แม่น้ำเพชรบุรี ต้นน้ำจากเทือกเขาสูงชันทางด้านตะวันตกของจังหวัดเพชรบุรี ไหลผ่านอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง ลงสู่อ่าวไทย ที่อำเภอบ้านแหลม มีความยาว 210 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญของจังหวัด ซึ่งเมื่อมาถึงอำเภอบ้านแหลม แม่น้ำจะแยกออกเป็นสองสาย สายหนึ่งออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบ้านแหลม อีกสายไหลไปทางทิศเหนืออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบางตะบูน เรียกว่า แม่น้ำบางตะบูน เพชรบุรีตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของจังหวัดเพชรบุรีจะอยู่ตามบริเวณสองฟากฝั่งของแม่น้ำนี้ แม่น้ำเพชรบุรีส่งตะกอนมาตกสะสมเกิดเป็นที่งอกและดินดอนชายฝั่ง มีปริมาณตะกอน 46 ตัน/ตารางกิโลเมตร
ลุ่มน้ำเพชรบุรีมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 5,603 ตร.กม. หรือ 3.9 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของ จ.เพชรบุรี มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี 1,329ล้าน ลบ.ม ลุ่มน้ำเพชรบุรีมีแม่น้ำเพชรบุรีเป็นแม่น้ำสายหลักและ มีแม่น้ำสาขาที่สำคัญ 4 สาขาคือ ห้วยแม่ประจันต์ ห้วยผาก ห้วยแม่ประโดน แม่น้ำบางกลอย และแม่น้ำบางตะบูน แม่น้ำเพชรบุรีมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงด้าน ตะวันออกอันเป็นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าไหลผ่าน แนวแกนกลางของลุ่มน้ำในแนวตะวันตก-ออก และ ไหลลงสู่อ่าวไทย ลุ่มน้ำเพชรบุรีแบ่งออกเป็น 4 ลุ่มน้ำย่อยประกอบด้วย ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนบน (2,210 ตร.กม.) ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนกลาง (1,325 ตร.กม.) ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง (1,325 ตร.กม.) ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลเพชรบุรี (1,040 ตร.กม.) ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และกลาง 17 โครงการ โครงการขนาดเล็ก 51 โครงการมีพื้นที่ชลประทาน 562,688ไร่ มีความจุเก็บกักน้ำ 710 ล้าน ลบ.ม. มีการพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่ออุปโภค-บริโภค เป็นหลัก มีการขุดเจาะบ่อบาดาลรวม 760 บ่อ โดยกรมทรัพยากรธรณี กรมอนามัย กรมโยธาธิการ และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท
ตามโบราณราชประเพณีจะใช้จากแม่น้ำทั้ง 5 ในประเทศสยามคือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี ในการพระราชพิธีต่างๆ เป็นต้นว่าพิธีการถึอน้ำพิพัฒสัตยา ก็นำน้ำจากที่นี่เช่นกัน
เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2411 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามที่ปรากฏในตราสารว่า “ ด้วยกำหนดพระฤกษ์การพระราชพิธีราชาภิเษกในวันพุธ เดือน 12 ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก ”ต้อง การน้ำเข้าพระราชพิธี จึงให้พระยาเพชรบุรีตักน้ำจากบริเวณท่าไชยจำนวนหนึ่งหม้อโดยเอาใบบอนปิดปากหม้อแล้วเอาผ้า ขาวหุ้มปากหม้อ ด้ายผูกติดมันตราประจำครั่งแต่งให้กรมการผู้ใหญ่คุมลงไปส่งยังพระนคร (กรุงเทพมหานคร)
สำหรับสมัยรัชการที่ 6 พระราชพิธีราชาภิเษกสมโภชพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 6 ได้จัดพระราชพิธีตามมณฑลต่างๆ สำหรับมณฑลราชบุรี ได้จัดที่วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี โดยได้ใช้น้ำเพชรบุรี ในการพระราชพิธีนี้
ในรัชการปัจจุบัน พระราชพิธีราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชและพระราชพิธีราชภิเษกสมรสก็ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี โดยประกอบพิธีน้ำอภิเษก ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำที่เป็นสิริมงคล ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์วัดท่าไชย ตำบลสมอพลอ อำเภอบ้านลาด
เรื่องน้ำเพชรเป็น น้ำเสวยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล 6 ได้ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2465 ความตอนหนึ่งว่า"...เรื่องแม่น้ำเพชรบุรีนี้ เคยทราบมาแต่ว่าถือกันว่าเป็นน้ำดีเคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 รับสั่งว่านิยมกันว่ามันมีรสแปลกกว่าลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งพระองค์เองเคยเสวยน้ำเพชรบุรีเสียจนเคยแล้วเสวยน้ำอื่นๆไม่ อร่อยเลยต้องส่งน้ำเสวยจากเมืองเพชรบุรีและน้ำนั้นเป็นน้ำเสวยจริงๆตลอดมา กาลปัจจุบัน" ซึ่งน่าจะเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองเพชรที่ เล่าขานเสมอมาว่าน้ำเพชรฯ นั้นดีจืดอร่อย แม้แต่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังโปรดเสวยน้ำเพชรที่ท่าไชยนับเป็นเกียรติคุณที่ชาว เพชรภาคภูมิใจ
ความสำคัญของน้ำเพชรสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2465 โดย ได้เปลี่ยนเป็นน้ำประปาแทน ทั้งนี้เพราะทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า แม่น้ำเพชรบุรีตลอดสองฝั่งมีบ้านเรือนของราษฎรตั้งอยู่อย่างหนาแน่น น้ำในลำน้ำมีสิ่งปฏิกูลสกปรกไม่เหมาะสมที่จะเป็นน้ำเสวยอีกต่อไป จึงได้กราบบังคมทูลในรายงานของพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสให้งดการตักน้ำจากแม่น้ำเพชร
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงหลั่งน้ำจากคนโท คืนชีวิตแก่แม่น้ำเพชรฯ ณ ท่าน้ำวังบ้านปืน (พระรามราชนิเวศน์) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2541 โดยประชาชนชาวเมืองเพชรฯ ได้ร่วมกันถวายสัตย์ปฏิญาณต่อเบื้องพระพักตร์ ว่า จะร่วมกันดูแลรักษาแม่น้ำเพชรฯ ไม่สร้างความสกปรกให้กับแม่น้ำ และจะช่วยกันฟื้นฟูแม่น้ำเพชรฯ ให้คืนสู่ความใสสะอาดเหมือนในอดีต ซึ่งหลังจากนั้นมาผู้ว่าราชการ ข้าราชการ และชาวเมืองเพชรบุรีก็จะไปทำพิธี ณ ท่าน้ำวังบ้านปืน (พระรามราชนิเวศน์) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี