เหมา เจ๋อตง (จีน: 毛泽东; พินอิน: Máo Zédōng; 26 ธันวาคม ค.ศ. 1893 – 9 กันยายน ค.ศ. 1976) หรือที่รู้จักในนาม ประธานเหมา เป็นนักการเมือง นักทฤษฎีการเมือง และนักปฏิวัติชาวจีน ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาเป็นผู้นำประเทศนับตั้งแต่ก่อตั้งใน ค.ศ. 1949 กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1976 เหมายังดำรงตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ ค.ศ. 1943 กระทั่งถึงแก่อสัญกรรม และเป็นผู้นำโดยพฤตินัยพรรคตั้งแต่ ค.ศ. 1935 ทฤษฎีของเขาซึ่งเขาเสนอว่าเป็นการนำลัทธิมากซ์–เลนินมาปรับใช้กับจีนเรียกว่าลัทธิเหมา
เหมาเป็นลูกชายของชาวนาในเฉาชาน มณฑลหูหนาน เขารับอิทธิพลในช่วงต้นชีวิตจากเหตุการณ์การปฏิวัติซินไฮ่ใน ค.ศ. 1911 และขบวนการ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 ที่สนับสนุนลัทธิชาตินิยมจีนและต่อต้านจักรวรรดินิยม ต่อมาเขายอมรับลัทธิมากซ์–เลนินขณะทำงานเป็นบรรณารักษ์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และใน ค.ศ. 1921 เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังสงครามกลางเมืองจีนระหว่างก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1927 เหมานำกำลังก่อการกำเริบฤดูเก็บเกี่ยวแต่ล้มเหลวและก่อตั้งโซเวียตเจียงซีขึ้น ณ ที่นั้นเขาช่วยก่อตั้งกองทัพแดงจีนและพัฒนายุทธวิธีการรบแบบกองโจร ใน ค.ศ. 1935 เหมาก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนระหว่างการเดินทัพทางไกล แม้ในช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง คอมมิวนิสต์จีนจะร่วมมือกับก๊กมินตั๋งภายใต้แนวร่วมที่สอง แต่หลังญี่ปุ่นยอมจำนนใน ค.ศ. 1945 สงครามกลางเมืองจีนก็กลับมาดำเนินอีกครั้ง กองทัพของเหมาสามารถเอาชนะรัฐบาลชาตินิยม ทำให้ต้องถอนทัพไปยังไต้หวันใน ค.ศ. 1949
วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 เหมาประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐพรรคการเมืองเดียวที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขาริเริ่มการปฏิรูปที่ดินและขยายอุตสาหกรรม ปราบปรามกลุ่มต่อต้านปฏิวัติ แทรกแซงสงครามเกาหลี และเริ่มต้นการรณรงค์ร้อยบุปผาและต่อต้านฝ่ายขวา ใน ค.ศ. 1958 เหมาเปิดตัวนโยบายก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของจีนจากเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การเกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในจีน ใน ค.ศ. 1966 เหมาริเริ่มการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นขบวนการเพื่อขจัด "ศัตรูการปฏิวัติ" โดยมีลักษณะเด่นคือการต่อสู้ระหว่างชนชั้นอย่างรุนแรง การทำลายโบราณวัตถุ และการยกย่องบูชาเหมาอย่างสุดโต่ง ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 นโยบายต่างประเทศของเหมาถูกครอบงำด้วยความแตกแยกทางการเมืองกับสหภาพโซเวียต และในทศวรรษ 1970 เขาเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้จีนยังมีส่วนเกี่ยวในสงครามเวียดนามและสงครามกลางเมืองกัมพูชา ใน ค.ศ. 1976 เหมาถึงแก่อสัญกรรมหลังเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหลายครั้ง เขาถูกสืบทอดตำแหน่งผู้นำโดยฮฺว่า กั๋วเฟิง และใน ค.ศ. 1978 โดยเติ้ง เสี่ยวผิง การประเมินอย่างมรดกของเหมาเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งยกย่องและยอมรับว่าเขากระทำผิดพลาดในช่วงบั้นปลายชีวิต
เหมาถือเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 นโยบายของเขาก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตจำนวนมหาศาล มีการประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากความอดอยาก การถูกกดขี่ข่มเหง การใช้แรงงานทาส และการประหารชีวิตหมู่ตั้งแต่ 40 ล้านไปจนถึง 80 ล้านคน และระบอบการปกครองของเขาถูกอธิบายว่าเป็นระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ เขายังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เปลี่ยนประเทศจีนจากประเทศกึ่งอาณานิคมให้กลายเป็นมหาอำนาจชั้นนำของโลกผ่านการส่งเสริมการรู้หนังสือ สิทธิสตรี การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน การศึกษาขั้นพื้นฐาน และอายุขัยเฉลี่ยของประชาชน ภายใต้การนำของเหมา ประชากรของจีนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 550 ล้านเป็นกว่า 900 ล้านคน ภายในประเทศจีน เขาได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษของชาติ ผู้ปลดปล่อยประเทศจากการยึดครองและการกดขี่จากต่างชาติ เขากลายเป็นผู้นำทางอุดมการณ์และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดองค์กรลัทธิเหมาจำนวนมาก
เหมา เจ๋อตง เกิดเมื่อ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1893 ใกล้หมู่บ้านเฉาชาน มณฑลหูหนาน บิดาของเขาคือเหมา อี๋ชาง เดิมทีเป็นชาวนายากจนแต่ต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ร่ำรวยที่สุดในหมู่บ้าน เมื่อเติบโตขึ้นในชนบทของหูหนาน เหมาเล่าถึงบิดาของตนว่าเป็นผู้บังคับบัญชาที่เข้มงวด ซึ่งมักจะลงโทษด้วยการตีทั้งตัวเขาเองและพี่น้องอีกสามคน ได้แก่ เหมา เจ๋อหมิน เหมา เจ๋อถาน และเหมา เจ๋อเจี้ยน น้องสาวบุญธรรมหรือลูกพี่ลูกน้อง มารดาของเหมาคือเหวิน ชีเม่ย์/ซู่ฉิน เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดผู้พยายามบรรเทาความเข้มงวดของสามี เหมาเองก็เคยเข้ารีตเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ละทิ้งความเชื่อนี้ไปเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนกลาง เมื่ออายุได้ 8 ปี เหมาถูกส่งไปศึกษาที่โรงเรียนประถมศึกษาเฉาชาน หลังศึกษาค่านิยมลัทธิขงจื๊อแล้ว เขายอมรับในภายหลังว่าไม่ชื่นชอบตำราจีนโบราณที่สอนหลักคุณธรรมขงจื๊อ แต่กลับชอบวรรณกรรมคลาสสิกอย่างสามก๊กและซ้องกั๋งมากกว่า เมื่ออายุได้ 13 ปี เหมาสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และบิดาของเขาจัดให้เขาแต่งงานแบบคลุมถุงชนกับหลัว อีซิ่ว หญิงสาววัย 17 ปีเพื่อรวมฐานะทางที่ดินของทั้งสองตระกูลเข้าด้วยกัน เหมาปฏิเสธจะยอมรับนางเป็นภรรยา กลายเป็นผู้วิจารณ์การคลุมถุงชนอย่างรุนแรงและย้ายหนีออกไปชั่วคราว หลัวเสียชื่อเสียงในท้องถิ่นและถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1911 ขณะอายุเพียง 20 ปี
ขณะทำงานในไร่ของบิดา เหมาอ่านหนังสืออย่างกระหาย และพัฒนา "สำนึกทางการเมือง" จากจุลสารของเจิ้ง กวานอิง ที่คร่ำครวญถึงการเสื่อมถอยของอำนาจจีนและสนับสนุนการนำระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนมาใช้ เหมายังอ่านงานแปลของนักเขียนชาวตะวันตกหลายคน อาทิ อดัม สมิธ มงแต็สกีเยอ ฌ็อง-ฌัก รูโซ ชาลส์ ดาร์วิน และทอมัส ฮักซ์ลีย์: 34 ด้วยความสนใจในประวัติศาสตร์ เหมาจึงรับแรงบันดาลใจจากความสามารถทางทหารและความรักชาติอันแรงกล้าของจอร์จ วอชิงตันและนโปเลียน โบนาปาร์ต มุมมองทางการเมืองของเขาได้รับการหล่อหลอมจากการประท้วงที่นำโดยสมาคมเกอเหล่าฮุ่ย ซึ่งปะทุขึ้นหลังเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงในฉางชา เมืองหลวงของมณฑลหูหนาน เหมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง แต่กองกำลังติดอาวุธได้ปราบปรามผู้เห็นต่างและประหารชีวิตผู้นำของพวกเขา ความอดอยากขยายวงไปถึงเฉาชาน ทำให้ชาวนาที่อดอยากปล้นข้าวของบิดาของเขาไป เขาไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพวกเขาเพราะมองว่าผิดศีลธรรม แต่กลับอ้างว่าเห็นใจในสถานการณ์ของพวกเขา เมื่ออายุได้ 16 ปี เหมาย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนประถมศึกษาตอนปลายในตงชานซึ่งอยู่ใกล้เคียง ที่นั่นเขาถูกกลั่นแกล้งและดูถูกเพราะมีพื้นเพเป็นชาวนา
ใน ค.ศ. 1911 เหมาเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในฉางชา ความรู้สึกปฏิวัติก่อกวนใจประชาชนในเมืองอย่างมาก มีการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจักรพรรดิผู่อี๋อย่างกว้างขวาง และมีผู้คนจำนวนมากสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐ ผู้นำฝ่ายสาธารณรัฐคือซุน ยัตเซน คริสเตียนผู้ได้รับการศึกษาในสหรัฐ ผู้นำสมาคมถงเหมิงฮุ่ย ในฉางชา เหมาได้รับอิทธิพลจากหนังสือพิมพ์ของซุนคือหมินลี่เป้า (อิสรภาพของประชาชน) และเรียกร้องให้ซุนขึ้นเป็นประธานาธิบดีในเรียงความที่โรงเรียน ในฐานะสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านจักรพรรดิแมนจู เหมาและเพื่อนของเขาได้ตัดเปีย สัญลักษณ์แห่งความอ่อนน้อมต่อจักรพรรดิออกไป
ด้วยแรงบันดาลใจจากอุดมการณ์สาธารณรัฐของซุน กองทัพในภาคใต้ของจีนได้ลุกขึ้นต่อสู้ จุดชนวนให้เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ ผู้ว่าการฉางชาหลบหนี ปล่อยให้เมืองตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายสาธารณรัฐ ด้วยความเห็นพ้องกับการปฏิวัติ เหมาเข้าร่วมกองทัพกบฏในฐานะพลทหาร แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการปะทะหรือสู้รบโดยตรง มณฑลทางเหนือยังคงภักดีต่อจักรพรรดิ และด้วยความหวังที่จะเลี่ยงสงครามกลางเมือง ซุน ผู้ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็น "ประธานาธิบดีเฉพาะกาล" โดยผู้สนับสนุนของเขาจึงทำข้อตกลงกับยฺเหวียน ชื่อไข่ แม่ทัพฝ่ายกษัตริย์ การปกครองระบอบกษัตริย์ถูกยกเลิก ทำให้เกิดสาธารณรัฐจีนขึ้น แต่ยฺเหวียนผู้สนับสนุนระบอบกษัตริย์ได้กลายเป็นประธานาธิบดี เมื่อการปฏิวัติจบลง เหมาออกจากกองทัพใน ค.ศ. 1912 หลังเป็นทหารได้หกเดือน ราวช่วงเวลานี้ เหมาค้นพบลัทธิสังคมนิยมจากบทความในหนังสือพิมพ์ ต่อมาเขาอ่านจุลสารของเจียง คั่งหู่ นักศึกษาผู้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมจีน เหมาให้ความสนใจแนวคิดนี้แต่ยังไม่ปักใจเชื่อมั่นอย่างเต็มที่
ในช่วงไม่กี่ปีต่อมา เหมาเข้าเรียนและลาออกจากสถาบันต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ โรงเรียนตำรวจ โรงเรียนผลิตสบู่ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนเศรษฐศาสตร์ และโรงเรียนมัธยมฉางชา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นศึกษาด้วยตนเอง เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องสมุดฉางชา อ่านงานเขียนสำคัญของลัทธิเสรีนิยมคลาสสิก เช่น ความมั่งคั่งของประชาชาติ ของอดัม สมิธ และเจตนารมณ์ของกฎหมาย ของมงแต็สกีเยอ รวมถึงผลงานของนักวิทยาศาสตร์และปรัชญาชาวตะวันตกคนอื่น ๆ เช่น ดาร์วิน มิลล์ รูโซ และสเปนเซอร์ เมื่อมองตนเองว่าเป็นปัญญาชน หลายปีต่อมาเขายอมรับว่าในเวลานั้นเขาคิดว่าตนเองเหนือกว่าแรงงาน เขาได้รับแรงบันดาลใจจากฟรีดริช พอลเซน นักปรัชญาและนักการศึกษาแนวนีโอ-คานเทียน ผู้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน นำไปสู่ความเชื่อของเหมาว่าบุคคลที่เข้มแข็งไม่จำเป็นต้องผูกมัดด้วยหลักศีลธรรม แต่ควรมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ บิดาของเขาไม่เห็นประโยชน์ในการแสวงหาความรู้ของบุตรชาย จึงตัดเงินค่าใช้จ่ายและบังคับให้เขาไปอยู่ในหอพักสำหรับคนยากไร้
เหมามีความใฝ่ฝันจะเป็นครู จึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูฉางชาที่ 4 ซึ่งในเวลาต่อมาได้ยุบรวมกับโรงเรียนฝึกหัดครูหูหนานที่ 1 ที่นี่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในมณฑล เมื่ออาจารย์หยาง ชางจี้ สนิทสนมกับเหมา เขาก็แนะนำให้เหมาอ่านหนังสือพิมพ์หัวรุนแรงฉบับหนึ่งชื่อว่าซินชิงเหนียน (เยาวชนใหม่) ผลงานของเฉิน ตู๋ซิ่ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เพื่อนของเขา แม้เขาจะสนับสนุนลัทธิชาตินิยมจีน แต่เฉินก็ให้เหตุผลว่าจีนต้องหันไปมองตะวันตกเพื่อชะล้างความงมงายและระบอบเผด็จการ ในปีแรกของการศึกษา เหมาสานมิตรกับรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อเซียว จื่อเชิง ทั้งสองร่วมกันเดินทางท่องเที่ยวทั่วหูหนาน โดยขอทานและแต่งกลอนคู่เพื่อแลกกับอาหาร
ในฐานะนักศึกษาที่เป็นที่นิยม เหมาได้รับเลือกเป็นเลขาธิการสมาคมนักศึกษาใน ค.ศ. 1915 เขาตั้งสมาคมนักเรียนปกครองตนเองและนำการประท้วงต่อต้านกฎระเบียบของโรงเรียน เหมาตีพิมพ์บทความแรกของเขาลงในซินชิงเหนียนในเดือนเมษายน ค.ศ. 1917 โดยแนะนำให้ผู้อ่านเพิ่มความแข็งแกร่งทางกายเพื่อเข้าร่วมการปฏิวัติ เขาเข้าร่วมสมาคมเพื่อการศึกษาหวัง ฟูจือ กลุ่มปฏิวัติที่ก่อตั้งโดยปัญญาชนชาวฉางชาที่มีความปรารถนาจะเลียนแบบปรัชญาของหวัง ฟูจือ ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1917 เขาได้รับเลือกเป็นผู้บัญชาการกองทัพอาสาสมัครนักเรียน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันโรงเรียนจากกลุ่มทหารที่มาปล้นสะดม ด้วยความสนใจในเทคนิคการสงครามที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เขาจึงให้ความสนใจอย่างมากกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเริ่มพัฒนาความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับแรงงาน เหมาฝึกความอดทนทางกายอย่างหนักร่วมกับเซียว จื่อเชิง และไช่ เหอเซิน และร่วมกับนักปฏิวัติรุ่นใหม่ก่อตั้งสมาคมศึกษาการปฏิรูปประชาชนขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 1918 เพื่ออภิปรายแนวคิดของเฉิน ตู๋ซิ่ว ด้วยความปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม สมาคมนี้จึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้น 70–80 คน หลายคนในจำนวนนี้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ในภายหลัง เหมาจบการศึกษาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1919 โดยมีผลการเรียนอยู่ในลำดับที่สามของรุ่น
เหมาย้ายไปปักกิ่ง ที่ซึ่งอาจารย์หยาง ชางจี้ได้งานใหม่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง หยางเห็นว่าเหมา "ฉลาดและหน้าตาดีเป็นพิเศษ" จึงช่วยให้เขาได้งานเป็นผู้ช่วยของหลี่ ต้าเจา บรรณารักษ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งต่อมาจะเป็นคอมมิวนิสต์จีนคนสำคัญในยุคแรก หลี่เขียนบทความชุดหนึ่งในซินชิงเหนียนเกี่ยวกับการปฏิวัติเดือนตุลาคมในรัสเซีย ซึ่งพรรคบอลเชวิคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของวลาดิมีร์ เลนินได้ยึดอำนาจ เลนินเป็นผู้สนับสนุนทฤษฎีสังคม-การเมืองของลัทธิมากซ์ที่พัฒนาขึ้นครั้งแรกโดยคาร์ล มาคส์ และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน และบทความของหลี่ได้นำเอาลัทธิมากซ์เข้ามาผสมผสานกับหลักคำสอนในขบวนการปฏิวัติของจีน
ในช่วงที่แนวคิดของเหมาเริ่มก้าวเข้าสู่ความสุดโต่งมากยิ่งขึ้นนั้น เขาได้รับอิทธิพลเบื้องต้นจากลัทธิอนาธิปไตยของปีเตอร์ โครปอตกิน ซึ่งเป็นแนวคิดหัวรุนแรงที่เด่นชัดที่สุดในสมัยนั้น นักอนาธิปไตยชาวจีน เช่น ไช่ ยฺเหวียนเผย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เรียกร้องให้มีการปฏิวัติสังคมอย่างสมบูรณ์แบบในเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม โครงสร้างครอบครัว และความเท่าเทียมทางเพศ แทนที่จะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอย่างที่นักปฏิวัติรุ่นก่อนเรียกร้องกัน เขาเข้าร่วมกลุ่มศึกษาของหลี่และ "พัฒนาไปสู่ลัทธิมากซ์อย่างรวดเร็ว" ในช่วงฤดูหนาว ค.ศ. 1919 แม้จะได้รับค่าจ้างน้อยนิด เหมาก็อาศัยอยู่ในห้องแคบ ๆ กับนักศึกษาชาวหูหนานอีกเจ็ดคน แต่เขาเชื่อว่าความงามของปักกิ่ง "ได้ชดเชยให้เขาอย่างคุ้มค่า" เพื่อนของเขาหลายคนใช้ประโยชน์จากขบวนการเรียนรู้ผ่านการทำงาน (Mouvement Travail-Études) ที่จัดตั้งโดยกลุ่มอนาธิปไตย เพื่อไปศึกษาต่อในประเทศฝรั่งเศส แต่เหมาปฏิเสธโอกาสนี้ อาจเป็นเพราะความลำบากในการเรียนรู้ภาษา กระนั้น เหมาได้ระดมทุนสำหรับขบวนการนี้: 35
ที่มหาวิทยาลัย เหมาถูกเพื่อนร่วมชั้นดูถูกเหยียดหยามจากสำเนียงหูหนานอันเป็นชนบทและฐานะที่ต่ำต้อยของเขา เขาเข้าร่วมสมาคมปรัชญาและสื่อสารมวลชนของมหาวิทยาลัย และเข้าร่วมฟังการบรรยายและสัมมนาจากนักวิชาการชื่อดังอย่างเฉิน ตู๋ซิ่ว หู ชื่อ และเฉียน เสฺวียนถง ช่วงเวลาที่เหมาใช้ชีวิตในปักกิ่งสิ้นสุดลงในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1919 เมื่อเขาเดินทางไปเซี่ยงไฮ้พร้อมกับเพื่อนฝูงที่กำลังเตรียมตัวจะไปฝรั่งเศส เขาไม่ได้กลับไปเฉาชาน ที่ซึ่งมารดาของเขากำลังล้มป่วยหนัก เธอเสียชีวิตในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1919 และสามีของเธอก็เสียชีวิตในเดือนมกราคมปีถัดมา
วันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 นักศึกษาในปักกิ่งรวมตัวกันที่เทียนอันเหมินเพื่อประท้วงรัฐบาลจีนที่ต่อต้านการขยายอำนาจของญี่ปุ่นในจีนอย่างอ่อนแอ บรรดาผู้รักชาติต่างรู้สึกโกรธแค้นอย่างมากต่ออิทธิพลที่ญี่ปุ่นได้รับจากข้อเรียกร้องยี่สิบเอ็ดประเด็นใน ค.ศ. 1915 ความร่วมมือของรัฐบาลเป่ย์หยางภายใต้การนำของตฺวั้น ฉีรุ่ย และการทรยศต่อประเทศจีนในสนธิสัญญาแวร์ซายซึ่งญี่ปุ่นได้รับอนุญาตให้ครอบครองดินแดนในมณฑลชานตงต่อจากเยอรมนี การประท้วงเหล่านี้จุดชนวนให้เกิดขบวนการ 4 พฤษภาคมขึ้นทั่วประเทศ และเป็นเชื้อไฟให้เกิดขบวนการวัฒนธรรมใหม่ซึ่งกล่าวโทษความล้มเหลวทางการทูตของจีนว่าเป็นผลจากความล้าหลังทางสังคมและวัฒนธรรม
ในฉางชา เหมาเริ่มสอนประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนประถมศึกษาซิ่วเย่ และจัดการประท้วงต่อต้านจาง จิ้งเหยา ผู้ว่าการมณฑลหูหนานที่สนับสนุนตฺวั้น ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม "จางผู้เป็นพิษ" จากการปกครองที่ทุจริตและรุนแรงของเขา ปลายเดือนพฤษภาคม เหมากับเหอ ชูเหิงและเติ้ง จงเซี่ยร่วมกันก่อตั้งสมาคมนักศึกษาหูหนานขึ้น โดยจัดการนัดหยุดเรียนในเดือนมิถุนายน และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1919 เริ่มตีพิมพ์นิตยสารรายสัปดาห์แนวหัวรุนแรงชื่อเซียงเจียงผิงลุ่น (Xiang River Review) โดยใช้ภาษาพื้นถิ่นที่คนส่วนใหญ่ของจีนเข้าใจง่าย เขาสนับสนุนให้เกิด "การรวมตัวครั้งใหญ่ของมวลชน" และเสริมสร้างสหภาพแรงงานให้มีความสามารถปฏิวัติโดยปราศจากรุนแรง[โปรดขยายความ] แนวคิดของเขาไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์โดยสิ้นเชิง แต่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแนวคิดเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของโครปอตกิน
จางสั่งห้ามสมาคมนักศึกษา แต่เหมายังคงตีพิมพ์ต่อไปหลังรับตำแหน่งบรรณาธิการของนิตยสารแนวเสรีนิยมชื่อซินหูหนาน (New Hunan) และเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยอดนิยมต้ากงเป้า (Ta Kung Pao) บทความหลายชิ้นของเขาสนับสนุนแนวคิดสตรีนิยม เรียกร้องให้มีการปลดปล่อยสตรีในสังคมจีน ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากการแต่งงานที่ถูกบังคับของตนเอง ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1919 เหมาจัดสัมมนาขึ้นที่ฉางชาเพื่อศึกษาประเด็นเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนแนวทางในการรวมพลังประชาชน ความเป็นไปได้ของสังคมนิยม และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับลัทธิขงจื๊อ ในเวลานี้ เหมามีส่วนร่วมในงานการเมืองกับแรงงาน โดยก่อตั้งโรงเรียนภาคค่ำและสหภาพแรงงาน ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1919 เหมาให้ความช่วยเหลือในการจัดการนัดหยุดงานทั่วไปในหูหนาน ซึ่งประสบความสำเร็จในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์บางอย่าง แต่เหมาและผู้นำนักศึกษาคนอื่น ๆ รู้สึกถูกคุกคามจากจาง จึงเดินทางกลับไปปักกิ่ง และไปเยี่ยมหยาง ชางจี้ที่กำลังป่วยหนัก เหมาพบว่าบทความของตนมีชื่อเสียงในหมู่ขบวนการปฏิวัติและเริ่มต้นหาแนวร่วมเพื่อโค่นล้มจาง เมื่อพบวรรณกรรมมาร์กซิสต์ที่แปลใหม่ของทอมัส เคิร์กอัป คาร์ล คอตสกี และมาคส์กับเอ็งเงิลส์ โดยเฉพาะแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) เขาก็รับอิทธิพลจากวรรณกรรมเหล่านั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังคงมีมุมมองหลากหลาย
เหมาเดินทางไปเยือนเทียนจิน จี่หนาน และชฺวีฟู่ ก่อนจะย้ายไปอยู่เซี่ยงไฮ้ ที่ซึ่งเขาทำงานเป็นคนซักผ้าและพบกับเฉิน ตู๋ซิ่ว โดยเหมาบันทึกไว้ว่าการที่เฉินยอมรับลัทธิมากซ์นั้น "สร้างความประทับใจแก่ตนอย่างลึกซึ้งในช่วงเวลาสำคัญยิ่งในชีวิต" ในเซี่ยงไฮ้ เหมาพบกับอี้ เผย์จี อดีตอาจารย์ของตน ผู้เป็นทั้งนักปฏิวัติและสมาชิกพรรคชาตินิยมจีนหรือก๊กมินตั๋ง ซึ่งกำลังได้รับการสนับสนุนและอิทธิพลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อี้แนะนำเหมาให้รู้จักกับนายพลถาน เหยียนไข่ สมาชิกระดับสูงของก๊กมินตั๋งผู้มีอำนาจคุมทหารที่ประจำอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างมณฑลหูหนานกับกวางตุ้ง ถานกำลังวางแผนโค่นล้มจาง และเหมาให้การสนับสนุนโดยจัดระเบียบนักศึกษาฉางชา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1920 ถานนำกองทัพเข้ายึดฉางชาและจางหลบหนีไป ในการปรับโครงสร้างการบริหารมณฑลในเวลาต่อมา เหมาได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายประถมของโรงเรียนฝึกหัดครูที่ 1 เมื่อฐานะมั่นคงขึ้น เขาแต่งงานกับหยาง ไค่ฮุ่ย ลูกสาวของหยาง ชางจี้ในฤดูหนาว ค.ศ. 1920
พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งโดยเฉิน ตู๋ซิ่วและหลี่ ต้าเจาในเขตสัมปทานฝรั่งเศสเซี่ยงไฮ้ใน ค.ศ. 1921 ในฐานะสมาคมศึกษาและเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ เหมาก่อตั้งสาขาในฉางชาพร้อมทั้งก่อตั้งสาขาของเหล่ายุวชนสังคมนิยมและสมาคมหนังสือวัฒนธรรม ซึ่งเปิดร้านหนังสือเพื่อเผยแพร่วรรณกรรมปฏิวัติทั่วหูหนาน เขาเข้าร่วมขบวนการเรียกร้องความเป็นอิสระของหูหนาน โดยมีความหวังว่ารัฐธรรมนูญของหูหนานจะนำไปสู่การขยายเสรีภาพพลเมืองและอำนวยความสะดวกให้กิจกรรมปฏิวัติของเขา เมื่อขบวนการประสบความสำเร็จในการสถาปนาอำนาจปกครองตนเองของมณฑลภายใต้ขุนศึกคนใหม่ เหมาจึงลืมส่วนร่วมของตนเอง[โปรดขยายความ] ภายใน ค.ศ. 1921 กลุ่มมาร์กซิสต์ขนาดเล็กก่อตัวขึ้นในเมืองสำคัญหลายแห่งของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ฉางชา อู่ฮั่น กว่างโจว และจี่หนาน จึงมีมติให้จัดการประชุมระดับกลางขึ้นซึ่งเริ่มต้นขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 การประชุมใหญ่ครั้งแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีผู้แทนเข้าร่วม 13 คน รวมถึงเหมาด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐส่งสายลับตำรวจมาเข้าร่วมการประชุม คณะผู้แทนจึงย้ายไปยังเรือลำหนึ่งบนทะเลสาบใต้ใกล้เมืองเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง เพื่อเลี่ยงการถูกจับกุม แม้จะมีผู้แทนจากโซเวียตและโคมินเทิร์นเข้าร่วม แต่การประชุมครั้งแรกก็เพิกเฉยต่อคำแนะนำของเลนินที่ให้ยอมรับพันธมิตรชั่วคราวระหว่างคอมมิวนิสต์กับ "ประชาธิปไตยชนชั้นกระฎุมพี" (bourgeois democrats) ซึ่งสนับสนุนการปฏิวัติแห่งชาติด้วยเช่นกัน แทนที่จะทำเช่นนั้น พวกเขากลับเลือกยึดมั่นในความเชื่อดั้งเดิมของลัทธิมากซ์ที่ว่ามีเพียงชนกรรมาชีพในเมืองเท่านั้นที่จะนำการปฏิวัติสังคมนิยมได้
เหมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลหูหนานโดยมีฐานตั้งอยู่ในฉางชา เขาใช้ยุทธวิธีต่าง ๆ มากมายเพื่อสร้างพรรคขึ้นที่นั่น ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1921 เขาก่อตั้งมหาวิทยาลัยศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้อ่านสามารถเข้าถึงวรรณกรรมปฏิวัติ ในอาคารของสมาคมเพื่อการศึกษาหวัง ฟูจือ นักปรัชญาชาวหูหนานผู้ต่อต้านแมนจูในสมัยราชวงศ์ชิง เขาเข้าร่วมขบวนการมวลชนศึกษาของวายเอ็มซีเอ (YMCA) เพื่อต่อสู้กับปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แม้เขาจะแก้ไขตำราเรียนให้มีแนวคิดสุดโต่งก็ตาม เขายังคงจัดระเบียบให้แรงงานทำการนัดหยุดงานต่อต้านการบริหารของจ้าว เหิงที่ ผู้ว่าการมณฑลหูหนาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาแรงงานยังคงเป็นประเด็นสำคัญ การนัดหยุดงานที่เหมืองถ่านหินอันยฺเหวียน [zh] ซึ่งประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียง (ขัดแย้งกับประวัติศาสตร์พรรคในภายหลัง) นั้นอาศัยทั้งกลยุทธ์ "ชนกรรมาชีพ" และ "ชนชั้นกระฎุมพี" หลิว เช่าฉี หลี่ ลี่ซาน และเหมาไม่เพียงแต่ระดมแรงงานเหมืองแร่เท่านั้น แต่ยังก่อตั้งโรงเรียนและสหกรณ์ รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับปัญญาชนท้องถิ่น ขุนนาง ทหาร พ่อค้า หัวหน้าแก๊งมังกรแดง และแม้แต่บาทหลวง งานจัดระเบียบแรงงานของเหมาในเหมืองอันยฺเหวียนยังเกี่ยวข้องกับหยาง ไคฮุ่ย ภรรยาของเขาซึ่งทำงานเพื่อสิทธิสตรี รวมถึงการส่งเสริมการรู้หนังสือและการศึกษาในชุมชนชาวนาใกล้เคียง แม้เหมาและหยางจะไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มวิธีการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองแบบผสมซึ่งรวมเอาการจัดตั้งองค์กรแรงงานชายเข้ากับประเด็นสิทธิสตรีในชุมชน แต่ทั้งสองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้วิธีการนี้ได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด ความสำเร็จในการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองของเหมาในเหมืองอันยฺเหวียนทำให้เฉิน ตู๋ซิ่วเทียบเชิญเขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์
เหมาอ้างว่าตนพลาดการประชุมใหญ่ครั้งที่สองของพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1922 ที่เซี่ยงไฮ้เพราะทำที่อยู่หาย โดยยึดคำแนะนำของเลนิน ผู้แทนตกลงร่วมมือกับ "ประชาธิปไตยชนชั้นกระฎุมพี" ของก๊กมินตั๋งเพื่อประโยชน์ของ "การปฏิวัติแห่งชาติ" สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าร่วมก๊กมินตั๋งด้วยความหวังจะผลักดันนโยบายพรรคให้เอียงซ้าย เหมาเห็นด้วยอย่างกระตือรือร้นกับการตัดสินใจนี้ โดยให้เหตุผลสนับสนุนการสร้างพันธมิตรข้ามชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจของจีน และในที่สุดก็ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของก๊กมินตั๋ง เหมาเป็นผู้ต่อต้านจักรวรรดินิยมอย่างเปิดเผย และในงานเขียนของเขาได้วิจารณ์รัฐบาลญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐออย่างรุ่นแรง โดยกล่าวถึงประเทศหลังว่าเป็น "เพชฌฆาตที่โหดเหี้ยมที่สุด"
ในการประชุมใหญ่ครั้งที่สามของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เซี่ยงไฮ้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1923 ผู้แทนยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับก๊กมินตั๋งอีกครั้ง เพื่อสนับสนุนจุดยืนดังกล่าว เหมาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการพรรค และย้ายไปพำนักที่เซี่ยงไฮ้ ในการประชุมใหญ่ครั้งแรกของก๊กมินตั๋งซึ่งจัดขึ้นที่กว่างโจวในช่วงต้น ค.ศ. 1924 เหมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสำรองของคณะกรรมาธิการบริหารกลางพรรคก๊กมินตั๋ง และได้เสนอญัตติ 4 ข้อเพื่อกระจายอำนาจไปยังสำนักงานในเมืองและชนบท ความกระตือรือร้นในการสนับสนุนก๊กมินตั๋งของเขานำมาซึ่งความสงสัยจากหลี่ ลี่ซาน สหายร่วมหูหนานของเขา
ปลาย ค.ศ. 1924 เหมากลับไปเฉาชาน อาจเป็นเพื่อพักฟื้นจากอาการป่วย เขาพบว่าชาวนาเริ่มมีความไม่สงบมากขึ้นเรื่อย ๆ และบางส่วนได้ยึดที่ดินจากเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่งเพื่อจัดตั้งเป็นคอมมูน เหตุการณ์นี้ทำให้เขาเชื่อมั่นศักยภาพในการปฏิวัติของชาวนา แนวคิดที่ก๊กมินตั๋งฝ่ายซ้ายสนับสนุนแต่คอมมิวนิสต์ไม่สนับสนุน เหมาและคณะร่วมงานหลายคนเสนอให้ยุติความร่วมมือกับก๊กมินตั๋ง ซึ่งมีฮาอิล โบโรดิน ผู้แทนจากโคมินเทิร์นปฏิเสธ ในฤดูหนาว ค.ศ. 1925 เหมาหนีไปกว่างโจวหลังกิจกรรมปฏิวัติของตนดึงดูดความสนใจจากเจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาคของจ้าว ที่นั่น เขาเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรที่ 6 ของสถาบันฝึกอบรมขบวนการชาวนาของก๊กมินตั๋งระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ค.ศ. 1926 สถาบันดังกล่าวภายใต้การนำของเหมาฝึกอบรมแกนนำและเตรียมความพร้อมให้พวกเขาสำหรับกิจกรรมปฏิวัติ โดยให้พวกเขาเข้ารับการฝึกทางทหารและศึกษาตำราพื้นฐานฝ่ายซ้าย
เมื่อซุน ยัตเซน หัวหน้าพรรคเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1925 เจียง ไคเชก ก็ขึ้นสืบทอดตำแหน่งและทำการลดอิทธิพลของก๊กมินตั๋งฝ่ายซ้ายและคอมมิวนิสต์ ทว่าเหมายังคงสนับสนุนกองทัพปฏิวัติแห่งชาติของเจียง ซึ่งเริ่มต้นการกรีธาทัพขึ้นเหนือเพื่อปราบขุนศึกใน ค.ศ. 1926 หลังการกรีธาทัพนี้ ชาวนาได้ลุกขึ้นต่อต้าน ยึดที่ดินจากเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่ง ซึ่งในหลายกรณีถูกสังหาร การก่อกำเริบดังกล่าวทำให้บุคคลสำคัญในก๊กมินตั๋งซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของที่ดินรู้สึกโกรธแค้นเป็นอย่างมาก เหตุการณ์นี้ยิ่งเน้นย้ำถึงช่องว่างระหว่างชนชั้นและความแตกแยกทางอุดมการณ์ภายในขบวนการปฏิวัติ
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1927 เหมาปรากฏตัวในการประชุมคณะกรรมาธิการบริหารกลางพรรคก๊กมินตั๋งครั้งที่สามที่อู่ฮั่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอำนาจของเจียงโดยแต่งตั้งวาง จิงเว่ย์ ขึ้นเป็นผู้นำ ที่นั่น เหมามีบทบาทสำคัญในการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาชาวนา ปกป้อง "ระเบียบการปราบปรามผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นและขุนนางเลว" ซึ่งสนับสนุนการลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตสำหรับผู้ใดก็ตามที่พบว่ามีความผิดฐานต่อต้านการปฏิวัติ โดยให้เหตุผลว่าในสถานการณ์ปฏิวัติ "วิธีการโดยสันติเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ" ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1927 เหมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการที่ดินกลางของก๊กมินตั๋งซึ่งมี 5 คน โดยเขากระตุ้นให้ชาวนาปฏิเสธการจ่ายค่าเช่าที่ดิน เหมานำคณะทำงานจัดทำ "ร่างมติว่าด้วยปัญหาที่ดิน" ซึ่งเรียกร้องให้ยึดที่ดินจาก "ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ขุนนางเลว ข้าราชการทุจริต ทหาร และกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติในทุกหมู่บ้าน" เมื่อดำเนินการ "สำรวจที่ดิน" เขาประกาศว่าผู้ใดครอบครองที่ดินเกิน 30 หมู่ (ประมาณ 12 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรทั้งหมดจะล้วนถูกจัดเป็น "ผู้ต่อต้านการปฏิวัติ" อย่างสิ้นเชิง เขายอมรับว่าความกระตือรือร้นในการปฏิวัติมีความต่างกันมากในทั่วประเทศ และจำเป็นต้องมีนโยบายกระจายที่ดินที่ยืดหยุ่น เมื่อนำเสนอข้อสรุปต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการที่ดินใหญ่ มีผู้แสดงความสงสัยและข้อกังขาเป็นจำนวนมาก บ้างเห็นว่าเกินเลยไป และบ้างเห็นว่ายังไม่เพียงพอ ท้ายที่สุดแล้วข้อเสนอแนะของเขานั้นได้รับการนำไปปฏิบัติเพียงบางส่วน
หลังประสบความสำเร็จในการกรีธาทัพขึ้นเหนือเพื่อปราบขุนศึก เจียงก็หันมาปราบคอมมิวนิสต์ ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกหลายหมื่นคนกระจายอยู่ทั่วประเทศจีน เจียงเพิกเฉยคำสั่งของรัฐบาลก๊กมินตั๋งฝ่ายซ้ายที่ตั้งอยู่ในอู่ฮั่นและเคลื่อนทัพไปยังเซี่ยงไฮ้ เมืองที่ถูกควบคุมโดยกองกำลังติดอาวุธของคอมมิวนิสต์ ขณะคอมมิวนิสต์รอคอยการมาถึงของเจียง เขาปลดปล่อย "ความสะพรึงขาว" และทำการสังหารหมู่ 5,000 คนโดยได้รับความช่วยเหลือจากแก๊งเขียว ในปักกิ่ง ผู้นำคอมมิวนิสต์ 19 คนถูกสังหารโดยจาง จั้วหลิน ในเดือนพฤษภาคมนั้น คอมมิวนิสต์และผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์หลายหมื่นคนถูกสังหาร และพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียสมาชิกไปประมาณ 15,000 จากทั้งหมด 25,000 คน
พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลก๊กมินตั๋งฝ่ายซ้ายในอู่ฮั่น ซึ่งเป็นจุดยืนที่เหมาสนับสนุนในตอนแรก แต่เมื่อถึงการประชุมใหญ่ครั้งที่ห้าของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขาก็เปลี่ยนความคิดและตัดสินใจฝากความหวังทั้งหมดไว้กับกองกำลังชาวนา คำถามดังกล่าวกลายเป็นเรื่องไร้ความหมายเมื่อรัฐบาลอู่ฮั่นขับไล่คอมมิวนิสต์ทั้งหมดออกจากก๊กมินตั๋งในวันที่ 15 กรกฎาคม พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งกองทัพแดงของกรรมกรและชาวนาจีน หรือที่รู้จักในนาม "กองทัพแดง" ขึ้นเพื่อต่อสู้กับเจียง กองพันภายใต้การนำของนายพลจู เต๋อ ได้รับคำสั่งให้ยึดหนานชางในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1927 เหตุการณ์นี้ต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม การก่อกำเริบหนานชาง พวกเขาประสบความสำเร็จในช่วงแรกแต่ถูกบังคับให้ถอยทัพหลังผ่านไปห้าวัน เดินทัพลงใต้สู่ซัวเถา และจากที่นั่นถูกผลักดันเข้าไปในถิ่นทุรกันดารของฝูเจี้ยน เหมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพแดงและนำทหารสี่กรมบุกโจมตีฉางชาในการก่อกำเริบฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อหวังจุดชนวนให้เกิดการลุกฮือของชาวนาทั่วหูหนาน ก่อนวันโจมตี เหมาแต่งบทกวีบทแรกที่ยังคงหลงเหลืออยู่ชื่อว่า "ฉางชา" แผนของเขาคือโจมตีเมืองที่ก๊กมินตั๋งยึดครองจากสามทิศทางในวันที่ 9 กันยายน แต่กรมทหารที่ 4 กลับแปรพักตร์หันไปเข้าร่วมก๊กมินตั๋งและโจมตีกรมทหารที่ 3 กองทัพของเหมาสามารถเดินทางไปถึงฉางชาแต่ไม่สามารถยึดเมืองได้ ท้ายที่สุดในวันที่ 15 กันยายน เหมาก็ต้องรับความพ่ายแพ้และเดินทัพไปทางตะวันออกยังเทือกเขาจิ่งกัง มณฑลเจียงซี พร้อมกำลังพลที่รอดชีวิตราว 1,000 นาย
คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งหลบซ่อนอยู่ในเซี่ยงไฮ้ขับเหมาออกจากพรรคและคณะกรรมาธิการประจำมณฑลหูหนานเพื่อลงโทษในความผิดฐาน "ฉวยโอกาสทางทหาร" มุ่งเน้นกิจกรรมในชนบท และความเมตตาเกินควรต่อ "ขุนนางเลว" คอมมิวนิสต์สายอนุรักษนิยมมองว่าชาวนาเป็นกลุ่มคนล้าหลังและเย้ยแนวคิดของเหมาที่ต้องการระดมกำลังพวกเขา ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังคงยอมรับสามนโยบายที่เขายืนกรานมาโดยตลอด ได้แก่ การตั้งสภาแรงงานโดยทันที การยึดที่ดินทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น และการปฏิเสธก๊กมินตั๋ง การตอบสนองของเหมาคือการเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ เขาตั้งฐานที่มั่นขึ้นในจิ่งกังชาน บริเวณหนึ่งของเทือกเขาจิ่งกัง โดยรวมหมู่บ้านห้าแห่งเข้าด้วยกันเพื่อตั้งรัฐปกครองตนเอง และสนับสนุนการยึดที่ดินจากเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่ง ซึ่งถูกส่งไป "ปรับทัศนคติ" และบ้างถูกประหารชีวิต เขายืนยันให้มั่นใจว่าจะไม่มีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในภูมิภาคนั้น และดำเนินนโยบายที่ผ่อนปรนกว่าคณะกรรมาธิการกลางเสนอ นอกจากการปฏิรูปที่ดินแล้ว เหมายังส่งเสริมการรู้หนังสือและความสัมพันธ์แบบไม่แบ่งชนชั้นในหมู่ประชาชนในพื้นที่จิ่งกังชาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าวและดึงดูดผู้สนับสนุนในท้องถิ่นจำนวนมาก
เหมาประกาศว่า "แม้แต่คนง่อยเปลี้ย หูหนวกและตาบอด ก็ล้วนสามารถเป็นประโยชน์ในการต่อสู้เพื่อปฏิวัติได้" เขาจึงขยายกำลังทหาร โดยรวมสองกลุ่มกองโจรเข้ากับกองทัพของตน ทำให้มีกำลังพลประมาณ 1,800 นาย เขาวางกฎสำหรับทหารของตน ดังนี้ ทำตามคำสั่งโดยทันที ทรัพย์สินที่ยึดได้ทั้งหมดต้องส่งมอบแก่รัฐบาล และห้ามยึดทรัพย์สินจากชาวนายากจน ด้วยการทำเช่นนี้ เขาหล่อหลอมกำลังพลของเขาให้กลายเป็นกองกำลังที่มีวินัย มีประสิทธิภาพ และพร้อมสำหรับการต่อสู้
ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1928 คณะกรรมาธิการกลางสั่งให้กำลังของเหมาเคลื่อนไปยังตอนใต้ของหูหนาน โดยหวังจะจุดชนวนการลุกฮือของชาวนา เหมาไม่ค่อยแน่ใจนัก แต่ก็ยอมทำตาม พวกเขามาถึงหูหนานและถูกก๊กมินตั๋งโจมตีอย่างหนักจนต้องล่าถอยไปหลังได้รับความสูญเสียจำนวนมาก ขณะเดียวกัน กำลังของก๊กมินตั๋งก็รุกเข้ามาในพื้นที่จิ่งกังชาน ทำให้พวกเขาเสียฐานที่มั่น ขณะกองกำลังของเหมากำลังเตร่ไปทั่วชนบท พวกเขาก็พบกับกองทหารพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดยนายพลจู เต๋อและหลิน เปียว ทั้งสองฝ่ายรวมตัวกันและพยายามยึดจิ่งกังชานคืน ในช่วงแรกพวกเขามีชัยชนะ แต่ก๊กมินตั๋งได้โต้กลับและผลักดันพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ถอยร่นไป ในช่วงสัปดาห์ต่อ ๆ มา พวกเขาทำสงครามกองโจรอย่างแข็งแกร่งในภูเขา คณะกรรมาธิการกลางสั่งให้เหมานำกำลังไปยังตอนใต้ของหูหนานอีกครั้ง แต่เขาปฏิเสธ และยังคงประจำอยู่ที่ฐานของตน ตรงกันข้าม จูปฏิบัติตามคำสั่งและนำกองทัพของตนออกไป กำลังของเหมาต้านก๊กมินตั๋งได้ 25 วันขณะเขาออกจากค่ายในเวลากลางคืนเพื่อหากำลังเสริม เขารวมตัวกับกองทัพของจูที่ถูกทำลายล้าง ร่วมกันกลับมายังจิ่งกังชานและยึดฐานที่มั่นคืน ที่นั่น พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากกรมทหารหนึ่งของก๊กมินตั๋งที่แปรพักตร์เข้ามาและกองทัพแดงที่ 5 ภายใต้การนำของเผิง เต๋อหวย ในพื้นที่ภูเขา พวกเขาไม่สามารถเพาะปลูกพืชผลได้เพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรทั้งหมด ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารตลอดฤดูหนาว
ใน ค.ศ. 1928 เหมาพบและแต่งงานกับเฮ่อ จื่อเจิน นักปฏิวัติวัย 18 ปีซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดลูกแก่เขา 6 คน
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1929 เหมาและจูอพยพฐานที่มั่นพร้อมกำลังพล 2,000 นายและได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 800 นายจากเผิง และนำทัพเคลื่อนไปทางใต้ยังพื้นที่อำเภอถงกู่และซิ่นเฟิงในเจียงซี การอพยพก่อเกิดความท้อแท้หมองใจในหมู่ทหาร และทหารจำนวนมากเริ่มฝ่าฝืนคำสั่งและลักขโมย สิ่งนี้สร้างความกังวลใจแก่หลี่ ลี่ซานและคณะกรรมาธิการกลาง ซึ่งเห็นว่ากองทัพของเหมาเป็นชนกรรมาชีพไร้รากฐาน (lumpenproletariat) ที่ไม่สามารถปันสำนึกของชนกรรมาชีพ สอดคล้องกับแนวคิดมาร์กซิสต์ดั้งเดิม หลี่เชื่อว่ามีเพียงชนกรรมาชีพในเมืองเท่านั้นที่จะสามารถนำการปฏิวัติไปสู่ความสำเร็จ และเห็นว่ากำลังกองโจรชาวนาของเหมาไม่จำเป็นนัก เขาจึงสั่งให้เหมายุบกองทัพของตนออกเป็นหน่วยย่อยเพื่อส่งไปเผยแพร่แนวคิดปฏิวัติ เหมาตอบกลับว่าแม้เขาจะเห็นพ้องกับจุดยืนทางทฤษฎีของหลี่ แต่เขาจะไม่ยุบกองทัพหรือละทิ้งฐานที่มั่นของตน ทั้งหลี่และเหมาต่างเห็นว่าการปฏิวัติจีนเป็นกุญแจสำคัญในการปฏิวัติโลก เชื่อว่าชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะจุดประกายให้เกิดการโค่นล้มจักรวรรดินิยมและทุนนิยมทั่วโลก ในเรื่องนี้ พวกเขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางอย่างเป็นทางการของรัฐบาลโซเวียตและโคมินเทิร์น เจ้าหน้าที่ในมอสโกมีความปรารถนาจะควบคุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้มากขึ้น และปลดหลี่ออกจากอำนาจโดยเรียกให้เขาเดินทางไปรัสเซียเพื่อสอบสวนข้อผิดพลาดของตน พวกเขาแทนที่หลี่ด้วยคอมมิวนิสต์จีนที่ได้รับการศึกษาจากโซเวียตซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม "28 บอลเชวิค" โดยมีสองคนในจำนวนนี้คือ ปั๋ว กู่และจาง เหวินเทียนที่เข้าควบคุมคณะกรรมาธิการกลาง เหมาไม่เห็นด้วยกับผู้นำชุดใหม่ โดยเชื่อว่าพวกเขาเข้าใจสถานการณ์ของจีนน้อยมาก และในไม่ช้าเขาก็กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของพวกเขา
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1930 เหมาก่อตั้งรัฐบาลโซเวียตมณฑลเจียงซีตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นในพื้นที่ที่ตนควบคุม ในเดือนพฤศจิกายน เขาต้องเผชิญกับความบอบช้ำทางจิตใจหลังหยาง ไค่ฮุ่ย ภรรยาคนที่สองของเขา และน้องสาวถูกก๊กมินตั๋งที่นำโดยนายพลเหอ เจี้ยน จับกุมและประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ เมื่อเผชิญปัญหาภายใน สมาชิกของโซเวียตเจียงซีกล่าวหาเขาว่าเดินสายกลางเกินไปและด้วยเหตุนี้จึงต่อต้านการปฏิวัติ ในเดือนธันวาคม พวกเขาพยายามโค่นล้มเหมา นำไปสู่อุบัติการณ์ฟู่เถียน โดยผู้ภักดีต่อเหมาได้ทรมานผู้คนจำนวนมากและประหารชีวิตผู้เห็นต่างระหว่าง 2,000 ถึง 3,000 คน คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนย้ายไปเจียงซีเพราะเห็นว่าเป็นที่ปลอดภัย ในเดือนพฤศจิกายน พวกเขาประกาศให้มณฑลเจียงซีเป็นสาธารณรัฐโซเวียตจีน รัฐเอกราชที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ แม้เขาจะได้รับการประกาศให้เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร แต่อำนาจของเหมาก็ลดลง เนื่องจากอำนาจควบคุมกองทัพแดงของเขาถูกมอบแก่โจว เอินไหล ในระหว่างนั้น เหมาก็หายจากวัณโรค
กองทัพก๊กมินตั๋งยึดแนวทางการโอบล้อมและทำลายกองทัพแดงเป็นนโยบาย แม้จะมีกำลังน้อยกว่า แต่เหมาก็ตอบโต้ด้วยยุทธวิธีกองโจรที่ได้รับอิทธิพลจากผลงานของนักยุทธศาสตร์การทหารสมัยโบราณอย่างซุนวู แต่โจวและผู้นำคนใหม่กลับยึดนโยบายเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยและการสงครามแบบดั้งเดิม ด้วยการทำเช่นนั้น กองทัพแดงจึงสามารถเอาชนะการโอบล้อมครั้งที่หนึ่งและสองได้สำเร็จ ด้วยความโกรธแค้นต่อความล้มเหลวของกองทัพ เจียง ไคเชกจึงมาบัญชาการปฏิบัติการด้วยตนเอง เขาเองก็เผชิญกับความพ่ายแพ้และถอยทัพเพื่อรับมือการรุกรานของญี่ปุ่นเข้ามาในจีนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากก๊กมินตั๋งหันไปให้ความสำคัญกับการป้องกันประเทศจีนจากการขยายอิทธิพลของญี่ปุ่น กองทัพแดงจึงสามารถขยายพื้นที่การควบคุมได้มากขึ้นจนในที่สุดก็ครอบคลุมประชากรถึง 3 ล้านคน เหมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินต่อไป ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1931 เขาริเริ่มโครงการ "ตรวจสอบที่ดิน" ซึ่งขยายขอบเขตออกไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1933 เขายังริเริ่มโครงการด้านการศึกษาและดำเนินมาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี เจียงมองว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามที่ใหญ่กว่าญี่ปุ่น จึงกลับมายังเจียงซีและเริ่มปฏิบัติการโอบล้อมครั้งที่ห้า โดยสร้าง "กำแพงไฟ" ล้อมเขตปกครองด้วยซีเมนต์และลวดหนาม พร้อมทั้งโจมตีทางอากาศ ซึ่งยุทธวิธีของโจวก็ไม่อาจต้านทานได้ เมื่อถูกติดอยู่ภายใน ขวัญกำลังใจของกองทัพแดงก็ลดลงเพราะเริ่มขาดแคลนอาหารและยา คณะผู้นำจึงตัดสินใจอพยพ
วันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1934 กองทัพแดงบุกทะลวงแนวป้องกันของก๊กมินตั๋ง ณ มุมตะวันตกเฉียงใต้ของโซเวียตเจียงซีที่ซิ่นเฟิง โดยมีกำลังพล 85,000 นายและสมาชิกพรรคอีก 15,000 คน จากนั้นได้เริ่มต้น "การเดินทัพทางไกล" (Long March) เพื่อความสำเร็จในการหลบหนี ผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย สตรี และเด็กจำนวนมากถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง โดยมีกองกำลังปฏิวัติกลุ่มหนึ่งคอยป้องกันซึ่งต่อมาถูกก๊กมินตั๋งสังหารหมู่ ผู้หลบหนีจำนวน 100,000 คนมุ่งหน้าไปยังตอนใต้ของหูหนาน ข้ามแม่น้ำเซียงหลังงการต่อสู้อย่างรุนแรง และข้ามแม่น้ำอู่ในกุ้ยโจวก่อนจะยึดจุนอี้ได้ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1935 ขณะพักพิงชั่วคราวในเมือง พวกเขาก็จัดการประชุมขึ้น ณ ที่นี้ เหมาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำ กลายเป็นประธานกรมการเมือง และเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของทั้งพรรคและกองทัพแดง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากโจเซฟ สตาลิน นายกรัฐมนตรีโซเวียต โดยยืนกรานให้ปฏิบัติการในลักษณะกองโจร เขากำหนดจุดหมายปลายทางคือโซเวียตเฉิ่นชื่อ ในฉ่านซี ทางตอนเหนือของจีน ซึ่งคอมมิวนิสต์จะสามารถมุ่งความสนใจไปที่การต่อสู้กับญี่ปุ่นได้ เหมาเชื่อว่าหากมุ่งเน้นการต่อสู้ต่อต้านจักรวรรดินิยม คอมมิวนิสต์จะสามารถได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจีน อันจะนำไปสู่การที่ประชาชนชาวจีนหันหลังให้ก๊กมินตั๋ง
จากจุนอี้ เหมานำกองทัพของเขาไปยังด่านโหลวชาน ที่ซึ่งพวกเขาเผชิญหน้ากับการต่อต้านด้วยอาวุธแต่ก็ข้ามแม่น้ำไปได้สำเร็จ เจียงเดินทางโดยเครื่องบินเข้ามายังพื้นที่เพื่อนำกองทัพของตนมาปะทะกับเหมา แต่คอมมิวนิสต์ก็สามารถหลบหลีกและข้ามแม่น้ำจินชา เมื่อเผชิญภารกิจที่ยากลำบากยิ่งกว่าในการข้ามแม่น้ำต้าตู้ พวกเขาสามารถทำได้สำเร็จโดยต่อสู้ชิงสะพานหลูติ้งในเดือนพฤษภาคม และยึดอำเภอหลูติ้ง ที่มู่คง ทางตะวันตกของเสฉวน พวกเขาพบกับกองทัพหน้าที่ 4 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีกำลังพล 50,000 นายของจาง กั๋วเทา (ซึ่งเดินทางมาจากเทือกเขาบริเวณหม่าอันชาน) และเคลื่อนทัพไปยังเหมาเอ๋อร์ไค่และต่อมายังกานซู่ร่วมกัน จางและเหมาไม่เห็นพ้องกันในสิ่งที่จะทำ เหมาต้องการเคลื่อนไปยังฉ่านซี ขณะที่จางต้องการถอยร่นไปทางตะวันตกสู่ทิเบตหรือสิกขิมให้ห่างจากภัยคุกคามของก๊กมินตั๋ง มีการตกลงกันว่าพวกเขาจะแยกกันไปโดยจู เต๋อจะไปร่วมกับจาง กำลังของเหมาเคลื่อนทัพไปทางเหนือผ่านทุ่งหญ้าหลายร้อยกิโลเมตรและบริเวณดินเลน ที่ซึ่งพวกเขาถูกโจมตีโดยชนเผ่าแมนจูและมีทหารจำนวนมากเสียชีวิตจากความอดอยากและโรคภัย เมื่อเดินทางมาถึงฉ่านซีในที่สุด พวกเขาก็ต้องสู้กับทั้งก๊กมินตั๋งและกองทหารม้าอิสลามก่อนจะข้ามเทือกเขาหมินและภูเขาลิ่วผานไปยังโซเวียตเฉิ่นชื่อโดยมีผู้รอดชีวิตเพียง 7,000–8,000 คนเท่านั้น การเดินทัพทางไกลอันยาวนานตอกย้ำสถานะของเหมาให้มั่นคงในฐานะบุคคลผู้มีอิทธิพลในพรรค ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1935 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหาร นับแต่นี้เป็นต้นไป เหมาจะกลายเป็นผู้นำที่ไม่มีผู้ใดโต้แย้งได้ของพรรคคอมมิวนิสต์ แม้เขาจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคจนกระทั่ง ค.ศ. 1943 ก็ตาม
กำลังของเหมาเดินทางมาถึงโซเวียตเหยียนอานในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1935 และตั้งรกรากที่เป่าอานจนถึงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1936 ขณะอยู่ที่นั่น พวกเขาพัฒนาความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่น กระจายทรัพยากรและทำการเกษตรบนที่ดิน ให้การรักษาพยาบาล และเริ่มโครงการการรู้หนังสือ ตอนนี้เหมาเป็นผู้บัญชาการทหารจำนวน 15,000 นายโดยได้รับการสนับสนุนจากการมาถึงของกองทัพของเฮ่อ หลงจากหูหนาน และกองทัพของจู เต๋อกับจาง กั๋วเทาที่กลับจากทิเบต ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1936 พวกเขาก่อตั้งมหาวิทยาลัยกองทัพแดงต่อต้านญี่ปุ่นตะวันตกเฉียงเหนือในเหยียนอาน สถานที่ที่พวกเขาใช้ฝึกอบรมทหารใหม่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1936 พวกเขาริเริ่ม "การกรีธาทัพต่อต้านญี่ปุ่น" โดยส่งกองโจรจำนวนหนึ่งเข้าไปในดินแดนที่ญี่ปุ่นควบคุมเพื่อทำการโจมตีประปราย ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1937 การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จัดขึ้นในเหยียนอานเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว นักข่าวชาวตะวันตกเดินทางมายัง "เขตชายแดน" (ที่เป็นชื่อเดียวกับโซเวียต) ด้วยเช่นกัน นักข่าวที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ เอ็ดการ์ สโนว์ ผู้ซึ่งนำประสบการณ์ของตนมาเป็นพื้นฐานสำหรับหนังสือ Red Star Over China และแอกเนส สเมดลีย์ ซึ่งเรื่องราวของเขาทำให้นานาชาติให้ความสนใจต่อประเด็นของเหมา
ในการเดินทัพทางไกล เฮ่อ จื่อเจิน ภรรยาของเหมาได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดที่ศีรษะ เธอเดินทางไปมอสโกเพื่อรับการรักษา เหมาจึงหย่ากับเธอแล้วแต่งงานกับเจียง ชิง นักแสดงสาว มีรายงานว่าเฮ่อ "ถูกส่งไปโรงพยาบาลจิตเวชในมอสโกเพื่อเปิดทาง" ให้ชิง เหมาย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านถ้ำและใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือ ดูแลสวน และคิดทฤษฎี เขาเริ่มเชื่อว่ากองทัพแดงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเอาชนะญี่ปุ่นได้และควรจัดตั้ง "รัฐบาลป้องกันชาติ" ที่นำโดยคอมมิวนิสต์ร่วมกับก๊กมินตั๋งและกลุ่ม "ชาตินิยมกระฎุมพี" อื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ แม้จะดูหมิ่นเจียง ไคเชกว่าเป็น "คนทรยศชาติ" แต่ในวันที่ 5 พฤษภาคม เขากลับส่งโทรเลขไปยังสภาการทหารของรัฐบาลแห่งชาติหนานจิงเพื่อเสนอพันธมิตรทางทหาร แนวปฏิบัติที่สตาลินเสนอ แม้เจียงจะตั้งใจเพิกเฉยต่อข้อความของเหมาและดำเนินสงครามกลางเมืองต่อไป แต่เขาก็ถูกจับกุมโดยจาง เสฺวเหลียง นายพลคนหนึ่งของเขาเองในซีอาน นำไปสู่อุบัติการณ์ซีอาน จางบังคับให้เจียงหารือประเด็นนี้กับคอมมิวนิสต์ เป็นผลให้มีการก่อตั้งแนวร่วมที่มีสัมปทานทั้งสองฝ่ายในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1937 ญี่ปุ่นยึดทั้งเซี่ยงไฮ้และหนานจิงได้ เป็นผลให้เกิดการสังหารหมู่ที่หนานจิง ซึ่งเป็นความโหดร้ายที่เหมาไม่เคยพูดถึงตลอดชีวิต และยังผลักดันรัฐบาลก๊กมินตั๋งไปฉงชิ่งอีกด้วย ความโหดร้ายของญี่ปุ่นทำให้มีชาวจีนเข้าร่วมการสู้รบมากขึ้น และกองทัพแดงก็เพิ่มขึ้นจาก 50,000 เป็น 500,000 นาย ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1948 กองทัพแดงได้จัดตั้งกองทัพใหม่ที่สี่และกองทัพลู่ที่แปดซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพปฏิวัติแห่งชาติของเจียง ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1940 กองทัพแดงเริ่มการรุกร้อยกรม โดยมีทหาร 400,000 นายโจมตีกองทัพญี่ปุ่นพร้อม ๆ กันในห้ามณฑล ความสำเร็จทางทหารทำให้ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตกว่า 20,000 นาย ทางรถไฟและเหมืองถ่านหินได้รับความเสียหาย จากฐานที่มั่นในเหยียนอาน เหมาประพันธ์ตำราหลายเล่มสำหรับกองทหารของเขา รวมทั้ง "ปรัชญาแห่งการปฏิวัติ" ซึ่งเป็นบทนำเกี่ยวกับทฤษฎีความรู้ของมาร์กซิสต์ "สงครามยืดเยื้อ" ซึ่งกล่าวถึงกองโจรและยุทธวิธีทางทหารเคลื่อนที่ และ"ว่าด้วยประชาธิปไตยใหม่" ซึ่งเสนอแนวคิดสำหรับอนาคตของจีน
ใน ค.ศ. 1944 สหรัฐส่งผู้แทนทางการทูตพิเศษที่เรียกว่าภารกิจดิกซี (Dixie Mission) ไปหาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทหารอเมริกันที่ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจต่างรู้สึกประทับใจมาก พรรคนี้ดูเหมือนว่าจะมีการทุจริตน้อยกว่า มีความสามัคคีกว่า และมีพลังต่อต้านญี่ปุ่นมากกว่าก๊กมินตั๋ง ทหารยืนยันกับผู้บังคับบัญชาของตนว่าพรรคนี้เข้มแข็งและได้รับความนิยมในพื้นที่อย่างมาก ในช่วงท้ายของภารกิจ การติดต่อระหว่างสหรัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนแทบไม่มีผลใด ๆ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐยังคงให้ความช่วยเหลือทางการทูตและการทหารแก่เจียง ไคเชกและกองกำลังรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเขาในการต่อต้านกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่นำโดยเหมาในช่วงสงครามกลางเมืองและละทิ้งแนวคิดการตั้งรัฐบาลผสมซึ่งรวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย ทำนองเดียวกัน สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนเหมาโดยยึดครองจีนตะวันออกเฉียงเหนือและมอบให้แก่คอมมิวนิสต์จีนอย่างลับ ๆ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1946
ใน ค.ศ. 1948 กองทัพปลดปล่อยประชาชนทำให้กำลังก๊กมินตั๋งที่ยึดฉางชุนอดอาหาร เชื่อกันว่ามีพลเรือนอย่างน้อย 160,000 รายเสียชีวิตระหว่างการล้อมที่กินเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม จาง เจิ้งลู่ พันโทของกองทัพปลดปล่อยประชาชน เปรียบเทียบเหตุการณ์ดังกล่าวกับเหตุการณ์ที่ฮิโรชิมะในหนังสือของเขาเรื่อง White Snow, Red Blood ว่า "จำนวนผู้เสียชีวิตนั้นเกือบจะเท่ากัน ฮิโรชิมะใช้เวลาเก้าวินาที แต่ฉางชุนใช้เวลาห้าเดือน" วันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1949 กำลังก๊กมินตั๋งต้องประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในการสู้รบกับกำลังของเหมา เช้าตรู่ของวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1949 กองกำลังกองทัพปลดปล่อยประชาชนล้อมฉงชิ่งและเฉิงตูในจีนแผ่นดินใหญ่ และเจียง ไคเชกก็หนีจากแผ่นดินใหญ่ไปยังไต้หวัน
เหมาประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนจากประตูแห่งสันติภาพสวรรค์ (เทียนอันเหมิน) ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 และต่อมาในสัปดาห์นั้นก็ประกาศว่า "ประชาชนจีนได้ลุกขึ้นแล้ว" (中国人民从此站起来了) เหมาเดินทางไปมอสโกเพื่อเจรจาในช่วงฤดูหนาวของ ค.ศ. 1949–50 เหมาเป็นผู้ริเริ่มการเจรจาซึ่งมุ่งเน้นไปที่การปฏิวัติทางการเมืองและเศรษฐกิจในจีน นโยบายต่างประเทศ ทางรถไฟ ฐานทัพเรือ และความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและเทคนิคของโซเวียต สนธิสัญญาที่เป็นผลสะท้อนถึงความโดดเด่นของสตาลินและความเต็มใจของเขาที่จะช่วยเหลือเหมา
ตามทฤษฎีแนวหน้าของลัทธิมากซ์–เลนิน เหมาเชื่อว่ามีเพียงผู้นำที่ถูกต้องของพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่สามารถผลักดันจีนสู่สังคมนิยมได้ ทางกลับกัน เหมาเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนและการวิพากษ์วิจารณ์มวลชนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตรวจสอบระบบราชการ
เหมาผลักดันให้พรรคจัดการรณรงค์เพื่อปฏิรูปสังคมและขยายการควบคุม การรณรงค์เหล่านี้ได้รับความเร่งด่วนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1950 เมื่อกองทัพอาสาประชาชนถูกส่งไปในสงครามเกาหลีเพื่อต่อสู้และเสริมกำลังให้กับกองทัพประชาชนเกาหลี กำลังติดอาวุธของเกาหลีเหนือที่กำลังอยู่ในภาวะล่าถอยเต็มที่ สหรัฐประกาศคว่ำบาตรทางการค้าต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนอันเนื่องมาจากการมีส่วนร่วมในสงครามเกาหลี ซึ่งดำเนินต่อไปจนกระทั่งริชาร์ด นิกสันปรับปรุงความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น มีทหารจีนอย่างน้อย 180,000 นายเสียชีวิตในสงคราม
ในฐานะประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง เหมายังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพปลดปล่อยประชาชนและสาธารณรัฐประชาชน และเป็นประธานพรรค กองกำลังจีนในเกาหลีอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งในขณะนั้น โดยมีนายพลเผิง เต๋อหวยเป็นผู้บัญชาการภาคสนามและกรรมาธิการการเมือง
ระหว่างการรณรงค์ปฏิรูปที่ดิน เจ้าของที่ดินและชาวนาที่ร่ำรวยจำนวนมากถูกตีจนตายในการประชุมใหญ่ โดยที่ดินถูกยึดไปจากพวกเขาและมอบให้กับชาวนาที่ยากจน ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การรณรงค์ปราบปรามกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติ มุ่งเป้าไปที่ข้าราชการชนชั้นกลาง เช่น พ่อค้าคนกลาง พ่อค้า และเจ้าหน้าที่ก๊กมินตั๋ง ผู้ซึ่งพรรคมองว่าเป็นปรสิตทางเศรษฐกิจหรือศัตรูทางการเมือง ใน ค.ศ. 1976 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปฏิรูปที่ดินมากถึงหนึ่งล้านคนและมีผู้เสียชีวิตจากการรณรงค์ต่อต้านการปฏิวัติถึง 800,000 คน
เหมาเองอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตจากการโจมตี "กลุ่มต่อต้านการปฏิวัติ" รวม 700,000 คนระหว่าง ค.ศ. 1950–1952 เนื่องจากมีนโยบายเลือก "เจ้าของบ้านอย่างน้อยหนึ่งคน และมักจะเลือกหลายคน ในแทบทุกหมู่บ้านสำหรับการประหารชีวิตในที่สาธารณะ" จำนวนผู้เสียชีวิตจึงอยู่ระหว่าง 2 ล้าน ถึง 5 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีผู้คนอย่างน้อย 1.5 ล้านคน หรืออาจถึง 4 ถึง 6 ล้านคน ถูกส่งไปยังค่าย "ปฏิรูปผ่านแรงงาน" ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เหมามีบทบาทส่วนตัวในการจัดการปราบปรามมวลชนและจัดตั้งระบบโควตาการประหารชีวิต ซึ่งมักเกินจำนวนอยู่เสมอ เขาปกป้องการสังหารเหล่านี้ว่าจำเป็นรักษาอำนาจ
รัฐบาลได้รับการยกย่องว่าสามารถขจัดการบริโภคและการผลิตฝิ่นได้ในทศวรรษ 1950 ผู้ติดยาเสพติดกว่าสิบล้านคนถูกบังคับให้เข้ารับการบำบัด ผู้ค้ายาถูกประหารชีวิต และพื้นที่ปลูกฝิ่นก็ถูกปลูกพืชชนิดใหม่ การผลิตฝิ่นที่เหลือได้ย้ายไปยังบริเวณตอนใต้ของชายแดนจีนสู่ภูมิภาคสามเหลี่ยมทองคำ
ตั้งแต่ ค.ศ. 1951 เหมาริเริ่มขบวนการเพื่อขจัดการทุจริตในพื้นที่เมือง ได้แก่ การรณรงค์ต้านสามต้านห้า ขณะที่ต้านสามมุ่งเป้าไปที่การกวาดล้างเจ้าหน้าที่ของรัฐ อุตสาหกรรม และพรรคโดยเฉพาะ ต้านห้ากลับมุ่งเป้ากว้างกว่าเล็กน้อย โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มทุนนิยมทั่วไป คนงานกล่าวโทษเจ้านายของตน คู่สมรสหันหลังให้คู่สมรสของตน และลูก ๆ แจ้งความเกี่ยวกับพ่อแม่ของตน เหยื่อมักได้รับความอับอายในระหว่างการประชุม โดยผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายจะถูกทำร้ายทั้งทางวาจาและร่างกายจนกว่าจะสารภาพผิด เหมายืนกรานว่าผู้กระทำความผิดเพียงเล็กน้อยควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และแก้ไขหรือส่งไปค่ายแรงงาน "ส่วนผู้กระทำผิดร้ายแรงที่สุดควรถูกยิงทิ้ง" การรณรงค์เหล่านี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย
ในเซี่ยงไฮ้ การฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากอาคารสูงกลายเป็นเรื่องธรรมดามากจนคนในพื้นที่เลี่ยงการเดินบนทางเท้าใกล้ตึกระฟ้าเนื่องจากกลัวว่าการฆ่าตัวตายอาจตกลงไปทับพวกเขา นักชีวประวัติบางคนชี้ให้เห็นว่าการผลักดันผู้ที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูให้ฆ่าตัวตายเป็นยุทธวิธีทั่วไปในสมัยเหมา ในชีวประวัติของเหมา ฟิลิป ชอร์ต ระบุว่าเหมาสั่งการอย่างชัดเจนในขบวนการแก้ไขเหยียนอานว่า "ห้ามฆ่าแกนนำใด ๆ แต่ในทางปฏิบัติ คัง เชิงกลับอนุญาตให้หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงกดดันฝ่ายตรงข้ามให้ฆ่าตัวตาย" และ "รูปแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดระยะเวลาการเป็นผู้นำของเขาในสาธารณรัฐประชาชน"
ภายหลังการรวมอำนาจ เหมาเปิดตัวแผนห้าปีฉบับแรก (ค.ศ. 1953–1958) ซึ่งเน้นย้ำการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า พลังงานไฟฟ้า ถ่านหิน วิศวกรรมหนัก วัสดุก่อสร้าง และสารเคมีขั้นพื้นฐานได้รับการให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่และใช้เงินทุนสูง โรงงานหลายแห่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือของโซเวียตและอุตสาหกรรมหนักก็เติบโตอย่างรวดเร็ว การเกษตร อุตสาหกรรม และการค้าได้รับการจัดตั้งเป็นสหกรณ์แรงงาน ช่วงเวลานี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วของจีนและเป็นผลให้เกิดความสำเร็จอย่างมาก
แม้ในตอนแรกจะเห็นใจรัฐบาลปฏิรูปของอิมแร นอจ แต่เหมากลับกลัว "การฟื้นฟูของฝ่ายปฏิกิริยา" ในฮังการีเมื่อการปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1956 ยังคงดำเนินต่อไปและมีแนวคิดแข็งกร้าวมากขึ้น เหมาคัดค้านการถอนทหารโซเวียตโดยขอให้หลิว เช่าฉีแจ้งผู้แทนของโซเวียตให้ใช้การแทรกแซงทางทหารเพื่อต่อต้านผู้ประท้วง "ที่ได้รับการสนับสนุนจากจักรวรรดินิยมตะวันตก" และรัฐบาลของนอจ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าจุดยืนของเหมามีส่วนสำคัญตัดสินใจรุกรานฮังการีของนีกีตา ครุชชอฟมากเพียงใด นอกจากนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าจีนถูกบังคับให้ปฏิบัติตามจุดยืนของโซเวียตเนื่องจากความกังวลทางเศรษฐกิจและการคาดการณ์อำนาจที่ไม่ดีของจีนเมื่อเทียบกับสหภาพโซเวียตหรือไม่ แม้จะไม่เห็นด้วยกับอำนาจสูงสุดของมอสโกในกลุ่มตะวันออก แต่เหมาก็มองว่าความสมบูรณ์ของขบวนการคอมมิวนิสต์สากลมีความสำคัญมากกว่าอำนาจปกครองตนเองของประเทศต่าง ๆ ในเขตอิทธิพลของโซเวียต วิกฤตฮังการียังส่งผลรณรงค์ร้อยบุปผาของเหมาด้วย เหมาตัดสินใจผ่อนปรนจุดยืนของเขาต่อปัญญาชนจีนและอนุญาตให้พวกเขาแสดงความไม่พอใจทางสังคมและวิจารณ์ข้อผิดพลาดของรัฐบาล เหมาต้องการใช้การขบวนการนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลุกฮือที่คล้ายกันในจีน อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประชาชนในประเทศจีนเริ่มวิจารณ์นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและความเป็นผู้นำของเหมาภายหลังการรณรงค์ร้อยบุปผา เหมาก็ปราบปรามการขบวนการที่เขาริเริ่มและเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวดังกล่าวกับการปฏิวัติฮังการี "แบบต่อต้านการปฏิวัติ"
ระหว่างการรณรงค์ร้อยบุปผา เหมาแสดงให้เห็นถึงความเต็มใจของเขาที่จะพิจารณาความเห็นที่ต่างกันเกี่ยวกับวิธีการปกครองจีน เมื่อได้รับเสรีภาพการแสดงออก ชาวจีนที่เป็นเสรีนิยมและมีปัญญาเริ่มต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์และตั้งคำถามต่อผู้นำพรรค ในช่วงแรกมีการยอมรับและส่งเสริมให้มีการกระทำเช่นนี้ แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน รัฐบาลของเหมาก็เปลี่ยนนโยบายและข่มเหงผู้ที่วิจารณ์พรรคที่รวมแล้วอาจมีมากถึง 500,000 คน รวมทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าวิพากษ์วิจารณ์พรรคในสิ่งที่เรียกว่าขบวนการต่อต้านฝ่ายขวา ขบวนการดังกล่าวส่งผลให้มีการข่มเหงผู้คนอย่างน้อย 550,000 คน ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนและผู้ต่อต้านรัฐบาล หลี่ จื้อสุย แพทย์ส่วนตัวของเหมา กล่าวว่าในตอนแรกเหมาคิดว่านโยบายดังกล่าวเป็นวิธีการลดความขัดแย้งต่อเขาภายในพรรคและเขาประหลาดใจกับขอบเขตของการวิจารณ์และความจริงที่ว่ามันกลายมาเป็นการวิจารณ์ความเป็นผู้นำของเขาเอง
ภัยคุกคามของประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ แห่งสหรัฐระหว่างวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันครั้งที่แรกว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์กับเป้าหมายทางทหารในมณฑลฝูเจี้ยนเป็นแรงกระตุ้นให้เหมาริเริ่มโครงการนิวเคลียร์ของจีน: 89–90 ภายใต้โครงการระเบิดสองลูก หนึ่งดาวเทียมของเหมา จีนได้พัฒนาระเบิดปรมาณูและไฮโดรเจนในเวลาอันรวดเร็ว[หาจำนวน] และส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศไม่กี่ปีหลังจากสหภาพโซเวียตส่งดาวเทียมสปุตนิก: 218
โครงการ 523 เป็นโครงการทางทหารใน ค.ศ. 1967 เพื่อค้นหายารักษาโรคมาลาเรีย เป็นการกล่าวถึงมาลาเรีย ภัยคุกคามสำคัญในสงครามเวียดนาม โจว เอินไหลโน้มน้าวให้เหมาริเริ่มโครงการขนาดใหญ่ "เพื่อให้กำลังพันธมิตรพร้อมรบ" ตามที่ระบุในบันทึกการประชุม ผู้ศึกษาวิจัยยาแผนจีนได้ค้นพบและนำไปสู่การพัฒนายาต้านมาเลเรียชนิดใหม่ที่เรียกว่าอาร์เทมิซินิน
ในเดือนมกราคม ค.ศ.1958 เหมาริเริ่มการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า เพื่อเปลี่ยนประเทศจีนจากประเทศเกษตรกรรมให้เป็นอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรกรขนาดค่อนข้างเล็กที่ก่อตั้งขึ้นมาถูกรวมเป็นคอมมูนประชาชนที่ใหญ่กว่ามาก และชาวนาจำนวนมากถูกสั่งให้ทำงานในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและในการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ห้ามผลิตอาหารส่วนบุคคลบางประเภท และปศุสัตว์และอุปกรณ์การเกษตรถูกนำเข้ามาอยู่ภายใต้ความเป็นเจ้าของร่วมกัน
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแรงงานไปทำการผลิตเหล็กกล้าและโครงการโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักร ทำให้การผลิตเมล็ดพืชลดลงประมาณร้อยละ 15 ใน ค.ศ. 1959 ตามมาด้วยการลดลงอีกร้อยละ 10 ใน ค.ศ. 1960 และไม่มีการฟื้นตัวใน ค.ศ. 1961
เพื่อให้ได้รับความโปรดปรานจากผู้บังคับบัญชาและเลี่ยงการถูกกวาดล้าง บุคลากรในพรรคแต่ละระดับจึงพูดเกินจริงเกี่ยวกับปริมาณเมล็ดพืชที่ผลิตได้ภายใต้การนำของพวกเขา จากการรายงานความสำเร็จอันเป็นเท็จ คณะทำงานของพรรคจึงเรียกเก็บผลผลิตสมมติจำนวนมาก ผลที่ตามมาคือในบางพื้นที่เกิดภัยแล้ง และในบางพื้นที่เกิดน้ำท่วม เกษตรกรเหลืออาหารเพียงน้อยนิดและผู้คนนับล้านต้องอดอาหารตายในทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในจีน ผู้คนในเขตเมืองได้รับแสตมป์อาหารทุกเดือน แต่ผู้คนในเขตชนบทกลับต้องปลูกพืชผลของตนเองและมอบบางส่วนคืนแก่รัฐบาล จำนวนผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชนบทของจีนแซงหน้าผู้เสียชีวิตในเขตเมือง ทุพภิกขภัยเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้ชาวนาจีนเสียชีวิตประมาณ 30 ล้านคนระหว่าง ค.ศ. 1959 ถึง 1962 เด็กจำนวนมากเกิดภาวะขาดสารอาหาร
ในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1958 เหมาประณามแนวปฏิบัติที่ใช้ในช่วงก้าวกระโดดไกล เช่น การบังคับให้ชาวนาทำงานโดยขาดอาหารหรือการพักผ่อนเพียงพอซึ่งส่งผลให้เกิดโรคระบาดและอดอาหาร เขายังยอมรับอีกว่าการรณรงค์ต่อต้านฝ่ายขวาเป็นสาเหตุหลักของ "การผลิตโดยไม่คำนึงถึงการดำรงชีพ" เขาปฏิเสธที่จะละทิ้งการก้าวกระโดดไกล แต่เขาเรียกร้องให้มีการเผชิญหน้ากับเรื่องนี้ หลังการปะทะกันในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1959 ที่การประชุมหลูชานกับเผิง เต๋อหวย เหมาก็เริ่มต้นการรณรงค์ต่อต้านฝ่ายขวาใหม่ควบคู่ไปกับนโยบายหัวรุนแรงที่เขาละทิ้งไปก่อนหน้านี้ กระทั่งในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1960 เหมาจึงแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเสียชีวิตที่ผิดปกติและการละเมิดอื่น ๆ อีกครั้ง แต่เขาก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อหยุดการกระทำดังกล่าว เบิร์นสไตน์สรุปว่าเหมา "จงใจเพิกเฉยต่อบทเรียนจากช่วงปฏิวัติครั้งแรกเพื่อบรรลุเป้าหมายทางอุดมการณ์และการพัฒนาที่รุนแรง"
เหมาลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีจีนในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1959 โดยยังคงดำรงตำแหน่งระดับสูงอื่น ๆ เช่น ประธานพรรคคอมมิวนิสต์และคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง ตำแหน่งประธานาธิบดีถูกโอนไปยังหลิว เช่าฉี ท้ายที่สุดเหมาก็ยกเลิกนโยบายนี้ใน ค.ศ. 1962 หลิว เช่าฉีและเติ้ง เสี่ยวผิงช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการยกเลิกคอมมูนประชาชน นำการควบคุมแบบเอกชนมาใช้กับที่ดินขนาดเล็กของชาวนา และนำเข้าธัญพืชจากแคนาดาและออสเตรเลียเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของทุพภิกขภัย
ในการประชุมหลูชานในเดือนกรกฎาคม/สิงหาคม ค.ศ. 1959 รัฐมนตรีหลายคนแสดงความกังวลว่าการก้าวกระโดดไกลไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าประสบความสำเร็จตามที่วางแผนไว้ คนที่ตรงไปตรงมามากที่สุดคือเผิง เต๋อหวย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลังจากที่เผิงวิจารณ์การก้าวกระโดดไกล เหมาก็ขับเผิงและผู้สนับสนุนของเขาออกไป โดยระงับการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายก้าวกระโดดไกล จึงเริ่มมีการรณรงค์จนทำให้สมาชิกพรรคและชาวนาสามัญถูกส่งไปยังค่ายแรงงานในเรือนจำ หลายปีต่อมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนสรุปว่ามีผู้คนมากถึงหกล้านคนที่ได้รับการลงโทษอย่างผิด ๆ ในการรณรงค์นี้
ความแตกแยกระหว่างจีนกับโซเวียตส่งผลให้นีกีตา ครุชชอฟถอนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและความช่วยเหลือของโซเวียตออกจากประเทศ ความแตกแยกนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้นำของลัทธิคอมมิวนิสต์โลก สหภาพโซเวียตมีเครือข่ายพรรคคอมมิวนิสต์ที่ตนสนับสนุน ปัจจุบันจีนได้สร้างเครือข่ายคู่แข่งขึ้นมาเพื่อต่อสู้ ลอเรนซ์ เอ็ม. ลูที เขียนว่า: "ความแตกแยกระหว่างจีนกับโซเวียตเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งของสงครามเย็น มีความสำคัญเทียบเท่ากับการก่อสร้างกำแพงเบอร์ลิน วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา สงครามเวียดนามครั้งที่สอง และการปรองดองระหว่างจีนกับอเมริกา ความแตกแยกช่วยกำหนดกรอบของสงครามเย็นครั้งที่สองโดยทั่วไป และมีอิทธิพลต่อสงครามเวียดนามครั้งที่สองโดยเฉพาะ"
ความแตกแยกเป็นผลมาจากความเป็นผู้นำโซเวียตที่ค่อนข้างปานลางของครุชชอฟหลังสตาลินเสียชีวิตในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1953 มีเพียงแอลเบเนียเท่านั้นที่เข้าข้างจีนอย่างเปิดเผย ทำให้เกิดการสร้างพันธมิตรระหว่างทั้งสองประเทศ เมื่อได้รับคำเตือนว่าโซเวียตมีอาวุธนิวเคลียร์ เหมาก็ลดทอนภัยคุกคามนั้นลง การต่อสู้กับลัทธิแก้ไขใหม่ของโซเวียตและจักรวรรดินิยมสหรัฐถือเป็นแง่มุมสำคัญของความพยายามของเหมาที่จะกำกับการปฏิวัติไปในทิศทางที่ถูกต้อง
ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 เหมาเขียนบันทึกการอ่านตอบโต้ต่อหนังสือ Political Economy: A Textbook และเรียงความตอบโต้ต่อหนังสือ A Critique of Soviet Economics ของสตาลิน: 51 บันทึกเหล่านี้สะท้อนถึงมุมมองของเหมาที่ว่าสหภาพโซเวียตกำลังห่างเหินจากมวลชนและบิดเบือนการพัฒนาสังคมนิยม: 51
หลังการก้าวกระโดดไกล ผู้นำจีนได้ชะลอความเร็วของการพัฒนาอุตสาหกรรม: 3 มีการลงทุนมากขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจีนและมุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค: 3 ร่างเบื้องต้นของแผนห้าปีฉบับที่ 3 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ภายในประเทศจีน: 29 หลังจากรายงานของคณะเสนาธิการใหญ่ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1964 สรุปว่าการที่อุตสาหกรรมของจีนกระจุกตัวอยู่ในเมืองชายฝั่งทะเลสำคัญ ๆ ทำให้จีนเสี่ยงถูกโจมตีจากมหาอำนาจต่างชาติ เหมาจึงโต้แย้งว่าควรพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองภายในประเทศจีน: 4, 54 แม้ผู้นำคนสำคัญคนอื่น ๆ จะไม่สนับสนุนแนวคิดนี้ในตอนแรก แต่อุบัติการณ์อ่าวตังเกี๋ยในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1964 ทำให้ความกลัวรุกรานของสหรัฐเพิ่มมากขึ้นและทำให้เกิดการสนับสนุนข้อเสนอการพัฒนาอุตสาหกรรมของเหมา ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อแนวรบที่สาม: 7 หลังอุบัติการณ์อ่าวตังเกี๋ย ความกังวลของเหมาเองเกี่ยวกับการรุกรานของสหรัฐก็เพิ่มมากขึ้น: 100 เขาเขียนถึงคณะทำงานส่วนกลางว่า "สงครามกำลังจะเกิดขึ้น ฉันต้องพิจารณาการกระทำของตัวเองใหม่" และผลักดันให้จัดตั้งแนวร่วมที่สามให้หนักขึ้นอีก: 100
การสร้างแนวรบที่สามที่เป็นความลับนั้นเกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่มากมาย รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟที่ครอบคลุม เช่น สายเฉิงตู–คุนหมิง : 153–164 อุตสาหกรรมการบินและอวกาศรวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในการส่งดาวเทียม: 218–219 และอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กกล้ารวมทั้งบริษัท พันจือฮฺวาเหล็กและเหล็กกล้า จำกัด (Panzhihua Iron and Steel): 9
การพัฒนาแนวรบที่สามชะลอตัวลงใน ค.ศ. 1966 แต่เร่งขึ้นอีกครั้งหลังความขัดแย้งชายแดนจีน–โซเวียตที่เกาะเจินเป่า ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงรุกรานของโซเวียตที่รับรู้ได้: 12, 150 การก่อสร้างแนวรบที่สามชะลออีกครั้งหลังการเยือนจีนของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันแห่งสหรัฐใน ค.ศ. 1972 และการปรองดองระหว่างสหรัฐกับจีนที่เกิดขึ้นตามมา: 225–229 เมื่อการปฏิรูปและการเปิดประเทศเริ่มขึ้นหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา จีนก็เริ่มค่อย ๆ ยุติโครงการแนวรบที่สาม: 180 แนวรบที่สามกระจายทุนทางกายภาพและมนุษย์ไปทั่วประเทศ ในที่สุดก็ลดความเหลื่อมล้ำตามภูมิภาคและสร้างเงื่อนไขที่เอื้อพัฒนาตลาดในภายหลัง: 177–182
ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 เหมาเริ่มกังวลเกี่ยวกับธรรมชาติของจีนหลัง ค.ศ. 1959 เขาเห็นว่าชนชั้นปกครองเก่าถูกแทนที่ด้วยชนชั้นปกครองใหม่ เขาเป็นห่วงว่าผู้มีอำนาจจะห่างเหินจากประชาชนที่พวกเขาต้องรับใช้ เหมาเชื่อว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรมจะโค่นล้มและก่อความไม่สงบให้กับ "ชนชั้นปกครอง" และทำให้จีนอยู่ในสถานะของ "การปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง" ที่ในทางทฤษฎีแล้วจะเป็นการตอบสนองผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ มากกว่าชนชั้นสูงที่มีสิทธิพิเศษเพียงเล็กน้อย
การปฏิวัติวัฒนธรรมส่งผลให้มรดกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของจีนถูกทำลายไปมากและชาวจีนจำนวนมากต้องถูกจำคุก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความวุ่นวายในประเทศอีกด้วย ชีวิตผู้คนนับล้านต้องพังทลายเมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตชาวจีน คาดว่ามีผู้คนหลายแสนหรืออาจถึงล้านคนเสียชีวิตจากความรุนแรงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น หลิว เช่าฉี
ในช่วงนี้เองที่เหมาเลือกหลิน เปียวเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง ต่อมาหลินได้รับการขนานนามอย่างเป็นทางการว่าเป็นผู้สืบทอดของเหมา ใน ค.ศ. 1971 ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองเริ่มปรากฏชัดเจน หลินเสียชีวิตในวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1971 ในเหตุการณ์เครื่องบินตกเหนือน่านฟ้ามองโกเลีย สันนิษฐานว่าขณะเขาหลบหนีออกจากจีน อาจคาดการณ์ว่าเขาจะถูกจับกุม พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศว่าหลินกำลังวางแผนโค่นล้มเหมาและขับไล่หลินออกจากพรรคหลังจากที่เขาเสียชีวิต ในเวลานี้ เหมาสูญเสียความไว้วางใจในตัวบุคคลสำคัญหลายคนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน พลโท ไอออน มีไฮ ปาเชปา ผู้แปรพักตร์จากหน่วยข่าวกรองระดับสูงสุดของกลุ่มโซเวียต อ้างว่าเขาได้สนทนากับนีกอลาเอ ชาวูเชสกู ซึ่งเล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับแผนการลอบสังหารเหมาด้วยความช่วยเหลือของหลิน เปียวที่จัดโดยเคจีบี
ใน ค.ศ. 1969 เหมาประกาศว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนระบุว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1976 หลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมาและการจับกุมแก๊งออฟโฟร์ คณะกรรมาธิการกลางใน ค.ศ. 1981 มีมติอย่างเป็นทางการว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมเป็น "ความอัปยศครั้งใหญ่" ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
การประมาณการตัวเลขขั้นต่ำที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางคือประมาณ 400,000 ราย ตามที่มอริส ไมส์เนอร์กล่าว แมกฟาร์ควาร์และเชินฮาลส์ยืนยันว่าในพื้นที่ชนบทของจีนเพียงแห่งเดียวมีผู้ถูกข่มเหงราว 36 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 750,000 ถึง 1.5 ล้านคน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บถาวรจำนวนเท่ากัน
ในระหว่างการเป็นผู้นำ เหมาเดินทางออกนอกประเทศจีนเพียงแค่สองครั้งเท่านั้น ทั้งสองครั้งเป็นการเดินทางเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกคือเดือนธันวาคม ค.ศ. 1949 เพื่อร่วมงานฉลองวันเกิดครบ 70 ปีของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียต ที่มอสโก ในงานเลี้ยงครั้งนั้นมีวัลเทอร์ อุลบริชท์ รองประธานสภารัฐมนตรีเยอรมนีตะวันออก และยัมจากิน เซเดนบัล เลขาธิการพรรคประชาชนมองโกเลีย เข้าร่วมด้วย ครั้งที่สองคือเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1957 เป็นการเยือนอย่างเป็นทางการนานสองสัปดาห์ จุดเด่นของการเยือนครั้งนี้ ได้แก่ การเข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 40 ปีการปฏิวัติเดือนตุลาคม (ร่วมพิธีสวนสนามประจำปีของกองทหารมอสโกที่จัตุรัสแดง รวมถึงงานเลี้ยงที่เครมลิน) และการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งเหมาได้พบปะกับผู้นำคอมมิวนิสต์คนอื่น ๆ เช่น คิม อิล-ซ็อง แห่งเกาหลีเหนือ และแอลแวร์ ฮอจา แห่งแอลเบเนีย
เมื่อเหมาลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1959 หน้าที่การเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการและการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะสหภาพโซเวียตหรือประเทศอื่น ๆ ได้ถูกมอบหมายแก่ประธานาธิบดีหลิว เช่าฉี นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล หรือรองนายกรัฐมนตรีเติ้ง เสี่ยวผิง[ต้องการอ้างอิง]
สุขภาพของเหมาทรุดโทรมลงในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต ซึ่งอาจเลวร้ายลงจากการสูบบุหรี่จัดเป็นนิสัย ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเหมา อาการป่วยหลายอย่างเกี่ยวกับปอดและหัวใจของเขากลายเป็นความลับของชาติ มีรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเหมาอาจเป็นโรคพาร์คินสัน ร่วมกับโรค ALS (amyotrophic lateral sclerosis) หรือเรียกอีกอย่างว่าโรคลู เกห์ริก ครั้งสุดท้ายที่เหมาปรากฏตัวต่อสาธารณะและภาพถ่ายสุดท้ายที่เขายังมีชีวิตอยู่คือวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1976 เมื่อเขาพบกับซัลฟิการ์ อาลี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถานที่มาเยือน เหมามีอาการหัวใจวายรุนแรงสองครั้ง ครั้งแรกในเดือนมีนาคม อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ต่อมาในวันที่ 5 กันยายน อาการหัวใจวายครั้งที่สามทำให้เขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และถึงแก่อสัญกรรมในอีก 4 วันต่อมาเมื่อเวลา 00:10 น. ของวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1976 ด้วยวัย 82 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ชะลอการประกาศข่าวการถึงแก่อสัญกรรมจนถึงเวลา 16:00 น. โดยมีการออกอากาศทางวิทยุแห่งชาติเพื่อแจ้งข่าวและเรียกร้องความสามัคคีในพรรค
ร่างของเหมาที่ผ่านการดองถูกคลุมด้วยธงพรรคคอมมิวนิสต์จีนและตั้งไว้ที่มหาศาลาประชาชนเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ชาวจีนกว่าหนึ่งล้านคนเข้าแถวเพื่อเคารพศพ บ่อยครั้งที่พวกเขาร้องไห้กันอย่างเปิดเผยหรือแสดงความโศกเศร้า ในขณะที่ชาวต่างชาติเฝ้าดูผ่านทางโทรทัศน์ รูปภาพอย่างเป็นทางการของเหมาแขวนอยู่บนผนังพร้อมป้ายที่มีข้อความว่า "สืบสานเจตนารมณ์ของท่านประธานเหมา และเดินหน้าการปฏิวัติของกรรมาชีพต่อไปจนถึงที่สุด" วันที่ 17 กันยายน ร่างของเขาถูกเคลื่อนย้ายโดยรถมินิบัสไปยังโรงพยาบาล 305 เพื่อเก็บรักษาอวัยวะภายในด้วยฟอร์มาลิน
วันที่ 18 กันยายน เสียงปืน ไซเรน นกหวีด และแตรทั่วทั้งประเทศจีนดังขึ้นพร้อมกัน ขณะเดียวกันก็มีการไว้อาลัยด้วยความเงียบเป็นเวลา 3 นาที จัตุรัสเทียนอันเหมินมีประชาชนหลายล้านคนมาชุมนุมและวงดนตรีทหารบรรเลงเพลง "แองเตอร์นาซิอองนาล" ฮฺว่า กั๋วเฟิง กล่าวสดุดีรำลึกหน้าประตูเทียนอันเป็นเวลา 20 นาที แม้เหมาจะสั่งเสียให้เผาร่างของเขา แต่ร่างของเขาก็กลับถูกเก็บรักษาไว้โดยจัดแสดงอย่างถาวรที่หอรำลึกประธานเหมาในกรุงปักกิ่ง เพื่อให้ประชาชนชาวจีนได้มาแสดงความเคารพ
วันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1981 คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเห็นชอบมติว่าด้วยบางประเด็นในประวัติศาสตร์พรรคเรานับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการประเมินมรดกของสมัยเหมาและทิศทางต่อไปของพรรค: 166 มตินี้กล่าวถึงความล้มเหลวในช่วง ค.ศ. 1957 ถึง 64 (แม้โดยทั่วไปจะยืนยันช่วงเวลาดังกล่าว) และความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1965 โดยระบุว่าความผิดพลาดของเหมาเป็นผลจากแนวโน้มที่เห็นแก่ตัวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเขาละทิ้งมุมมองร่วมกันของผู้นำ: 167 ในแง่ของมรดกของเหมานั้น มติพรรคระบุว่า บทบาทของเหมาในช่วงการปฏิวัติจีนยิ่งใหญ่กว่าความผิดพลาดของเขามาก: 445
เหมาได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญและมีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาถูกอธิบายว่าเป็นปัญญาชนทางการเมือง นักทฤษฎี นักยุทธศาสตร์การทหาร กวี และผู้มีวิสัยทัศน์ เขาได้รับการยกย่องและชื่นชมสำหรับการขับไล่จักรวรรดินิยมออกจากจีน การรวมชาติจีน และการยุติสงครามกลางเมืองในช่วงหลายทศวรรษก่อน เขายังได้รับการยกย่องว่ามีส่วนช่วยยกระดับสถานะของสตรีในประเทศจีน รวมไปถึงการพัฒนาการรู้หนังสือและการศึกษา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 โพลสำรวจของหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ของรัฐบาลระบุว่าประมาณร้อยละ 85 ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,045 คนมีความรู้สึกว่าความสำเร็จของเหมามีมากกว่าข้อผิดพลาด ดังที่ในจีนมีคำกล่าวว่าเหมาดีเจ็ดส่วน ชั่วสามส่วน: 55 : 445
นโยบายของเขาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบล้านคนในจีนในช่วงที่เขาปกครอง โดยเกิดจากความอดอยาก การข่มเหง การใช้แรงงานทาสในค่ายแรงงาน และการประหารหมู่ เหมาแทบจะไม่เคยสั่งการเกี่ยวกับการกำจัดชีวิตผู้คนโดยตรง ตามที่ฟิลิป ชอร์ตระบุ ผู้เสียชีวิตจากนโยบายของเหมาส่วนใหญ่เป็นเหยื่อที่ไม่ได้ตั้งใจของทุพภิกขภัย ขณะที่อีกสามหรือสี่ล้านคนนั้นเหมามองว่าเป็นเหยื่อที่จำเป็นในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงจีน ประเทศจีนในสมัยเหมามักถูกระบุว่าเป็นระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ครอบงำชีวิตประชาชนทุกด้านและก่อให้เกิดการปราบปรามประชาชนในวงกว้าง เหมาถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในทรราชผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหมามักถูกยกมาเปรียบเทียบกับจิ๋นซีฮ่องเต้ในฐานะผู้นำที่ทรงอิทธิพลในการรวมชาติจีน[a]
ภายใต้การปกครองของเขา ประชากรของจีนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 550 ล้านเป็นมากกว่า 900 ล้านคน กลยุทธ์การก่อการกำเริบของเหมายังคงถูกนำมาใช้โดยกลุ่มกบฏ และอุดมการณ์ทางการเมืองของเขายังคงได้รับการยอมรับจากองค์การคอมมิวนิสต์จำนวนมากทั่วโลก
ในจีนแผ่นดินใหญ่ เหมาเป็นที่เคารพนับถืออย่างมากจากประชาชนส่วนใหญ่ เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ยกระดับอายุขัยเฉลี่ยของประชาชนจีนจาก 35 ปีใน ค.ศ. 1949 เพิ่มขึ้นเป็น 63 ปีใน ค.ศ. 1975 นอกจากนี้ยังนำพา "ความเป็นหนึ่งและความมั่นคงมาสู่ประเทศที่เคยเผชิญสงครามกลางเมืองและการรุกรานจากต่างชาติ" และวางรากฐานให้จีน "ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก" เขาได้รับการยกย่องอย่างมากจากการดำเนินการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ ส่งเสริมสถานะสตรี เพิ่มระดับการรู้หนังสือของประชาชน และ "เปลี่ยนแปลงสังคมจีนไปในทางที่ดีอย่างสิ้นเชิง" เหมาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ส่งเสริมให้ระดับการรู้หนังสือของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก (จากเพียงร้อยละ 20 ใน ค.ศ. 1949 เพิ่มเป็นร้อยละ 65.5 ใน 30 ปีต่อมา) ทำให้ประชากรมีอายุยืนขึ้นเป็นสองเท่า ประชากรเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า และพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานของจีน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกในปัจจุบัน
การต่อต้านเหมาอาจนำไปสู่การตรวจพิจารณาหรือผลกระทบต่ออาชีพในจีนแผ่นดินใหญ่ จึงมักกระทำกันในที่ส่วนตัว เมื่อคลิปวิดีโอของปี้ ฝูเจี้ยน พิธีกรรายการโทรทัศน์กำลังดูหมิ่นเหมาในงานเลี้ยงส่วนตัวเมื่อ ค.ศ. 2015 ถูกเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ปี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใช้เว่ย์ปั๋ว โดยร้อยละ 80 ระบุในการสำรวจความคิดเห็นว่าปี้ไม่ควรขอโทษท่ามกลางการต่อต้านจากหน่วยงานรัฐ ประชาชนจีนตระหนักดีถึงความผิดพลาดของเหมา แต่หลายคนยังคงยกย่องให้เขาเป็นวีรบุรุษของชาติ เขาถูกมองว่าเป็นผู้ปลดปล่อยประเทศจากการยึดครองของญี่ปุ่นและการแสวงหาผลประโยชน์ของจักรวรรดินิยมตะวันตกที่ย้อนกลับไปถึงสงครามฝิ่น ระหว่าง ค.ศ. 2015 ถึง 2018 วอชิงตันโพสต์ได้สัมภาษณ์ชาวจีน 70 คนเกี่ยวกับสมัยของเหมา ผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ชื่นชมความเรียบง่ายของสมัยนั้น โดยเชื่อว่าชีวิตในสมัยนั้นมี "ความหมายที่ชัดเจน" และความเหลื่อมล้ำน้อยมาก พวกเขาอ้างว่า "ชีวิตจิตวิญญาณ" ในสมัยนั้นอุดมสมบูรณ์ พร้อมกันนั้นผู้ให้สัมภาษณ์ยังยอมรับถึง "ชีวิตวัตถุ" ที่ยากลำบาก และประสบการณ์ด้านลบอื่น ๆ ในสมัยของเหมา
วันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 2008 จีนได้เปิดจัตุรัสเหมาเจ๋อตง ให้ประชาชนเข้าชมในบ้านเกิดของเขา ซึ่งอยู่ในมณฑลหูหนานตอนกลาง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 115 ปีชาตกาลของเขา
ซู เสี่ยวฉี อดีตเจ้าหน้าที่พรรคแสดงความเห็นว่า "เขาเป็นอาชญากรทางประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็เป็นพลังแห่งความดีที่ยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกัน" ในทำนองเดียวกัน หลิว ปินเอี๋ยน นักข่าวอธิบายว่าเหมาคือ "ทั้งอสูรและอัจฉริยะ" หลี่ รุ่ย เลขาส่วนตัวของเหมาและสหายร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แสดงความเห็นว่า "วิธีคิดและการปกครองของเหมานั้นน่าสะพรึงกลัว เขาไม่ให้ความสำคัญกับชีวิตมนุษย์ และการตายของผู้อื่นไม่มีความหมายอะไรต่อเขา"
คำกล่าวของเฉิน ยฺหวิน ที่ว่า "หากเหมาสิ้นชีวิตใน ค.ศ. 1955 ชื่อเสียงของเขาจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ หากเขาสิ้นชีวิตใน ค.ศ. 1966 เขาก็ยังคงเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็มีข้อบกพร่อง แต่เขากลับสิ้นชีวิตใน ค.ศ. 1976 อนิจจา จะพูดอย่างไรดี" ต่อมาเติ้ง เสี่ยวผิง กล่าวเตือนเขาว่า "ประธานเหมาอุทิศทั้งชีวิตเพื่อชาติจีน เขาช่วยเหลือพรรคและการปฏิวัติในยามวิกฤตที่สุด สรุปแล้วการมีส่วนร่วมของเขายิ่งใหญ่มากจนหากไม่มีเขา ประชาชนจีนก็คงจะหาเส้นทางเพื่อหลุดจากความมืดมิดยากกว่านี้มาก ทั้งนี้ เราไม่ควรลืมว่าประธานเหมาเป็นผู้ผสานคำสอนของมากซ์และเลนินกับความเป็นจริงของประวัติศาสตร์จีน เขาเป็นผู้ประยุกต์ใช้หลักการเหล่านั้นอย่างสร้างสรรค์ ไม่เพียงแต่ด้านการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงปรัชญา ศิลปะ วรรณกรรม และยุทธศาสตร์การทหารด้วย"
ฟิลิป ชอร์ต กล่าวว่าส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิตในสมัยเหมาเกิดจากผลกระทบที่ไม่ตั้งใจจากความอดอยาก เขาระบุว่าชนชั้นเจ้าของที่ดินไม่ได้ถูกกำจัดไปจากสังคมทั้งหมดเพราะความเชื่อของเหมาที่ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงผู้คนได้ด้วยการปฏิรูปความคิด และได้เปรียบเทียบเหมากับนักปฏิรูปชาวจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ท้าทายความเชื่อดั้งเดิมของจีนในสมัยที่จีนเผชิญกับการล่าอาณานิคมของตะวันตก ชอร์ตยังเขียนว่า "ความน่าเศร้าและความยิ่งใหญ่ของเหมาคือการที่เขายังคงหลงใหลในความฝันปฏิวัติของตนจนถึงวาระสุดท้าย... เขาปลดปล่อยจีนออกจากกรอบความคิดแบบขงจื๊อในอดีต แต่อนาคตสีแดงสดใสที่เขาสัญญาไว้กลับกลายเป็นนรกที่ไร้ประโยชน์"
ในชีวประวัติของอเล็กซานเดอร์ วี. แพนต์ซอฟ และสตีเวน ไอ. เลวีน ยืนยันว่าเหมาเป็นทั้ง "ผู้สร้างที่ประสบความสำเร็จและผู้ทำลายล้างที่ชั่วร้ายในที่สุด" แต่ยังโต้แย้งว่าเขาเป็นบุคคลที่ซับซ้อนซึ่งไม่ควรยกย่องเป็นนักบุญหรือลดทอนให้เป็นปีศาจ เนื่องจาก "เขาทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองและความเคารพนับถือจากนานาชาติมาสู่ประเทศของเขา" พวกเขายังได้กล่าวถึงมรดกของเหมาว่า: "นักการเมืองชาวจีนผู้มากความสามารถ นักประวัติศาสตร์ กวี และนักปรัชญา ผู้นำเผด็จการผู้ทรงอำนาจและผู้จัดระเบียบที่ทรงพลัง นักการทูตผู้ชำนาญและนักสังคมนิยมอุดมคติ ประมุขแห่งรัฐที่มีประชากรมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นนักปฏิวัติผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผู้พยายามอย่างจริงใจที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตและจิตสำนึกของผู้คนนับล้าน วีรบุรุษแห่งการปฏิวัติประชาชาติ และนักปฏิรูปสังคมผู้เลือดเย็น—นี่คือภาพของเหมาในประวัติศาสตร์ ขนาดของชีวิตเขานั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าจะสรุปเป็นความหมายเดียว" ซิดนีย์ ริตเทนเบิร์ก ล่ามแปลภาษาอังกฤษส่วนตัวของเหมา เขียนไว้ในบันทึกความทรงจำของเขาว่า "แม้เหมาจะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์" แต่เขาก็เป็น "อาชญากรผู้ยิ่งใหญ่ด้วย ไม่ใช่ว่าเขาต้องการหรือตั้งใจ แต่ในความเป็นจริง จินตนาการอันป่าเถื่อนของเขาทำให้ผู้คนหลายสิบล้านคนต้องเสียชีวิต"
สหรัฐบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่อจีน เนื่องจากการเข้าร่วมสงครามเกาหลีของจีน และมาตรการดังกล่าวดำเนินมากระทั่งถึงสมัยของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ซึ่งได้ตัดสินใจว่าการพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ รายการโทรทัศน์ไบออกราฟีระบุว่า "[เหมา] เปลี่ยนจีนจากดินแดนศักดินาล้าหลังให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก... ระบอบการปกครองของจีนที่เขาปฏิวัติโค่นล้มนั้นล้าสมัยและฉ้อฉล แทบไม่มีใครแย้งได้ว่าเขาดึงจีนเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่ต้องแลกมาด้วยชีวิตมนุษย์ที่มากมายมหาศาล" ศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ วาสเซอร์สตรอม เปรียบเทียบความสัมพันธ์ของจีนที่มีต่อเหมากับความทรงจำของสหรัฐที่มีต่อแอนดรูว์ แจ็กสัน โดยทั้งสองประเทศต่างมองผู้นำของตนในแง่บวก แม้ทั้งสองคนจะมีส่วนในการกำหนดนโยบายที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงก็ตาม แจ็กสันบังคับให้ชาวอเมริกันพื้นเมืองเดินทางผ่านเส้นทางธารน้ำตา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน ขณะที่เหมากำลังเป็นผู้นำอยู่[b]
จอห์น คิง แฟร์แบงก์ กล่าวว่า "ความจริงที่เรียบง่ายเกี่ยวกับอาชีพการงานของเหมาดูเหมือนจะน่าเหลือเชื่อ ในแผ่นดินอันกว้างใหญ่ที่มีประชากร 400 ล้านคน เขาก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเมื่ออายุ 28 ปี พร้อมด้วยสหายอีกเพียงโหล และภายในเวลา 50 ปี เขาสามารถคว้าอำนาจ จัดระเบียบ ปฏิรูปประชาชน และปรับเปลี่ยนแผ่นดิน ประวัติศาสตร์ไม่เคยบันทึกความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านี้ อเล็กซานเดอร์ ซีซาร์ ชาร์เลอมาญ กษัตริย์ยุโรปทุกองค์ นโปเลียน บิสมาร์ค เลนิน ผู้นำในอดีตคนใดก็ไม่อาจเทียมกับขอบเขตความสำเร็จของเหมาได้ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกโบราณและยิ่งใหญ่เท่ากับจีน" ในหนังสือ In China: A New History แฟร์แบงก์และโกลด์แมนได้ประเมินมรดกของเหมาไว้ว่า: "นักประวัติศาสตร์ในอนาคตอาจสรุปได้ว่าบทบาทของเหมาคือการพยายามทำลายความเหลื่อมล้ำอันยาวนานของจีนระหว่างชนชั้นปกครองที่มีการศึกษาจำนวนน้อย และประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจนและไร้การศึกษา เราไม่ทราบแน่ชัดว่าเขาประสบความสำเร็จในระดับใด เศรษฐกิจของจีนกำลังพัฒนา แต่เป็นภาระของผู้สืบทอดอำนาจในการสร้างโครงสร้างทางการเมืองใหม่"
สจวร์ต อาร์. ชแรม กล่าวว่าเหมาเป็น "กบฏนิรันดร์ ผู้ปฏิเสธที่จะถูกผูกมัดด้วยกฎของพระเจ้าหรือมนุษย์ ธรรมชาติหรือลัทธิมากซ์ เขานำพาประชาชนของเขาเป็นเวลาสามทศวรรษในการแสวงหาวิสัยทัศน์อันสูงส่ง ซึ่งค่อย ๆ กลายเป็นภาพลวงตา และในที่สุดก็กลายเป็นฝันร้าย เขาเป็นเฟาสต์หรือโพรมีธีอุส ผู้พยายามทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพื่อมวลมนุษยชาติ หรือเป็นทรราชผู้ทะเยอทะยานอย่างไม่ยั้งคิด เมาหมกอยู่กับอำนาจและความฉลาดของตนเอง?" ชแรมยังกล่าวอีกว่า "ผมเห็นด้วยกับมุมมองของคนจีนในปัจจุบันที่ว่าคุณความดีของเหมามีมากกว่าข้อเสีย แต่การจะหาตัวเลขที่ชัดเจนมาวัดผลดีผลเสียของเขานั้นเป็นเรื่องยาก จะประเมินอย่างไรดีว่า บุญคุณที่ชาวนาหลายร้อยล้านคนได้รับที่ดินนั้นมีน้ำหนักมากกว่าการประหารชีวิตผู้คนนับล้านในระหว่างการปฏิรูปที่ดินและการปราบปรามขบวนการต่อต้านการปฏิวัติ หรือในเหตุการณ์อื่น ๆ ที่บางคนอาจสมควรตาย แต่บางคนก็ไม่สมควรอย่างแน่นอน? จะประเมินผลสำเร็จทางเศรษฐกิจในแผนพัฒนาห้าปีแรก หรือตลอดระยะเวลา 27 ปีที่เหมาเป็นผู้นำหลัง ค.ศ. 1949 อย่างไร ในเมื่อต้องเผชิญกับความอดอยากขาดอาหารอันเกิดจากความกระตือรือร้นที่ผิดพลาดของการก้าวกระโดดไกล หรือความวุ่นวายนองเลือดในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม?" เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า "อย่างไรก็ดี ในการวิเคราะห์ครั้งสุดท้าย ผมสนใจในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากความคิดของเขามากกว่าการส่งเหมาไปสวรรค์หรือยมโลกในฐานะคน ๆ หนึ่ง"
มอริส ไมส์เนอร์ ประเมินมรดกของเหมาไว้ว่า "รอยด่างในประวัติศาสตร์ของลัทธิเหมา โดยเฉพาะการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าและการปฏิวัติวัฒนธรรม จะถูกตราตรึงอยู่ในจิตสำนึกทางการเมืองและประวัติศาสตร์ของเราอย่างลึกซึ้งที่สุดในปัจจุบัน เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่และก่อความสูญเสียต่อมนุษย์อย่างมหาศาล เราไม่อาจและไม่ควรลืมเลือน แต่ในอนาคต นักประวัติศาสตร์จะบันทึกยุคเหมาในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน (ไม่ว่าจะตัดสินอย่างไร) ว่าเป็นหนึ่งในยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และเป็นยุคที่นำมาซึ่งประโยชน์ทางสังคมและมนุษยแก่ชาวจีนอย่างมาก
ลัทธิเหมาส่งอิทธิพลต่อคอมมิวนิสต์จำนวนมาก โดยเฉพาะในโลกที่สาม รวมถึงขบวนการปฏิวัติ เช่น เขมรแดงในกัมพูชา ทางสว่างในเปรู และขบวนการปฏิวัติเนปาล ภายใต้อิทธิพลของลัทธิสังคมนิยมเกษตรกรรมและการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของเหมา พล พตและเขมรแดงได้คิดค้นนโยบาย "ปีที่ศูนย์" ที่นำมาซึ่งหายนะ ซึ่งได้กวาดล้างครู ศิลปิน และปัญญาชนออกจากประเทศ และกวาดล้างเมืองต่าง ๆ จนเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา พรรคคอมมิวนิสต์ปฏิวัติสหรัฐ ก็อ้างลัทธิมากซ์–เลนิน–เหมาเป็นอุดมการณ์ของตน เช่นเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ทั่วโลกที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปฏิวัติสากลนิยม หลังจากการอสัญกรรมของเหมา จีนได้ออกห่างจากแนวทางลัทธิเหมาอย่างชัดเจน และคนส่วนใหญ่ที่อยู่นอกประเทศจีนและเรียกตัวเองว่าเหมาอิสต์ต่างมองว่าการปฏิรูปของเติ้ง เสี่ยวผิงเป็นการทรยศต่อลัทธิเหมา ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของเหมาเองเกี่ยวกับ "ผู้เดินตามเส้นทางทุนนิยม" (capitalist roaders) ภายในพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อรัฐบาลจีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจแบบตลาดในปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 และผู้นำจีนรุ่นหลังเข้ามามีอำนาจ การยกย่องสรรเสริญเหมาก็ลดน้อยลงไป สิ่งนี้สอดคล้องกับการที่รัฐลดการให้ความสำคัญกับเหมาในช่วงหลังเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลจัดกิจกรรมและสัมมนาเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของเหมา กระนั้น รัฐบาลจีนก็ไม่เคยปฏิเสธยุทธวิธีของเหมาอย่างเป็นทางการ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้ซึ่งคัดค้านการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าและการปฏิวัติวัฒนธรรม ได้กล่าวไว้ว่า "เมื่อเราเขียนถึงความผิดพลาดของเขา เราไม่ควรพูดเกินจริง เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะทำให้ประธานเหมา เจ๋อตง เสียชื่อ และนั่นหมายถึงการทำให้พรรคและประเทศของเราเสียชื่อเช่นกัน"
สนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์บางประเภท ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1963 ได้เพิ่มความกังวลของจีนปรับความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียตที่หันมาคุกคามจีน และเป็นแรงผลักดันให้เหมาเสนอแนวคิด "เขตกลางสองชั้น": 96–97 เหมามองว่าแอฟริกาและลาตินอเมริกาเป็น "เขตกลางแรก" ซึ่งสถานะของจีนในฐานะอำนาจที่ไม่ใช่คนผิวขาว อาจจะทำให้จีนสามารถแข่งขันและแทนที่อิทธิพลของทั้งสหรัฐและโซเวียตได้: 48 เขตกลางอีกแห่งหนึ่งก็คือกลุ่มประเทศพันธมิตรที่ร่ำรวยกว่าของสหรัฐในยุโรป: 97
งานเขียนทางทหารของเหมายังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อทั้งกลุ่มคนที่ต้องการก่อกบฏและกลุ่มคนที่ต้องการปราบปรามการกบฏ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทำสงครามกองโจร ซึ่งเหมาได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นอัจฉริยะ กลุ่มลัทธิเหมาเนปาลได้รับอิทธิพลอย่างมากจากมุมมองของเหมาเกี่ยวกับสงครามยืดเยื้อ ประชาธิปไตยใหม่ การสนับสนุนมวลชน ความถาวรของการปฏิวัติ และการปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพ ผลงานสำคัญที่สุดของเหมาต่อวิทยาศาสตร์การทหารคือทฤษฎีสงครามประชาชน ซึ่งไม่เพียงแต่รวมถึงการรบแบบกองโจรเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงกลยุทธ์การรบแบบเคลื่อนที่ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่า เหมาประยุกต์ใช้ยุทธวิธีสงครามเคลื่อนที่ในสงครามเกาหลีได้อย่างสำเร็จ ทำให้สามารถล้อมขนาบ ผลักดัน และหยุดกองกำลังสหประชาชาติในเกาหลีได้ แม้กองกำลังสหประชาชาติจะมีอำนาจการยิงที่เหนือกว่าอย่างชัดเจน
บทกวีและงานเขียนของเหมามักถูกอ้างถึงโดยทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติ การแปลสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีบารัก โอบามาเป็นภาษาจีนอย่างเป็นทางการได้นำเอาบทกวีที่มีชื่อเสียงบทหนึ่งของเหมามาใช้ ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 ภาพของเหมาเริ่มปรากฏบนธนบัตรเหรินหมินปี้ชุดใหม่ทั้งหมดของจีน การทำเช่นนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อป้องกันการปลอมแปลง เนื่องมาจากใบหน้าของเหมาเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไปเมื่อเทียบกับรูปภาพทั่วไปที่ปรากฏบนธนบัตรชุดเก่า ในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 2006 หนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้ารายงานว่า สมาชิกคนหนึ่งของที่สภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีนได้เสนอให้มีการใส่รูปของซุน ยัตเซ็น และเติ้ง เสี่ยวผิง ลงในธนบัตรเหรินหมินปี้
เหมาให้คำกล่าวที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการสร้างลัทธิบูชาบุคคล ใน ค.ศ. 1956 เพื่อตอบสนองต่อรายงานของครุชชอฟที่วิจารณ์โจเซฟ สตาลิน เหมากล่าวว่าลัทธิบูชาบุคคลเป็น "สิ่งที่หลงเหลือจากอุดมการณ์อันเป็นพิษของสังคมเก่า" และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของจีนที่มีต่อความเป็นผู้นำร่วมกัน ในการประชุมพรรคที่เฉิงตูใน ค.ศ. 1958 เหมาแสดงการสนับสนุนลัทธิบูชาบุคคลของผู้ที่เขาเห็นว่าคู่ควรอย่างแท้จริง ไม่ใช่การบูชาแบบตาบอดหรือไร้เหตุผล
ใน ค.ศ. 1962 เหมาเสนอขบวนการศึกษาสังคมนิยมเพื่อเป็นการอบรมชาวนาให้ต้านทานต่อสิ่งล่อใจจากระบอบศักดินาและรากเหง้าของทุนนิยมที่เขามองว่ากำลังผุดขึ้นมาใหม่ในชนบทอันเป็นผลมาจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของหลิว มีการผลิตและเผยแพร่งานศิลปะที่มีเนื้อหาทางการเมืองโดยมีเหมาเป็นศูนย์กลางจำนวนมาก โปสเตอร์ ตราสัญลักษณ์ และบทเพลงจำนวนมากมักกล่าวถึงเหมาในวลีที่ว่า "ประธานเหมาคือตะวันสีแดงในใจเรา" (毛主席是我們心中的紅太陽; Máo Zhǔxí Shì Wǒmen Xīnzhōng De Hóng Tàiyáng) และ "ผู้ช่วยชีวิตปวงประชา" (人民的大救星; Rénmín De Dà Jiùxīng)
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1966 คติพจน์จากประธานเหมา เจ๋อตง หรือที่รู้จักกันในชื่อหนังสือเล็กแดง ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ สมาชิกพรรคได้รับการส่งเสริมให้พกพาสำเนาติดตัวไปด้วย และการครอบครองหนังสือเล่มนี้แทบจะเป็นข้อบังคับสำหรับการเป็นสมาชิก ตามหนังสือ เหมา เจ๋อตง: เรื่องราวที่ไม่เคยเปิดเผย โดยจฺวิน หยาง การตีพิมพ์เผยแพร่และจำหน่ายหนังสือเล่มนี้อย่างแพร่หลายมีส่วนทำให้เหมากลายเป็นเศรษฐีคนเดียวในประเทศจีนในคริสต์ทศวรรษ 1950 (หน้า 332) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาพของเหมาถูกนำไปแสดงเกือบทุกที่ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน สำนักงาน หรือร้านค้า คติพจน์ของเขาได้รับการเน้นย้ำด้วยวิธีการพิมพ์ โดยพิมพ์เป็นตัวหนาหรือตัวสีแดงแม้แต่ในงานเขียนที่คลุมเครือที่สุด ดนตรีในยุคนั้นเน้นย้ำถึงสถานะของเหมา เช่นเดียวกับเพลงกล่อมเด็ก วลีที่ว่า "ประธานเหมาจงเจริญอายุยืนหมื่นปี" เป็นที่ได้ยินกันทั่วไปในสมัยนั้น
เหมายังคงปรากฏตัวอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปทั้งในประเทศจีนและทั่วโลก ภาพของเขามักปรากฏอยู่บนสินค้าหลากหลายชนิดตั้งแต่เสื้อยืดไปจนถึงแก้วกาแฟ ข่ง ตงเหมย์ หลานสาวของเหมาออกมาปกป้องปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยกล่าวว่า "มันแสดงถึงอิทธิพลของเขาที่มีอยู่ในจิตสำนึกของผู้คนและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนจีนหลายชั่วรุ่น เช่นเดียวกับเช เกบารา ที่เขาได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมการปฏิวัติ ตั้งแต่ ค.ศ. 1950 เป็นต้นมา มีผู้คนมากกว่า 40 ล้านคนเดินทางไปเยี่ยมชมบ้านเกิดของเหมาในเฉาชาน มณฑลหูหนาน
การสำรวจของ YouGov ใน ค.ศ. 2016 พบว่าชาวอเมริกันรุ่นมิลเลนเนียลร้อยละ 42 ไม่เคยได้ยินชื่อของเหมามาก่อน ผลสำรวจของ CIS ใน ค.ศ. 2019 พบว่ามีชาวออสเตรเลียที่เกิดในยุคมิลเลนเนียมเพียงร้อยละ 21 ที่รู้จักเหมา ในคริสต์ทศวรรษ 2020 ของจีน คนรุ่น Z กำลังหันมาให้ความสนใจกับแนวคิดปฏิวัติของเหมา รวมถึงความรุนแรงต่อชนชั้นนายทุนท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และโอกาสทางเศรษฐกิจที่ลดน้อยลง ณ ต้นคริสต์ทศวรรษ 2020 การสำรวจความคิดเห็นบนจีฮูมักจัดให้เหมาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์จีน: 58
พ่อแม่ของเหมามีลูกชายทั้งหมดห้าคนและลูกสาวสองคน ลูกชายสองคนและลูกสาวทั้งสองคนเสียชีวิตในวัยเยาว์ เหลือเพียงพี่น้องชายสามคนคือเหมา เจ๋อตง เหมา เจ๋อหมิน และเหมา เจ๋อถาน ภรรยาทั้งสามคนของเหมา เจ๋อตง เช่นเดียวกับเหมา เจ๋อหมินและเหมา เจ๋อถาน ต่างก็เป็นคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับหยาง ไคฮุ่ย ทั้งเหมา เจ๋อหมินและเหมา เจ๋อถานเสียชีวิตในสงครามในช่วงชีวิตของเหมา เจ๋อตง ข้อสังเกตคืออักษร เจ๋อ (澤) อยู่ในชื่อของพี่น้องทุกคน นี่เป็นธรรมเนียมการตั้งชื่อของจีนที่พบเห็นได้บ่อย
จากรุ่นถัดไป เหมา ยฺเหวี่ยนซิน ลูกชายของเหมา เจ๋อหมิน ถูกเลี้ยงดูโดยครอบครัวของเหมา เจ๋อตง และเขากลายเป็นผู้ประสานงานของเหมา เจ๋อตงกับกรมการเมืองใน ค.ศ. 1975 ในหนังสือ The Private Life of Chairman Mao ของหลี่ จื้อสุย เหมา ยฺเหวี่ยนซินมีบทบาทในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจครั้งสุดท้าย
ลูกสาวคนแรกและคนที่สองของเหมาถูกทิ้งไว้กับชาวบ้านท้องถิ่นเนื่องจากมันอันตรายเกินไปที่จะเลี้ยงดูพวกเธอในขณะต่อสู้กับก๊กมินตั๋งและต่อมาคือญี่ปุ่น ลูกสาวคนเล็กของพวกเขา (เกิดในต้น ค.ศ. 1938 ในมอสโกหลังแยกทางกับเหมา) และลูกอีกคน (เกิด ค.ศ. 1933) เสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก นักวิจัยชาวอังกฤษสองคนที่เดินทางตามรอยเส้นทางเดินทัพทางไกลทั้งหมดใน ค.ศ. 2002–2003 พบหญิงคนหนึ่งที่พวกเขาเชื่อว่าอาจเป็นหนึ่งในลูกที่หายไปซึ่งเหมาทิ้งไว้กับชาวนาใน ค.ศ. 1935. เอ็ด โจเซลิน และแอนดรูว์ แมกอีเวน หวังว่าสมาชิกในครอบครัวเหมาจะตอบรับคำขอสำหรับการตรวจดีเอ็นเอ
จากลูกสิบคนของเขา เหมากลายเป็นปู่ของหลานสิบสองคน ซึ่งหลายคนเขาไม่เคยรู้จัก เขาคงมีเหลนหลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ หลานสาวคนหนึ่งของเขา ข่ง ตงเหมย์ นักธุรกิจหญิง เป็นหนึ่งในบุคคลที่รวยที่สุดในประเทศจีน หลานชายของเขา เหมา ซินยฺหวี่ เป็นนายพลในกองทัพจีน ทั้งเขาและข่งต่างก็เขียนหนังสือเกี่ยวกับปู่ของพวกเขา
ชีวิตส่วนตัวของเหมาถูกเก็บเป็นความลับอย่างมากในช่วงที่เขาปกครอง หลังเหมาถึงแก่อสัญกรรม หลี่ จื้อสุย แพทย์ประจำตัวของเขา ตีพิมพ์หนังสือบันทึกความทรงจำชื่อ The Private Life of Chairman Mao ซึ่งกล่าวถึงแง่มุมบางประการในชีวิตส่วนตัวของเหมา เช่น การสูบบุหรี่จัด การเสพติดยานอนหลับชนิดรุนแรง และจำนวนคู่รักทางเพศจำนวนมาก นักวิชาการบางคนและคนอื่น ๆ ที่รู้จักเหมาเป็นการส่วนตัวโต้แย้งความถูกต้องของเรื่องราวและการตีความเหล่านี้
เนื่องจากเติบโตในหูหนาน เหมาจึงพูดภาษาจีนกลางด้วยสำเนียงหูหนานที่ชัดเจน รอสส์ เทอร์ริล เขียนว่าเหมาเป็น "บุตรแห่งผืนดิน... มาจากชนบทและไม่ซับซ้อน" ขณะที่แคลร์ ฮอลลิงเวิร์ท กล่าวว่าเหมาภูมิใจใน "วิถีและมารยาทแบบชาวนา" ของเขา โดยมีสำเนียงหูหนานชัดเจนและแสดงความเห็น "ติดดิน" เกี่ยวกับเรื่องเพศ ลี ไฟกอน กล่าวว่า "ความติดดิน" ของเหมาหมายความว่าเขาเชื่อมโยงกับ "ชีวิตประจำวันของชาวจีน"
สจวร์ต อาร์. ชแรม นักจีนวิทยา เน้นย้ำถึงความโหดเหี้ยมของเหมาแต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่าเขาไม่ได้แสดงสัญญาณของการมีความสุขกับการทรมานหรือการฆ่าในการต่อสู้เพื่อปฏิวัติ ลี ไฟกอน มองว่าเหมาเป็นผู้ที่ "เข้มงวดและเผด็จการ" เมื่อถูกคุกคามแต่แสดงความเห็นว่าเขาไม่ใช่ "ตัวร้ายแบบที่สตาลินผู้เป็นอาจารย์ของเขาเป็น" อเล็กซานเดอร์ พันต์ซอฟ และ สตีเวน ไอ. เลวีน เขียนว่า เหมาเป็น "คนที่มีอารมณ์ซับซ้อน" ผู้ซึ่ง "พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะนำความเจริญรุ่งเรืองและได้รับความเคารพนับถือในระดับนานาชาติ" มาสู่จีน โดย "ไม่ใช่ทั้งนักบุญและปีศาจ" พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่าในชีวิตช่วงต้น เขาพยายามเป็น "วีรบุรุษที่แข็งแกร่ง ดื้อรั้น และมีเป้าหมาย โดยไม่ถูกผูกมัดด้วยพันธนาการทางศีลธรรมใด ๆ" และเขา "ปรารถนาชื่อเสียงและอำนาจอย่างแรงกล้า"
เหมาเรียนรู้ที่จะพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง โดยเฉพาะผ่านจาง หานจื้อ ครูสอนภาษาอังกฤษ ล่าม และนักการทูตของเขา ซึ่งต่อมาแต่งงานกับเฉียว กวนหฺวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและหัวหน้าคณะผู้แทนของจีนประจำสหประชาชาติ ภาษาอังกฤษที่เขาพูดได้นั้นจำกัดอยู่เพียงไม่กี่คำ วลี และประโยคสั้นบางประโยค เขาเลือกเรียนภาษาอังกฤษอย่างเป็นระบบในทศวรรษ 1950 ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติมากเนื่องจากภาษาต่างประเทศหลักที่สอนในโรงเรียนจีนในเวลานั้นคือภาษารัสเซีย
อินทรีโผบินทะยานสู่ท้องฟ้า
ปลาแหวกว่ายในน้ำตื้น
สรรพสัตว์ภายใต้ท้องฟ้าที่หนาวเย็นแข่งกันเป็นอิสระ
เศร้าใจในความกว้างใหญ่
ข้าถามแผ่นดินอันเวิ้งว้าง
ใครเป็นผู้กำหนดชะตากรรม?
เหมาเป็นนักเขียนที่เขียนวรรณกรรมทางการเมืองและปรัชญาอย่างมากมาย แหล่งรวบรวมหลักของงานเขียนของเขาในช่วงก่อน ค.ศ. 1949 คือสรรนิพนธ์ของเหมา เจ๋อตง เล่มที่ห้า ซึ่งขยายช่วงเวลาจนถึง ค.ศ. 1957 ถูกตีพิมพ์ออกมาในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ถูกถอนจากระบบการเผยแพร่เนื่องจากข้อผิดพลาดทางอุดมการณ์ที่ถูกมองว่ามีอยู่ ไม่เคยมีการจัดทำ "สรรพนิพนธ์ของเหมา เจ๋อตง" อย่างเป็นทางการ เหมาเป็นผู้แต่งที่ได้รับการกล่าวอ้างของหนังสือคติพจน์จากประธานเหมา เจ๋อตง ซึ่งเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกในชื่อ "หนังสือเล่มเล็กแดง" และในจีนสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมในชื่อ "หนังสือสมบัติแดง" (紅寶書) ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมกราคม ค.ศ. 1964 นี่คือชุดบทคัดย่อสั้น ๆ จากสุนทรพจน์และบทความมากมายของเขา (ส่วนใหญ่พบในสรรนิพนธ์) เรียบเรียงโดยหลิน เปียว และจัดเรียงตามหัวข้อ หนังสือเล่มเล็กแดงรวบรวมคำพูดที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายที่สุดของเหมา[c]
เหมาเขียนงานจำนวนมากเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการเมือง คำวิจารณ์ และปรัชญาทั้งก่อนและหลังเขาขึ้นสู่อำนาจ[d] เหมายังเป็นนักอักษรวิจิตรจีนที่มีทักษะและมีแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อักษรวิจิตรของเขาสามารถพบเห็นได้ในปัจจุบันทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ ผลงานของเขาก่อให้เกิดรูปแบบอักษรวิจิตรใหม่ที่เรียกว่า "แบบเหมา" หรือเหมาถี่ ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เขาถึงแก่อสัญกรรม มีการแข่งขันหลากหลายประเภทที่เชี่ยวชาญด้านอักษรวิจิตรแบบเหมา
การศึกษาของเหมาเริ่มต้นด้วยวรรณกรรมจีนโบราณ เหมาบอกกับเอ็ดการ์ สโนว์ใน ค.ศ. 1936 ว่าเขาเริ่มศึกษาปกิณกคดีของขงจื๊อและตำราสี่เล่มที่โรงเรียนในหมู่บ้านเมื่ออายุแปดปี แต่หนังสือที่เขาชอบอ่านมากที่สุดคือซ้องกั๋ง ไซอิ๋ว สามก๊กและความฝันในหอแดง เหมาตีพิมพ์บทกวีในรูปแบบโบราณตั้งแต่สมัยหนุ่ม และความสามารถของเขาในฐานะกวีมีส่วนช่วยสร้างภาพลักษณ์ของเขาในประเทศจีนหลังเขาขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ. 1949 รูปแบบของเขาได้รับอิทธิพลจากหลี่ ไป๋และหลี่ เฮ่อ กวีผู้ยิ่งใหญ่สมัยราชวงศ์ถัง
บทกวีที่มีชื่อเสียงที่สุดบางบทของเขา ได้แก่ "ฉางชา" (1925), "เทศกาลจงหยาง" (ตุบาคม ค.ศ. 1929), "ด่านโหลวชาน" (1935), "เดินทัพทางไกล" (1935), "หิมะ" (กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1936), "ทัพปลดแอกประชาชนยึดหนานจิง" (1949), "ตอบหลี่ ชูอี" (11 พฤษภาม ค.ศ. 1957), และ "บทกวีสรรเสริญดอกเหมย์" (ธันวาคม ค.ศ. 1961)
เหมาถูกนำเสนอในภาพยนตร์และโทรทัศน์หลายครั้ง นักแสดงที่มีชื่อเสียงบางคน ได้แก่ ฮั่น ชื่อ นักแสดงคนแรกที่เคยรับบทเหมาในละครปี 1978 เรื่อง Dielianhua และต่อมาอีกครั้งในภาพยนตร์ปี 1980 เรื่อง Cross the Dadu River กู่ เยฺว่ ผู้ซึ่งรับบทเป็นเหมา 84 ครั้งบนจอภาพยนตร์ตลอดอาชีพ 27 ปีของเขาและได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากรางวัลร้อยบุปผาใน ค.ศ. 1990 และ 1993 หลิว เย่ ผู้ซึ่งรับบทเป็นเหมาในวัยหนุ่มในภาพยนตร์เรื่อง The Founding of a Party (2011) ถัง กั๋วเฉียง ผู้ซึ่งรับบทเป็นเหมาในยุคหลัง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในภาพยนตร์เรื่อง The Lomg March (1996) และ The Founding of a Republic (2009) และละครโทรทัศน์เรื่อง Huang Yanpei (2010) และอื่น ๆ เหมาเป็นตัวละครหลักในอุปรากรเรื่อง Nixon in China (1987) ของจอห์น แอดัมส์ นักประพันธ์เพลงชาวอเมริกัน เนื้อเพลง "Revolution" ของวงเดอะบีเทิลส์อ้างถึงเหมาในท่อนที่ว่า "but if you go carrying pictures of Chairman Mao you ain't going to make it with anyone anyhow..." จอห์น เลนนอนแสดงความเสียใจที่ใส่ท่อนเหล่านี้ลงในเพลงใน ค.ศ. 1972
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน