นางชี หรือ แม่ชี เป็นนักพรตหญิงในศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาท นุ่งขาวห่มขาว โกนศีรษะ ถือศีลแปด อาศัยในวัดเช่นเดียวกับภิกษุ แต่มิได้อุปสมบท บางแห่งจึงถือว่าแม่ชีไม่ใช่นักบวช แต่เป็นอุบาสิกาในพุทธบริษัทสี่เท่านั้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการก่อตั้งสำนักชีโดยเฉพาะเพื่อจะได้ไม่ปะปนกับพระภิกษุซึ่งเป็นเพศชาย บางแห่งมีบทบาทจนเป็นที่ยอมรับในสังคม และบางสำนักนางชีสามารถออกบิณฑบาตรได้เช่นเดียวกับพระสงฆ์
แต่เดิมคำว่า "ชี" เป็นชื่อนักบวชประเภทหนึ่งที่นุ่งขาวห่มขาว เรียกว่า ชีปะขาว, ชีผ้าขาว หรือฤๅษีชีไพร แต่ปัจจุบันใช้เรียกสตรีที่ถือบวชโกนศีรษะและคิ้ว ที่นุ่งขาวห่มขาว
มีความพยายามที่จะแปลคำว่า "ชี" ให้มีความหมายว่า "ผู้มีชัยชนะ" โดยว่ามาจากคำว่า "ชิ" หรือ "ชินะ" อันมีความหมายว่า "ผู้ชนะ"
แม่ชีเกิดขึ้นในไทยเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ปรากฏหลักฐานเก่าสุดคือจดหมายเหตุของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loub?re) ราชทูตของฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวไว้ว่า "ถึงแม้สยามจะมีนางชีคือสตรีที่ปฏิบัติตามพระวินัยสิกขาบท (ศีล) เป็นส่วนใหญ่ บางพวกไม่มีสำนักของตนต้องอาศัยในวัดของพระภิกษุนั้น ชาวสยามเชื่อว่าอายุขัยวัยล่วงชราเหล่านั้น (ด้วยปรากฏว่าไม่มีนางชีสาว ๆ เลย) นั้นแลเป็นเครื่องประกันเพียงพอของการสำรวมอินทรีย์อันบริสุทธิ์"
และปรากฏอีกครั้งในจดหมายเหตุของเองเงิลแบร์ท เคมพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) แพทย์ชาวเยอรมันที่อยู่ช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ได้อธิบายไว้ว่า "สตรีชาวสยามรักเสรีภาพมากเกินไปกว่าที่จะยอมมอบตนให้อยู่ในสำนักนางชีของเรา นางจะไปบำเพ็ญเพียรก็ต่อเมื่อล่วงเข้าวัยชรา ที่เบื่อโลกียวิสัยแล้วเท่านั้น และน้อยรายที่จะลาออกจากสำนักมา ประการหนึ่งโดยที่นางต้องติดตามพระสงฆ์องค์เจ้าเสมอ จึงได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ในสตรีที่จะบวชเป็นชีก็ต่อเมื่ออายุล่วง 50 ปีไปแล้วเท่านั้น เพื่อป้องกันข้อครหา นางต้องโกนศีรษะ โกนคิ้ว เหมือนอย่างภิกษุ และนุ่งขาวห่มขาว สีขาวนั้นเป็นสีสุภาพของชนชาวสยาม ใช้ในโอกาสไว้ทุกข์และคราวมีพิธีงานสำคัญ พวกนางมิได้อยู่ในคณะอาราม นางจากครอบครัวมาอยู่รวมกันหมู่ละ 3-4 คนในที่ใกล้วัด ได้ถือกำหนดวินัยข้อปฏิบัติเอาตามภิกษุที่สวดมนต์ทำวัตรและเจริญภาวนานาน ๆ ในโบสถ์ หน้าที่ส่วนใหญ่ของนางคือปรนนิบัติพระสงฆ์ การจัดจังหันถวาย และช่วยเหลือในกิจการอื่น ๆ ด้วยการอวยทานอยู่เนืองนิจ"