ประเทศแมนจู หรือเรียกอย่างทับศัพท์ว่า แมนจูกัว (จีน: ???; พินอิน: M?nzh?ugu?; เวด-ไจลส์: Manchukuo; "ประเทศแมนจู") เป็นรัฐราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่ในดินแดนแมนจูเรียและมองโกลเลียในด้านทิศตะวันออกปัจจุบัน ดินแดนแห่งนี้นับเป็นรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของชนชาติแมนจูผู้สถาปนาราชวงศ์ชิงปกครองประเทศจีนในอดีต กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองดินแดนดังกล่าวจากสาธารณรัฐจีนในปี ค.ศ. 1931 จากกรณีมุกเดน และในปีถัดมา (ค.ศ. 1932) ก็ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้นปกครอง โดยมีอ้ายซินเจว๋หลัว ผู่อี๋ อดีตจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิง เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและจักรพรรดิแต่เพียงในนาม รัฐบาลแมนจูถูกล้มล้างในปี ค.ศ. 1945 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่น ดินแดนซึ่งประเทศแมนจูกัวได้ประกาศอ้างสิทธิอย่างเป็นทางการนั้น ในชั้นแรกถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียต หลังจากนั้นจึงได้มีการส่งมอบให้อยู่ภายใต้การปกครองของจีนต่อไป
กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในแมนจูกัวคือชาวฮั่น ไม่ใช่ชาวแมนจูซึ่งเป็นที่มาของชื่อประเทศและจัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยในแมนจูกัว นอกจากนี้ยังมีชาวเกาหลี ญี่ปุ่น มองโกล รัสเซีย และกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดเล็กอื่นๆ ภูมิภาคมองโกลในทางตะวันตกของแมนจูกัวอยู่ภายใต้ระบบการปกครองที่แตกต่างกันเล็กน้อยจากส่วนกลาง โดยจัดการปกครองตามธรรมเนียมชาวมองโกลแทน ส่วนทางด้านทิศใต้ของคาบสมุทรเหลียวตงถูกปกครองโดยญี่ปุ่น โดยจัดพื้นที่ให้เป็นเขตเช่าของกองทัพคันโต
หลังจากที่ชาวแมนจูพิชิตประเทศจีนสำเร็จ ชาวแมนจูจึงโค่นล้มอำนาจการปกครองของราชวงศ์หมิงและสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นแทนที่ แต่อย่างไรก็ตามจักรพรรดิแมนจูกลับไม่รวมแผ่นดินการปกครองเกิดของพวกตนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนอย่างเต็มที่นัก ระเบียบการปกครองโดยแบ่งแยกชนชาติดังกล่าวได้ดำเนินต่อมาจนกระทั่งจักรวรรดิของราชวงศ์ชิงเริ่มตกต่ำและแตกแยกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19
เมื่ออำนาจของราชสำนักปักกิ่งอ่อนแอลง หัวเมืองขึ้นรอบนอกส่วนมากจึงแยกตนเองเป็นอิสระ (เช่น คัชการ์) หรือตกอยู่ในความความคุมของชาติมหาอำนาจลัทธิจักรวรรดินิยม ตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น จักรวรรดิรัสเซียนับเป็นชาติที่มีผลประโยชน์มากที่สุดที่ในดินแดนภาคเหนือของจักรวรรดิต้าชิง ในปี ค.ศ. 1858 รัสเซียได้รับสิทธิเข้าควบคุมดินแดนขนาดใหญ่ของจีนซึ่งเรียกว่าแมนจูเรียนอก (Outer Manchuria) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำสนธิสัญญาปักกิ่งฉบับเพิ่มเติม ซึ่งทำให้สงครามฝิ่นครั้งที่สองยุติลง แม้กระนั้นรัสเซียก็ยังไม่พอใจต่อสิ่งที่ตนได้รับ และเมื่อประกอบกับสถานการณ์ของราชวงศ์ชิงยังคงเสื่อมถอยอยู่ รัสเซียจึงพยายามต่อไปเพื่อการควบคุมดินแดนแมนจูเรียที่เหลืออยู่ทั้งหมด ดินแดนแมนจูเรียใน (Inner Manchuria) ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียอย่างมากในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1890 จากการสร้างทางรถไฟสายจีนตะวันออกระหว่างเมืองฮาร์บินของแมนจูเรียและวลาดิวอสตอกของรัสเซีย
ผลโดยตรงจากสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ระหว่างปี ค.ศ. 1904-1905 ได้ทำให้อิทธิพลของญี่ปุ่นได้เข้ามาสู่แมนจูเรียในแทนที่อิทธิพลของรัสเซีย โดยในปี ค.ศ. 1906 ประเทศญี่ปุ่นได้สร้างทางรถไฟแมนจูเรียสายใต้จากเมืองท่าพอร์ตอาเธอร์ (ญี่ปุ่นเรียกเมืองนี้ว่า "เรียวจุน") ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง แมนจูเรียได้กลายเป็นสมรภูมิระหว่างรัสเซีย, ญี่ปุ่นและจีน ทั้งทางด้านการเมืองและการทหาร ญี่ปุ่นได้ขยายอิทธิพลสู่แมนจูเรียนอก อันเป็นผลสืบเนื่องมาสถานการณ์อันสับสนจากการปฏิวัติในประเทศรัสเซียเมื่อ ค.ศ. 1918 ความสำเร็จทางการทหารของสหภาพโซเวียตและความกดดันทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาได้บีบบังคับให้ญี่ปุ่นต้องถอยร่นจากพื้นที่ดังกล่าว และแมนจูเรียนอกก็ได้กลับมาอยู่ในความปกครองรัสเซียอีกครั้งในนามสหภาพโซเวียต??ในปี ค.ศ. 1925
ด้านประเทศจีนซึ่งอยู่ในยุคแห่งความแตกแยกจากการตั้งตัวเป็นใหญ่ของกลุ่มขุนศึกต่างๆ ขุนศึกจาง โซ่วหลิน (Zhang Zuolin) ได้สถาปนาอำนาจการปกครองของตนเองในเขตแมนจูเรียในขึ้นภายใต้การสนับสนุนของญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อกองทัพคันโตตระหนักว่าจาง โซ่วหลิน มีอิสระมากเกินไป จึงได้ทำการลอบสังหารเขาเสียเมื่อ ค.ศ. 1928
หลังจากการรุกรานแมนจูเรียของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1931 กองทัพญี่ปุ่นได้มุ่งหน้าสู่การแบ่งแยกภูมิภาคแมนจูเรียออกจากการควบคุมจีนและสร้างรัฐหุ่นเชิดภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นขึ้น และเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความชอบธรรมขึ้น อ้ายซินเจว๋หลัว ผู่อี๋ จักรพรรดิของจีนองค์สุดท้ายจึงได้รับเชิญจากญี่ปุ่นพร้อมกับอ้ายซินเจว๋หลัว ผู่เจี๋ยพระอนุชาและบรรดาผู้ติดตาม เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐแมนจูเรียที่จัดตั้งขึ้นใหม่ หนึ่งในผู้ติดตามผู้ซื่อสัตย์ของเขาคือ เจิ้ง เซี่ยวซือ นักปฏิรูปและผู้จงรักภักดีต่อราชวงศ์ชิง
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1932 ได้มีการประกาศสถาปนา "รัฐแมนจู" หรือ "แมนจูกัว" (จีน: ???; พินอิน: M?nzh?ugu?) ญี่ปุ่นได้ให้การรับรองแมนจูกัวผ่านการลงนามในพิธีสารญี่ปุ่น-แมนจูกัว เมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1932 เมืองฉางชุนซึ่งได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ซิงกิง" (จีน: ??; พินอิน: Xinjing; "เมืองหลวงใหม่") มีฐานะเป็นเมืองหลวงของรัฐใหม่แห่งนี้ ชาวฮั่นในแมนจูเรียได้รวมตัวกันเป็นกองทัพอาสาสมัครเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ทำให้รัฐใหม่ดังกล่าวจำเป็นต้องทำสงครามอันยื้ดเยื้ออีกหลายปีเพื่อสร้างความสงบภายในประเทศ
ในขั้นต่อมา ญี่ปุ่นได้ดำเนินการแต่งตั้งให้ผู่อี๋เป็นประมุขแห่งรัฐเป็นในปี ค.ศ. 1932 และอีกสองปีให้หลังจึงได้มีการสถาปนาให้เขาดำรงตำแหน่งจักรพรรดิแห่งแมนจูกัว โดยใช้ชื่อศักราชประจำรัชกาลตามแบบจีนว่า "คังเต๋อ" (หมายถึง "ความสงบและคุณธรรม") ประเทศแมนจูกัวจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "จักรวรรดิแมนจู" (จีน: ????; พินอิน: M?nzh?u D?gu?; เวด-ไจลส์: Manchutikuo) หรือในชื่อเต็ม "จักรวรรดิแมนจูเรียอันยิ่งใหญ่" (จีน: ?????; พินอิน: D? M?nzh?u D?gu?) เจิ้ง เซี่ยวซือได้ดำรงตำแหน่งเป็นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของแมนจูกัวจนถึง ค.ศ. 1935 โดยมีจาง จิงหุยขึ้นดำรงตำแหน่งแทน สำหรับจักรพรรดิผู่อี๋นั้น พระองค์มีฐานะดุจเดียวกับเจว็ด เพราะอำนาจการปกครองประเทศที่แท้จริงนั้นล้วนอยู่ในกำมือของทหารญี่ปุ่นทั้งสิ้น พระราชวังได้ถูกสร้างขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับควบคุมจักรพรรดิ รัฐมนตรีของแมนจูกัวทั้งหมดรับบทเป็นเพียงร่างทรงของรองรัฐมนตรีที่เป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจในทุกเรื่องอย่างแท้จริง
ในลักษณะดังกล่าวนี้ ญี่ปุ่นจึงสามารถตัดแมนจูกัวออกจากจีนอย่างเป็นทางการในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 และด้วยการลงทุนของญี่ปุ่นและทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญยิ่ง