เมืองฉอด เป็นชื่อเมืองในอดีตปรากฏในเอกสารของกองทัพในสมัยโบราณ ซึ่งปัจจุบันสันนิษฐานว่า คือ เมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมย ซึ่งคืออำเภอแม่สอดอยู่ในจังหวัดตาก จากจารึกประวัติศาสตร์ที่สลักไว้เพียงไม่กี่บรรทัดบนแท่งศิลา สามารถบรรยายความเป็นเมืองได้อย่างถ่องแท้ของดินแดนสุดสยามปัจจิมริมแม่น้ำเมย เมืองเกิดขึ้นในสังคมไทยตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ที่มีการจารึกเรื่องราวเป็นหลักฐาน แม้ว่าเมืองจะมีความหมายแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อม และความเป็นเมืองดำรงอยู่ในสังคมไทยมานานหลายศตวรรษแล้วก็ตาม
เมืองฉอดแต่เดิมชาวไทยใหญ่พากันเรียกว่า "เมืองจอด" ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า มีท่าจอดเรือ ตรงปากน้ำคง หรือแม่น้ำสาละวินในปัจจุบัน เวลาต่อมาชาวไทยในอดีตจึงเรียกกันเพี้ยนไปเป็น "เมืองฉอด" หรืออีกประการหนึ่งชาวไทยที่อพยพมาจากอาณาจักรน่านเจ้าพากันมาชุมนุมข้ามเรือกัน ณ ที่ตรงนี้ แล้วจึงเดินทางไปในประเทศพม่า มอญ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาณาจักรแสนหวี ตรงนี้จึงพากันเรียก "เมืองจอด" ในครั้งนั้น
ข้อสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะกองทัพ ของขุนเสือขวัญฟ้า และขุนสามหลวงยกมาตีไทยลานนาครั้งนั้น ข้ามมาตีทางด้านนี้ จึงพากันเรียกว่า "เมืองจอด" อาจจะเป็นได้ เพราะเหตุการณ์สำคัญ ๆ มีเพียงสองครั้ง
ในปัจจุบันสันนิษฐานว่าคำว่า "ฉอด" อาจเรียกต่อ ๆ กันมาจนเพี้ยนเป็น "สอด" เป็นที่มาของชื่อ "แม่สอด" ในปัจจุบันอีกประการหนึ่ง
เมืองฉอดมีพ่อขุนจันคำเหลือง เป็นหัวหน้า เจ้าแตงอ่อน (เจ้ามุกขวดี) เป็นศรีเมือง (ชายา) ต่อมามีราชบุตร 2 พระองค์ คือ พ่อขุนสามชน กับพ่อขุนพุฒวงษ์ยนต์หงษ์ เมื่อพ่อขุนจันคำเหลืองสวรรคตแล้ว พ่อขุนสามชนราชบุตรองค์ใหญ่ได้สืบราชสมบัติในเมืองฉอดแทนพระราชบิดา ต่อมามีเจ้าแม่มโนราห์เป็นศรีเมือง (ชายา)
พ่อขุนสามชนสืบราชสมบัติต่อมาไม่นานนัก ก็ทรงเริ่มกระทำสงครามแผ่ขยายอาณาเขต และด้วยพ่อขุนสามชนเป็นขุนศึกเชี่ยวชาญเชิงยุทธ ในการสงครามอยู่มากทั้งน้ำพระทัย ก็ทรงมีความโอบอ้อมอารีย์ รักไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เอาใจใส่ดูแลขุนนาง ข้าราชการในเมืองฉอดแบบพ่อกับลูก ไพร่ฟ้าจึงรักใคร่นับถือยำเกรงท่านมาก ยิ่งกว่านั้น พอถึงวันธรรมสวนะ ก็ทรงสั่งสอนในเรื่องของธรรมแก่ราษฎรมิได้ขาด ยังปรากฏพระแท่นอาสนะ และพระพุทธรูปอยู่ทุกวันนี้
พ่อขุนสามชนได้ขยายอาณาเขต ออกไปจนกว้างใหญ่ไม่น้อย คือ ขยายออกมาทางบ้านแม่ตื่นสามหมื่น ซึ่งเป็นเมืองที่ท่านอยู่อาศัย ลงมาทางแม่ระมาด บ้านพะหน่อเก (วัดดอนแก้ว ในแม่สอดปัจจุบัน) เลยไปถึงบ้านแม่โกนเกน ผาลู เมืองเก่าของท่าน ยังมีเจดีย์เก่า ๆ อยู่ในป่า ไกลจากแม่ระมาดไปทางแม่ตื่นสามหมื่น ประมาณ 2 กิโลเมตร แผ่นดินใหญ่ปรากฏ และทางวัดแม่ต้านก็รักษาไว้จนถึงทุกวันนี้