เรดอน (อังกฤษ: Radon) คือธาตุเคมีที่มีหมายเลขอะตอม 86 และสัญลักษณ์คือ Rn เรดอนเป็นธาตุกัมมันตรังสีที่เป็นก๊าซเฉื่อย (radioactive noble gas) ได้จากการแยกสลายธาตุเรเดียม เรดอนเป็นก๊าซที่หนักที่สุดและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไอโซโทปของเรดอนคือ Rn-222 ใช้ในงานรักษาผู้ป่วยแบบเรดิโอเธอราปี (radiotherapy) ก๊าซเรดอนที่สะสมในบ้านเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดและทำให้ผู้ป่วยในสหภาพยุโรปเสียชีวิตปีละ 20,000 คน
เรดอนถูกสร้างขึ้นโดยผ่านกระบวนการอีกขั้นหนึ่งของการย่อยสลายธาตุกัมมันตรังสีทั่วไป โดยที่ธอเรียมและยูเรเนียมซึ่งเป็นธาตุกัมมันตภาพดึกดำบรรพ์ที่มีอยู่ตั้งแต่ครั้งที่โลกเริ่มก่อตัวขึ้น ได้เกิดการสลายตัวของธาตุและให้ผลเป็นธาตุเรเดียม และการสลายตัวของเรเดียมจึงทำให้เกิดธาตุเรดอน ซึ่งเมื่อเรดอนสลายตัว ก็ทำให้เกิดธาตุ radon daughter อันเป็นชื่อเรียกของธาตุกัมมันตรังสีใหม่ที่ได้มา ซึ่งต่างจากเรดอนที่มีสถานะเป็นแก๊ซตรงที่มีสถานะเป็นของแข็งและเกาะติดกับพื้นผิว
เรดอนจัดเป็นก๊าซเฉื่อยที่ไร้รส สี และกลิ่น ไม่สามารถตรวจจับได้ด้วยผัสสะสัมผัสของมนุษย์ ในอุณหภูมิและความดันมาตรฐาน เรดอนจะมีสภาพเป็นก๊าซอะตอมเดี่ยวที่มีความหนาแน่นเท่ากับ 9.73 กิโลกรัม/เมตร3, มากกว่าความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศโลกที่ระดับน้ำทะเลประมาณ 8 เท่า
เรดอนจะสามารถสังเกตเห็นได้เมื่อนำไปแช่เย็นในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ซึ่งจะเปล่งแสงเป็นสีเหลืองไปถึงแดงส้มแปรผันตามอุณหภูมิที่ลดลง ด้วยสาเหตุจากการแผ่รังสีที่เข้มข้นขึ้น
เรดอนสามารถละลายในน้ำได้ ซึ่งสามารถละลายได้มากกว่าเมื่อเทียบกับก๊าซมีตระกูลชนิดอื่น และละลายได้ดีกว่าในของเหลวชีวภาพเมื่อเทียบกับการละลายในน้ำ
เรดอนจัดเป็นสมาชิกของกลุ่มธาตุวาเลนซ์เป็นศูย์หรือถูกเรียกว่ากลุ่มก๊าซมีตระกูล ในการดึงอีเล็กตรอนหนึ่งๆออกจากเปลือกต้องใช้พลังงานไอออไนเซชัน 1037 กิโลจูล/โมล เรดอนมีอิเล็กโตรเนกาทิวิตีต่ำกว่าซีนอนอ้างอิงจากตารางธาตุ ดังนั้นจีงเกิดปฏิกิริยาได้มากกว่า
การทดลองเกี่ยวกับธาตุเรดอนนั้นมีน้อยเนื่องด้วยปัจจัยทางด้านค่าใช้จ่ายที่สูงกอปรกับเป็นธาตุกัมมันตรังสี เรดอนสามารถออกซิไดซ์ได้ด้วยตัวออกซิ ไดซ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างฟลูออรีนซึ่งจะทำให้เกิดเรดอนไดฟลูออรีน อันสามารถแยกส่วนกลับไปสู่ธาตุเดิมได้ในอุณหภูมิที่มากกว่า 250 องศาเซลเซียส เรดอนมีระดับการระเหยเป็นไอที่ต่ำและถูกเชื่อว่าเป็น RnF2
เนื่องจากเรดอนมีครึ่งชีวิตที่สั้นและสารประกอบที่มีกัมมันตภาพรังสีจึงทำให้การตรวจสอบรายละเอียดของสารประกอบทำได้ยาก ทำให้มีเพียงข้อตั้งทางทฤษฎีที่คาดว่าเรดอนน่าจะมีระยะระหว่างพันธะ Rn-F เป็น 2.08 ? และสารประกอบมีอุณหพลศาสตร์ที่คงที่และผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ XeF2 .
เรดอนไม่มีไอโซโทปคงที่ โดยทั่วไปจะมีไอโซโทปกัมมันตรังสี 36 ตัว ที่มีมวลอะตอมตั้งแต่ 193 ถึง 228 ประกอบเข้าด้วยกัน ไอโซโทปตัวคงที่ที่สุดของเรดอนคือ 222Rn อันเป็นไอโซโทปที่ได้จากการสลายตัวของเรเดียม-226 หรือจากการสลายตัวของยูเรเนียม-238 มีไอโซโทป 3 ตัวที่มีครึ่งชีวิตเพียงหนึ่งชั่วโมงกว่าอันได้แก่ 211Rn, 210Rn และ 224Rn
ไอโซโทปตัวอื่นๆที่มีครึ่งชีวิตสั้นได้แก่ 220Rn เป็นไอโซโทปที่ได้จากการสลายตัวของธอเรียม-232 ซึ่งเป็นไอโซโทปตัวคงที่ที่สุดของธาตุธอเรียม เรียกโดยทั่วไปว่า"ธอรอน"อันมีครึ่งชีวิตอยู่ที่ 55.6 วินาทีและยังปล่อยรังสีอัลฟาออกมา เช่นเดียวกับ 219Rn ที่เป็นผลผลิตจากไอโซโทปของธาตุแอคติเนียมตัวที่ 227 ซึ่งเป็นไอโซโทปตัวคงที่ที่สุด เรียกโดยทั่วไปว่า"แอคตินอน"อันมีครึ่งชีวิตอยู่ที่ 3.96 วินาทีและปล่อยรังสีอัลฟาเช่นกัน
ในตอนแรกเรดอนมีหลายชื่อที่ใช้เรียก โดย "เอ็กซ์ราดิโอ"ถูกใช้เรียกในช่วงปีคริสต์ศักราช 1904 และต่อมาได้มีการเสนอชื่อให้ใช้"เรดอน"ในปีคริสต์ศักราช 1918 และ"เรดิออน"ในปีคริสต์ศักราช 1919 แต่ในท้ายที่สุดแล้ว เรดอนก็ถูกเลือกให้เป็นชื่อที่ใช้เรียกแก๊ซชนิดนี้ตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช 1920 และในปีคริสต์ศักราช 1923 คณะกรรมการจาก IUPAC ได้คัดเลือกให้ใช้ชื่อเรดอนธาตุนี้
เรดอนจัดเป็นธาตุกัมมันตรังสีธาตุที่ 5 ที่มีการค้นพบถัดจากยูเรเนียม ธอเรียม เรเดียม และ โปโลเนียม ย้อนกลับไปในช่วงปีคริสต์ศักราช 1900 เฟเดอริช เอิร์นส์ ดอร์นได้ให้รายงานเกี่ยวกับการทดลองว่าด้วยเรื่องส่วนประกอบของธาตุเรเดียมได้ปล่อยแก๊ซกัมมันตภาพรังสีออกมา ซึ่งเขาเรียกมันว่า เรเดียม อีมาเนชัน(Ra Em) ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีรายงานของดอร์ม ปิแอร์ คูรี และ มารี คูรี ได้สังเกตเห็นว่ามีมีก๊าซถูกปล่อยออกมาจากกระบวนการสลายตัวของเรเดียม และคงกัมมันตภาพรังสีเป็นเวลานานนับเดือน ในช่วงปีคริสต์ศักราช 1899
ในปีคริสต์ศักราช 1910 เซอร์ วิลเลียม แรมซี และ โรเบิร์ต วิทลอว์-เกรย์ แยกเรดอนได้สำเร็จ และประมาณค่าความหนาแน่นและให้ประมาณค่าเรดอนว่าเป็นก๊าซที่หนักที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ ซึ่งผลที่ได้นี้ได้รับการรับรองจาก CIAAW ในปีคริสต์ศักราช 1912
เรดอนก่อตัวขึ้นจากกระบวนการสลายตัวของเรเดียม-226 ซึ่งพบได้ในแร่ยูเรเนียม หินฟอสเฟต หินดินดาน หินอัคนี หินแปรบางชนิดอย่างหินแกรนิต หินไนส์ เป็นต้น และหินทั่วๆไปอย่างเช่นหินอ่อนเองบางทีก็มีเรเดียม-226 เป็นส่วนประกอบอยู่ แต่มักจะพบในปริมาณที่น้อย
ในบริเวณ1ตารางไมล์บนพื้นผิวของโลก ลึกลงไป 6-15 นิ้ว จะมีธาตุเรเดียมอยู่ประมาณ 1 กรัม ซึ่งจะปล่อยก๊าซเรดอนในปริมาณไม่มากออกมาสู่ชั้นบรรยากาศของโลก
ด้วยเหตุนี้ทำให้สามารถพบเรดอนได้ในหลายๆที่ด้วยกันบนภาคพื้นดินในปริมาณตั้งแต่ 1 ถึง 100 แบ็กแรล/เมตร3 และเหนือผิวมหาสมุทรประมาณ 0.1 แบ็กแรล/เมตร3 แต่จะสามารถตรวจพบได้ในปริมาณที่มากในเขตเหมืองและถ้ำ โดยปริมาณที่ตรวจพบมีประมาณตั้งแต่ 20 ไปจนถึง 2,000 แบ็กแรล/เมตร3.