เศรษฐยาธิปไตย หรือ ธนาธิปไตย (อังกฤษ: Plutocracy) เป็นระบอบการปกครองที่คนมีเงินเป็นผู้ถือครองอำนาจทางการเมือง เพื่ออำนาจ เพื่อผลประโยชน์ และสิทธิพิเศษ เพื่อกลุ่มคนที่มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งต้องใช้เงินเป็นองค์ประกอบหลัก เป็นระบอบซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างเช่น การทุจริตเชิงนโยบาย การทุจริตเลือกตั้ง การขาดจริยธรรม ส่วนมากนักการเมืองในระบอบนี้เข้าสู่อำนาจด้วยการใช้เงินเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง ผลที่ได้คือนักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพจะเข้ามาบริหารบ้านเมือง[ต้องการอ้างอิง]
ในยุคก่อนธนาธิปไตยหมายถึงการปกครองโดยกลุ่มคนร่ำรวยซึ่งเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ของกรีกโบราณถูกปกครองโดยคนร่ำรวยกลุ่มเล็ก ๆ ในนครรัฐอิตาลี เมืองฟีเรนเซ หรือฟลอเรนซ์ (Florence) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นตอสกานา ระหว่าง ค.ศ.1865 ถึง 1870 อำนาจการปกครองเมืองฟีเรนเซอยู่ภายใต้อำนาจของตะกูลตระกูลเมดิชิเป็นเวลานาน
ในทวีปเอเชีย ประเทศญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่สองอำนาจการปกครองตกอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มการเงินซึ่งเป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมและธุรกิจ กลุ่มไซบัตสึ (Zaibatsu) ซึ่งถูกสลายไปหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง
ประเทศจีนก่อนถูกปฏิวัติโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ.1949 (พ.ศ. 2492) มีการกล่าวกันว่าอำนาจการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ ของประเทศจีน อยู่ในภายใต้อำนาจของสี่ตระกูล ได้แก่ ตระกูลเจียง (Jiang) ตระกูลซ่ง (Song) ตระกูลคุง (Kung) และตระกูลเชน (Chen) ทั้งนี้สามตระกูลแรกจะเกี่ยวดองกันโดยแต่งงานกัน และมีบทบาทอย่างสูงเมืองจีนในยุคนั้น
ในสมัยศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย กลุ่มบุคคลที่มีที่ดินได้รับการยอมรับว่ามีความร่ำรวยมากกว่าคนที่ไม่มีที่ดิน ส่งผลให้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงมากกว่าคนจนหรือคนไม่มีที่ดิน หรือเจ้าของกิจการโรงงานอาจสามารถออกเสียงได้ถึง 2,000 เสียง แต่คนยากจนอาจไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียง บางครั้งนิติบุคคลหรือบริษัทได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงด้วย หรือในบางกรณีบุคคลล้มละลายถูกจำกัดสิทธิในการลงคะแนนเสียง
ธนาธิปไตยยุคใหม่ถูกสื่อความหมายไปในทางลบ เป็นการประสานกันของอำนาจทางการเงินและอำนาจทางการเมือง มีการใช้เงินเพื่อให้ส่งผลถึงอำนาจการบริหารบ้านเมืองหรือหมายถึงการให้สินบนเจ้าหน้าที่ภาครัฐ การเข้าไปมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลโดยมุ่งหวังให้เกิดผลประโยชน์ต่อตนเอง บุคคลร่ำรวย หรือธนาธิปัตย์ (plutocrat) จะมีส่วนผลักดันให้รัฐออกนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตัวเอง อาจส่งผลถึงการกำหนดนโยบายระดับต่างประเทศ เช่น นโยบายทำสงครามเพื่อให้สามารถขายอาวุธ เครื่องบิน เรือรบ
หนังสือพิมพ์ประชาไทอ้างหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจอ้างว่า ตัวอย่างธนาธิปไตยในประเทศไทย เช่น การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ที่มีการใช้เงิน ในที่สุดผู้ที่ชนะการเลือกตั้งคือคนตระกูลเดียวที่มั่งคั่งของจังหวัดเชียงใหม่