ฌาน ดาร์ก (ฝรั่งเศส: Jeanne d'Arc สัทอักษรสากล: [?an da?k]) หรือโจนออฟอาร์ก (ราว 6 มกราคม ค.ศ. 1412 - 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1431) ชาวคาทอลิกเรียกว่านักบุญโยนออฟอาร์ค เป็นวีรสตรีของฝรั่งเศสและเป็นนักบุญในนิกายโรมันคาทอลิก โจนมาจากครอบครัวชาวนาที่เกิดทางตะวันออกของฝรั่งเศสและเป็นผู้นำกองทัพฝรั่งเศสในสงครามร้อยปีหลายครั้งที่ได้รับชัยชนะต่อฝ่ายอังกฤษโดยอ้างว่ามีพระเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง และเป็นผู้มีส่วนทางอ้อมในการขึ้นครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 โจนถูกจับโดยฝ่ายเบอร์กันดีและถูกขายให้แก่ฝ่ายอังกฤษ ถูกพิจารณาคดี และถูกเผาทั้งเป็นในข้อหาว่าเป็นพวกนอกรีตเมื่ออายุ 19 ปี ยี่สิบสี่ปีต่อมาพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 ไม่ทรงสามารถที่จะแสดงพระองค์ว่าทรงได้รับอำนาจมาจากผู้ที่ถูกประณามว่าเป็นผู้นอกรีต สมเด็จพระสันตะปาปาคาลิกซ์ตุสที่ 3 จึงทรงมีคำสั่งให้มีตั้งศาลใหม่ในการพิจารณาการดำเนินการการพิจารณาคดีและการตัดสินของศาลแรก ศาลสรุปว่าโจนเป็นผู้บริสุทธิ์ และทางวาติกันประกาศให้โจนเป็น “มรณสักขี” ในปี ค.ศ. 1909 โจนก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบุญราศี และในที่สุดก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1920 ฌาน ดาร์กเป็นหนึ่งในสามนักบุญองค์อุปถัมภ์ประเทศฝรั่งเศส
ฌานอ้างว่าได้รับนิมิตจากพระเจ้าผู้ทรงบอกให้ไปช่วยกู้บ้านเมืองคืนจากการครอบครองของฝ่ายอังกฤษในปลายสงครามร้อยปี มกุฎราชกุมารชาร์ลส์ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ทรงส่งโจนไปช่วยผู้ถูกล้อมอยู่ในเมืองออร์เลอองส์ ฌานสามารถเอาชนะทัศนคติของนายทัพผู้มีประสบการณ์ได้และสามารถยุติการล้อมเมืองได้ภายใน 9 วัน หลังจากนั้นการได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดหลายครั้งก็นำไปสู่การราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 ที่แรงส์ (Reims) ซึ่งเป็นวิธีการพยายามยุติข้อขัดแย้งของสิทธิในการครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศส
ฌาน ดาร์กเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางวัฒนธรรมตะวันตกมาโดยตลอด ตั้งแต่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 มาจนถึงปัจจุบันนักการเมืองฝรั่งเศสก็มักจะปลุกเร้าความเป็นชาตินิยมโดยอ้างถึงโจน นักเขียนสำคัญๆ และคีตกวีที่สร้างงานเกี่ยวกับโจนออฟอาร์คก็ได้แก่วิลเลียม เชกสเปียร์ (“เฮนรีที่ 6, ตอนที่ 1”) วอลแตร์ (“La Pucelle d'Orl?ans” (โคลง)) ฟรีดริช ชิลเลอร์ (Friedrich Schiller) (“Die Jungfrau von Orl?ans”) จูเซปเป แวร์ดี (“Giovanna d'Arco”) ปีเตอร์ อิลิช ไชคอฟสกี (“?????????? ????” (The Maid of Orleans) - อุปรากร) มาร์ค ทเวน (“Personal Recollections of Joan of Arc” (ความทรงจำเกี่ยวกับโจนออฟอาร์ค) - อุปรากร) ฌอง อานุยห์ (“L'Alouette” (นกลาร์ค)) , เบอร์โทลท์ เบร็คท์ (Bertolt Brecht) (“Die heilige Johanna der Schlachth?fe” (นักบุญโจนผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งสต็อคยาร์ด)) และจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (“นักบุญโจน” - บทละคร) นอกจากนี้วัฒนธรรมก็สืบเนื่องในการสร้างภาพยนตร์, โทรทัศน์, วิดีโอเกม, เพลง และนาฏศิลป์และการเต้นรำต่อมา
นักประวัติศาสตร์เคลลี เดวรีส์ (Kelly DeVries) บรรยายช่วงเวลาก่อนหน้าการปรากฏตัวของฌานว่า “ถ้าจะมีสิ่งใดที่จะยับยั้งฌานสิ่งนั้นก็เห็นจะเป็นสถานะการณ์อันเลวร้ายของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1429” สงครามร้อยปีเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1337 เมื่อฝ่ายอังกฤษอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส (pr?tentions anglaises au tr?ne fran?ais) โดยมีช่วงที่มีความสันติเป็นระยะๆ การต่อสู้ส่วนใหญ่ของสงครามครั้งนี้เกิดขึ้นในฝรั่งเศส ฝ่ายอังกฤษใช้กลวิธี "Chevauch?e" (ที่คล้ายคลึงกับ "Scorched earth") เพื่อเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นประชากรของฝรั่งเศสก็ยังไม่ฟื้นตัวจากกาฬโรคที่ระบาดในยุโรปของคริสต์ศตวรรษก่อนหน้านั้น และพ่อค้าก็ถูกตัดโอกาสจากการค้าขายกับตลาดต่างประเทศ เมื่อฌานเริ่มเข้ามามีบทบาทอังกฤษก็เกือบจะมีความสำเร็จในการปกครองสองอาณาจักรร่วมกันภายใต้การปกครองของอังกฤษ และทางฝ่ายฝรั่งเศสเองก็ไม่ได้รับชัยชนะที่เป็นจริงเป็นจังมาหลายชั่วคนแล้ว ดังเช่นที่เดวรีส์กล่าวว่า “ราชอาณาจักรฝรั่งเศสไม่มีอะไรหลงเหลือเป็นร่องรอยให้เห็นถึงความรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 13”
พระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศสเมื่อฌานเกิดคือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 ผู้ที่ทรงมีอาการเสียพระสติเป็นพักๆ จนบางครั้งก็ไม่ทรงสามารถปฏิบัติพระราชภารกิจในการปกครองได้ พระอนุชาหลุยส์แห่งวาลัวส์ ดยุกแห่งออร์เลอองส์ และลูกพี่ลูกน้องของพระองค์จอห์นเดอะเฟียร์เลสส์ ดยุกแห่งเบอร์กันดีก็มักจะทะเลาะกันเรื่องการสำเร็จราชการของฝรั่งเศสและในเรื่องที่ผู้ใดสมควรที่จะมีหน้าที่คุ้มครองพระราชโอรสธิดาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 ความขัดแย้งลามไปถึงการกล่าวหาว่าพระราชินีอิสซาเบลลาในพระเจ้าชาร์ลส์ ว่าทรงมีชู้และการลักพาตัวของพระราชโอรสธิดาของพระเจ้าชาร์ลส์ วิกฤติการณ์มาถึงจุดสุดยอดเมื่อดยุกแห่งเบอร์กันดีมีคำสั่งให้สังหารดยุกแห่งออร์เลอองส์ในปี ค.ศ. 1407
ฝักฝ่ายของผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายมารู้จักกันว่า “ฝ่ายอาร์มันญัค” (Parti armagnac) ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนดยุกแห่งออร์เลอองส์ และ “ฝ่ายเบอร์กันดี” (Parti bourguignon) ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนดยุกแห่งเบอร์กันดี
พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษพระเจ้าเฮนรีที่ 5 ทรงฉวยโอกาสระหว่างที่ฝรั่งเศสมีความขัดแย้งกันภายในในการยกทัพมารุกรานฝรั่งเศสและทรงได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในยุทธการอาแฌงคูร์ต (Bataille d'Azincourt) ในปี ค.ศ. 1415 ที่ทำให้ทรงสามารถยึดดินแดนทางเหนือของฝรั่งเศสได้เจ้าชายชาร์ลส์ทรงได้รับตำแหน่งเป็นมกุฎราชกุมาร (le Dauphin) เมื่อพระชนมายุได้ 14 พรรษาหลังจากที่พระเชษฐาทั้งสี่พระองค์ต่างสิ้นพระชนม์กันไปหมด พระราชภารกิจแรกที่ทรงทำคือทรงตกลงสงบศึกในสนธิสัญญากับฝ่ายเบอร์กันดีในปี ค.ศ. 1419 ที่จบลงด้วยสถานะการณ์อันเลวร้ายเมื่อฝ่ายอาร์มันญัคสังหารจอห์นเดอะเฟียร์เลสส์ระหว่างการพบปะภายใต้คำสัญญาของเจ้าชายชาร์ลส์ว่าจะทรงรักษาความปลอดภัยให้แก่ดยุก ดยุกแห่งเบอร์กันดีคนใหม่ฟิลลิปเดอะกูดกล่าวหาเจ้าชายชาร์ลส์ทรงมีความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและหันไปเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ ดินแดนส่วนใหญ่ทางด้านเหนือของฝรั่งเศสจึงตกไปเป็นของอังกฤษ
ในปี ค.ศ. 1420 พระราชินีอิสซาเบลลาก็ทรงลงพระนามในสนธิสัญญาตรัวส์ (Trait? de Troyes) ที่ระบุให้การสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศสตกไปเป็นของพระเจ้าเฮนรีที่ 5 และผู้สืบเชื้อสายจากพระองค์ ซึ่งเป็นการยกประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นแทนที่จะให้แก่เจ้าชายชาร์ลส์ผู้เป็นพระโอรสของพระองค์เอง ข้อตกลงนี้ทำให้ข่าวลือที่มีมาก่อนหน้านั้นว่าทรงเป็นชู้กับดยุกแห่งออร์เลอองส์ยิ่งฟังแล้วก็ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยใหม่ว่าเจ้าชายชาร์ลส์เป็นพระโอรสนอกกฎหมายและไม่ใช่พระราชโอรสที่แท้จริงของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 ในปี ค.ศ. 1422 พระเจ้าเฮนรีที่ 5 และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 เสด็จสวรรคตห่างกันเพียงสองเดือน พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ทรงทิ้งให้พระเจ้าเฮนรีที่ 4 ผู้ยังทรงเป็นทารกเป็นผู้ครองสองอาณาจักรโดยมีจอห์นแห่งแลงคาสเตอร์ ดยุกแห่งเบดฟอร์ดที่ 1 พระอนุชาของพระองค์มีหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในฝรั่งเศส
เมื่อต้นปี ค.ศ. 1429 ด้านเหนือของฝรั่งเศสเกือบทั้งหมดและบางส่วนทางด้านตะวันตกเฉียงไต้ก็ตกอยู่ในมือของชาวต่างประเทศ ฝ่ายอังกฤษปกครองปารีส ขณะที่ฝ่ายดัชชีแห่งเบอร์กันดีมีอำนาจในแรงส์ แรงส์มีความสำคัญเพราะเป็นสถานที่ที่ใช้ทำพิธีราชาภิเษกกษัตริย์ฝรั่งเศส โดยเฉพาะในกรณีนี้ที่ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้เข้าทำพิธีสวมมงกุฎ ฝ่ายอังกฤษนำทัพเข้ามาทำการล้อมเมืองออร์เลอองส์ ซึ่งเป็นเมืองเดียวทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในบริเวณลัวร์ที่ยังจงรักภักดีต่อฝ่ายฝรั่งเศส ที่ตั้งของออร์เลอองส์เป็นที่ตั้งสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดอุปสรรคสุดท้ายก่อนที่ทั้งฝรั่งเศสจะตกไปเป็นของอังกฤษ ตามคำบรรยายของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ว่า “ราชอาณาจักรฝรั่งเศสทั้งอาณาจักรขึ้นอยู่กับชะตาของออร์เลอองส์” ซึ่งขณะนั้นก็ไม่มีผู้ใดที่หวังว่าออร์เลอองส์จะรอดจากการถูกยึดโดยฝ่ายอังกฤษได้
ฌานเป็นบุตรีของฌาคส์ ดาร์กและอิสซาเบลลา โรเม ในหมู่บ้านโดมเรมี (Domr?my) ที่ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของดัชชีบาร์ (ต่อมาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นลอร์แรนและเปลี่ยนชื่อเป็นโดมเรมี-ลา-ปูเซลล์) บิดามารดาของฌานมีที่ดินทำการเกษตรกรรมราว 50 เอเคอร์ (0.2 ตารางกิโลเมตร) บิดามีรายได้เพิ่มจากการมีหน้าที่เก็บภาษีและเป็นยามในหมู่บ้าน ที่ตั้งของที่ดินของครอบครัวดาร์กอยู่ในบริเวณทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือที่ล้อมรอบโดยดินแดนเบอร์กันดีแต่เป็นหมู่บ้านที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส หมู่บ้านที่ฌานเติบโตขึ้นมาก็ถูกรุกรานหลายครั้งและครั้งหนึ่งถึงกับถูกเผา
ระหว่างการพิจารณาคดีฌานให้การว่ามีอายุ 19 ปี ฉะนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่าเกิดราวปี ค.ศ. 1412 ต่อมาฌานให้การว่าได้รับนิมิต (vision) เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1424 เมื่ออายุได้ 12 ปีขณะที่ออกไปเดินในทุ่งคนเดียวและได้ยินเสียง และให้การต่อไปว่าหลังจากวิสัยทัศน์หายไปเธอก็ร้องไห้ด้วยความปีติเพราะความงามของสิ่งที่ปรากฏ และกล่าวต่อไปว่านักบุญมาร์กาเรตแห่งแอนติออก นักบุญแคเธอรินแห่งอะเล็กซานเดรีย และอัครทูตสวรรค์มีคาเอลเป็นผู้มาบอกให้กำจัดฝ่ายอังกฤษและให้นำมกุฎราชกุมารชาร์ลส์ไปยังแรงส์เพื่อประกอบพิธีราชาภิเษก
เมื่ออายุได้ 16 ปี ฌานก็ขอให้ดูร็อง ลาซัว (Durand Lassois) ผู้เป็นญาตินำตัวไป Vaucouleurs เพื่อไปร้องขอให้ผู้บังคับบัญชากองทหาร เคานท์โรแบร์ต เดอ โบดริคูร์ต (Robert de Baudricourt) ให้อนุญาตให้ไปเฝ้ามกุฎราชกุมารชาร์ลส์ในราชสำนักฝรั่งเศสที่ชีนง (Chinon) คำตอบเสียดสีของโบดริคูร์ตมิได้ทำให้ฌานเปลี่ยนใจ ฌานกลับมาในเดือนมกราคมปีต่อมาและได้รับการสนับสนุนจากบุคคลสำคัญสองคน: ฌอง เด เมซ (Jean de Metz) และ แบร์ตรองด์ เดอ ปูเลนยี (Bertrand de Poulengy) ภายใต้การสนับสนุนของบุคคลสองคนนี้ฌานก็ได้รับการสัมภาษณ์เป็นครั้งที่สองที่ทำนายผลของยุทธการแฮริงส์ (Battle of the Herrings) ไม่ไกลจากออร์เลอองส์
โรแบร์ต เดอ โบดริคูร์ตอนุญาตการเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 ของฌานที่ชีนงเมื่อได้รับข่าวยืนยันผลของสงครามว่าเป็นไปตามที่ฌานทำนายไว้ก่อนหน้านั้น ฌานเดินทางไปชีนงโดยฝ่าดินแดนเบอร์กันดีของฝ่ายศัตรูโดยแต่งตัวเป็นผู้ชาย เมื่อไปถึงราชสำนักฌานก็สร้างความประทับใจให้แก่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 ระหว่างการเข้าเฝ้าเป็นการส่วนตัว จากนั้นพระองค์ก็มีพระราชโองการให้ทำการสืบถามถึงเบื้องหลังของฌานและตรวจสอบความรู้ทางเทววิทยาคริสเตียนที่ปัวตีเย (Poitiers) เพื่อพิสูจน์ยืนยันถึงความมีศีลธรรมของฌาน ในระหว่างนั้นโยลันเดอแห่งอารากอน (Yolande d'Aragon) แม่ยายของพระเจ้าชาร์ลส์ ก็พยายามหาทุนเพื่อหากำลังไปช่วยปลดปล่อยออร์เลอองส์ที่ถูกล้อมโดยอังกฤษอยู่ ฌานจึงยื่นคำร้องขอติดตามไปกับกองทหารด้วยโดยแต่งตัวเป็นอัศวิน เครื่องแต่งตัว, อาวุธ, ม้า, ธง และผู้ติดตามของฌานเป็นของที่ได้มาจากการอุทิศหรือผู้อาสา กล่าวกันว่าเสื้อเกราะของฌานเป็นสีขาว นักประวัติศาสตร์สตีเฟน ดับเบิบยู. ริชชีให้คำอธิบายว่าความดึงดูดของฌานขณะนั้นเป็นสิ่งเดียวที่ให้ความหวังแก่กองทหารที่แทบจะไม่อยู่ในสภาพที่จะต่อสู้ได้:
ฌานมาถึงออร์เลอ็อง เมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1429 แต่ฌ็อง เดอ ดูว์นัว (Jean de Dunois) ผู้เป็นประมุขของตระกูลดยุกแห่งออร์เลอ็องไม่ยอมรับฌานและกีดกันจากการเข้าร่วมประชุมในสภาสงครามและไม่ยอมบอกฌานเมื่อมีการต่อสู้เกิดขึ้น แต่การกระทำเช่นนั้นก็มิได้หยุดยั้งฌานจากการปรากฏตัวในการประชุมสภาต่าง ๆ และในการเข้าร่วมรบ แต่ความเกี่ยวข้องของฌานในการเป็นผู้นำทางการทหารที่แท้จริงนั้นเป็นหัวข้อของการถกเถียงกันทางประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์เก่าเช่นเอดูอาร์ด เปร์รอยสรุปว่าฌานเป็นผู้ถือธงและมีหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้เป็นแรงบันดาลใจแก่กองทหาร ข้อวิจัยเช่นนี้มักจะมีพื้นฐานมาจากคำให้การในการพิจารณาคดีครั้งแรก หรือที่เรียกว่า “การพิจารณาคดีประณาม” (proc?s en condamnation) ที่ฌานให้การว่าเป็นผู้ชอบถือธงมากกว่าถือดาบ แต่นักประวัติศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้มีความสนใจในคำให้การในการพิจารณาคดีครั้งที่สอง หรือที่เรียกว่า “การพิจารณาคดีประณามเป็นโมฆะ” (proc?s en r?habilitation) เสนอความเห็นว่านายทหารด้วยกันสรรเสริญว่าฌานเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทางยุทธวิธี (tacticien) และเป็นผู้มีความสำเร็จทางการวางแผนทางยุทธศาสตร์ (strat?ge) ตัวอย่างของฝ่ายนี้ก็ได้แก่ความเห็นของสตีเฟน ดับเบิบยู. ริชชีที่กล่าวว่า “เธอนำกองทหารที่ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดหลายครั้งที่ทำให้แนวโน้มของสงครามผันไป” แต่ไม่ว่าความเห็นจะต่างกันอย่างใดนักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปก็มีความเห็นตรงกันอยู่อย่างหนึ่งได้ว่ากองทหารฝรั่งเศสขณะนั้นมีความพึงพอใจต่อความสำเร็จที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้นที่ฌานเข้ามามีบทบาท
ฌานไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่ระมัดระวังที่เป็นลักษณะของนโยบายของผู้นำฝ่ายฝรั่งเศสใช้ปฏิบัติอยู่ ระหว่างห้าเดือนของการถูกล้อมก่อนที่ฌานจะเข้ามามีบทบาท ผู้รักษาเมืองออร์เลอ็องพยายามออกไปต่อสู้กับฝ่ายอังกฤษเพียงครั้งเดียวและจบลงด้วยความล้มเหลว
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมฝ่ายฝรั่งเศสที่นำโดยฌานก็เข้าโจมตีและยึดป้อมแซ็งลูป (Saint Loup) ในบริเวณออร์เลอองส์ ตามด้วยการยึดป้อมที่สองแซ็งฌ็อง เลอ บล็องซึ่งไม่มีผู้รักษาการในวันรุ่งขึ้น จึงทำให้เป็นยึดที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ วันต่อมาฌานก็กล่าวต่อต้านฌอง ดอร์เลอองในสภาสงครามโดยเรียกร้องให้มีการโจมตีฝ่ายศัตรูขึ้นอีกครั้ง ฌอง ดอร์เลอองไม่เห็นด้วยและสั่งให้ปิดประตูเมืองเพื่อป้องกันไม่ให้มีใครออกไปรบ แต่ฌานก็รวบรวมชาวเมืองและทหารไปบังคับให้นายกเทศมนตรีเปิดประตูเมือง ฌานขี่ม้าออกไปพร้อมด้วยกัปตันผู้ช่วยอีกคนหนึ่งกับกองทหารไปยึดป้อมแซ็งโตกุสแต็ง (Saint Augustins) ค่ำวันนั้นฌานก็ได้รับข่าวว่าตนเองถูกกีดกันจากการประชุมของสภาสงครามที่ผู้นำในสภาตัดสินใจรอทหารกองหนุนก่อนที่จะออกไปต่อสู้ครั้งใหม่ ฌานไม่สนใจกับข้อตกลงของสภาและนำทัพออกไปโจมตีที่ตั้งมั่นสำคัญของอังกฤษที่เรียกว่า “เล ตูเรลล์” ("les Tourelles") เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ผู้ร่วมสมัยยอมรับกันว่าฌานว่าเป็นวีรสตรีของสงคราม หลังจากที่ได้รับความบาดเจ็บจากลูกธนูที่คอแต่ยังสามารถนำทัพในการต่อสู้ต่อไปทั้งที่บาดเจ็บในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายที่ออร์เลอ็องได้
หลังจากชัยชนะในออร์เลอ็องแล้วฌานก็ถวายคำแนะนำให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 แต่งตั้งเธอให้เป็นผู้บังคับการกองทหารร่วมกับฌ็อง ดยุกแห่งอาล็องซง (Jean II, Duc d'Alen?on) และได้รับพระราชานุญาตให้ยึดสะพานบนฝั่งแม่น้ำลัวร์ที่ไม่ไกลจากที่นั้นคืน ก่อนหน้าที่จะเดินทัพต่อไปยังแรงส์เพื่อไปทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คำแนะนำของฌานเป็นคำแนะนำที่ออกจะเป็นความแนะนำที่ออกจะบ้าบิ่นเพราะแรงส์ห่างจากปารีสราวสองเท่าและอยู่ลึกเข้าไปในดินแดนของศัตรู
ระหว่างทางฝ่ายฝรั่งเศสยึดเมืองต่างๆ คืนมาได้ที่รวมทั้วฌาร์โก (Bataille de Jargeau) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน, เมิง-เซอร์-ลัวร์ (Bataille de Meung-sur-Loire) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน และต่อมาโบจองซีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ดยุกแห่งอาลองซงตกลงตามการตัดสินใจของฌานทุกอย่าง แม่ทัพคนอื่นๆ รวมทั้งฌอง ดอร์เลอองที่มีความประทับใจในการได้รับชัยชนะของฌานที่ออร์เลอองส์ก็หันมาสนับสนุนฌาน ดยุกแห่งอาลองซงสรรเสริญฌานว่าเป็นผู้ช่วยชีวิตตนเองที่ฌาร์โก เมื่อฌานเตือนถึงอันตรายที่มาจากปืนใหญ่ที่ระดมเข้ามา ในระหว่างยุทธการเดียวกันฌานก็ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนใหญ่บนหมวกเหล็กขณะที่กำลังปีนกำแพง กองหนุนของอังกฤษมาถึงบริเวณที่ต่อสู้กันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนภายใต้การนำของเซอร์จอห์น ฟาสทอล์ฟ (John Fastolf) ในยุทธการพาเตย์ (Bataille de Patay) ที่เหมือนกับยุทธการอาแฌงคูร์ตแต่ในทางกลับกัน ทหารฝรั่งเศสโจมตีกองขมังธนูของฝ่ายอังกฤษก่อนที่กองขมังธนูจะมีโอกาสได้ตั้งตัวในการโจมตีเสร็จ หลังจากนั้นกองทัพฝรั่งเศสก็ได้เปรียบและเข้าจู่โจมทำลายกองทัพอังกฤษ ในที่สุดฝ่ายอังกฤษถ้าไม่ถูกฆ่าตายหรือได้รับบาดเจ็บก็หลบหนี ฟาสทอล์ฟหนีไปพร้อมกับผู้ติดตามไม่กี่คนและเป็นแพะรับบาปสำหรับความอับอายของอังกฤษ ฝ่ายฝรั่งเศสเสียผู้คนไปเพียงไม่เท่าไหร่
จากนั้นกองทัพฝรั่งเศสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 ก็เริ่มเดินตั้งต้นเดินทัพจากเฌียง-เซอร์-ลัวร์ (Gien-sur-Loire) ไปยังแรงส์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนและยอมรับการยอมแพ้ที่มีเงื่อนไขของเมืองโอแซร์ (Auxerre) ที่เป็นของเบอร์กันดีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม เมืองที่ผ่านทุกเมืองต่างก็หันมาสวามิภักดิ์ต่อฝรั่งเศสโดยปราศจากการต่อต้าน ทรัวซึ่งเป็นสถานทำสนธิสัญญาที่พยายามตัดสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 ยอมจำนนหลังจากถูกล้อมอยู่สี่วัน เมื่อกองทัพเดินทางไปถึงตรัวส์ก็พอดีกับการที่เสบียงหมดลง เอ็ดเวิร์ด ลูซี-สมิธ (Edward Lucie-Smith) จึงอ้างว่าฌานมีความโชคดีมากกว่าที่จะมีความสามารถจริงๆ ที่เห็นได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ตรัวส์ ก่อนหน้าที่กองทัพฝรั่งเศสก็มีภราดาริชาร์ดเป็นไฟรอาร์ร่อนเร่อยู่ในบริเวณนั้นเที่ยวเทศนาถึงวันโลกาวินาศที่จะมาถึง และชักชวนให้ผู้คนเริ่มสะสมอาหารโดยปลูกถั่วซึ่งเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวได้เมื่อต้นฤดู เมื่อกองทัพฝรั่งเศสมาถึงบริเวณนั้นในจังหวะเดียวกับที่ถั่วพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้พอดี
แร็งส์เปิดประตูเมืองให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พระราชพิธีบรมราชาภิเษกกระทำกันในวันรุ่งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1429 ที่มหาวิหารนอเทรอดามแห่งแรงส์ แม้ว่าฌานและดยุกแห่งอาล็องซงจะพยายามถวายคำแนะนำให้ทรงเดินทัพต่อไปยังปารีส แต่ทางราชสำนักยังพยายามเจรจาต่อรองแสวงหาสันติภาพกับดยุกแห่งเบอร์กันดี แต่ฟิลลิปเดอะกูด ดยุกแห่งเบอร์กันดีก็ละเมิดสัญญาเพื่อถ่วงเวลาในการรอกองหนุนจากปารีส กองทัพฝ่ายฝรั่งเศสเดินทัพไปยังปารีสระหว่างทางก็ผ่านเมืองต่างๆ ที่ยอมสวามิภักดิ์โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ จอห์นแห่งแลงคาสเตอร์ ดยุกแห่งเบดฟอร์ดที่ 1 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระเจ้าเฮนรีที่ 6 นำกองทัพฝ่ายอังกฤษที่เผชิญหน้ากับฝ่ายฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ฝ่ายฝรั่งเศสเข้าโจมตีปารีสเมื่อวันที่ 8 กันยายน แม้จะได้รับการบาดเจ็บจากธนูที่ขาแต่ฌานก็ยังคงนำกองทัพจนกระทั่งวันที่การต่อสู้สิ้นสุดลง แต่วันรุ่งขึ้นฌานก็ได้รับพระราชโองการให้ถอยทัพ นักประวัติศาสตร์ส่วนมากกล่าวโทษ Georges de la Tr?moille องคมนตรีฝ่ายฝรั่งเศสว่าเป็นผู้รับผิดชอบคาดสถานะการณ์ผิดอันใหญ่หลวงหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ ในเดือนตุลาคมฌานก็สามารถยึดเมืองแซงต์ปิแยร์-เล-มูติเยร์ (Si?ge de Saint-Pierre-le-Mo?tier) สำเร็จ
หลังจากการล้อมเมืองชาริเต-เซอร์-ลัวร์ (Si?ge de La Charit?) ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคมแล้ว ฌานก็เดินทัพต่อไปยังคองเพียญน์ (Compi?gne) ในเดือนเมษายนต่อมาเพื่อป้องกันจากการถูกล้อมเมือง (Si?ge de Compi?gne) โดยฝ่ายอังกฤษและเบอร์กันดี แต่การต่อสู้อย่างประปรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1430 นำไปสู่การจับกุมของฌาน เมื่อมีคำสั่งให้ถอยฌานก็ปฏิบัติตัวอย่างผู้นำโดยเป็นบุคคลสุดท้ายที่ทิ้งสนามรบ ฝ่ายเบอร์กันดีเข้าล้อมกองหลัง ฌานต้องลงจากหลังเพราะถูกโจมตีโดยกองขมังธนูและตอนแรกก็มิได้ยอมจำนนทันที
ตามธรรมเนียมของสมัยกลางการจับกุมเชลยสงคราม (prisonnier de guerre) เป็นการจับกุมแบบเรียกค่าไถ่ แต่ครอบครัวของฌานเป็นครอบครัวที่ยากจนจึงไม่สามารถหาเงินมาไถ่ตัวฌานจากที่คุมขังได้ นักประวัติหลายคนประณามพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 ที่ไม่ทรงเข้ายุ่งเกี่ยวกับการช่วยเหลือฌานในกรณีนี้ ฌานเองพยายามหลบหนีหลายครั้งๆ หนึ่งโดยกระโดดจากหอที่สูงจากพื้นดินราว 21 ที่แวร์ม็องดัว (Vermandois) ลงไปบนดินที่หยุ่นของคูเมืองแต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นก็ถูกย้ายตัวไปเมืองอาร์ราส (Arras) ในเบอร์กันดี และในที่สุดรัฐบาลอังกฤษก็ขอซื้อตัวฌานจากฟิลลิปเดอะกูด โดยมีปีแยร์ โคชง (Pierre Cauchon) บิชอปแห่งโบเวส์ (Beauvais) ผู้เป็นผู้ฝักฝ่ายฝ่ายอังกฤษตั้งตนเป็นผู้มีบทบาทในการเจรจาต่อรองซื้อตัวและต่อมาในการพิจารณาคดีของฌาน
การพิจารณาคดีในข้อหานอกรีต (h?r?sie) ของฌานมีมูลมาจากสถานะการณ์ทางการเมือง จอห์นแห่งแลงคาสเตอร์ ดยุกแห่งเบดฟอร์ดที่ 1 ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสในนามของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ผู้เป็นหลาน เห็นว่าเมื่อฌานเป็นผู้มีความรับผิดชอบการราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 การลงโทษฌานจึงเท่ากับเป็นการบ่อนทำลายอำนาจอันถูกต้องตามกฎหมายของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 โดยตรง การดำเนินการทางกฎหมายเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1431 ที่รูอองซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลผู้ยึดครองฝรั่งเศสของอังกฤษในขณะนั้น กระบวนการมีความลักลั่นในหลายประเด็น
ปัญหาใหญ่ๆ ที่พอสรุปได้ก็ได้แก่ อำนาจทางศาลของผู้พิพากษาปีแยร์ โคชงไม่ใช่อำนาจที่แท้จริงแต่เป็นอำนาจที่คิดค้นขึ้น; ปีแยร์ โคชงได้รับแต่งตั้งเพราะเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลอังกฤษและเป็นผู้ที่รับผิดชอบในค้าใช้จ่ายในการพิจารณาคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้น และพนักงานศาลนิโคลัส เบลลีย์ (Nicolas Bailly) ก็ได้รับจ้างให้รวบรวมคำให้การที่เป็นปฏิปักษ์ต่อฌานและไม่พบหลักฐานใดที่คัดค้าน ถ้าไม่มีหลักฐานดังกล่าวศาลก็ไม่มีหลักฐานเพียงพอในการสนับสนุนข้อกล่าวหาสำหรับการพิจารณาคดี นอกจากนั้นศาลก็ยังละเมิดกฎหมายศาสนจักรที่ปฏิเสธไม่ให้ฌานมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย เมื่อเปิดการสอบสวนเป็นการสารธารณะเป็นครั้งแรกฌานก็ประท้วงว่าผู้ที่ปรากฏตัวในศาลทั้งหมดเป็นฝ่ายตรงข้ามและขอให้ศาลเชิญ “ผู้แทนทางศาสนาของฝรั่งเศส” มาร่วมในการพิจารณคดีด้วย
บันทึกการพิจารณาคดีแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีปัญญาอันเฉียบแหลมของฌาน สำเนาบันทึกข้อแลกเปลี่ยนต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างสุขุมอย่างมีปฏิภาณ เมื่อ “ถูกถามว่าเธอทราบไหมว่าเธออยู่ภายใต้การพิทักษ์ของพระเจ้า, ซึ่งฌานก็ให้ตอบว่า “ถ้าข้าพเจ้ามิได้, ก็ขอให้พระองค์ทรงทำเช่นนั้น; แต่ถ้าข้าพเจ้าได้, ก็ขอให้พระองค์ทรงรักษาไว้เช่นนั้น” (Si je n'y suis, Dieu veuille m'y mettre; et si j'y suis, Dieu m'y veuille tenir) คำถามนี้เป็นคำถามลวง กฎของคริสตจักรระบุว่าไม่มีผู้ใดที่สามารถทราบได้แน่นอนว่าอยู่ภายใต้การพิทักษ์ของพระเจ้า ถ้าฌานตอบรับก็เท่ากับเป็นการให้การที่เป็นโทษต่อตนเองในข้อหาว่านอกรีต (h?r?sie chr?tienne) แต่ถ้าตอบปฏิเสธก็เท่ากับเป็นการสารภาพความผิดของตนเอง ผู้บันทึกคำให้การ Boisguillaume ให้การต่อมาว่าคำตอบดังกล่าวของฌานทำให้ผู้สืบสวนในศาลต่างก็ตกตะลึงไปตามๆ กัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักเขียนบทละครจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์พบว่าบทโต้ตอบในศาลเป็นบทโต้ตอบที่น่าประทับใจจนนำสำเนาการบันทึกไปใช้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในบทละครเรื่อง “นักบุญฌาน” (Saint Joan)
ผู้เป็นฝ่ายศาลหลายคนต่อมาให้การในการพิจารณาคดีครั้งต่อมาว่าสำเนาคำให้การได้รับการประดิษฐ์เปลี่ยนแปลง (fabricate) เพื่อทำให้เห็นว่าฌานมีความผิดตามข้อกล่าวหา นักบวชหลายคนอ้างว่าต้องทำหน้าที่เพราะถูกบังคับที่รวมทั้งผู้ไต่สวนฌอง เลแมเตร (Jean LeMaitre) และบางคนอ้างว่าถึงกับได้รับการขู่ว่าจะถูกฆ่าจากฝ่ายอังกฤษ ภายใต้ข้อแนะนำในการไต่สวน ฌานควรจะถูกจำขังในที่จำขังสำหรับนักโทษที่ถูกกล่าวหาในข้อหาที่เกี่ยวกับศาสนาเท่านั้นและควรจะมีผู้คุมเป็นสตรี (เช่นแม่ชี) แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้นฌานกลับถูกจำขังร่วมกับนักโทษในข้อหาทางฆราวาสและคุมโดยทหารด้วยกัน ปีแยร์ โคชงปฏิเสธคำร้องของฌานต่อสภาบาทหลวงแห่งบาเซิล (Conseil de Basel) และพระสันตะปาปาซึ่งถ้าทำได้ก็เท่ากับเป็นการยุติการดำเนินการพิจารณาคดีของศาล
ข้อหาสิบสองข้อที่สรุปโดยศาลขัดกับบันทึกของศาลเองที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง จำเลยผู้ไม่มีการศึกษายอมลงชื่อในเอกสารการบอกสละโดยสาบาน (abjuration) โดยปราศจากความเข้าใจถึงเนื้อหาและความหมายภายใต้การขู่เข็ญว่าจะถูกประหารชีวิต นอกจากนั้นศาลก็ยังได้สลับเอกสารการบอกสละโดยสาบานฉบับอื่นกับเอกสารที่ใช้อย่างเป็นทางการ
ความผิดในการนอกรีตเป็นความผิดที่มีโทษถึงตายสำหรับผู้ปฏิบัติซ้ำสอง ฌานยอมแต่งตัวอย่างสตรีเมื่อถูกจับแต่สองสามวันต่อมาก็ถูกข่มขืนในที่จำขัง ฌานจึงกลับไปแต่งตัวเป็นผู้ชายอีกซึ่งอาจจะเป็นการทำเพื่อเลี่ยงการถูกทำร้ายในฐานะที่เป็นสตรีหรือตามคำให้การของฌอง มาส์เซอที่กล่าวว่าเสื้อผ้าของฌานถูกขโมยและไม่เหลืออะไรไว้ให้สวม
พยานผู้เห็นเหตุการณ์บรรยายการประหารชีวิตโดยเผาทั้งเป็นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1431 ว่าฌานถูกมัดกับเสาสูงหน้าตลาดเก่าในรูอ็อง ฌานขอให้บาทหลวงมาร์แต็ง ลาด์เวนู และบาทหลวงอิแซงบาร์ต เด ลา ปิแยร์ถือกางเขนไว้ตรงหน้า หลังจากที่ฌานเสียชีวิตไปแล้วฝ่ายอังกฤษกวาดถ่านหินออกจนเห็นร่างที่ถูกเผาไหม้เพื่อให้เป็นที่ทราบกันว่าฌานเสียชีวิตจริงและมิได้หลบหนี เสร็จแล้วก็เผาร่างที่เหลืออีกสองครั้งเพื่อไม่ให้เหลือสิ่งใดที่สามารถเก็บไปเป็นเรลิกได้ หลังจากนั้นก็โยนสิ่งที่เหลือลงไปในแม่น้ำแซน เพชฌฆาตเจฟฟรัว เตราช (Geoffroy Therage) กล่าวต่อมาว่ามีความหวาดกลัวว่าจะถูกแช่ง
การพิจารณาคดีหลังจากที่ฌานเสียชีวิตไปแล้วเริ่มขึ้นหลังสงครามร้อยปียุติลง สมเด็จพระสันตะปาปาคาลิกซ์ตุสที่ 3 ทรงอนุมัติให้ดำเนินการพิจารณคดีของฌานขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ตามคำร้องขอของผู้อำนวยการการไต่สวนฌอง เบรฮาล (Jean Brehal) และอิสซาเบลลา โรเมแม่ของฌาน การพิจารณาคดีครั้งนี้เรียกกันว่า “การพิจารณาคดีประณามเป็นโมฆะ” (proc?s en r?habilitation) ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีสอบสวนการพิจารณาคดีครั้งแรกหรือที่เรียกว่า “การพิจารณาคดีประณาม” (proc?s en condamnation) และการตัดสินว่าเป็นการดำเนินการที่เป็นไปด้วยความยุติธรรมและตรงตามคริสต์ศาสนกฎบัตร
การสืบสวนเริ่มด้วยการไต่สวนนักบวช Guillaume Bouille โดยฌอง เบรฮาลเริ่มการสืบสวนในปี ค.ศ. 1452 และการอุทธรณ์อย่างเป็นทางการตามมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1455 การดำเนินการอุทธรณ์มีผู้เกี่ยวข้องจากทั่วยุโรปและเป็นไปตามกระบวนการพิจารณาคดีมาตรฐานของศาล
นักเทววิทยาคริสต์ศาสนาวิจัยคำให้การจากพยานด้วยกันทั้งหมด 115 คน เบรฮาลสรุปการวินิจจัยในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1456 ที่บรรยายฌานว่าเป็นมรณสักขีและกล่าวหาปีแยร์ โกชงผู้เสียชีวิตไปแล้วว่าเป็นผู้นอกรีตเพราะเป็นผู้ลงโทษผู้บริสุทธิ์เพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตนเองทางโลก ศาลประกาศว่าฌานเป็นผู้บริสุทธิ์เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1456
อนาโตล ฟรานซ์ เขียนบันทึกไว้ว่า เดือนพฤษภาคม 1437 ราว 5 ปี หลังจากฌานถูกเผาที่รูอัง มีหญิงสาวคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นที่เมืองลอเรน เธอมาบอกว่าเป็นฌาน ออฟ อาร์ค น่าแปลกที่น้องชายสองคนของฌาน ออฟ อาร์คและสหายสนิทต่างให้ความสนับสนุนเธอว่าคือฌาน ออฟ อาร์ค ตัวจริง แม้ไม่มีใครทราบว่าเธอรอดจากการถูกเผาอย่างไร แต่หลายฝ่ายเดาว่าอาจมีการสลับตัวนักโทษตอนวันประหาร
ต่อมาสตรีผู้นั้นได้แต่งงานกับโรเบิร์ต เดซามัวร์ และมีบุตรสองคน จากนั้นเธอก็ไปเข้าเฝ้าชาร์ลส์ที่ 7 แล้ว ภายหลังพระองค์ได้ประกาศว่าเธอเป็นฌาน ดาร์กตัวปลอม เธอถูกบังคับให้สารภาพต่อหน้าสาธารณชนในปารีส เธอสารภาพว่าเป็นทหารประจำองค์พระสันตะปาปานึกคิดสนุกว่าอยากเป็นฌาน ดาร์ก ในที่สุดเธอคนนั้นก็ถูกปล่อยตัวไปใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบๆ กับครอบครัวที่เมืองเมทซ์ แต่เพื่อนและญาติยังถือว่าเธอเป็นฌาน ดาร์กอยู่ และปริศนาของฌาน ดาร์ก ก็ยังไม่สามารถไขได้จนถึงทุกวันนี้
ฌาน ดาร์กแต่งกายอย่างบุรุษตั้งแต่ออกจาก Vaucouleurs ไปจนถึงการพิจารณาคดีที่รูอ็อง ซึ่งเป็นการทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยในทางคริสต์ศาสนวิทยาในสมัยของฌานเองและต่อมาอีกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเหตุผลหนึ่งของการถูกประหารชีวิตอ้างว่ามาจากการขัดกับกฎการแต่งกายจากพระคัมภีร์ ในการประกาศว่า “การพิจารณาคดีกล่าวหา” เป็นโมฆะ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคดีแรกไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อกล่าวหานี้ค้านกับพระคัมภีร์
ถ้ากล่าวกันตามกฎหมายศาสนจักรแล้ว การแต่งตัวเป็นชายผู้รับใช้ (page) ของโจนระหว่างการเดินทางฝ่าดินแดนของศัตรูเป็นการกระทำเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ตนเอง รวมทั้งการสวมเกราะในระหว่างการยุทธการก็เช่นกัน “บันทึกของปูเซลล์” (Chronique de la Pucelle) กล่าวว่าเป็นการกระทำเพื่อการป้องกันการถูกกระทำมิดีมิร้ายขณะที่ต้องหลับนอนกลางสนามรบ นักบวชผู้ให้การในการพิจารณาคดีครั้งที่สองสนับสนุนว่าฌานยังคงแต่งกายอย่างบุรุษในขณะที่ถูกจำขังเพื่อป้องกันตัวจากการถูกกระทำมิดีมิร้ายหรือจากการถูกข่มขืน ส่วนการรักษาพรหมจรรย์ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนการแต่งกายสลับเพศ (crossdressing) การแต่งกายเช่นนั้นเป็นการกันการถูกทำร้ายในฐานะที่เป็นสตรีและในสายตาของผู้ชายก็ทำให้ไม่เห็นว่าฌานเป็นเหยื่อในทางเพศ (sex object)
ระหว่างการพิจารณาคดีครั้งแรกโจนให้การเกี่ยวกับประเด็นนี้โดยอ้างถึงการสืบสวนที่ปัวตีเย บันทึกการสืบสวนที่ปัวตีเยสูญหายไปแล้วแต่จากหลักฐานแวดล้อมบ่งว่านักบวชปัวติเยร์ยอมรับการปฏิบัติเช่นนั้นของฌาน หรือถ้าจะตีความหมายก็อาจจะกล่าวได้ว่าโจนมีหน้าที่ที่จะดำเนินงานที่เป็นของบุรุษฉะนั้นจึงเป็นการสมควรที่จะแต่งตัวให้เหมาะสมกับสถานะการณ์ นอกจากการแต่งตัวเป็นบุรุษแล้วโจนก็ยังตัดผมสั้นระหว่างการรณรงค์และขณะที่ถูกจำขัง ผู้สนับสนุนโจนเช่นนักคริสต์ศาสนวิทยาฌอง เชร์ซอง (Jean Gerson) และผู้ไต่สวนเบรฮาลในการพิจารณาคดีครั้งหลังสนับสนุนการกระทำเช่นที่ว่าว่าเป็นสิ่งที่สมควรทำ
นิมิตของโจนเป็นหัวข้อที่เป็นที่น่าสนใจกันเป็นอันมาก นักวิชาการเห็นพ้องกันว่าความศรัทธาของฌานเป็นความศรัทธาที่จริงใจ ฌานกล่าวว่านักบุญมาร์กาเรตแห่งแอนติออก นักบุญแคเธอรินแห่งอะเล็กซานเดรีย และอัครทูตสวรรค์มีคาเอลเป็นที่มาของวิวรณ์ แต่ก็ยังมีความกำกวมในชื่อดังกล่าวว่าเป็นนักบุญองค์ใดแน่ในบรรดานักบุญที่มีชื่อเหมือนกันที่โจนตั้งใจจะกล่าวถึง ผู้นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเห็นว่านิมิตของโจนเป็นการดลใจจากพระเจ้า (inspiration divine)
นิมิตของฌานออกจะเป็นปัญหาเพราะแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่มาจากบันทึกของการพิจารณาคดีครั้งแรก ฌานท้าทายกระบวนการของการไต่สวนตามธรรมเนียมของศาลในเรื่องการสาบานพยานและโดยเฉพาะเมื่อปฏิเสธไม่ยอมให้การใดใดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนิมิตเมื่อถูกถาม ฌานประท้วงว่ามาตรฐานของการสาบานพยานของศาลขัดต่อคำสาบานที่เธอได้กระทำไว้ก่อนหน้านั้นในการรักษาความลับของการเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ ซึ่งทำให้ไม่อาจจะทราบได้ว่าเอกสารที่ยังหลงเหลืออยู่จะเป็นที่น่าเชื่อถือได้เพียงใด เพราะอาจจะเป็นเอกสารที่ถูกประดิษฐ์แก้ไขขึ้นเพื่อประโยชน์ของศาลโดยเจ้าหน้าที่ของศาลเอง หรืออาจจะเป็นการประดิษฐ์แก้ไขของโจนเองเพื่อป้องกันความลับของราชอาณาจักร นักประวัติศาสตร์บางท่านก็เลี่ยงการสันนิษฐานที่เกี่ยวกับนิมิตโดยเสนอว่าความเชื่อของฌานในการที่ถูกเรียกตัวให้มาปฏิบัติภารกิจมีความสำคัญกว่าคำถามที่เกี่ยวกับที่มาดั้งเดิมของนิมิตที่เกิดขึ้น
เอกสารร่วมสมัยของฌานและจากนักประวัติศาสตร์ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 มักจะสรุปว่าฌานมีสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจปกติ แต่นักวิชาการในปัจจุบันพยายามอธิบายการเห็นนิมิตของโจนว่าอาจจะเป็นอาการทางจิตหรือทางประสาท การสันนิษฐานการวินิจฉัยก็รวมทั้งโรคลมชัก (epilepsy) , ไมเกรน (migraine) , วัณโรค และโรคจิตเภท (schizophrenia) แต่การสันนิษฐานต่างๆ ที่ว่าก็ไม่มีข้อใดที่เป็นที่เห็นพ้องกันกันโดยทั่วไป แต่ประสาทหลอน (hallucination) และความศรัทธาอันรุนแรงทางศาสนาอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการได้หลายอย่าง แต่อาการที่ว่านี้ขัดกับสิ่งที่เราทราบเกี่ยวกับชีวิตของโจน นักวิชาการสองคนผู้วิจัยสมมุติฐานเกี่ยวกับ วัณโรคในสมองกลีบขมับ (Temporal lobe tuberculoma) ในวารสารทางแพทย์ Neuropsychobiology แสดงความแคลงใจว่าโจนเป็นโรคที่ว่าจากการสันนิษฐานดังนี้:
การสรุปความเห็นที่แท้จริงนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ก็ดูเหมือนว่าการลามของวัณโรคซึ่งเป็นเชื้อโรคที่ร้ายแรงไม่ได้จะเกิดขึ้นในตัว“คนไข้” ผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างสำบุกสำบัน[เช่นโจน] เป็นวิถีชีวิตที่เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ที่มีอาการของเชื้อโรคที่ร้ายแรงเช่นวัณโรคจะสามารถทำได้
ในการโต้ตอบทฤษฎีหนึ่งที่กล่าวว่าโจนอาจจะมีอาการของวัณโรคที่เกิดจากวัว (tuberculose bovine) เพราะดื่มนมที่ยังไม่ได้รับการฆ่าเชื้อ นักประวัติศาสตร์ R?gine Pernoud โต้ว่าถ้าการดื่มนมที่ยังไม่ได้รับการฆ่าเชื้อแล้วได้ผู้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองอย่างโจนแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสก็ควรจะยุติการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องฆ่าเชื้อนมลง ราล์ฟ ฮอฟฟ์แมนศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเยลในสหรัฐอเมริกาให้ความเห็นว่าการเห็นหรือการได้ยินเสียง (นอกไปจากปกติ) ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสัญญาณของการเป็นโรคจิตเสมอไปเช่นประสบการณ์ของโจน แต่ก็ไม่ได้เสนอทฤษฎีอื่นที่อาจจะเป็นสาเหตุแทน
สมมุติฐานต่างๆ เช่นในกรณีของโรคจิตเภทก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะโอกาสที่ผู้มีอาการของโรคจิตเภทจะได้เข้าใกล้หรือกลายเป็นคนโปรดในราชสำนักได้นั้นเป็นการยากโดยเฉพาะในกรณีของราชสำนักของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 เพราะพระราชบิดาของพระองค์เองพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 ที่รู้จักกันในพระนามว่า “ชาร์ลส์ผู้บ้าคลั่ง” ผู้ที่ทำให้ฝรั่งเศสอ่อนแอลงทั้งทางด้านการเมืองและทางด้านการทหาร ก็สันนิษฐานว่ามาจากการก็มีพระอาการเสียพระสติเป็นพักๆ ที่ไม่ทรงสามารถพระราชภารกิจตามปกติได้ พระองค์ทรงเชื่อว่าพระองค์เองทำด้วยแก้ว ซึ่งเป็นอาการประสาทหลอนที่ข้าราชสำนักมิได้สันนิษฐานว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดเกี่ยวกับประสบการณ์ทางศาสนา นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ว่าความกลัวที่ว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 อาจจะเจริญพระชันษาขึ้นมาแล้วมีอาการเหมือนพระราชบิดา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการยกเลิกสิทธิของพระองค์ในการสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศสในสนธิสัญญาตรัวส์ ความเชื่อที่ว่า “ความบ้าคลั่ง” เป็นโรคที่ติดต่อทางกรรมพันธุ์ฝังแน่นกันมาจนถึงชั่วคนต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งอังกฤษทรงแสดงพระอาการเสียพระสติในปี ค.ศ. 1453 ซึ่งทำให้ถูกกล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากทางฝ่ายฝรั่งเศส เพราะพระเจ้าเฮนรีที่ 6 เป็นพระปนัดดาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6
ความฉับไวและความรู้เกี่ยวกับอาการทางประสาทของข้าราชสำนักในพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 เป็นสิ่งที่ผิดไปจากสามัญทัศน์สำหรับผู้คนในสมัยกลาง
นอกจากความสำบุกสำบันทางร่างกายจากการเข้าร่วมในยุทธการต่างๆ ที่ทำให้การสันนิษฐานว่ามีโรคทางร่างกายเป็นไปได้ยากแล้ว โจนก็มิได้แสดงอาการที่แสดงความบกพร่องในการรู้ (handicap cognitif) แต่อย่างใดที่เป็นส่วนหนึ่งของอาการทางโรคจิตถ้าเกิดขึ้น แต่ตรงกันข้ามโจนแสดงตนว่าเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบอยู่กับร่องกับรอยจนตลอดชีวิต และผู้ให้การในการพิจารณาคดีครั้งที่สองก็มักจะแสดงความประทับใจในความมีปฏิภาณของโจนที่ว่านี้:
คำตอบที่สุขุมของโจนภาพใต้การสืบสวนบางครั้งถึงกับทำให้ศาลต้องหยุดการพิจารณาเป็นการสาธารณะหลายครั้ง ถ้านิมิตของฌานเป็นสิ่งที่มีสาเหตุมาจากปัญหาทางสุขภาพทางร่างกายหรือทางจิตแล้ว กรณีของฌานก็เห็นจะต้องเป็นกรณีพิเศษ
ฟิลิปป์-อเล็กซานเดอร์ เล เบริง เด ชาร์แมตส์ (Philippe-Alexandre Le Brun de Charmettes) เป็นนักประวัติศาสตร์คนแรกที่เขียนชีวประวัติฉบับสมบูรณ์ของโจนออฟอาร์ค ในปี ค.ศ. 1817 เพื่อกู้ฐานะของครอบครัวหลังจากที่ถูกประณามเพราะชื่อเสียงในการเป็นผู้นอกศาสนาของฌาน ความสนใจของฟิลิปป์มีสาเหตุมาจากในช่วงที่ฝรั่งเศสพยายามพยายามเสาะหาความหมายของความเป็นฝรั่งเศสหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส และสงครามนโปเลียน “จริยศาสตร์” (ethos) ของฝรั่งเศสในขณะนั้นก็เป็นการเสาะหาวีรบุรุษที่เป็นผู้ที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ของสังคมขณะนั้น ฌาน ดาร์กผู้เป็นผู้สนับสนุนพระมหากษัตริย์และบ้านเมืองอย่างเหนียวแน่นจะเป็นที่ยอมรับโดยฝ่ายนิยมกษัตริย์ (Monarchists) ส่วนในฐานะที่เป็นนักชาตินิยมและลูกสาวชาวนาพื้นบ้านโจนก็เป็นตัวแทนของอาสาสมัครชาวบ้าน (“soldats de l'an II”) ผู้ต่อสู้และได้รับชัยชนะในการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1802 ฉะนั้นโจนจึงสามารถอ้างได้ว่าเป็นผู้แทนของผู้นิยมสารธารณรัฐ (Republicains) ได้ และในฐานะผู้พลีชีพเพื่อศาสนาโจนก็เป็นที่นิยมในหมู่ชนโรมันคาทอลิกผู้มีอำนาจ “Orl?aniste” ของเด ชาร์แมตส์เป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งในการเผยแพร่ “จริยปรัชญา” (ethos) ของฝรั่งเศส เช่นเดียวกับข้อเขียนของเวอร์จิล ใน “Aeneid” สำหรับโรมหรือของลูอิส เด คามอยส์ (Lu?s de Cam?es) ใน “Lusiad” สำหรับโปรตุเกส
หลังจากการเสียชีวิตของฌานแล้วสงครามร้อยปีก็ยังคงดำเนินต่อมาเป็นเวลาอีก 22 ปี พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 ทรงสามารถรักษาสิทธิอันถูกต้องในการครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศสแม้ว่าดยุกแห่งเบดฟอร์ดจะจัดให้มีพระราชพิธีราชาภิเษกสำหรับพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1431 เมื่อมีพระชนมายุได้ 10 พรรษาก็ตาม ก่อนที่อังกฤษจะมีความสำเร็จในการสร้างเสริมผู้นำทางการทหารและกองขมังธนูที่เสียไประหว่างยุทธการใน ค.ศ. 1429 อังกฤษก็สูญเสียพันธมิตรกับเบอร์กันดีในสนธิสัญญาอาร์ราส (Trait? d'Arras) ในปี ค.ศ. 1435 และในปีเดียวกันนั้นดยุกแห่งเบดฟอร์ดก็เสียชีวิต พระเจ้าเฮนรีที่ 6 จึงทรงกลายเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระเยาว์ที่สุดที่ปกครองอังกฤษโดยไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความอ่อนแอในการเป็นผู้นำของพระองค์อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สงครามร้อยปียุติลง เคลลี เดวรีส์อ้างว่าการใช้ปืนใหญ่และการโจมตีโดยตรงอย่างหนักมีอิทธิพลต่อยุทธวิธีตลอดการต่อสู้ในสงครามร้อยปีของฝรั่งเศส
ฌาน ดาร์กกลายเป็นตำนานมาเกือบสี่ศตวรรษ ที่มาของข้อมูลเกี่ยวกับฌานส่วนใหญ่มาจากบันทึกพงศาวดาร แต่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็มีการพบบันทึกจากการพิจารณาคดีครั้งแรกฉบับดั้งเดิมห้าเล่ม ต่อมานักประวัติศาสตร์ก็พบหลักฐานการพิจารณาคดีครั้งที่สองทั้งหมดซึ่งเป็นบันทึกของคำให้การจากพยายานที่ผ่านการสัตย์สาบาน 115 คน และบันทึกภาษาฝรั่งเศสของการพิจารณาคดีครั้งแรกที่เป็นภาษาละติน นอกจากนั้นก็ยังมีการพบจดหมายจากร่วมสมัย สามฉบับลงนาม “Jehanne” ด้วยลายมือที่ไม่มั่นคงคล้ายกับผู้ที่เพิ่งหัดเขียนหนังสือ จากหลักฐานทางเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับฌานทำให้เดวรีส์ประกาศว่า “เห็นจะไม่มีผู้ใดในสมัยกลางไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงที่เป็นหัวข้อของการศึกษามากเท่าฌาน”
ฌานมาจากครอบครัวในหมู่บ้านเล็กที่ไม่มีใครรู้จักและมามีชื่อเสียงโด่งดังเมื่ออายุยังน้อยและเป็นในฐานะชาวบ้านผู้ไม่มีการศึกษา พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสและอังกฤษเข้าทำสงครามที่ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเพราะความขัดแย้งที่เกิดจากการตีความหมายของกฎหมายแซลิกอันเก่าแก่กว่าพันปี ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งที่ดูจะไม่จบสิ้นระหว่างสองอาณาจักร แต่ฌานก็มาให้ความหมายของสถานะการณ์ใหม่เช่นที่ฌอง เด เมซถามว่า “จำเป็นด้วยหรือที่พระมหากษัตริย์ต้องทรงถูกขับจากแผ่นดิน, และเราจะต้องเป็นอังกฤษหรือ?” ตามที่สตีเฟน ดับเบิบยู. ริชชีกล่าวว่า “ฌานเปลี่ยนเหตุการณ์จากความขัดแย้งของราชวงศ์ที่ไม่น่าสนใจที่ไม่ทำให้ชาวบ้านมีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง[ต่อความขัดแย้ง]นอกไปจากความทุกข์ของตนเอง ไปเป็นเหตุการณ์สงครามเพื่อการกู้ชาติที่เร้าความรู้สึกของประชาชน” นอกจากนั้นริชชีก็ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับความเป็นที่นิยมของฌานว่า:
“ประชาชนรุ่นต่อมาอีกห้าร้อยปีหลังจากที่ฌานเสียชีวิตไปแล้วสร้างสรรค์ภาพพจน์ต่างๆ เกี่ยวกับฌาน: ผู้บ้าคลั่งทางจิตวิญญาณ, ผู้บริสุทธิ์ผู้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ, ผู้เป็นตัวอย่างของความเป็นชาตินิยม, วีรสตรีผู้น่าชื่นชม, นักบุญ [แต่]ฌานก็ยังคงยืนยันแม้เมื่อถูกขู่ด้วยการทรมานและการเผาทั้งเป็นว่าได้รับแรงบันดาลใจจากพระสุรเสียงของพระเจ้า ไม่ว่าจะมีพระสุรเสียงหรือไม่มีพระสุรเสียงความสำเร็จของฌานก็ทำให้ทุกคนที่ทราบประวัติอดส่ายหัวด้วยความทึ่งในความสามารถอันมหัศจรรย์ของฌานไม่ได้
ในปี ค.ศ. 1452 ระหว่างการสืบสวนที่เกี่ยวกับการประหารชีวิตของฌานหลังสงครามร้อยปี ทางคริสตจักรก็ประกาศว่าบทละครที่แสดงเพื่อเป็นเกียรติแก่ฌานที่แสดงที่ออร์เลอองส์ถือว่าเป็นกุศล (p?lerinage) ที่มีค่าในการไถ่บาป (indulgence) ได้ ฌานกลายเป็นสัญลักษณ์ของสันนิบาตคาทอลิกฝรั่งเศส (Sainte Ligue catholique) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ระหว่างปี ค.ศ. 1849 ถึง ค.ศ. 1878 เฟลีส์ ดูปองลูพ์ บิชอปแห่งออร์เลอ็อง ก็เป็นผู้นำในการเรียกร้องให้แต่งตั้งฌานให้เป็นนักบุญแต่ดูปองลูพ์มิได้มีอายุยืนพอที่จะเห็นผล
การพิจารณาให้เป็นนักบุญของฌาน ดาร์กเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1909 ทันทีหลังจากที่รัฐบาลฝรั่งเศสประการอนุมัติกฎหมายฝรั่งเศสในการแบ่งแยกระหว่างรัฐและศาสนา ค.ศ. 1905 (Loi sur la s?paration de l'?glise et de l'?tat en 1905) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำความกระทบกระเทือนให้แก่สถานะภาพของคริสตจักรโรมันคาทอลิกในสังคมฝรั่งเศสโดยตรง ฌานได้รับการประกาศเป็นนักบุญเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1920 วันฉลองนักบุญฌานตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม ในฐานะนักบุญฌาน ดาร์กก็เป็นนักบุญที่เป็นที่นิยมกันที่สุดองค์หนึ่งในบรรดานักบุญในนิกายโรมันคาทอลิก
ฌาน ดาร์กมิได้เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรี (feminist) ฌานปฏิบัติตนภายในกรอบของประเพณีทางศาสนาเช่นเดียวกับผู้อื่นที่ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดใดในสังคมที่ได้รับเสียงเรียกจากพระเจ้าให้ทำหน้าที่พึงทำ ฌานไล่สตรีออกจากกองทัพและอาจจะตีคนหนึ่งด้วยส่วนแบนของดาบ แต่จะอย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยเหลือฌานก็มาจากสตรีเมื่อแม่ยายของพระเจ้าชาร์ลที่ 7 โยลันเดอแห่งอารากอนยืนยันความเป็นพรหมจารีของฌานและหาเงินทุนสนับสนุนให้ฌานเข้าร่วมรบที่ออร์เลอองส์ ฌานแห่งลักเซมเบิร์กป้าของเคานท์แห่งลักเซมเบิร์กผู้ดูแลฌานหลังจากคองเพียญน์เป็นผู้ช่วยทำให้สภาพการคุมขังดีขึ้นและอาจจะเป็นผู้พยายามถ่วงเวลาในการขายฌานให้แก่ฝ่ายอังกฤษ และแอนน์แห่งเบอร์กันดีภรรยาของดยุกแห่งเบดฟอร์ดเป็นผู้ประกาศว่าฌานยังเป็นพรหมจารีระหว่างการสืบสวนก่อนหน้าที่จะมีการพิจารณาคดี ซึ่งตามเหตุผลนี้แล้วก็เป็นการป้องกันศาลจากการกล่าวหาฌานในข้อหาว่าเป็นแม่มด และข้อนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาช่วยในการประกาศความบริสุทธิ์ของฌาน ต่อมาและในการเป็นนักบุญ สตรีตั้งแต่ในสมัยโบราณมาจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเห็นว่าฌานเป็นตัวอย่างของความกล้าหาญและความมีบทบาทของสตรี
ฌาน ดาร์กเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ฝ่ายลิเบอรัล (lib?ralisme classique) เน้นการมาจากระดับชนชั้นต่ำของฌาน ฝ่ายอนุรักษนิยม (conservatisme) เมื่อเริ่มแรกเน้นการสนับสนุนของฌานต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ต่อมาก็หันไปเน้นความเป็นชาตินิยม ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองทั้งฝ่ายวิชีฝรั่งเศสและฝ่ายขบวนการฝรั่งเศสเสรี (R?sistance fran?aise) ต่างก็ใช้ฌานเป็นสัญลักษณ์: ฝ่ายวิชีใช้การโฆษณาชวนเชื่อของการรณรงค์ของฌานในการต่อต้านอังกฤษโดยใช้โปสเตอร์ที่เป็นภาพของเรือบินอังกฤษทิ้งลูกระเบิดที่รูออง และคำโฆษณา “They Always Return to the Scene of Their Crimes.” ส่วนฝ่ายขบวนการฝรั่งเศสเสรีเน้นการต่อสู้ของฌานในการต่อต้านการยึดครองของชาวต่างประเทศและที่มาของฌานที่มาจากลอร์แรนซึ่งเป็นบริเวณที่ยึดครองโดยนาซี
เรือรบของรัฐนาวีแห่งฝรั่งเศสสามลำก็ตั้งชื่อตามฌานที่รวมทั้งเรือ “Jeanne d'Arc (R 97) ” ในปัจจุบันพรรค “Front national” ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศสก็ไปรวมตัวกันที่หน้าอนุสาวรีย์ของฌาน และพิมพ์ภาพที่คล้ายคลึงกับฌานในสิ่งพิมพ์ของพรรคและใช้คบเพลิงสามสีของพรรคเป็นสัญลักษณ์ของการพลีชีพของฌานในตราของพรรค ผู้ที่ค้านกับก็กล่าวเสียดสีความไม่เหมาะสมของการใช้สัญลักษณ์เช่นนี้ วันหยุดราชการเพื่อเป็นเกียรติแก่ฌานคือวันอาทิตย์ที่สองของเดือน
ในปี ค.ศ. 1867 กล่าวกันว่ามีการพบผอบในร้านขายยาในปารีสที่มีคำจารึกว่า “ซากที่พบใต้ที่เผาฌาน ดาร์ก พรหมจารีแห่งออร์เลอ็อง” ภายในเป็นซี่โครงและเศษไม้ไหม้ และชิ้นผ้าลินนินและกระดูกโคนขาของแมวที่อาจจะอธิบายว่ามาจากประเพณีการโยนแมวดำเข้าไปในกองเพลิงที่เผาแม่มด ในปัจจุบันผอบนี้รักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะและประวัติศาสตร์ที่ชินอง
ในปี ค.ศ. 2006, ฟิลลิปป์ ชาร์ลิเยร์ (Philippe Charlier) นักนิติวิทยาจากโรงพยาบาล Raymond-Poincar? ที่ Garches ได้รับหน้าที่ให้ศึกษาวัตถุที่ว่านี้ โดยใช้การหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (Radiocarbon dating) และ spectrom?trie ผลจากการศึกษา พบว่าสิ่งที่อยู่ในผอบมาจากมัมมี่ของอียิปต์จาก 600 ถึง 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช ลักษณะรอยไหม้เกิดจากปฏิกิริยาของสารที่ใช้ในการดองศพไม่ใช่จากการถูกเผา นอกจากนั้นก็ยังพบผงที่มาจากลูกสนที่สนับสนุนทฤษฎีการทำมัมมี่ ชิ้นผ้าลินนินที่ไม่มีรอยไหม้คล้ายกับผ้าลินนินที่ใช้ในการห่อศพ นักดมน้ำหอม Guerlain และ ฌอง ปาตู กล่าวว่าได้กลิ่นวนิลาจากซากซึ่งก็ตรงกับทฤษฎีการทำมัมมี่เช่นกัน อีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือมัมมี่ใช้เป็นเครื่องปรุงอย่างหนึ่งในการผสมยาในสมัยกลาง จึงอาจจะเป็นได้ว่ามีผู้ปิดฉลากผอบใหม่ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส