แม่ชีเทเรซา หรือ คุณแม่เทเรซา (26 สิงหาคม พ.ศ. 2453 – 5 กันยายน พ.ศ. 2540) เป็นนักพรตหญิงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ช่วยเหลือและผู้ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ทั้งในประเทศที่ยากจนและร่ำรวย จนเมื่อปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) ท่านจึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และหลังจากมรณกรรมก็ได้รับการประกาศเป็นบุญราศีโดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 มีนามว่า "บุญราศีเทเรซาแห่งกัลกัตตา"
คุณแม่เทเรซา เกิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910) ที่เมืองสโกเปีย จักรวรรดิออตโตมัน (ปัจจุบันคือเมืองหลวงของประเทศมาซิโดเนีย) เป็นบุตรคนสุดท้องของบิดานิโกลา (Nikola) กับมารดา ดราเน (Drane Bojaxhiu) ครอบครัวชนชั้นกลางเชื้อสายอัลเบเนีย เธอมีชื่อเดิมว่า "แอ็กเนส กอนจา โบยาจู" (Agnes Gonxha Bojaxhiu) มีบิดาเป็นชาวคริสต์ที่เคร่งครัดในหลักศาสนา ซึ่งทำให้ตั้งแต่วัยเด็กแอ็กเนสชอบไปโบสถ์ฟังบาทหลวงเทศน์มาโดยตลอด
ขณะแอ็กเนสมีอายุ 9 ปี ในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) บิดาของเธอได้เสียชีวิตลง แต่ความอบอุ่นภายในครอบครัวที่แอ็กเนสได้รับก็ไม่ได้ลดลง ด้วยเพราะมารดายังให้ความรักความอบอุ่นและการเลี้ยงดูที่ดีมาตลอด แอ็กเนสเติบโตขึ้นเป็นเด็กร่าเริง และมีสุขภาพดี และไม่นานต่อมาเธอก็ได้รู้จักกับประเทศอินเดีย แต่ก็ได้รู้ว่าอินเดียในขณะนั้นมีระบบสาธารณูปโภคที่ยังล้าหลังอยู่มาก มีคนยากไร้มากมายในประเทศที่ต้องทนทรมาน และเริ่มสงสัยว่า จะมีวิธีใดบ้างไหมที่เธอจะได้ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากในอินเดีย ซึ่งในช่วงเวลานี้นี่เองที่แอ็กเนสเริ่มมีความคิดที่จะบวชเป็นแม่ชี
ในปี พ.ศ. 2471 (ค.ศ. 1928) แอ็กเนสตัดสินใจขออนุญาตครอบครัวเพื่อขอบวชเป็นแม่ชี ตอนแรกครอบครัวคัดค้าน แต่ต่อมาไม่กี่วันทางครอบครัวก็ยอมให้เธอบวช แอ็กเนสเดินทางไปบวชที่อารามโลเรโต (Loreto Abbey) ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งการลาจากจากครอบครัวของเธอในครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอจะได้เห็นหน้าของแม่และน้องสาว แอ็กเนสตั้งใจศึกษาเล่าเรียนวิชาที่นักพรตหญิงพึงได้เรียนเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นจึงเดินทางไปยังประเทศอินเดียในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน และได้เริ่มออกเผยแผ่คำสอนในเมืองดาร์จีลิง รัฐสิกขิม ทางเหนือของประเทศอินเดีย โดยเธอได้พักอยู่ที่อารามโลเรโตที่ตั้งอยู่ที่เมืองดาร์จีลิง
พ.ศ. 2474 (ค.ศ. 1931) แอ็กเนสตัดสินใจเข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นนักพรตหญิงคณะภคินีพระนางมารีย์พรหมจารีที่อารามโลเรโต ในเมืองดาร์ลีจิงเป็นครั้งแรก และตอนนี้เองที่แอ็กเนสได้รับศาสนนาม (ชื่อทางศาสนา) ว่าภคินีเทเรซา ซึ่งมาจากนามของนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู และได้ปฏิญาณตนตลอดชีพในปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937)
หลังจากปฏิญาณตนตลอดชีพแล้ว แม่ชีเทเรซาได้เข้าเป็นครูวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ในโรงเรียนสตรีเซนต์มาเรีย ในเมืองเอนทาลี นครกัลกัตตา ไม่นาน ก็ได้เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนสตรีเซนต์มาเรีย พาตนเองและเหล่านักเรียนผ่านเหตุการณ์เลวร้าย ที่เกิดจากผลกระทบของเหตุการณ์รุนแรงและสงครามที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในอินเดียมาได้ด้วยดี
เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ขณะที่แม่ชีเทเรซากำลังนั่งรถไฟกลับไปยังอารามที่ทาร์จีลิง ระหว่างทางเธอก็ได้ยินพระวจนะของพระเจ้า ซึ่งเนื้อหาที่พระเจ้าพูดกับแม่ชีเทเรซาในขณะนั้น ทำให้แม่ชีเทเรซาตัดสินใจขออนุญาตไปทำงานในสลัม เพื่อช่วยเหลือคนยากจน แต่การทำแบบนั้นถ้าหากทำโดยไม่ได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษจะถือว่ามีความผิดทางศาสนา แม่ชีเทเรซาจึงขอให้ท่านมุขนายก ขอร้องไปยังพระสันตะปาปา ให้อนุญาตแม่ชีเทเรซาเป็นกรณีพิเศษ
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) แม่ชีเทเรซาได้รับอนุญาตเป็นพิเศษให้ไปทำงานในสลัมได้ แต่ก่อนนั้นต้องให้มีความรู้เพียงพอเสียก่อน ซึ่งเธอก็ได้เดินทางไปศึกษาวิชาพยายาลที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองปัตนา รัฐพิหาร เมื่อศึกษาจบแม่ชีเทเรซาก็ได้ก่อตั้งโรงเรียนกลางแจ้งในสลัม มีเด็กๆ ให้ความสนใจมาเรียนกันมามากมาย หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีศิษย์เก่าจากโรงเรียนสตรีเซนต์มาเรียมาขอบวชเป็นผู้ช่วยแม่ชีเทเรซา โดยคนแรกที่มาขอบวช คือ "สวาชินี ดาส" เมื่อบวชแล้วได้รับสมญาทางศาสนาว่า "ภคินีอักเนส" และไม่นานก็มีศิษย์เก่ามาบวชเพิ่มอีกถึง 10 คน
ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) ท่านอาร์ชบิชอปได้ตั้งกลุ่มของแม่ชีเทเรซาให้เป็นคณะนักบวชคาทอลิก มีชื่อว่า "คณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม" (Missionaries of Charity) โดยแม่ชีเทเรซาได้เป็นมหาธิการิณี ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมาผู้คนส่วนใหญ่มักเรียกแม่ชีเทเรซาว่า คุณแม่เทเรซา (Mother Teresa)
วันหนึ่งแม่ชีเทเรซาได้คิดที่จะสร้างบ้านหลังหนึ่ง เพื่อให้ผู้หิวโหยที่นอนรอความตายอยู่ข้างถนนนั้นได้มานอนตายอย่างสงบ และด้วยเหตุนี้ท่านจึงขอยืมเทวสถานพระแม่กาลีของศาสนาฮินดูใช้เป็น "บ้านของผู้รอความตาย" (Home for the Dying) โดยเริ่มเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) แต่ชาวฮินดูพอสมควรที่ไม่เห็นด้วยกับการที่คุณแม่เทเรซาซึ่งเป็นชาวคริสต์ จะมาใช้เทวสถานของชาวฮินดูเป็นสถานที่ แต่เมื่อผู้บัญชาการตำรวจเข้าไปคุยกับคุณแม่เทเรซา ก็ได้ผลสรุปว่าคุณแม่เทเรซายังใช้สถานที่เทวสถานกาลีอยู่ได้ต่อ
เมื่อปี พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) มีผู้ใจบุญบริจาคบ้านให้แก่คณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรมเพื่อให้ทางคณะฯ ได้ใช้งานบ้านให้เป็นประโยชน์ต่อคุณแม่เทเรซาและส่วนรวม คุณแม่เทเรซาได้ตัดสินใจใช้บ้านหลังนี้ในการรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ตั้งชื่อว่า "บ้านเด็กดวงหทัยนิรมล" (Children's Home of the Immaculate Heart)
พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) คุณแม่เทเรซาเริ่มใช้รถพยาบาลเคลื่อนที่ออกรักษาผู้ป่วยที่เป็นชาวไร่ชาวนา โดยโรคที่ชาวไร่ชาวนาป่วยมากที่สุดคือ โรคเรื้อน แต่ในช่วงนั้นสังคมอินเดียยังมองเห็นผู้ป่วยโรคเรื้อนเป็นสิ่งน่ารังเกียจ ผู้ป่วยโรคเรื้อนจึงคิดว่าคนเองไม่มีค่า คุณแม่เทเรซาจึงเริ่มคิดถึงปัญหานี้
พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) ที่ทำการของแม่ชีเทเรซาที่อยู่นอกประเทศอินเดียเริ่มเปิดทำการ มีทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย
ไม่กี่ปีต่อมา ผู้ว่าการรัฐเบงกอลตะวันตกได้ให้คุณแม่เทเรซายืมใช้แปลงที่ดินที่เมืองอาซันซอลขนาด 140,000 ตารางเมตร (ประมาณ 87.5 ไร่) เพื่อให้ใช้เป็นสถานสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อน คุณแม่เทเรซาได้แบ่งสรรที่ดินไว้อย่างลงตัว แต่ไม่มีเงินจะสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ได้ออกแบบไว้ คุณแม่เทเรซานั่งครุ่นคิดอยู่สักพักก็นึกขึ้นได้ว่าพระสันตะปาปาเคยมอบรถยนต์เปิดประทุนสีขาวบริสุทธิ์ชั้นดี ถ้าขายเฉยๆ จะได้ราคา 100,000 รูปี (ประมาณ 400,000 บาท) แต่นั่นยังไม่เพียงพอ คุณแม่เทเรซาตัดสินใจทำสลาก โดยเอารถคันนั้นเป็นรางวัล ทำสลาก 5,000 ใบ ขายสลากใบละ 100 รูปี (ประมาณ 400 บาท) ใครถูกรางวัลจะได้รับรถพระสันตะปาปาไป การขายสลากแบบนี้ คณะมิชชันนารีของคุณแม่เทเรซา ได้รับเงินถึง 500,000 รูปี (ประมาณ 2,000,000 บาท) ในที่สุดคณะมิชชันนารีของคุณแม่เทเรซาก็ได้สร้างที่ดินขนาดกว่า 80 ไร่ ให้เป็นหมู่บ้านในฝันของผู้ป่วยโรคเรื้อนได้สำเร็จใน พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) ตั้งชื่อว่า "หมู่บ้านสันติสุข" มีทั้งโรงพยาบาลและที่อยู่ทั้งสำหรับเหล่าแม่ชีและเหล่าผู้ป่วย มีผู้ป่วยโรคเรื้อนขอเข้ารับการรักษาที่หมู่บ้านสันติสุขนี้มากกว่า 15,000 คน
ไม่นานหลังจากนั้น แม่ชีเทเรซา ก็เปิดที่ทำการอีกแห่งหนึ่ง คราวนี้เป็นการนำกาบมะพร้าวมีรีไซเคิล โดยนำใยมะพร้าวด้านในมาผลิตเป็นสินค้า ตั้งแต่แปรงขัดหม้อ จนถึงพรมนุ่มๆ สินค้าบางชิ้นมีคุณภาพดี ก็สามารถนำไปขายในเมืองได้
ไม่นานต่อมา คุณแม่เทเรซาเมื่อรู้ว่า สายการบินต่างๆ จะจัดการอาหารที่ผู้โดยสารกินเหลือโดยทิ้งทั้งหมด จึงไปขอให้บริษัทสายการบินแอร์อินเดีย มอบอาหารที่ผู้โดยสารกินเหลือมาเป็นอาหารแก่เด็กๆ ใน บ้านเด็กใจบุญ
ในปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) คุณแม่เทเรซาได้รับเกียรติให้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในฐานะ "สำหรับการอาสาต่อสู้เพื่อลดความยากจนทุกข์ยากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ความสงบสุขและสันติ" (for work undertaken in the struggle to overcome poverty and distress, which also constitute a threat to peace.) นอกจากนี้ คุณแม่เทเรซาปฏิเสธงานเลี้ยงฉลองที่ท่านได้รับรางวัลโนเบล และขอใหผู้ที่ทำเค้กฉลองมาแล้ว นำเค้กไปมอบให้คนยากคนจน
คุณแม่เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) ซึ่งก็ได้ตระเวนปราศรัยไปตามที่ต่างๆ ในประเทศ เนื้อหาส่วนใหญ่คือ ความเหลื่อมล้ำในสังคม การรังเกียจคนจรจัด การกลั่นแกล้งประทุษร้ายกันในญี่ปุ่น
พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) อิสราเอลมีสงครามกับองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ จนเกิดการสู้รบรุนแรงในแถบเอเชียตะวันตก คุณแม่เทเรซาก็เดินทางเข้าไปเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่ติดค้างในสถานที่ต่างๆ มาได้ 37 คน
พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) ขณะคุณแม่เทเรซาไปเยี่ยมสถานสงเคราะห์แห่งหนึ่งในอิตาลี ท่านก็เริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจ และมีอาการกำเริบครั้งแรก โดยมีหัวใจเต้นอ่อนเกินไป แต่ปลอดภัย หลังจากนั้น คุณแม่เทเรซาก็ทำงานอยู่เหมือนปกติ แต่อาการโรคหัวใจก็มาเยือนอยู่เรื่อยๆ จนในที่สุด คุณแม่เทเรซา ได้ยื่นจดหมายต่อพระสันตะปาปา ว่า ขอลาออกจากตำแหน่งมหาธิการิณีคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม พร้อมกับอยากให้มีการเลือกตั้งขึ้นเพื่อเลือกผู้ที่จะมาสืบทอดตำแหน่งจากตน ตอนแรกเหล่าภคินีต่างคัดค้าน แต่เมื่อรู้ว่าคุณแม่เทเรซาจะให้จัดการเลือกตั้งผู้สืบทอดตำแหน่ง จึงเทคะแนนเสียงให้คุณแม่เทเรซา แล้วผลการเลือกตั้งก็คือคุณแม่เทเรซาก็ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นมหาธิการิณีคณะฯ อีกครั้ง
การทำงานของท่านก็มีอาการโรคหัวใจกำเริบมารบกวนท่านบ่อยขึ้น อาการป่วยในระดับหนักมากเกิดขึ้นกับแม่ชีเทเรซาอีกใน พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) และอีกครั้งใน พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) หลังจากนั้น คุณแม่เทเรซา ก็ป่วยหนักถึงขนาดล้มหมอนนอนเสื่อ ลุกนั่งไม่ได้
เมื่อคุณแม่เห็นว่าตนคงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) จึงได้ลาออกจากตำแหน่งมหาธิการิณีคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรมอีกครั้ง ครั้งนี้เหล่าแม่ชีเห็นว่า คุณแม่เทเรซาควรได้พักผ่อน เพื่อต่อสู้กับโรคร้าย จึงไม่คัดค้านในการลาออกของคุณแม่เทเรซา และไม่เทคะแนนเสียงให้คุณแม่เทเรซา เพื่อให้คุณแม่ได้พักรักษาตัวไม่ต้องมีภารกิจ ดังนั้นภคินี นิรมลาจึงได้รับเลือกเป็นมหาธิการิณีคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรมแทนคุณแม่เทเรซา
5 เดือนครึ่งต่อมา ในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) คุณแม่เทเรซาได้ถึงแก่กรรมลงที่บ้านของคุณแม่ในอินเดีย ขณะอายุ 87 ปี กับอีก 10 วัน โดยคำพูดคำสุดท้ายที่คุณแม่ได้พูดออกมาคือ "หายใจไม่ออกแล้ว" ทางการอินเดียได้จัดพิธีศพของคุณแม่เทเรซาอย่างยิ่งใหญ่ เป็นงานศพระดับชาติ (งานศพของบุคคลที่ทุ่มเทอุทิศตนเพื่อประเทศนั้นๆ) ของทางการอินเดีย
ในช่วงเวลาที่คุณแม่เสียชีวิต คณะมิชชันนารีแห่งความรักของพระเจ้ามีแม่ชีมากว่า 4,000 คนและอาสาสมัครกว่าอีก 1 แสนคน ซึ่งอัตรานี้ครอบคลุมไปถึงกว่า 610 แห่ง 123 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันร่างของแม่ชีนอนหลับอยู่ที่บ้านคุณแม่ในอินเดีย
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศให้คุณแม่เป็น บุญราศี