ฮิวร์เรม ซุลตาน (เสียงอ่านภาษาตุรกี: [hy???em su??ta?n]; ตุรกีออตโตมัน: ?????? ?????) หรือเป็นที่รู้จักในพระนามว่า ร็อกเซลานา (อักษรโรมัน: Roxelana; ราว พ.ศ. 2045 – 15 เมษายน พ.ศ. 2101) เป็นพระชายาเอกในสุลต่านสุลัยมานแห่งจักรวรรดิออตโตมัน
พระองค์เป็นที่รู้จักในฐานะพระชายาเอกในองค์สุลต่าน (ตุรกีออตโตมัน: ????? ?????? Haseki Sultan) ที่ทรงพระราชอำนาจทางการเมืองผ่านพระราชสวามี และทรงบทบาทสำคัญยิ่งต่อกิจการของรัฐ
พระองค์เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวออตโตมันว่า ฮาเซกี ฮิวร์เรม ซุลตาน (Haseki H?rrem Sultan) หรือ ฮิวร์เรม ฮาเซกี ซุลตาน (H?rrem Haseki Sultan) อันมีความหมายว่า "พระชายาเอกฮิวร์เรม" โดยคำว่า "ฮิวร์เรม" มาจากคำเปอร์เซียยุคกลางว่า "คูร์ราม" (เปอร์เซีย: ????; "ผู้ให้ความสุข") บ้างก็ว่ามาจากคำอาหรับว่า "กะรีมา" (อาหรับ: ??????; "ผู้มีใจเอื้ออารี")
ส่วนร็อกเซลานา (Roxelana) บางแห่งอาจสะกดเป็น ร็อกโซเลนา (Roxolena), ร็อกโซลานา (Roxolana), ร็อกเซลาเน (Roxelane), โรซซา (Rossa) หรือรูชีจา (Ru?ica) ล้วนเป็นพระสมัญญานามที่กินความหมายไปถึงเชื้อสายรูทีเนีย หรือ รูซึน (Rusyn) ของพระองค์ ซึ่งคำดังกล่าวเป็นชื่อหนึ่งของชาวยูเครนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่เรียกตามชื่อชาวร็อกโซลานี (Roxolani) ชาติพันธุ์โบราณที่เคยตั้งถิ่นฐานบริเวณนั้นมาก่อน ดังนั้นพระสมัญญานามดังกล่าวจึงมีความหมายว่า "หญิงชาวรูทีเนีย"
จากการศึกษาในปัจจุบัน ข้อมูลของร็อกเซลานาขณะทรงพระเยาว์มีน้อยนัก ไม่ว่าจะเป็นพื้นเพของพระองค์ว่ามีเชื้อสายอะไร หรือการกล่าวถึงในอาณาจักรโปแลนด์อันเป็นมาตุภูมิ มีการสันนิษฐานว่าร็อกเซลานามีพระนามเดิมว่า อะเลคซันดรา (Aleksandra) หรือ อะนัสตาซียา ลีซอฟสกา (Anastasia Lisowska) จากหลักฐานของมีฮาลอน ลึทวึน (Mikhalon Lytvyn) ทูตของแกรนด์ดัชชีลิทัวเนียประจำรัฐข่านไครเมีย ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยในเอกสาร "เกี่ยวกับประเพณีของตาตาร์, ลิทัวเนีย และมอสโก" (ละติน: De moribus tartarorum, lituanorum et moscorum) ซึ่งในส่วนการค้าเขาระบุว่า "[...] พระชายาผู้เป็นที่รักของจักรพรรดิตุรกีพระองค์ปัจจุบัน พระชนนีของผู้สืบสันดานในพระองค์ [พระราชโอรส] นางผู้อยู่ในการปกครองของพระองค์หลังนิราศไปจากแดนดินของเรา"
ส่วนหลักฐานช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เช่นจากหลักฐานของซามูเอล ทวาร์โดฟสกี (Samuel Twardowski) กวีโปแลนด์ผู้ค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับตุรกี ได้ระบุว่าร็อกเซลานามีพระชนกเป็นนักบวชอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ชาวยูเครน พระองค์ประสูติที่เมืองโรฮาตึน (Rohatyn) 68 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองลวอฟ (Lw?w) ซึ่งเป็นเมืองหลักของรูทีเนีย (Ruthenia Voivodeship) ที่ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรโปแลนด์ (ปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกของประเทศยูเครน) ล่วงมาในช่วงปี พ.ศ. 2063 ร็อกเซลานาถูกชาวตาตาร์ไครเมียจับไปเป็นทาสหลังการบุกปล้นครั้งหนึ่งจากหลาย ๆ ครั้งในบริเวณดังกล่าว เบื้องต้นเชื่อว่าพระองค์คงถูกนำไปไว้ที่เมืองคัฟฟาในไครเมีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าทาส ก่อนส่งต่อไปยังเมืองคอนสแตนติโนเปิล แล้วทรงถูกคัดเลือกให้ไปประจำในฮาเร็มของสุลต่านสุลัยมาน
ร็อกเซลานา สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2101 พระศพถูกฝังในสุสานหลวงในมัสยิดซิวเลย์มานีเย ที่มีลักษณะเป็นรูปโดมภายในตกแต่งด้วยกระเบื้องจากอิซนิค มีภาพวาดสวนบนสรวงสวรรค์เพื่อสดุดีพระจริยวัตรของพระองค์ โดยสุสานหลวงของพระองค์ตั้งอยู่ในกับสุสานหลวงของพระสวามีที่แยกต่างหาก
นอกเหนือจากบทบาททางการเมืองที่โดดเด่นแล้ว ร็อกเซลานาทรงมีส่วนร่วมในการก่อสร้างอาคารสาธารณะจำนวนหลายแห่งตั้งแต่มักกะฮ์จนถึงเยรูซาเลม ที่เป็นเสมือนมูลนิธิการกุศลทำนองเดียวกับซูไบดะฮ์ ภริยาของเคาะลีฟะฮ์ฮารูนาลรอชิดเคยทำไว้ เบื้องต้นพระองค์ทรงอุปถัมภ์โรงเรียนสอนพระคัมภีร์อัลกุรอานจำนวนสองแห่ง มีการให้สร้างบ่อน้ำพุ และโรงพยาบาลสำหรับสตรีที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาดนางทาสในคอนสแตนติโนเปิลเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ มีการก่อสร้างโรงอาบน้ำฮาเซกีฮิวร์เรมซุลตานฮามามึ (Haseki H?rrem Sultan Hamam?) เพื่อรองรับอิสลามิกชนที่มาปฏิบัติศาสนกิจที่มัสยิดอายาโซเฟีย และโปรดให้ก่อสร้างโรงทานฮาเซกีซุลตานอีมาเรต (Haseki Sultan Imaret) เพื่อบริจาคซุปแก่ราษฎรผู้ยากไร้ ที่ในหนึ่งวันสามารถเลี้ยงคนได้ 500 คนต่อสองมื้อ
ร็อกเซลานา เป็นที่รู้จักทั้งในตุรกีและโลกตะวันตก ที่ส่วนมากเป็นจะปรากฏในรูปแบบของงานศิลป์จำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2104 สามปีหลังการสิ้นพระชนม์ กาบรีแยล บูแน็ง (Gabriel Bounin) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ได้แต่งบทประพันธ์โศกเรื่อง ลาโซลตาน (La Soltane) ที่ร็อกเซลานามีบทบาทสำคัญในการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายมุสตาฟา ถือเป็นละครเวทีเรื่องแรกของฝรั่งเศสที่เกี่ยวกับออตโตมัน นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับจิตรกรแล้ว พระองค์ยังเป็นแรงบันดาลใจแก่โจเซฟ ไฮเดิน (Joseph Haydn) ในการแต่งซิมโฟนีหมายเลข 63 เพื่อใช้สำหรับละครเวทีที่มีร็อกเซลานาเป็นตัวละครของเรื่อง
ในสเปน ร็อกเซลานามักปรากฏในงานเขียนของเกเบโด (Quevedo) และโดยเฉพาะผลงานของโลเป เด เบกา (Lope de Vega) นักเขียนบทละคร ที่เขียนเรื่อง สันนิบาตอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy League) ที่มีทิเชียนเป็นตัวละครไปปรากฏตัวในสภาสูงของเวนิส เบื้องต้นได้กล่าวว่าเขาเพียงแค่ไปเยือนองค์สุลต่าน และแสดงพระรูปร็อกเซลานาที่เขาวาด
ในยูเครน ชาวมุสลิมในเมืองมารีอูปัล ได้เปิดมัสยิดที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติร็อกเซลานา เมื่อปี พ.ศ. 2550
ในตุรกี ได้มีละครอิงประวัติศาสตร์ช่วงรัชกาลสุลต่านสุลัยมานที่ร็อกเซลานามีบทบาทสำคัญ ได้แก่ ฮิวร์เรม ซุลตาน (H?rrem Sultan; ปี พ.ศ. 2546) และซีรีส์เรื่อง ศตวรรษแห่งความเกรียงไกร หรือ มูห์เตแชม ยิวซ์ยีล (Muhte?em Y?zy?l; ปี พ.ศ. 2554–2558)