เวลาออมแสง (daylight saving time - DST) หรือ เวลาฤดูร้อน (summer time) เป็นข้อตกลงในการปรับนาฬิกาไปข้างหน้า เพื่อให้มีแสงอาทิตย์ในช่วงเวลาบ่ายมากขึ้นและมีแสงอาทิตย์ในช่วงเวลาเช้ามีน้อยลง โดยปกติแล้วจะปรับไปข้างหน้าหนึ่งชั่วโมง ก่อนจะเข้าฤดูใบไม้ผลิ และปรับกลับหลังในฤดูใบไม้ร่วง เวลาออมแสงในยุคสมัยใหม่ถูกเสนอขึ้นครั้งแรกโดย William Willett นักก่อสร้างชาวอังกฤษ หลายประเทศได้เริ่มใช้เวลาลักษณะนี้นับตั้งแต่นั้น โดยมีรายละเอียดแตกต่างไปตามสถานที่และมีการเปลี่ยนแปลงครั้งคราว
การเลื่อนนาฬิกาของเวลาออมแสงนี้ก่อให้เกิดความท้าทายต่าง ๆ เวลาลักษณะนี้ทำให้การรักษาเวลายุ่งยากขึ้น ก่อความวุ่นวายให้การนัดหมาย การเดินทาง การบัญชี การลงบันทึก อุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรม ระบบที่ใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมากสามารถปรับนาฬิกาของตัวได้อัตโนมัติ แต่การปรับนี้ก็อาจทำได้จำกัดและมีความผิดพลาด โดยเฉพาะเมื่อกฎของเวลาออมแสงเปลี่ยน
ระบบเวลาออมแสงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีช่วงแสงสว่างที่ "เหมาะสม" ตามความต้องการของท้องถิ่น โดยปรับนาฬิกาให้เข้ากับการขึ้นลงของดวงอาทิตย์ ซึ่งเปลี่ยนไปตามฤดู ตามความเอียงของแกนโลก
ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เริ่มทำการปรับเวลาออมแสงแตกต่างจากประเทศอื่นโดย เริ่มต้น 3 อาทิตย์ก่อนเวลาออมแสงปกติ และสิ้นสุด 1 อาทิตย์หลังเวลาออมแสงปกติ ซึ่งลงชื่อรับรองโดยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2548
ในภาษาอังกฤษ daylight saving time บางครั้งอาจเขียนเชื่อมกันด้วย - เป็น daylight-saving time 'saving' ในที่นี้เป็น adjective เหมือนกับในคำว่า labor saving device (เครื่องทุ่นแรง, เครื่องประหยัดแรง) ส่วนการใช้คำอื่น ๆ เช่น daylight savings time, daylight savings, และ daylight time ก็พบเห็นได้ทั่วไป โดย 'savings' ในที่นี้เป็นการเปรียบเหมือนใน savings account (บัญชีออมทรัพย์) ในข้อเสนอต้นฉบับของ Willett นั้น ใช้ศัพท์ว่า daylight saving แต่ใน ค.ศ. 1911 คำว่า summer time ก็ได้มาแทนที่คำว่า daylight saving time ในร่างกฎหมายในสหราชอาณาจักร
ชื่อเขตเวลานั้นมักจะเปลี่ยนไปเมื่อใช้เวลาออมแสง ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันแทนที่คำว่า standard (มาตรฐาน) ด้วย daylight (ออมแสง): เช่น Pacific Standard Time (PST) กลายเป็น Pacific Daylight Time (PDT) ภาษาอังกฤษแบบบริเตนใช้ summer (ฤดูร้อน): เช่น Greenwich Mean Time (GMT) กลายเป็น British Summer Time (BST) ตัวย่อนั้นไม่ได้เปลี่ยนตามเสมอ เช่น ชาวออสเตรเลียจำนวนมาก (แม้ไม่ทั้งหมด) เรียก Eastern Standard Time (EST) กลายเป็น Eastern Summer Time (ซึ่งย่อว่า EST เช่นกัน)