แอนิเมชัน (อังกฤษ: animation) หมายถึง การสร้างภาพเคลื่อนไหวโดยฉายภาพนิ่งหลาย ๆ ภาพต่อเนื่องกันด้วยความเร็วสูง
การใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกส์ในการคำนวณสร้างภาพจะเรียกการสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยคอมพิวเตอร์หรือคอมพิวเตอร์แอนิเมชัน หากใช้เทคนิคการถ่ายภาพหรือวาดรูป หรือหรือรูปถ่ายแต่ละขณะของหุ่นจำลองที่ค่อย ๆ ขยับ จะเรียกว่า ภาพเคลื่อนไหวแบบการเคลื่อนที่หยุดหรือสตอปโมชัน (stop motion) โดยหลักการแล้ว ไม่ว่าจะสร้างภาพ หรือเฟรมด้วยวิธีใดก็ตาม เมื่อนำภาพดังกล่าวมาฉายต่อกันด้วยความเร็ว ตั้งแต่ 16 เฟรมต่อวินาทีขึ้นไป เราจะเห็นเหมือนว่า ภาพดังกล่าวเคลื่อนไหวได้ต่อเนื่องกัน ทั้งนี้เนื่องจากการเห็นภาพติดตา
ในทางคอมพิวเตอร์ การจัดเก็บภาพแบบแอนิเมชันที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอินเทอร์เน็ต มีหลายรูปแบบไฟล์เช่น GIF APNG MNG SVG แฟลช และไฟล์สำหรับเก็บวีดิทัศน์ประเภทอื่น ๆ
ตัวอย่างแอนิเมชันนี้เคลื่อนด้วยความเร็ว 10 เฟรมต่อวินาทีแอนิเมชันนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 2 เฟรมต่อวินาที
อุปกรณ์ในการนำมาสร้างแอนิเมชันนั้นถ้าไม่นับคอมพิวเตอร์ก็จัดว่าค่อนข้างมีราคาสูงและหายากเลยทีเดียว ซึ่งแตกต่างกับความสามารถซึ่งนับว่าจำเป็นสำหรับการทำงานเป็นอย่างมาก ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีแท็บเล็ตที่ผู้ทำแอนิเมชันในไทยทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่สำหรับต้นฉบับหรือในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ผู้ทำแอนิเมชันเหล่านั้นยังคงพูดกันว่า อุปกรณ์หลัก ๆ ทำงานก็ยังคงเป็นกระดาษ ดินสอ และโต๊ะไฟ เพียงแต่มีแท็บเล็ตหรือเมาส์ปากกาเป็นอุปกรณ์ที่เพิ่มเข้ามาช่วยทำงานขั้นตอนสุดท้ายก่อนการตัดต่อได้เร็วขึ้น
แอนิเมชันนั้นมีต้นกำเนิดมานานแล้ว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้มีการค้นพบภาพเขียนบนผนังถ้ำเป็นรูปสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งในภาพวาดมีการวาดการเคลื่อนไหวของขาทั้งสี่ข้าง ในยุคต่อมา 1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในช่วงยุคของฟาโรห์รามาเสสที่สองได้มีการก่อสร้างวิหารเพื่อบูชาเทพีไอซิสโดยมีการวาดรูปการเคลื่อนไหวของเทพีไอซิสต่อเนื่องกันถึง 110 รูป จนกระทั่งถึงยุคกรีกโรมัน เมื่อดูจากภาพที่ปรากฏบนคนโทแล้ว จะเห็นว่าเป็นภาพต่อเนื่องของการวิ่ง