เศรษฐกิจของอินเดีย มีขนาดเป็นอันดับที่ 11 ของโลกเมื่อวัดด้วยค่าจีดีพี และเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อเทียบด้วยความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ หลังจากที่ได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งโดยนักสังคมนิยมเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เศรษฐกิจของประเทศหลังจากได้รับเอกราช อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยกิจกรรมตลาดเสรีซึ่งริเริ่มในปี พ.ศ. 2533 เพื่อการแข่งขันกับนานาชาติและการลงทุนจากต่างประเทศ อินเดียเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าเกิดใหม่โดยมีจำนวนประชากรมหาศาล เช่นเดียวกับทรัพยากรทางธรรมชาติและบุคลากรมืออาชีพมีทักษะที่เพิ่มมากขึ้น นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านได้ทำนายว่าในปี พ.ศ. 2563 อินเดียจะกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก
อินเดียอยู่ภายใต้นโยบายซึ่งตั้งบนพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย นับจาก พ.ศ. 2490 ถึง พ.ศ. 2534 เศรษฐกิจอินเดียมีลักษณะของข้อบังคับขยาย ลัทธิคุ้มครอง การถือกรรมสิทธิ์โดยเอกชน การคอรัปชั่นและการเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ จนกระทั่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ซึ่งมีการเปิดโอกาสเสรีทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และได้ส่งผลให้ประเทศเปลี่ยนไปเป็นลักษณะของตลาดเศรษฐกิจแทน การฟื้นฟูการปฏิรูปเศรษฐกิจและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในช่วงพุทธทศวรรษ 2540 ได้เร่งให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วยิ่งขึ้น ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เมืองต่าง ๆ ในอินเดียได้เริ่มเปิดเสรีในข้อบังคับเกี่ยวกับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2551 อินเดียเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดอันดับสองของโลก อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2552 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียกลับลดลงอย่างมากเหลือ 6.8 เปอร์เซนต์ ตลอดจนโครงการฟื้นฟูการขาดดุลปีงบประมาณครั้งใหญ่ที่ 6.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งจะเป็นระดับสูงที่สุดของโลก
อุตสาหกรรมมีขนาดเป็นร้อยละ 28 ของจีดีพี และมีการจ้างงานร้อยละ 14 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด แต่ประมาณ 1 ใน 3 ของแรงงานภาคอุตสาหกรรมเป็นเพียงแรงงานในอุตสาหกรรมครัวเรือนที่ไม่ซับซ้อน เมื่อเทียบด้วยมูลค่าแล้ว ผลผลิตจากโรงงานของอินเดียนับเป็นอันดับที่ 16 ของโลก
การปฏิรูปเศรษฐกิจทำให้มีการแข่งขันจากต่างชาติ ทำให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปิดทางให้แก่เอกชนในธุรกิจที่แต่เดิมสงวนไว้ให้ภาครัฐและทำให้การผลิตสินค้าบริโภคขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภาคเอกชนของอินเดียเดิมมีลักษณะเป็นตลาดการแข่งขันน้อยรายที่บริหารโดยบริษัทครอบครัวเก่าแก่และอาศัยการมีเครือข่ายทางการเมืองเพื่อประสบความสำเร็จ แต่หลังการเปิดเสรี บริษัทเหล่านี้ต้องเผชิญจากการแข่งขันโดยบริษัทต่างชาติ รวมทั้งสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน ดังนั้นจึงต้องปรับตัวด้วยการลดต้นทุน ปรับปรุงการบริหาร มุ่งเน้นการออกแบบสินค้าใหม่ ๆ และพึ่งพาแรงงานราคาถูกและเทคโลยีมากขึ้น
การผลิตสิ่งทอ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมากเป็นอันดับ 2 รองจากการเกษตร และมีผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 26 ของผลผลิตทั้งหมดลูเธียนาซึ่งถูกเรียกว่าเป็นแมนเชสเตอร์ของอินเดีย สามารถผลิตผ้าขนสัตว์ได้มากถึงร้อยละ 90 ของอินเดีย ติรุปุร์กลายเป็นที่รู้จักในนามของศูนย์รวมของถุงเท้า เสื้อผ้าถัก เสื้อผ้าลำลอง และเสื้อผ้ากีฬา สลัมธาราวีในมุมไบเป็นที่รู้จักในเรื่องเครื่องหนัง ทาทา มอเตอร์ส พยายามสร้างรถทาทา นาโนให้เป็นรถที่ถูกที่สุดในโลก
อินเดียอยู่ในอันดับที่ 15 ของผลผลิตจากภาคบริการ ซึ่งมีอัตราการจ้างงานร้อยละ 23 ของแรงงานทั้งหมด ภาคบริการมีการขยายตัวเร็วมากด้วยอัตราเติบโตร้อยละ 7.5 ระหว่างปี 2534-2543 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 ในระหว่างปี 2494-2523 และมีอัตราส่วนสูงที่สุดในจีดีพีของอินเดีย คือประมาณร้อยละ 55 ในปี 2550 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 ในปี 2493
การบริการทางธุรกิจ (เทคโนโลยีสารสนเทศ, การจ้างทำกระบวนการธุรกิจ) เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุด โดยนับเป็นหนึ่งในสามของการบริการทั้งหมดในปี 2543 การเติบโตในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศมีผลมาจากการที่อินเดียมีความสามารถเฉพาะทางที่เพิ่มมากขึ้น บวกกับแรงงานจำนวนมากที่มีค่าแรงถูก แต่ความสามารถสูง มีการศึกษา และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งตรงกับความต้องการจากบริษัทต่างชาติที่สนใจในการส่งออกการบริการเหล่านี้ หรือบริษัทที่ต้องการจะจัดจ้างบุคคลภายนอก
อัตราส่วนของอุตสาหกรรมไอทีในอินเดียเมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.8 ในปี 2548-2549 เป็นร้อยละ 7 ในปี 2551. ในปี 2552 บริษัทอินเดีย 7 แห่งถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 15 บริษัทรับจ้างทางเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ในเดือนมีนาคม 2552 รายได้ประจำปีจากการรับจ้างทางธุรกิจมีจำนวนมากถึง 6 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ และมีการประมาณว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 2.25 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2563
ธุรกิจค้าปลีกที่บริหารในรูปบริษัท เช่นซูเปอร์มาร์เก็ต มีจำนวนเป็นร้อยละ 24 ของตลาดทั้งหมดในปี 2551 มีกฎเกณฑ์หลายข้อที่ป้องกันต่างชาติไม่ให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจค้าปลีก นอกจากนี้ ร้านค้าจะต้องผ่านกฎหมายมากกว่า 30 ฉบับ เช่น “ใบอนุญาตป้าย” และ “มาตรการห้ามการกักตุน” ก่อนที่จะสามารถเปิดร้านได้ และยังมีภาษีที่เก็บเมื่อเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างรัฐ รวมทั้งภายในรัฐเองด้วย
การท่องเที่ยวในอินเดียแม้ยังไม่ได้พัฒนาเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่ก็เติบโตด้วยอัตราสองหลัก โรงพยาบาลหลายแห่งพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
การทำเหมืองแร่นับเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจอินเดีย อินเดียสามารถผลิตแร่ธาตุได้มากถึง 79 ชนิด (ไม่รวมทรัพยากรเชื้อเพลิงและพลังงานปรมาณู) ในปี 2552-2553 ซึ่งรวมทั้งแร่เหล็ก, แมงกานีส, ไมกา, บอกไซต์, โครไมต์, หินปูน, แร่ใยหิน, ฟลูโอไรต์, ยิปซัม, ดิน ochre, ฟอสฟอไรต์, และทรายซิลิกา
อินเดียมีผลผลิตทางการเกษตรเป็นอันดับสองของโลก ภาคเกษตรกรรมและภาคที่เกี่ยวข้อง เช่นการป่าไม้ ประมง มีขนาดร้อยละ 15.7 ของจีดีพีในปี 2552-2553, มีอัตรส่วนการจ้างงานร้อยละ 52.1 ของแรงงานทั้งหมด และแม้อัตราส่วนของภาคเกษตรกรรมเมื่อเทียบกับจีดีพีจะมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ แต่ก็ยังคงเป็นภาคธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของอินเดีย ผลิตผลทางการเกษตรต่อหน่วยพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2493 เนื่องจากมีการให้เน้นย้ำเรื่องเกษตรกรรมในแผน 5 ปี ประกอบกับการพัฒนาด้านชลประทาน เทคโนโลยี การรับเอาการเกษตรรูปแบบใหม่ และการให้สินเชื่อและเงินสนับสนุนทางการเกษตรในช่วงการปฏิวัติเขียวในอินเดีย อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับระดับนานาชาติแล้ว ผลิตผลทางการเกษตรเฉลี่ยของอินเดียนับเป็นเพียงร้อยละ 30 ถึง 50 ของผลิตผลทางการเกษตรเฉลี่ยที่สูงที่สุดของโลกเท่านั้น
เงินรูปีอินเดียเป็นเงินสกุลเดียวที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายของอินเดีย อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 คือ 1รูปีอินเดียเท่ากับ 0.7232 บาท และเงินรูปีอินเดียยังสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศเนปาลและภูฏาน ซึ่งอิงสกุลเงินของตนเองกับรูปีอินเดียได้อีกด้วย เงินรูปีมีค่าเท่ากับ 100 ไพซา ธนบัตรที่ใหญ่ที่สุดคือธนบัตร 1,000 รูปี และเหรียญที่เล็กที่สุดที่หมุนเวียนทั่วไปคือเหรียญ 25 ไพซา (เคยมีการใช้เหรียญ 1, 2, 5, 10 และ 20 ไพซา แต่ภายหลังธนาคารกลางอินเดียยกเลิกไป)
เงินรูปีอ่อนตัวต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อต้นปี 2552 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย แต่เศรษฐกิจของอินเดียฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศตะวันตกเพราะตลาดภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ในเดือนกันยายน 2552 เงินรูปีเริ่มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักส่วนใหญ่ เงินรูปีที่แข็งค่าขึ้นมีส่วนทำให้รัฐบาลอินเดียซื้อทอง 200 ตันจากไอเอ็มเอฟเพื่อกระจายความเสี่ยง
ธนาคารกลางอินเดียก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2478 ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานทางการเงินของประเทศ ผู้ควบคุมและกำกับระบบการเงิน ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และเป็นผู้ออกธนบัตร ธนาคารกลางอินเดียถูกควบคุมโดยคณะกรรมการกลางซึ่งมีผู้ว่าที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลกลางของอินเดีย