เมฆออร์ต (อังกฤษ: Oort cloud) คือ ชั้นเมฆในอวกาศที่ล้อมรอบระบบสุริยะอยู่เป็นทรงกลม บริเวณเมฆเหล่านี้อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ออกไปราว 50,000 - 100,000 หน่วยดาราศาสตร์ จากดวงอาทิตย์ ไกลออกไปจากขอบระบบสุริยะรอบนอก ตำแหน่งของเมฆออร์ตอยู่ในระยะความห่าง 1 ใน 4 ของดาวแคระแดงพร็อกซิมาคนครึ่งม้า ในกลุ่มเมฆออร์ตนี้มีวัตถุพ้นดาวเนปจูน อย่างดาวเคราะห์แคระ 90377 เซดนา ที่ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 อยู่ด้วย
วัตถุในกลุ่มเมฆออร์ตคือเศษเหลือจากการสร้างดาวเคราะห์ เป็นก้อนน้ำแข็งสกปรก มีส่วนประกอบไปด้วยน้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน แอมโมเนีย ฝุ่น และหิน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ไม่กี่กิโลเมตรไปจนถึงหลายสิบกิโลเมตร
เมฆออร์ตตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์ชาวดัตช์ ยัน แฮ็นดริก โอร์ต (Jan Hendrik Oort, 1900 - 1992) ซึ่งเขาได้ทำการวิเคราะห์เส้นทางการโคจรของดาวหาง 19 ดวงพบว่าดาวหางเหล่านี้มาจากแหล่งของดาวหางที่มีรูปร่างเป็นทรงกลมที่มีขนาดใหญ่มาก โดยอยู่ที่ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ตั้งแต่ประมาณ 1.5 - 3.1 ปีแสง ซึ่งเขาได้ประมาณไว้ว่าแหล่งของดาวหางดังกล่าว น่าจะมีดาวหางอยู่ราว 1 แสน 9 หมื่นล้านดวง และได้เสนอว่าช่วงเวลาประมาณทุกๆ 100,000 – 200,000 ปี แรงโน้มถ่วงจากดาวฤกษ์ดวงอื่นที่เคลื่อนผ่านเข้ามาใกล้ระบบสุริยะ ภายในระยะห่างจากดวงอาทิตย์ราว 3.16 ปีแสง จะรบกวนดาวหางส่วนหนึ่งในแหล่งนี้จนหลุดเข้ามายังระบบสุริยะชั้นใน ซึ่งแหล่งของดาวหางตามสมมติฐานของเขา นี้ถูกตั้งชื่อตามชื่อของเขาว่า “เมฆออร์ต” (Oort cloud)
แต่ภายในช่วงครึ่งศตวรรษล่าสุดนี้ ได้มีจำนวนดาวหางที่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์วงโคจรเพิ่มขึ้น ทำให้มีการปรับปรุงแนวคิดเรื่องเมฆออร์ตเสียใหม่ ซึ่งในระยะหลังมานี้ นักดาราศาสตร์พบว่าค่าระยะห่างจากดวงอาทิตย์ของตำแหน่งที่ห่างดวงอาทิตย์มาก ที่สุดในวงโคจร มีค่าประมาณ 0.69 ปีแสง ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าที่ Oort เคยเสนอไว้ และต่อมาก็มีการปรับค่าระยะห่างจากดวงอาทิตย์ของขอบนอกของเมฆออร์ตใหม่ คือราวๆ 3.1 ปีแสง เนื่องจากนักดาราศาสตร์พบว่าแรงโน้มถ่วงที่ดวงอาทิตย์ดึงดูดดาวหางที่อยู่ห่างกว่าระยะดังกล่าว จะมีค่าค่อนข้างน้อย