นักบุญแอมโบรสแห่งมิลาน (อังกฤษ: Ambrose of Milan; ละติน: Ambrosius; อิตาลี: Ambrogio) (ราว ค.ศ. 337 ถึง ค.ศ. 340-344 เมษายน ค.ศ. 397) เป็นบาทหลวงชาวโรมันดำรงตำแหน่งบิชอปแห่งมิลาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในคริสตจักรในคริสต์ศตวรรษที่ 4 นักบุญแอมโบรสเป็นหนึ่งในสี่คนแรกของนักปราชญ์แห่งคริสตจักร
แอมโบรสเกิดในครอบครัวคริสตชน ระหว่างปึ ค.ศ. 337 ถึง ค.ศ. 340 - 344 และเติบโตขึ้นที่เมืองเทรียร์ จักรวรรดิโรมัน เป็นลูกของเจ้าหน้าที่ของจังหวัดแกลเลีย นาร์โบเนนซิส (Gallia Narbonensis) มารดาของแอมโบรสเป็นสตรีผู้มีปัญญาและมีมีศรัทธาศาสนาแรงกล้า เล่ากันว่าเมื่อแอมโบรสยังเป็นทารกนอนในเปลก็มึฝูงผึ้งมาเกาะหน้า ก่อนจะบินไปผึ้งก็ทิ้งน้ำผึ้งไว้หยดหนึ่ง บิดาของแอมโบรสถือว่าเป็นสัญลักษณ์ว่าเมื่อแอมโบรสโตขึ้นก็จะเป็นผู้มีฝีปากดี ฉะนั้นรูปของแอมโบรสจึงมักมีผึ้งหรือรังผึ้งเป็นสัญลักษณ์
พ่อของแอมโบรสเสียชีวิตตั้งแต่แอมโบรสยังเป็นเด็ก เมี่อโตขึ้นมาแอมโบรสก็มีอาชีพตามพ่อ หลังจากที่ได้รับการศึกษาที่กรุงโรม ทางวรรณกรรม นิติศาสตร์ และวาทศิลป์ แม่ทัพแอนิเชียส โพรบัส (Anicius Probus) มอบตำแหน่งในสภาให้แต่ต่อมาราวปึ ค.ศ. 372 ก็แต่งตั้งแอมโบรสให้เป็นผู้ปกครองลีกูเรีย และเอมิเลียซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่มิลานซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองหลวงที่สองรองจากโรม แอมโบรสเป็นนักปกครองที่ดีและไม่นานก็เป็นที่นิยม[ต้องการอ้างอิง]
มุขมณฑลมิลานขณะนั้นมึความเขัดแย้งกันระหว่างผู้สนับสนุนแนวคิดตรีเอกภาพ และผู้สนับสนุนลัทธิเอเรียส เมื่ออ็อกเซ็นเทียส บิชอปแห่งมิลานถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 374 ผู้สนับสนุนลัทธิเอเรียสก็ท้าทายการตั้งบิชอปคนใหม่ แอมโบรสจึงเดินทางไปที่มหาวิหารมิลานซึ่งเป็นที่เลือกตั้งเพื่อจะไปควบคุมสถานะการณ์เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น ขณะที่แอมโบรสกำลังปราศัยอยู่ก็ถูกขัดจังหวะโดยเสียงตะโกนจากที่ประชุมกันต่อ ๆ กันไปให้ “แอมโบรสเป็นบิชอป” แอมโบรสจึงถูกเลือกให้เป็นบิชอปโดยที่ประชุม
แอมโบรสเองสนับสนุนความเชื่อเรื่องตรีเอกภาพ แต่ก็ยอมรับลัทธิเอเรียสเพราะมีความเข้าใจในทฤษฏีทางเทววิทยาของลัทธิเอเรียส ตอนแรกแอมโบรสก็ไม่ยอมรับตำแหน่งเป็นบิชอปเพราะไม่รู้สึกว่าพร้อม แอมโบรสเองไม่เคยรับบัพติศมาและไม่มีการศึกษาทางเทววิทยามาก่อน พอได้รับแต่งตั้งแอมโบรสก็หนีไปซ่อนที่บ้านเพื่อนร่วมงาน แต่เมื่อเพื่อนได้รับจดหมายจากจักรพรรดิโรมันชื่นชมในการแต่งตั้งแอมโบรสเป็นบิชอปก็จำต้องให้แอมโบรสมอบตัว ไม่ถึงอาทิตย์หลังจากนั้นแอมโบรสก็รับบัพติศมา รับศีลอนุกรม และรับตำแหน่งเป็นบิชอปแห่งมิลาน
พอเป็นบิชอป แอมโบรสก็บำเพ็ญตัวอย่างนักบวช โดยยกเงินให้คนยากจน, ยกที่ดินทั้งหมดให้คนอื่น เหลือบางส่วนให้นักบุญมาร์เซลลินา (St Marcellina) น้องสาว และมอบการดูแลครอบครัวให้น้องชาย บิชอปแอมโบรสมีงานเขียนมากมายรวมทั้งศาสตรนิพนธ์ชื่อ “ความดีของความตาย” (The Goodness Of Death)