เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อุษาคเนย์ หรือ เอเชียอาคเนย์ เป็นอนุภูมิภาคของทวีปเอเชีย ประกอบด้วยประเทศซึ่งทิศเหนือติดจีน ทิศตะวันตกติดอินเดีย ทิศตะวันออกติดปาปัวนิวกินี และทิศใต้ติดออสเตรเลีย ภูมิภาคดังกล่าวตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นทวีปหลายแผ่นที่ยังมีการไหวสะเทือนรุนแรงและการปะทุของภูเขาไฟอยู่ต่อเนื่อง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบ่งได้ภาคภูมิศาสตร์ได้สองภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ หรืออินโดจีน ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม และมาเลเซียตะวันตก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมุทร ประกอบด้วย บรูไน มาเลเซียตะวันออก ติมอร์-เลสเต อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
มิลตัน ออสบอร์น (Milton Osborne) นักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาวออสเตรเลียแบ่งยุคสมัยไว้อย่างหลวม ๆ ดังนี้
ในทางภูมิศาสตร์ หมู่เกาะมลายูเป็นหนึ่งในบริเวณที่มีภูเขาไฟมีพลังมากที่สุดในโลก ผืนดินที่ยกตัวขึ้นในบริเวณนี้ทำให้เกิดภูเขาที่สวยงามอย่างยอดเขาปุนจักจายาที่จังหวัดปาปัวในอินโดนีเซีย ความสูงถึง 5,030 เมตร (16,024 ฟุต) บนเกาะนิวกินี อีกทั้งยังเป็นสถานที่เดียวที่สามารถพบธารน้ำแข็งได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่บริเวณที่สูงเป็นอันดับสองอย่างยอดเขากีนาบาลูในรัฐซาบาห์ของมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียว ซึ่งมีความสูง 4,095 เมตร (13,435 ฟุต) ภูเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือยอดเขาคากาโบราซี โดยมีความสูงถึง 5,967 เมตร ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของพม่า และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ขณะเดียวกันอินโดนีเซียนั้นถูกจัดว่าเป็นหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (จัดโดย CIA World Factbook)
ภูเขาไฟมีพลังอย่างภูเขาไฟมายอนเป็นเจ้าของสถิติกรวยไฟที่สมบูรณ์ที่สุดในโลกที่เกิดจากการปะทุตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ทางซีกโลกตะวันออกและทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย โดยทิศเหนือติดกับประเทศจีน ทิศตะวันออกติดมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศใต้ติดมหาสมุทรอินเดีย และทิศตะวันตกติดประเทศอินเดียและบังคลาเทศ โดยตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 10 องศาใต้ถึงละติจูดที่ 28 องศาเหนือ และระหว่างลองจิจูดที่ 92 องศาตะวันออกถึง 141 องศาตะวันตก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพื้นที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดยแบ่งตามภูมิศาสตร์คือ ส่วนที่เป็นภาคพื้นทวีป และส่วนที่เป็นหมู่เกาะ
ส่วนที่เป็นภาคพื้นทวีปเป็นพื้นแผ่นดินใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย และอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา บางส่วนของประเทศมาเลเซีย ส่วนที่เป็นหมู่เกาะ ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ บางส่วนของประเทศมาเลเซีย และติมอร์-เลสเต
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แบ่งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกออกจากกัน มีช่องแคบ 4 แห่ง ได้แก่ ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา ช่องแคบลอมบอก และช่องแคบมาคัสซาร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างทวีปเอเชีย และทวีปออสเตรเลีย
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นหรือเขตร้อน ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะ คือ มีสภาพภูมิอากาศชุ่มชื้นในฤดูฝนและแห้งแล้งในฤดูแล้งอย่างชัดเจน และอีกลักษณะหนึ่ง คือ มีฝนตกชุ่มชื้นเกือบตลอดทั้งปี เนื่องจากภูมิภาคนี้ตั้งอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตร ดังนั้นจึงมีอุณหภูมิเฉลี่ยรายวันหรือรายเดือนสูงสม่ำเสมอตลอดทั้งปี
ลักษณะภูมิอากาศที่สลับระหว่างความชุ่มชื้นในฤดูฝน และความแห้งแล้งในฤดูแล้งอย่างชัดเจน จะพบได้ในบริเวณประเทศส่วนต่อกับแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย ได้แก่ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ที่อยู่เหนือละติจูด 10 องศาเหนือขึ้นไป ในฤดูฝนจะได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ รวมทั้งพายุที่พัดมาจากทิศตะวันออก ทำให้มีฝนตกชุกในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ส่วนในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนจะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนพัดพาเอาความแห้งแล้งเข้ามาสู่พื้นที่ ทำให้เห็นความแตกต่างของทั้งสองฤดู ในบางปีอาจมีพายุหมุนพัดเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ทำให้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง บริเวณที่ได้รับผลกระทบจากพายุก่อน เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และลาว จะได้รับผลกระทบมาก ทำให้เกิดภัยน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม
สำหรับประเทศที่เป็นหมู่เกาะจำนวนมาก ได้แก่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์นั้น จะได้รับอิทธิพลจากลมทะเลและพายุแบบต่าง ๆ เกือบตลอดทั้งปี จึงทำให้มีฝนตกชุก ยกเว้นบางบริเวณที่อาจจะมีอากาศแห้งแล้งได้บ้างเป็นระยะเวลาสั้น เช่น ทางตะวันออกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย สำหรับประเทศฟิลิปปินส์พายุไต้ฝุ่นซึ่งมีทั้งความเร็วลมสูงและปริมาณน้ำฝนมาก พัดผ่านประเทศเป็นจำนวนมากกว่า 10 ลูกต่อปี ทำให้ประเทศได้รับผลกระทบที่รุนแรงเป็นประจำ
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะภูมิอากาศแบบอบอุ่น, ร้อนชื้น และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม สัตว์ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างมีความหลากหลาย, บนเกาะบอร์เนียวและเกาะสุมาตราจะมีอุรังอุตัง, ช้างเอเชีย, สมเสร็จมลายู, กระซู่ และเสือลายเมฆบอร์เนียวก็สามารถพบได้เช่นกัน หกสปีชีส์ย่อยของหมีขอมีถิ่นอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ อย่างไรก็ตามมันเป็นสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ที่เกาะปาลาวัน
เสือสามชนิดที่มีสปีชีส์ย่อยแตกต่างกันสามารถพบได้บนเกาะสุมาตรา (เสือโคร่งสุมาตรา), ในมาเลเซียตะวันออก (เสือโคร่งมลายู), และในอินโดจีน (เสือโคร่งอินโดจีน), โดยทั้งหมดถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ถูกคุกคาม
มังกรโคโมโดเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสปีชีส์กิ้งก่า และอาศัยอยู่บนเกาะโคโมโด, เกาะรินจา, เกาะฟลอเรส, และ Gili Motang ในอินโดนีเซีย
อินทรีฟิลิปปินส์เป็นนกประจำชาติของฟิลิปปินส์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเป็นเหยี่ยวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีเฉพาะในป่าที่ฟิลิปปินส์เท่านั้น
ควายป่า และควายแคระบนเกาะที่แตกต่างกันพบได้เฉพาะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ในทุกวันนี้ควายสามารถพบได้ทั่วไปในภูมิภาค แต่ชนิดอื่นนั้นถูกคุกคามและหายาก
กระจง สัตว์คล้ายกวางที่มีขนาดไล่เลี่ยกับแมวหรือสุนัขพันธุ์เล็กสามารถพบได้บนเกาะสุมาตรา, เกาะบอร์เนียว และเกาะปาลาวัน (ฟิลิปปินส์) ขณะที่กระทิงที่มีขนาดใหญ่กว่าควายป่าสามารถพบได้ที่อินโดจีนเป็นส่วนใหญ่
สัตว์ปีกอย่างนกยูงและนกแซงแซวอาศัยอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกอย่างอินโดนีเซีย ขณะที่หมูที่มีอวัยวะคล้ายงาสี่งาอย่างบาบิรูซ่าก็สามารถพบได้ที่อินโดนีเซียเช่นกัน ส่วนนกเงือกมักถูกส่งไปยังจีนเพราะมีจะงอยปากที่มีมูลค่าสูงเช่นเดียวกับนอของแรด ซึ่งถูกส่งไปจีนเช่นเดียวกัน
บริเวณแนวปะการังน้ำตื้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือได้ว่าเป็นบริเวณที่มีระบบนิเวศทางทะเลหลากหลายและสมบูรณ์ที่สุดในโลก โดยเต็มไปด้วยปะการัง, ปลา, หอย และพวกหมึก ตามที่องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติได้ทำการสำรวจทะเลบริเวณราชาอัมพัตแล้วพบว่ามีความหลากหลายที่สุดในโลก และมากกว่าบริเวณอื่นอย่างสามเหลี่ยมปะการังของอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี โดยบริเวณสามเหลี่ยมปะการังนี้ถือได้ว่าเป็นหัวใจของแนวปะการังทั่วโลกเลยทีเดียว ทำให้ราชาอัมพุตเป็นบริเวณที่มีแนวปะการังมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขณะที่ปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างปลาฉลามวาฬและ 6 สปีชีย์ของเต่าทะเลสามารถพบได้ในทะเลจีนใต้ และดินแดนในมหาสมุทรแปซิฟิกของฟิลิปปินส์
พืชในภูมิภาคนี้เป็นแบบพืชเขตร้อน, ในบางประเทศที่มีภูเขาสูงพอสามารถพบพรรณไม้ต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ ซึ่งพื้นที่ป่าหนาทึบในเขตร้อนซึ่งมีฝนตกมากเหล่านี้กำลังเผชิญกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะบนเกาะบอร์เนียว
ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อุดมไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ท้องถิ่นก็ต้องเผชิญกับปัญหาการทำลายป่าอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ที่อยู่อาศัยของสัตว์ถูกทำลายจนใกล้สูญพันธุ์เช่นอุรังอุตังและเสือโคร่งสุมาตรา คาดกันว่าสัตว์และพรรณไม้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 40% มีจำนวนลดลงในศตวรรษที่ 21 ในขณะเดียวกันเมฆหมอกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ โดยมีความรุนแรงมากที่สุดในปี 1997 และ 2006 ซึ่งทั้งสองครั้งมีหลายประเทศได้รับผลกระทบจากหมอกที่หนาทึบที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาป่าในอินโดนีเซีย จนกระทั่งมีหลายประเทศร่วมลงนามในข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดมลหมอกพิษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพื้นที่ประมาณ 4,000,000 ตารางกิโลเมตร (1.6 ล้านตารางไมล์) มีประชากรมากกว่า 593 ล้านคนในปี 2007 โดยกว่าหนึ่งในห้า (125 ล้านคน) อยู่บนเกาะชวาของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีความหนาแน่นที่สุดในโลก ด้วยความที่ประเทศอินโดนีเซียมีประชากรถึง 230 ล้านคน ทำให้มีประชากรหนาแน่นมากเป็นอันดับ 4 ของโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาที่จะแตกต่างไปในแต่ละประเทศ มีชาวจีนโพ้นทะเล 30 ล้านคน อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยที่เด่นชัดที่สุดคือที่เกาะคริสต์มาส, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และไทย รวมถึงชาวฮั้วในเวียดนาม
ในช่วงหลังชาวชวาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยจำนวนที่มากกว่า 86 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่บนเกาะชวา ส่วนที่พม่าจะมีชาวพม่าอาศัยอยู่มากกว่าสองในสามของประชากรทั้งหมด ขณะที่ชาวไทยและเวียดนามก็จะมีจำนวนราวสี่ในห้าของประเทศเหล่านั้น อินโดนีเซียนั้นถูกปกครองโดยชาวชวาและชาวซุนดา ขณะที่มาเลเซียจะมีชาวมลายูและชาวจีนในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญในฟิลิปปินส์ได้แก่ ชาวตากาล็อก, ชาวซีบัวโน, ชาวอีโลกาโน, และชาวฮิลิกายนอน
ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยจำนวนประมาณที่มากถึง 240 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 40% ของประชากรทั้งหมด โดยส่วนมากจะอยู่ที่บรูไน, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางศาสนา โดยศาสนาพุทธมีผู้นับถือเป็นจำนวนมากในไทย, กัมพูชา, ลาว, พม่า, เวียดนาม และสิงคโปร์ ลัทธิบูชาบรรพบุรุษและลัทธิขงจื๊อก็มีผู้นับถือมากในเวียดนามและสิงคโปร์ ส่วนศาสนาคริสต์ก็เป็นที่นิยมในฟิลิปปินส์, ภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย, มาเลเซียตะวันออก และติมอร์-เลสเต โดยฟิลิปปินส์มีผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกมากที่สุดในเอเชีย ส่วนติมอร์-เลสเตก็นับถือนิกายโรมันคาทอลิกเช่นกัน เนื่องจากเคยตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาก่อน
ศาสนาเป็นสิ่งที่หลากหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไม่มีประเทศใดเลยที่มีผู้นับถือศาสนาเดียวกันทั้งหมด โดยประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลกอย่างอินโดนีเซียก็สามารถพบชาวฮินดูได้มากมายที่บาหลี โดยชาวฮินดูนั้นกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคทั้งในสิงคโปร์, มาเลเซีย และประเทศอื่น ครุฑที่ว่ากันว่าเป็นพญาแห่งนก และเป็นพาหนะของพระนารายณ์ก็เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของทั้งไทยและอินโดนีเซีย, ในฟิลิปปินส์สามารถพบรูปหล่อครุฑได้ที่ปาลาวัน, รูปหล่อเทพเจ้าฮินดูองค์อื่นก็สามารถพบได้ที่มินดาเนา สำหรับชาวฮินดูในบาหลีนั้นค่อนข้างแตกต่างจากชาวฮินดูแห่งอื่น โดยมีวัฒนธรรมในแบบของตนเองและมีความเชื่อเรื่องวิญญาณ ส่วนชาวคริสต์นั้นสามารถพบได้ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่วนมากจะอยู่ที่ติมอร์-เลสเตและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นชาติที่มีชาวคริสต์มากที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าโบราณที่รัฐซาราวักในมาเลเซียตะวันออก และปาปัวที่ภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย ในพม่ามีการบูชาพระอินทร์ในแบบที่เรียกว่า นัต ส่วนที่เวียดนามนั้นส่วนใหญ่จะเป็นศาสนาพุทธนิกายมหายาน ซึ่งเชื่อเรื่องวิญญาณ ยกเว้นเรื่องการบูชาความตาย
ภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นแตกต่างกันไปตามอิทธิพลของสิ่งต่าง ๆ ได้แก่ การค้า, การย้ายถิ่นฐาน, และการเคยตกเป็นอาณานิคมในอดีต
วัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก บนแผ่นดินใหญ่จะมีการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมอินเดียและจีน ส่วนอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และสิงคโปร์นั้นประกอบด้วยวัฒนธรรมอาหรับ, โปรตุเกส, สเปน, จีน, อินเดีย และวัฒนธรรมพื้นเมืองมลายู ส่วนบรูไนจะค่อนข้างแตกต่างจากประเทศอื่น เพราะได้รับอิทธิพลมากมายจากวัฒนธรรมอาหรับ
ในภูมิภาคนี้มีการทำนาข้าวมาแล้วนับพันปี เช่น นาข้าวบานัวที่เกาะลูซอน โดยนาข้าวต้องใช้ความมุมานะในการดูแลรักษาเป็นอย่างมาก และสามารถเข้ากับสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมได้เป็นอย่างดี
บ้านยกบนเสาสูงสามารถหาได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ไทยและลาว, เกาะบอร์เนียว, เกาะลูซอนในฟิลิปปินส์, ไปจนถึงปาปัวนิวกินี โดยมีเทคนิกในการสร้างไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย รวมไปถึงด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น กริช และเครื่องดนตรี เช่น ระนาด
วัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนและอินเดีย โดยเวียดนามได้รับอิทธิพลจีนชัดเจนที่สุด ส่วนวัฒนธรรมตะวันตกนั้นมีมากที่สุดที่ฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีการใช้กฎหมายแบบสเปนและอเมริกัน
ด้วยความที่จีนมีอิทธิพลต่อเวียดนามมาเป็นเวลานาน เวียดนามจึงถูกจัดอยู่ในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกด้วย ธรรมเนียมปฏิบัติของชาวเวียดนามมีปรัชญาเอเชียตะวันออกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังได้รับอิทธิพลทางศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ นิกายมหายาน, ลัทธิขงจื้อ และลัทธิเต๋า ซึ่งเกิดขึ้นในจีนทั้งหมด นอกจากนี้ในเวียดนามยังนิยมใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหารเช่นเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกประเทศอื่น ๆ และอาหารเวียดนามส่วนใหญ่ก็ได้รับอิทธิพลจากจีนและฝรั่งเศส
โดยทั่วไปแล้วผู้คนที่รับประทานอาหารด้วยมือจะเป็นพวกที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียมากกว่าจีน ซึ่งรับประทานอาหารด้วยตะเกียบและมีชาเป็นเครื่องดื่ม นอกจากนี้น้ำปลาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังค่อนข้างมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ
ศิลปกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แตกต่างจากภูมิภาคอื่นอย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่แล้วการร่ายรำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักประกอบด้วยการเคลื่อนไหวของมือและเท้าตามอารมณ์และความหมายที่ต้องการสื่อให้ผู้ชมรับรู้ ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่นับว่าการรำเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของพวกเขา โดยนาฏศิลป์หลวงของกัมพูชาเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นคริสตศตรรษที่ 7 ก่อนจักรวรรดิขแมร์ที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ค่อนข้างมาก เช่น ระบำอัปสรา การเล่นหุ่นเงาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีมาอย่างยาวนานถึงกว่าร้อยปีโดยรูปแบบหนึ่งที่รู้จักกันดีคือวายังของอินโดนีเซีย เช่นเดียวกันศิลปกรรมและวรรณกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์มานับร้อยปีแล้ว
ชาวไทซึ่งย้ายถิ่นฐานมาในภายหลังได้นำประเพณีจีนบางอย่างเข้ามาด้วย แต่ก็ถูกกลืนไปด้วยประเพณีเขมรและมอญ โดยสิ่งเดียวที่บ่งชี้ได้ว่าพวกเขาเคยรับศิลปกรรมจากจีนมาก่อนคือรูปแบบของวัด โดยเฉพาะหลังคาแบบเรียว
แม้จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามที่ต่อต้านลักษณะศิลปกรรมต่าง ๆ แล้ว แต่อินโดนีเซียก็ยังคงเหลือสิ่งที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์มากมายไม่ว่าจะเป็นหลักคำสอน, วัฒนธรรม, ศิลปกรรม และวรรณกรรม เช่น วายังกูลิต (หนังตะลุง) และวรรณกรรมอย่างรามายณะ ด้านส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ (ไม่รวมเวียดนาม) การรำและศิลปกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับเทพเจ้าตามความเชื่อของฮินดู ได้ถูกรวมเข้ากับวัฒนธรรมไทย, กัมพูชา, ลาว และพม่า โดยสิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าศิลปกรรมโบราณเขมรและอินโดมีความเกี่ยวโยงกับการพรรณนาเรื่องราวชีวิตของเทพ นอกจากนี้ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเชื่อเรื่องราวชีวิตของเทพว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาทั้งความรื่นเริง, ลักษณะของโลก, การทำนายเรื่องราวที่ยังไม่เกิด
ดนตรีพื้นบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แปรเปลี่ยนไปตามชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยแนวดนตรีที่สามารถพบเห็นได้โดยส่วนใหญ่ ได้แก่ ดนตรีคอร์ท, ดนตรีโฟล์ก, แนวดนตรีของชนกลุ่มน้อย, และดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากภูมิภาคอื่น
สำหรับดนตรีคอร์ทและโฟล์กนั้น ฆ้องเป็นสิ่งที่สามารถหาชมได้ทั่วไปในภูมิภาค (ยกเว้นบริเวณพื้นที่ต่ำของเวียดนาม) กัมเมลัน ของอินโดนีเซีย, วงปี่พาทย์ ของไทยและกัมพูชา รวมทั้ง Kulintang ที่เป็นเครื่องดนตรีของทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์, เกาะบอร์เนียว, เกาะซูลาเวซี และเกาะติมอร์ คือสามแนวดนตรีที่มีความโดดเด่นและมีอิทธิพลต่อดนตรีแนวอื่นในภูมิภาค นอกจากนี้ดนตรีแนวสตริงเป็นแนวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วัฒนธรรมอินเดียเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ชนพื้นเมืองได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนมาแต่ในอดีต โดยมีรูปแบบที่ปรากฏตระกูลอักษรพราหมี เช่น อักษรบาหลีที่ปรากฏบนใบปาล์ม
การเขียนในรูปแบบนี้ถูกเผยแพร่ออกไปตั้งแต่ก่อนที่กระดาษจะเกิดขึ้นราวประมาณปีที่ 100 ในจีน โดยบนใบปาล์มแต่ละใบจะประกอบด้วยตัวอักษรหลายบรรทัดเขียนไปตามความยาวของใบ และมีการใช้เชือกเรียงไปยังใบอื่น มีการตกแต่งบริเวณที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลาง ตัวอักษรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เป็นแบบอักษรสระประกอบ จนกระทั่งเมื่อมีชาวตะวันตกเข้ามา และมีการผสมผสานอย่างกลมกลืน ไม่ใช่แค่เสียงสระเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรูปแบบเอกสารทางการที่ไม่ใช้กระดาษด้วย ได้แก่ คัมภีร์ทองแดงชวา ซึ่งมีความทนทานมากกว่ากระดาษในสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้