โคลนถล่ม เป็นภัยธรรมชาติ คือ คำเรียกรวม ๆ ของการเคลื่อนที่ของมวลสาร (Mass movement หรือ mass-wasting) ซึ่งคือ กระบวนการเคลื่อนตัวของมวลหิน ดินและทรายลงมาตามความลาดชันภายใต้แรงดึงดูดของโลกเป็นหลัก โดยอาจอาศัยตัวกลางระหว่างการพัดพา ยกตัวอย่างเช่น น้ำ ลม และธารน้ำแข็ง ซึ่งตัวกลางเหล่านี้เป็นตัวช่วยเสริมการย้ายมวล ดังนั้นหากตะกอนอิ่มตัวด้วยน้ำ แรงเสียดทานระหว่างเม็ดตะกอนจะลดลง การย้ายมวลจึงเกิดได้ดีขึ้น
หลายคนเข้าใจว่า การย้ายมวลเกิดเฉพาะบนแผ่นดิน (Continents) เท่านั้น แต่จากการศึกษาทางธรณีฟิสิกส์และการลำดับชั้นหินตะกอนพบว่า บริเวณไหล่ทวีปของมหาสมุทรหลายแห่ง มีการเคลื่อนตัวของตะกอนเช่นเดียวกับบนแผ่นดิน และจัดเป็นการเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วลงมาตามความลาดชัน เรียกว่า กระแสน้ำขุ่นข้น (Turbidity Current)
ส่วนใหญ่การย้ายมวลที่กล่าวถึงกันบ่อย ๆ คือ แผ่นดินเลื่อน (Landslide) หรือดินถล่ม โดยรวมเอาวิธีการย้ายมวลทุกรูปแบบไว้ด้วยกัน ซึ่งความจริงยังไม่ถูกต้องมากนัก รูปแบบการย้ายมวลมีหลายกระบวนการด้วยกัน โดยถือปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกำหนด
หากจำแนกตาม Sharpe (1938) จะพิจารณาความเร็วของการย้ายมวล ปริมาณน้ำและความลาดชันของพื้นที่เป็นสำคัญ โดยเรียงลำดับจาก ปริมาณน้ำน้อยและมีการเคลื่อนตัวของมวลสารมาก ในพื้นที่ความลาดชันสูง – ปริมาณน้ำมากและมีการเคลื่อนตัวของมวลสารน้อย ในพื้นที่ความลาดชันต่ำ ดังนี้
การย้ายมวลบางครั้งเกิดขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผลหรือโอกาสการระมัดระวังน้อยมาก โดยส่วนใหญ่ การย้ายมวลมักเกิดจากเหตุการณ์ต่อไปนี้เป็นตัวกระตุ้น
(เหตุการณ์ดินโคลนถล่มในอำเภอพิปูน พ.ศ. 2531) ก่อนวันเกิดเหตุ 3- 4 วันได้เกิดพายุดีเพรสชั่น มีฝนตกปรอย ๆ ต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้พื้นดินรวมทั้งเชิงเขาที่ชาวบ้านขึ้นไปปลูกยางพาราบนพื้นที่เดิมที่เปรียบเสมือนฟองน้ำตั้งเอียงที่พอซับน้ำได้พอประมาณเท่านั้น หมดขีดความสามารถในการอุ้มน้ำ น้ำที่อุ้มไว้อย่างเอียง ๆ เต็มที่แล้วนั้น นอกจากจะทำให้ดินมีน้ำหนักมากขึ้น ยังลดความฝืดของอณูดินเองกับหล่อลื่นรากพืชที่ช่วยกันต้านแรงดึงดูดของโลกไว้ เมื่อมีฝนระลอกใหญ่ตกเพิ่มเติมลงมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ดังกล่าว จึงทำให้พื้นที่ที่หมดขีดความสามารถในการอุ้มน้ำส่วนบนบางส่วนพังทลายลงมาในรูปของโคลนถล่มพร้อมกับต้นไม้เดิมและต้นยางพาราไหลทลายทับถมลงมาในลักษณะโดมิโน พื้นที่ลาดชันบางส่วนแม้จะแข็งแรงรับนำหนักตัวเองได้พอควรอยู่ก่อน ย่อมไม่อาจรับน้ำหนักโคลนและท่อนไม้ที่ไหลทะลักที่มีความเร่งเพิ่มยกกำลังสองตามกฎแรงดึงดูดของโลก นอกจากนี้น้ำส่วนบนที่เบากว่ายังยกระดับสูงได้อย่างรวดเร็วภายในเวลานับเป็นเพียงนาทีเท่านั้น บ้านเรือนที่ปกติปลูกสูงพอสมควรก็มักถูกทำลายได้มากมายในพริบตาเช่นกัน
แอ่งตำบลกระทูนมีพื้นที่ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร มีทางน้ำและลำธารหลายสายซึ่งรับน้ำจากเชิงเขาโดยรอบที่เรียกว่าพื้นที่รับน้ำ (Watershed) ที่ประมาณจากแผนที่ภูมิประเทศเพียง 200-300 ตารางกิโลเมตรไหลมารวมที่ช่องระบายน้ำออกจากแอ่งเขาพิปูนที่กว้างเพียงประมาณ 70 เมตร ทำให้โคลนและซุงมารวมจุดขวางทางอยู่ ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจึงเกิดสูงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อย แต่เป็นที่ตระหนักกันดีในเชิงอุทกศาสตร์และการป้องกันภัยธรรมชาติ ชาวบ้านและทางราชการที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงจึงให้ความสำคัญน้อย และมักปล่อยให้มีการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เสี่ยงนั้นต่อไปอีกเมื่อเวลาเนิ่นออกไปด้วยเหตุผลทางสังคม กฎหมายที่มีอยู่ก็เพียงเพื่อบรรเทาและให้ความช่วยเหลือในระยะสั้น มิได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายในด้านการตั้งถิ่นฐานระยะยาวบนพื้นที่เสี่ยงไว้
ปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming) แม้จะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติระยะยาว แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วและการเผาผลาญเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์จำนวนมหาศาลของมนุษย์กำลังเพิ่มอัตราความเร็วและความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่รุนแรงและค่อนข้างพยากรณ์ได้ยาก ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงสูงเช่นนี้มากมายหลายแหล่ง รวมทั้งพื้นที่ที่กรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศไว้แล้วจึงไม่ควรละเลยภัยธรรมชาติประเภทโคลนถล่มอีกต่อไป