เทศบาลเมืองอโยธยา หรือ เมืองอโยธยา ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอดีต คือ เมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งตั้งมาก่อนที่จะมีการตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยเมืองอโยธยา มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรละโว้ในอดีต โดยเมืองได้เสื่อมอำนาจลงเนื่องจากการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรขอม
เมืองอโยธยา มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 8.4 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลไผ่ลิง 7 หมู่ ตำบลคลองสวนพลู 2 หมู่ และตำบลหันตรา 1 หมู่
เทศบาลเมืองอโยธยาได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบลอโยธยาเป็นเทศบาลเมืองอโยธยา ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 มาตรา 10 "เทศบาลเมืองได้แก่ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่หนึ่งหมื่นคนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย"
พื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบ ไม่มีป่า ไม่มีภูเขา อยู่นอกเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา โดยมีสะพานสมเด็จพระนเรศวร และสะพานปรีดีธำรงทอดข้ามแม่น้ำป่าสัก เป็นจุดเชื่อมที่จะข้ามฝั่งจากเกาะเมือง ซึ่งเป็นเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เข้าสู่เทศบาลเมืองอโยธยา และมีทางรถไฟจากกรุงเทพมหานคร มุ่งสู่สายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแนวแบ่งเขตพื้นที่ของเทศบาลทั้งสองเทศบาล เมืองอโยธยา ยังมีลำคลองไหลผ่านหลายสาย อาทิ คลองปากข้าวสาร คลองดุสิต คลองหันตรา คลองกระมัง คลองกุฎีดาว คลองเตาอิฐ คลองไผ่ลิง คลองมเหยงค์ เป็นต้น
ดวงตราที่เป็นรูปวงกลมมีเครื่องขอบเบื้องบนระบุข้อความว่า "เทศบาลเมืองอโยธยา" และมีกิ่งใบโพธิ์ปรกลงมา ตรงกลางเป็นรูปวิหารและพระปรางค์ 3 องค์ ส่วนขอบเบื้องล่างเป็นรูปกำแพงเมือง และระบุข้อความว่า "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา " เหตุผลในการกำหนดรูปเครื่องหมายตามแบบก็คือบริเวณพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตเทศบาลเมืองอโยธยานั้นมีประวัติความเป็นมาว่า เป็นที่ตั้งเมืองอโยธยาในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของประเทศไทย และในสมัยนั้น ประชาชนชาวไทยมีความเป็นอยู่ด้วยความสงบสุขและมีความมั่นคั่งสมบูรณ์จึงได้สร้างวัดวาอารามขึ้นมากมายซึ่งในปัจจุบันนี้ วัดวาอารามที่สร้างขึ้นในสมัยก่อน ก็ยังคงมีปรากฏแก่สายตาเป็นโบราณสถานโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และทางสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก
ฉะนั้นการที่นำเอารูปวิหารและพระปรางค์ 3 องค์ มาเป็นแบบเครื่องหมายของเทศบาลเมืองอโยธยาก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงความหมายทางประวัติศาสตร์ และให้เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง ความสมบูรณ์พูนสุขของเทศบาล และประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลในปัจจุบันและในอนาคตต่อไป
สำหรับกิ่งใบโพธิ์ที่ปรกลงมานั้นก็เพื่อเป็นตราสัญลักษณ์ของความร่มเย็นเป็นสุขที่เทศบาลจะพึงให้แก่ประชาชนในโอกาสต่อไป
ส่วนกำแพงเมืองในขอบวงกลมเบื้องล่างนั้น ให้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นระเบียบเรียบร้อยในเขตเมืองอโยธยา