เมทาเดตา (อังกฤษ: metadata) หมายถึง ข้อมูลที่ใช้กำกับและอธิบายข้อมูลหลักหรือกลุ่มของข้อมูลอื่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บัตรในห้องสมุดสำหรับสืบค้นหนังสือ โดยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชื่อหนังสือและตำแหน่งของหนังสือที่ต้องการหา ซึ่งหนังสือเป็นข้อมูลที่ต้องการ และบัตรเป็นข้อมูลที่อธิบายรายละเอียดของข้อมูลนั้น
สิ่งที่อธิบายอยู่ในเมทาเดตาจะช่วยทำให้ทราบถึงรายละเอียดและคุณลักษณะของข้อมูล โดยทั่วไปรูปแบบหรือแบบแผนของเมทาเดตาจะมีการกำหนดในลักษณะของมาตรฐาน เช่น ดับลินคอร์สำหรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และ ID3 สำหรับไฟล์เพลง และในเรื่องของข้อมูลเชิงพื้นที่หรือ Spatial Data ก็มีรูปแบบของมาตรฐานเมทาเดตาที่ใช้งานกันมีหลายรูปแบบ อาทิเช่น เอฟจีดีซี ไอเอสโอ รวมถึง ดับลินคอร์ ด้วย ส่วนมาตรฐานเมทาเดตาที่ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้ได้แก่ สารสนเทศภูมิศาสตร์-การอธิบายข้อมูล ซึ่งเป็นแบบแผนของการอธิบายที่จะช่วยให้ผู้ใช้ทราบถึงสถานะภาพ คุณภาพ แหล่งข้อมูล รายละเอียดคุณลักษณะข้อมูลเชิงพื้นที่ รวมถึงนโยบายเผยแพร่ข้อมูล อันเป็นส่วนสำคัญในการแลกเปลี่ยน หรือการใช้ข้อมูลร่วมกัน การลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล เพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูล กล่าวโดยสรุป เมทาเดตาหรือเมทาเดตาก็คือ ข้อมูลที่อธิบายรายละเอียดของข้อมูลหรือสารสนเทศนั่นเอง
เมทาเดตาของภาพถ่ายดิจิทัล ถูกเก็บไว้ในลักษณะที่เรียกว่า EXIF โดยข้อมูลของภาพถ่ายแต่ละภาพก็คือภาพของภาพนั้น โดยเมทาเดตาจะเป็นรายละเอียดที่เก็บไว้ในภาพถ่ายดิจิทัลนั้นที่ไม่แสดงผลโดยตรง เช่น วันและเวลาที่ถ่ายภาพ การตั้งค่าของกล้อง เช่น รูรับแสง ความยาวโฟกัส หรือตำแหน่งสถานที่ (Geolocation) ในกรณีที่กล้องมีระบบจีพีเอส (GPS) เชื่อมต่อ