เวียงเจ็ดลิน (คำเมือง: ) เป็นเวียง (เมือง) ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเชียงใหม่ เป็นเวียงที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ล้านนา
คำว่า ลิน หมายถึง รางริน และ คำว่า “เจ็ดลิน” ก็หมายความถึง รางรินทั้งเจ็ด แต่จะหมายถึง มีรางรินอยู่ 7 แห่ง หรือว่า มีรางรินอยู่ทั้งหมด 7 ราง ก็จะต้องค้นหาหลักฐานกันต่อไป แต่บางตำราสันนิษฐานว่าในเวียงดังกล่าว มีแม่น้ำ หรือคลองส่งน้ำจำนวน 7 สาย
เวียงเจ็ดลิน ในปัจจุบันมีถนนห้วยแก้ว ตัดผ่าน และเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ สวนสัตว์เชียงใหม่ องค์การส่งเสริมการโคนมภาคเหนือ (อสค.) โรงงานผลิตนมของโครงการโคนมไทย–เดนมาร์ก สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ สวนรุกขชาติห้วยแก้ว ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ เป็นต้น
ลักษณะกายภาพเป็นที่ราบเชิงเขา มีพื้นที่สูงด้านตะวันตกและลาดเทมาทางตะวันออก พื้นที่ด้านตะวันตกสูงกว่าบริเวณอื่นมาก ทำให้ด้านนี้ไม่จำเป็นต้องมีคันดิน ส่วนด้านอื่น ๆ เป็นคันดินสองชั้น มีคูน้ำอยู่ระหว่างกลาง แต่ปัจจุบันบางแห่งถูกทำลายลง แต่คันดินที่สมบูรณ์จะอยู่บริเวณสวนรุกขชาติห้วยแก้ว ส่วนคันดินชั้นนอกถูกทำลายลงไปมากแต่ยังพอเห็นได้ในบางช่วง
ตำนานที่กล่าวถึงการสร้างเวียงเจ็ดลินคือ ตำนานสุวรรณคำแดง และตำนานเชียงใหม่ปางเดิม ที่ได้อธิบายถึงการก่อร่างสร้างเมืองของชนพื้นเมืองในแถบดอยสุเทพ ซึ่งในตำนานย้อนไปถึงเรื่องราวของเจ้าหลวงคำแดง อันเป็นอารักษ์ของเมืองเชียงใหม่ ว่าได้เดินทางตามเนื้อทรายทอง มาถึงดอยสุเทพ และได้มีลูกกับนางผมเฝือและนางสาดกว้าง จากนั้นก็สร้างเมือง “ล้านนา”ให้ลูกได้อยู่จากนั้นก็ได้กลับไปยังดอยหลวงเชียงดาว
เมืองที่เจ้าหลวงคำแดงได้สร้างนั้น ต่อมาได้ล่มเป็นหนองใหญ่ แล้วก็ได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาอีกเมือง ชื่อว่า “เมืองนารัฏฐะ” โดยมีเจ้าเมืองชื่อว่า “มินนราช” สืบมาจนถึงสมัยของ “พระยามุนินทพิชชะ” คนไม่มีศีลไม่มีสัจ เจ้าเมืองขาดคุณธรรม ทำให้อารักษ์และเชนบ้านเชนเมืองไม่พอใจ บันดาลให้เมืองล่มลงเป็นคำรบสอง
ถัดมาก็ไปสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่งอยู่ทางตะวันออกของตีนดอยอุสุปัพพตา นามว่า “เวียงเชฏฐบุรี” หรือ “เวียงเจ็ดลิน” ซึ่งขณะนั้นมีทั้งไทยและลัวะอยู่ด้วยกัน ฝ่ายข้างไทย มีพระยาสะเกต เป็นหัวหน้า ฝ่ายลัวะมีพระยาวีวอเป็นหัวหน้า
เวียงเชฏฐปุรีนี้มีผู้ปกครองสืบมา 14 ท้าวพระญา ก็ถูกผีขอกฟ้าตายืน มาล้อมเวียงทำให้ชาวเมืองเดือดเนื้อร้อนใจเป็นอันมาก ยามนั้นเจ้ารสี จึงขึ้นไปขอความช่วยเหลือจากพระยาอินทาธิราช พระยาอินท์จึงให้ชาวลัวะทั้งหลายถือ ศีล 5 ศีล 8 เมื่อนั้นผีทั้งหลายก็ไม่มาเบียดเบียนอีกต่อไป และนอกจากนี้ พระอินทร์ก็ยังให้ลัวะ 9 ตระกูลดูแลรักษา ขุมเงิน ขุมคำ (ทอง) และขุมแก้ว บ้านเมืองเจริญและบ้านเมืองขยายมากขึ้น
จากเวียงเชฏฐปุรีจึงขยายไปสร้างเวียงใหม่อีกสองแห่งคือ “เวียงสวนดอกไม้หลวง” และ “เมืองล้านนานพบุรี” ตามลำดับ สำหรับตำนานจะกล่าวถึงเวียงเจ็ดรินหรือเวียงเชฏฐปุรีเพียงเท่านี้ จากนั้นจะเป็นเรื่องราวของเสาอินทขีลต่อไป
นอกจากตำนานนี้แล้ว เวียงเจ็ดลิน หรือเวียงเชฏฐปุรี ยังกล่าวถึงในตำนานของขุนหลวงวิรังคะ อันเป็นเจ้าแห่งลัวะบริเวณเชิงดอยสุเทพ ที่ทำการสู้รบกับหริภุญไชย ด้วยเหตุที่พระนางจามเทวีไม่ตอบรับจิตปฏิพัทธ์ซ้ำยังดูหมิ่น จึงยกทัพเพื่อจะมาต่อท้ากับเมืองหริภุญไชย แต่สุดท้ายก็พ่ายให้กับสองโอรสฝาแฝดของพระนางจามเทวี
จากเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า เวียงเจ็ดลิน มีการพัฒนาและเจริญมาในระดับหนึ่งในเชิงดอยสุเทพ และจากตำนานชี้ให้เห็นว่า การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในดินแดนนี้มาเนิ่นนานแล้ว
เวียงเจ็ดลินที่เห็นในปัจจุบันนี้ สร้างในสมัยของพญาสามฝั่งแกน ในปี พ.ศ. 1954 เพื่อเป็นป้อมปราการป้องกันเมืองเชียงใหม่ ในคราวที่ท้าวยี่กุมกามพี่ชาย ได้ชักชวนพญาไสลือไทแห่งสุโขทัย ยกทัพมาตีเชียงใหม่ และมาตั้งทัพอยู่บริเวณเชิงดอยเจ็ดลิน อันเป็นบริเวณเวียงเจ็ดลิน
เมืองเชียงใหม่ จึงทำการตั้งกองทัพ โดยใช้เกวียน 200 เล่มตั้งเรียงรายจากแจ่งหัวลินไปทางเชิงดอยเจ็ดลิน ทำให้พญาไสลือไท มีความเกรงกลัวจึงยกทัพหนีกลับไปยังสุโขทัย ทำให้พญาสามฝั่งแกน เอาเหตุอันที่พญาไสลือไท พ่ายกลับไป จึงสร้างเวียงยังที่ตั้งทัพนั้นเอง การสร้างเวียงเจ็ดลินใช้ผังเมืองเป็นรูปวงกลม เพราะเวลามีข้าศึก จากศูนย์กลางไปยังกำแพงเมืองจะใช้เวลาพอ ๆ กันทุกทิศทาง ทำให้การป้องกันเมืองทำได้สะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การศึกบริเวณดอยเจ็ดลินครั้งนี้ ทำให้ก่อให้เกิดตำแหน่งขุนนาง หนึ่งในสี่ขุนนางสำคัญ นั่นคือตำแหน่ง “เด็กชาย” นอกเหนือจากตำแหน่ง “สามล้าน – แสนพิงไชย – จ่าบ้าน” ด้วยเหตุที่มีหนุ่มวัย 16 ผู้หนึ่งนาม "เพ็กยส" มีความกล้าหาญไปสอดแนมทัพของท้าวยี่กุมกามและพญาไสลือไท และได้ตัดหัวข้าศึกมาถวาย พญาสามฝั่งแกนจึงให้ตำแหน่งเป็น “เด็กชาย” สืบมาถึงปัจจุบัน
เมื่อพญาสามฝั่งแกนสร้างเวียงเจ็ดลินแล้ว ก็ใช้เป็นที่ประทับพักผ่อน และได้ประทับที่เวียงนี้มากกว่าที่จะประทับอยู่ในเวียงเชียงใหม่ จนเป็นเหตุให้ท้าวลก ได้ลุกมาชิงอำนาจเป็นพระเจ้าติโลกราชได้
เวียงเจ็ดลินก็ยังมีความสำคัญอยู่เสมอมา ด้วย “น้ำ” ที่เวียงเจ็ดลินนี้ ถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ อนึ่งได้รับน้ำจากดอยสุเทพ และ ศูนย์กลางของเมืองก็ยังเป็นแหล่งน้ำผุด และมีรสชาติโอชา ในสมัยของพญายอดเชียงราย ได้นำน้ำจากเวียงเจ็ดลิน มาทำน้ำอบเพื่อส่งไปเป็นน้ำสรงพระธาตุดอยตุง
ในสมัยของพระมหาเทวีจิระประภา พระไชยราชากษัตริย์แห่งอยุธยา ได้ยกทัพเพื่อมาตีเมืองเชียงใหม่ แต่ด้วยนโยบายทางการเมืองของพระมหาเทวี จึงได้ผูกไมตรีเป็นพันธมิตรกับพระไชยราชา และได้พาเสด็จมายังเวียงเจ็ดลินนี้ด้วยเช่นกัน
เวียงเจ็ดลินยังมีความสำคัญมาจนถึงสมัยของเจ้าเจ็ดตน ดังสมัยของเจ้าหลวงพุทธวงศ์ (พ.ศ. 2369 – 2389) ก็มาประทับที่เวียงเจ็ดลิน ในระหว่างที่มีเคราะห์ และในระหว่างปี พ.ศ. 2458 – พ.ศ. 2468 เวียงเจ็ดลินก็ใช้เป็นที่ตั้งของ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ด้วยเช่นกัน