่วยจำกัดการลอกงานออนไลน์ เช่น disabling right clicking ซึ่งใช้วิธีใช้เมาส์เน้นข้อความขอเว็บเพจที่ต้องการตรวจจับแล้วคลิกขวาที่โปรแกรม หากเป็นโจรกรรมก็จะมีป้ายหรือแบนเนอร์ปรากฏขึ้นที่เว็บเพจนั้น และจะมีข้อความตัวอย่างของจริงหร้อมทั้งข้อความประกาศ DMCA ของเจ้าของงานตัวจริงแจ้งให้ผู้ละเมิดหรือ ISP ของเว็บไซต์นั้นลบออก
โดยทั่วไป แม้จะมีการกล่าวถึงโจรกรรมทางวรรณกรรมอย่างหลวม ๆ ว่าเป็นการลักลอบหรือการขโมย แต่ก็ไม่ได้กำหนดไว้ให้เป็นอาชญากรรมในศาลยุติธรรม โจรกรรมทางวรรณกรรมจึงไม่มีสถานะเป็นคดีอาญาในกฎหมายจารีตด้วยเช่นกัน แต่การฟ้องร้องโจรกรรมทางวรรณกรรมสามารถทำได้ทางแพ่ง โดยเจ้าทุกข์สามารถฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจากถูกโจรกรรมทางวรรณกรรมได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการขัดต่อศีลธรรมก็ได้
กรณีปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดการถกเถียงกันว่ามากว่าจะนับให้เป็นคดีอาญาได้หรือไม่
“โจรกรรมทางวรรณกรรมของตนเอง” หมายถึงการนำเอางานส่วนใหญ่ หรืองานทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดของตนเองมาทำเป็นงานใหม่โดยไม่ได้แจ้งให้ชัดเจน บทความประเภทนี้ส่วนใหญ่มักเป็นบทความตีพิมพ์ซ้ำ (multiple publication) แต่อย่างไรก็ดี บทความประเภทนี้ที่กำลังแพร่หลายและเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจสาธารณชนไม่นับว่าเข้าข่ายการโจรกรรมผลงานตนเอง แต่ก็ควรระวังเรื่องลิขสิทธิ์หากมี เช่นเป็นบทความที่มีสำนักพิมพ์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นต้น “ข้อเขียนที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน” ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางสังคม วิชาชีพและความเห็นทางวัฒนธรรมซึ่งปกติจะตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่าง ๆ
ในสาขาวิชาการ การโจรกรรมผลงานของตนเองจะเป็นปัญหาเมื่อผู้เขียนนำส่วนหนึ่งของงานของตนเองที่ตีพิมพ์และสงวนลิขสิทธิ์ไปแล้วมาตีพิมพ์ซ้ำโดยไม่แจ้งหรือแถลงให้ทราบในงานตีพิมพ์ครั้งใหม่ การที่จะบ่งชี้ให้ชัดเจนว่างานใดเป็นการโจรกรรมผลงานของตนเองเป็นเรื่องลำบากเนื่องจากกฎหมายได้กล่าวถึงประเด็น “การใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบธรรม” ไว้ด้วย บางองค์การวิชาชีพ เช่นสมาคมเครื่องคอมพิวเตอร์ (ACM) ได้จัดทำนโยบายของตนเองเกี่ยวกับการโจรกรรมผลงานตนเองขึ้น เมื่อเทียบกับโจรกรรมทางวรรณกรรม นับว่าการโจรกรรมผลงานของตนเองยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่ดีพอ บางมหาวิทยาลัยและคณะบรรณาธิการบางคณะเลือกที่จะไม่มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย หลายคนที่คิดว่าผู้กล่าวหาเรื่องการโจรกรรมผลงานตนเองเป็นพวกขัดแย้งในตัวเองเนื่องจากไม่มีใครที่จะกล่าวว่าตนเองลอกงานตนเองได้
สำหรับผู้เขียนที่ประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงประเด็นปัญหานี้เมื่อจะเขียนงานใหม่ ควรอย่างยิ่งที่จะพยายามปฏิบัติตามแนวทางที่ดีที่สุดต่อไปนี้
โจรกรรมทางวรรณกรรมไม่เป็นประเด็นปัญหาเมื่อองค์กรตีพิมพ์ผลงานร่วมหลายคนที่ไม่มีการใส่ชื่อผู้เขียนว่าเป็นเจ้าของงานแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ตัวอย่างเช่น “ประกาศว่าด้วยมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพ” (พ.ศ. 2548) ของสมาคมประวัติศาสตร์อเมริกันว่าด้วยหนังสือตำราและหนังสืออ้างอิงว่าไม่เป็นโจรกรรมทางวรรณกรรม เนื่องจากตำราหรือสารานุกรมเป็นเพียงการสรุปเนื้อหาสาระมาจากผลงานวิชาการของผู้อื่น ไม่ได้ลอกต้นฉบับงานวิจัยดั้งเดิมมาใช้ทั้งหมดจึงไม่ตกอยู่ในสถานะเดียวกันกับมาตรฐานที่บ่งชี้ว่าเป็นโจรกรรมทางวรรณกรรม แต่อย่างไรก็ตาม งานตีพิมพ์นั้นจะต้องไม่นำข้อความ คำ หรือย่อหน้าจากหนังสืออื่นมาใช้โดยชัดเจนหรือทำรูปแบบการจัดเล่มเหมือนหนังสืออื่นมากเกินไป
ภายขององค์กรเอง แม้มาตรฐานงานจะหลวมกว่างานทางวิจัยหรือวิชาการ แต่ก็ยังคงต้องมีมาตรฐานเกี่ยวกับโจรกรรมทางวรรณกรรมอยู่ หากมีผู้ช่วยด้านการเขียนรายงาน ผู้นั้นควรได้รับเครดิต (ข้อความให้เกียรติเจ้าของงาน) และหากบทย่อหน้าได้มาจากรายงานทางกฎหมายก็จะต้องจะต้องมีการประกาศกิตติคุณให้เสมอ หนังสือคู่มือทางเทคนิคจำนวนมากที่คัดลอกข้อเท็จจริงที่เป็นข้อความหรือตัวเลขมาโดยไม่ลอกรูปแบบจากหนังสืออื่นถือเป็นปกติ เนื่องจากผู้ผลิตงานมีจิตวิญญาณความมุ่งมั่นทางวิทยาศาสตร์ร่วมกัน (จะเห็นได้จากงานในโครงการต่าง ๆ เช่น “ฟรีซอฟต์แวร์” และ “ซอฟต์แวร์เสรี”) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มีความเต็มใจที่แบ่งปันงานซึ่งกันและกัน
หนังสือ “คู่มือสไตล์ว่าด้วยการตีพิมพ์งานเทคนิคของไมโครซอฟท์” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2546) โดยไมโครซอฟท์ไม่การกล่าวถึงการสงวนลิขสิทธิ์หรือโจรกรรมทางวรรณกรรมไว้แต่อย่างใด รวมทั้งหนังสือ “การเขียนงานทางวิทยาศาสตร์และงานเทคนิค: คู่มือว่าด้วยรูปแบบการเขียน” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2543) โดยฟิลิปส์ รูเบนส์ ก็เช่นกัน เส้นแบ่งระหว่างจรรยาของโจรกรรมทางวรรณกรรมว่าด้วยการยอมให้ได้กับการยอมให้ไม่ได้ทางวรรณกรรมนั้นค่อนข้างบาง เช่นเดียวกับที่สาขาทางเทคนิคอื่น ๆ เช่นการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้ใช้ประโยชน์จากความรู้ทั่วไปที่คนอื่นคิดค้นขึ้น
นับเป็นเรื่องปกติที่นักวิจัยตามมหาวิทยาลัยที่จะอ้างงานของตนเองหรือนำงานตนเองมาพิมพ์ซ้ำ หรือดัดแปลงปรับปรุงเพื่อใช้ในบทความเพื่อลงในวารสารวิชาการหรือในหนังสือพิมพ์ เพื่อเผยแพร่งานของตนที่เกี่ยวกับความรู้ที่สาธารณชนกำลังให้ความสนใจได้ แต่นักวิจัยเหล่านี้จะต้องระลึกอยู่เสมอว่ามีขีดจำกัด ถ้าเมื่อใดเนื้อหาของบทความชื่อใหม่ที่มากกว่ากึ่งหนึ่งยังเหมือนบทความเดิมที่ตีพิมพ์ไปแล้วมักได้รับการปฏิเสธ ซึ่งกลไกหนึ่งในกระบวนการที่เรียกว่า “การทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน” (peer-review) ที่ใช้ในวงการวิชาการเพื่อการรักษาคุณภาพและเพื่อป้องกันการเสนอบทความประเภท “แปรใช้ใหม่” หรือ recycle ดังกล่าว
นักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะมักใช้ผู้เขียนสุนทรพจน์ที่ไม่เปิดเผยนาม ถ้ามีโจรกรรมทางวรรณกรรมเกิดขึ้น ผู้ได้รับผลเสียย่อมเป็นตัวบุคคลสาธารณะนั้น ๆ เองไม่ใช่ผู้เขียนจริง ดังเช่นกรณีของโจ ไบเดน วุฒิสมาชิกจากรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐที่ถูกบังคับให้ถอนตัวจากการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อ พ.ศ. 2531 (แต่ยังคงอยู่ในตำแหน่งวุฒิสมาชิกต่อไปได้) ที่หลายส่วนของสุนทรพจน์ลอกมาจากสุนทรพจน์ของ นีล คินนอก หัวหน้าพรรคแรงงานอังกฤษ และจากสุนทรพจน์ของโรเบิร์ต เคเนดี
บทความอ้างถึงการรั่วอย่างจงใจของบันทึกช่วยจำในรูปอีเมลจากเดวิด เกรียร์ รองประธานบริหารของบริษัทพลังงานสักขาลิน (Sakhalin Energy) แจกจ่ายแก่พนักงานบริษัท มีบางคนที่ตาแหลมคมได้สังเกตว่าข้อความให้ความบันดาลหลายข้อความในนั้นเอามาจากสุนทรพจน์อันมีชื่อเสียงของนายพลอเมริกันผู้มีตำนานโด่งดังคือนายพลจอร์จ เอส. แพตตัน (George S. Patton) ที่แสดงไว้เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ก่อนวันดีเดย์ (D-Day) หนึ่งวัน ในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2550 หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์และเว็บไซต์ FT.com ก็ได้มีตีพิมพ์สุนทรพจน์ดังกล่าวของเกรียร์ ใต้พาดหัวว่า “บันทึกช่วยจำสักขาลินลอกจากสุนทรพจน์เกือบทั้งหมดของแพตตัน”
ในวันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ไฟแนนเชียลไทม์ได้ตีพิมพ์อีกบทความหนึ่ง เกี่ยวกับโจรกรรมทางวรรณกรรม คราวนี้พาดหัวว่า “บักทึกสร้างแรงบันดาลใจนี้จะต้องทำความชัดเจนให้ปรากฏ” และในเนื้อข่าวเขียนว่าบันทึกของเกรียร์ซึ่งเป็นรองประธานบริษัทหยาบ เว้นวรรคตอนผิด ๆ ถูก ๆ และไม่ได้เขียนเองไปลอกของแพตตันมาเกือบทั้งหมดแล้วนำมาใช้เป็นของตนเองในการใช้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่วิศวกรเดินท่อน้ำมัน ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2550 หนังสือพิมพ์มอสโคไทม์ก็ลงข่าวโจมตีในทำนองเดียวกันfront page story ในวันที่ 22 มิถุนายนก็รายงานข่าวว่าเกรียร์ซึ่งทำงานกับบริษัทนี้มา 27 ปีได้ขอลาออกจากบริษัทเพื่อไปประกอบอาชีพอื่นและว่าการลาออกโดยกะทันหันเนื่องมากจากทนแรงกดดันไม่ไหว
ในปี 2551 มีการวิพากษ์วิจารณ์ และฟ้องร้อง ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในกรณีโจรกรรมทางวรรณกรรมบทความทางวิชาการที่นายศุภชัยได้ส่งดุษฎีนิพนธ์ และเพื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงานของ นายวิลเลี่ยม วีล เอลลิตส์ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ทางมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาเพื่อพิจารณาว่ามีความเป็นจริงหรือไม่ในปี 2553 โดยในขณะเดียวกันนายศุภชัยได้มีการแจ้งฟ้องกลับ นายวิลเลี่ยม วีล เอลลิตส์ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติในข้อหาหมิ่นประมาท ในปี 2555 ทาง ไทมส์ไฮเออร์เอดูเคชันซัปพลีเมนต์ ได้สอบถามไปทางมหาวิทยาลัยและทางนายศุภชัย แต่ไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด โดยทางบรรณาธิการวารสารของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ตีพิมพ์ผลงานนี้ให้คำตอบว่าจะไม่มีการถอนการตีพิมพ์หากไม่มีคำสั่งศาลออกมา และในเดือนมิถุนายน 2555 ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ประกาศถอดปริญญา
แคแอฟยา วิศวานาธาน (Kaavya Viswanathan) นักศึกษาหญิงฮาร์วาร์ดผู้กระทำโจรกรรมทางวรรณกรรม ผู้แต่งหนังสือเรื่อง How Opal Mehta Got Kissed, Got Wild, and Got a Life ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ได้แต่งหนังสือภายหลังที่เธอจบการศึกษาจากมัธยมศึกษา และได้เป็นที่นิยมเป็นหนังสือขายดีในขณะที่เธอกำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด แต่ภายหลังหนังสือเล่มนี้ได้ถูกยกเลิกเนื่องจากมีการถูกกล่าวถึงว่าได้มีการโจรกรรมทางวรรณกรรมจากหลายแหล่ง วิศวานาธานได้ขอโทษผ่านทางสื่อมวลชน และได้กล่าวว่า "เป็นความไม่เป็นตั้งใจที่เกิดขึ้น" หนังสือทั้งหมดที่ยังถูกวางขายได้ถูกเรียกคืนและทำลายทิ้งทั้งหมดจากทางสำนักพิมพ์ และสัญญาการเขียนหนังสือเล่มที่สองของเธอได้ถูกยกเลิกทันที