เภสัชศาสตร์ ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งว่าด้วยกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องยาบำบัด บรรเทา หรือป้องกันโรค โดยศึกษาตั้งแต่วัตถุดิบที่จะนำมาผลิตยา การปรุงยา การเก็บรักษา ตลอดจนกระบวนการกระจายยา โดยศึกษาตั้งแต่แหล่งของยา โครงสร้างทางเคมีของยา การผลิตเป็นรูปแบบยาเตรียมต่างๆ การควบคุมคุณภาพและการประกันคุณภาพยาและเภสัชภัณฑ์ การวิจัยและการพัฒนายาและเภสัชภัณฑ์ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เภสัชจลนศาสตร์ เภสัชพลศาสตร์ การใช้ยาทางคลินิกในโรคของระบบต่างๆ อาการไม่พึงประสงค์ของยา การติดตามผลของยา การประเมินการใช้ยา ไปจนถึงการบริหารจัดการเรื่องยาและกฎหมายเกี่ยวกับยา ทั้งนี้ยังครอบคลุมไปถึงเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สารเสพติด สารพิษ และวัตถุหรือสารออกฤทธิ์ประเภทต่างๆ
เภสัชศาสตร์กำเนิดขึ้นควบคู่กับวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ในการบำบัดรักษาคนป่วยในสมัยโบราณได้นำพืช สัตว์ และแร่ธาตุในการบำบัดรักษา โดยศึกษาวิธีการจากสิ่งมีชีวิตรอบตัว จนได้มีการจดบันทึกสั่งสมองค์ความรู้สู่การพัฒนาเภสัชตำรับฉบับแรกของโลกโดยชาวสุเมเรียน และได้เริ่มมีการศึกษาฤทธิ์ของยาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นในสมัยของฮิปโปเครตีส การเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์ในสมัยโบราณเป็นการศึกษาในวงจำกัดของชนชั้นสูงในสังคมอาหรับและการสืบทอดตำราโดยบาทหลวงเท่านั้น จนกระทั่งสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 ทรงประกาศกฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรรม และการฝึกหัดทางเภสัชศาสตร์ทำให้มีการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น
เภสัชศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สุขภาพอย่างยิ่ง การเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์เน้นหลักในวิชาการด้านเคมีเป็นส่วนใหญ่ มีการแบ่งสาขาวิชาทางเภสัชศาสตร์จำแนกย่อยอีกหลายสาขา โดยแบ่งเป็นด้านวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม ประกอบด้วยสาขาเภสัชวิทยา เภสัชเวท เภสัชเคมี เภสัชวิเคราะห์และเภสัชภัณฑ์ จวบจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น การผลิตยาจึงได้ประยุกต์สู่ด้านเภสัชอุตสาหกรรมด้วย ด้านเภสัชบริบาลศาสตร์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการบริบาลผู้ป่วยและดูแลรักษาควบคุมการใช้ ตลอดจนติดตามผลการรักษาจากการใช้ยา ประกอบด้วยสาขาเภสัชกรรมคลินิกและเภสัชกรรมโรงพยาบาล และด้านเภสัชสาธารณสุข เภสัชศาสตร์สังคมและบริหารเภสัชกิจที่ดูแลการใช้ยาในระดับประชากรและการบริหารจัดการเรื่องยา
การศึกษาเภสัชศาสตร์เกิดขึ้นควบคู่กับวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ตั้งแต่การสังเกตพฤติกรรมการบริบาลเมื่อเจ็บป่วยของสัตว์ป่า จนเกิดการสั่งสมองค์ความรู้แล้วถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ในสมัยโบราณ การเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนทางการแพทย์ อาศัยตำราที่บรรพบุรุษสั่งสมมาจัดทำเป็นเภสัชตำรับถือเป็นหลักในการศึกษา พร้อมกันนั้นได้มีการศึกษาสรรพคุณของสมุนไพรนานาชนิดที่นำมาปรุงเป็นยา ทั้งพืช สัตว์ และแร่ธาตุ
ในสมัยกรีกโบราณเริ่มมีการเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์อย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยฮิปโปเครติส บิดาแห่งวิชาการแพทย์ยุโรป มีการจัดระเบียบวิชาการแพทย์ในลักษณะวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีหลักเหตุผลถึงสาเหตุของโรคที่มิใช่จากการลงโทษของพระเจ้า เขาใช้ยาสมุนไพรร่วมกับการรักษาและมีการสอนความรู้ของเขาต่อลูกศิษย์ซึ่งต้องปฏิญาณตนตามคำปฏิญาณของฮิปโปเครตีส (Hippocratic Oath) ความรู้ทางการแพทย์ของกรีกยังถ่ายทอดไปยังโรมัน นักการแพทย์ที่สำคัญในโรมันคือกาเลน เขายึดถือหลักของฮิปโปเครติสในการศึกษาทางการแพทย์และเภสัชกรรม เขามักปรุงยาด้วยตนเองเสมอและได้รับความไว้วางใจจากราชสำนักโดยแต่งตั้งเป็นแพทย์ประจำราชสำนัก การผสมผสานองค์ความรู้เรื่องยาใหม่ๆ โดยใช้ยาหลากหลายขนานในการผสมเป็นตัวยาชนิดใหม่ ทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งเภสัชกรรม"
เมื่อโรมันสูญสิ้นอำนาจแล้ว องค์ความรู้ได้ถ่ายทอดไปยังชาวอาหรับที่มักแปลตำราของกรีกเป็นภาษาอาหรับ และมีการค้นพบยาตัวใหม่ที่พบได้จากทะเลทราย ทำให้เกิดองค์ความรู้ทางเภสัชกรรมใหม่อย่างกว้างขวาง และมีการเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์อย่างเป็นระบบในชนชั้นสำคัญของสังคม มีการเปิดร้านยาสาธารณะในความควบคุมของรัฐบาล ต่อมา เมื่อองค์ความรู้ได้ขยายไปยังจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 สมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 ทรงประกาศกฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรรม กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมต้องฝึกปฏิบัติวิชาชีพในร้านยาอย่างน้อย 4 - 10 ปีและต้องสอบเป็นเภสัชกรกับรัฐ ซึ่งเป็นระบบการศึกษาที่ได้ใช้เรื่อยมาจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 การเรียนรู้ทางเภสัชศาสตร์โดยฝึกปฏิบัติวิชาชีพได้เปลี่ยนข้อกำหนดเป็นการเรียนผ่านเตรียมอุดมศึกษาหรือวิทยาศาสต์พื้นฐาน และมีการจัดตั้งสถาบันที่รับผิดชอบการผลิตเภสัชกร เริ่มต้นในฝรั่งเศส มีการจัดตั้งโรงเรียนเภสัชกรรมในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1777 และการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์และอาหาร มหาวิทยาลัยเออร์แลนเกน-นูเร็มเบิร์ก (University of Erlangen-Nuremberg) ในปี ค.ศ. 1808 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนบทบาทเภสัชกรจากเดิมที่เภสัชกรต้องรับผิดชอบทุกด้านของเภสัชกรรม เป็นการฝึกความชำนาญเฉพาะสาขาของเภสัชกรรมให้กับนักเรียนเภสัชกรรม อาทิ เภสัชอุตสาหกรรม เภสัชกรรมโรงพยาบาล เภสัชกรรมชุมชน เป็นต้น
เภสัชศาสตร์ในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์มาอย่างยาวนาน โดยศึกษาตำราสมุนไพรที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษในตำรายา มีบันทึกในจดหมายเหตุลาลูแบร์ว่าหมอไทยไม่มีความพยายามที่จะศึกษาคุณสมับติของสรรพคุณสมุนไพรชนิดใหม่ๆ และหลักการรักษาของหมอไทยไม่นับว่าเป็นวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เริ่มแยกเภสัชกรรมออกจากเวชกรรม ด้วยการตั้งกรมพระเครื่องต้นซึ่งทำหน้าที่การปรุงโอสถแยกกับกรมหมอ
การจัดการเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์แบบตะวันตกเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้บัญชาการโรงเรียนแพทยาลัยในขณะนั้น ทรงเห็นความสำคัญในเรื่องการฝึกหัดทางเภสัชกรรมในแบบตะวันตก จึงทรงจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ปรุงยาขึ้น (ปัจจุบันคือคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) โดยในระยะเริ่มแรกได้ใช้สถานที่ทำการสอนของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ทำการสอน ขณะนั้น การศึกษาทางเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนนัก จนกระทั่งเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ประเทศตระหนักถึงบทบาทเภสัชกรและยา จึงมีการตั้งสถานศึกษาทางเภสัชศาสตร์เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายสถาบัน
เป็นกลุ่มของศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างทางเคมีของตัวยา, รูปแบบเภสัชภัณฑ์, การวิเคราะห์ยา การค้นหาตัวยาจากแห่งธรรมชาติและการสังเคราะห์ทางเคมี ตลอดจนการศึกษาผลของยาต่อร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ อาทิ เคมี, ฟิสิกส์, ชีววิทยา, คณิตศาสตร์, สถิติศาสตร์ และ วิศวกรรมเคมี วิทยาศาสตร์เภสัชกรรมประกอบด้วยแขนงวิชาหลัก 5 สาขา อันประกอบด้วย เภสัชวิทยา, เภสัชเคมี, เภสัชวิเคราะห์, เภสัชภัณฑ์ และ เภสัชเวท
เภสัชศาสตร์มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับวิชาเคมี โดยเฉพาะการบูรณาการด้านเภสัชเคมี เพื่อออกแบบและค้นหาลักษณะโมเลกุลของสารที่นำมาพัฒนาเป็นยา วิถีการสังเคราะห์ยา การตรวจสอบเอกลักษณ์ของสาร และการปรับปรุงโครงสร้างทางเคมีของตัวยา สิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งเมื่อยาได้รับการพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรม นอกจากนี้การออกแบบโมเลกุลของยายังต้องคำนึงถึงคุณสมบัติทางเคมีกายภาพของยา ผลทางชีวภาพในสิ่งมีชีวิต ความคงตัวของยา และความปลอดภัยอีกด้วย
กระบวนการทางเภสัชเคมีโดยทั่วไปประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ การค้นพบยาซึ่งมีความสัมพันธ์กับการตรวจหาเอกลักษณ์ของสารโดยนิยมเรียกว่า "ฮิตส์" ซึ่งอาจมาจากแหล่งธรรมชาติและการสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการก็ได้ เมื่อเราได้ฮิตส์ที่มีคุณสมบัติที่น่าสนใจแล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปคือการปรับปรงฮิตส์เหล่านี้ให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม กล่าวคือ มีฤทธิ์ของยาสูงสุดและมีพิษน้อยที่สุด เมื่อได้โมเลกุลที่น่าพึงพอใจแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนาเป็นตัวยา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับด้านเภสัชภัณฑ์ในการออกแบบให้เป็นยาที่เหมาะสมใช้และออกฤทธิ์ได้ในอวัยวะเป้าหมายที่ต้องการ
การศึกษาทางเภสัชวิทยาคือการศึกษาเกี่ยวกับผลของยา ต่อร่ายกายสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะการศึกษาเปรียบเทียบปฏิกิริยาภายในและภายนอกร่างกายว่ามีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของอวัยวะภายในร่ายกายหรือไม่ เมื่อยาที่ผ่านการทดสอบทางเภสัชวิทยาแล้วว่ามีคุณสมบัติทางการรักษาจะนำมาพัฒนาเป็นเภสัชภัณฑ์ การศึกษาทางเภสัชวิทยาประกอบด้วยการศึกษากลไกการออกฤทธิ์, การตอบสนองของร่างกายต่อยา, อันตรกิริยา, ผลข้างเคียงและความเป็นพิษ และการใช้ยาเพื่อการรักษาโรค โดยอาจแบ่งการศึกษาผลทางพิษของยาหรือสารที่เป็นพิษแยกออกจากวิชาเภสัชวิทยาไปเป็นวิชาพิษวิทยา
เภสัชวิทยายังมีสาขาสำคัญอีก 2 สาขา คือ เภสัชจลนศาสตร์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับช่วงเวลาของยาที่อยู่ในร่างกาย การสลายตัวและครึ่งชีวิตรวมถึงปริมาณการกระจายตัวของยา และสาขาเภสัชพลศาสตร์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับบริเวณการออกฤทธิ์ของยาและบริเวณที่เกิดพิษ
เภสัชจลนศาสตร์เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดูดซึม, การกระจาย, เมตาบอลิซึม และ การกำจัดยาออกจากร่างกาย โดยเน้นการศึกษาว่าผลของร่างกายภายหลังได้รับยานั้น โดยมีขึ้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน เรียกย่อว่า ADME
เภสัชพลศาสตร์คือการศึกษาผลทางสรีรวิทยาของยาในร่างกายหรือจุลินทรีย์ ปรสิต รวมไปถึงผลไกปฏิกิริยาของยาและความสัมพันธ์ของความเข้มข้นของยาและผลของยา กล่าวคือเป็นการศึกษาว่ายาส่งผลอย่างไรต่อร่างกายบ้าง ผลเหล่านั้นสามารถจำแนกออกได้ 2 ประเภท คือ ผลอันพึงประสงค์และผลอันไม่พึงประสงค์ของยา ยาโดยทั่วไปเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ใน 5 รูปแบบ คือ กดการทำงาน, กระตุ้นการทำงาน, ทำลายเซลล์, การระคายเคือง และการแทนที่สาร ปัจจุบันมีการประเมินผลทางเภสัชพลศาสตร์ต่อสิ่งมีชีวิตด้วยคอมพิวเตอร์ใน 2 โปรแกรม คือ มัลติเซลลูลาร์ฟาร์มาโคไดนามิกส์ (Multicellular Pharmacodynamics) หรือ MCPD เป็นการศึกษาคุณสมบัติกลุ่มเซลล์ที่อยู่กับที่และภาวะเคลื่อนไหวในเชิง 4 มิติ โดยปฏิบัติทั้งในคอมพิวเตอร์และสิ่งมีชีวิตเพื่อเปรียบเทียบกัน และโปรแกรมเน็ตเวิร์กมัลติเซลลูลาร์ฟาร์มาโคไดนามิกส์ (Networked Multicellular Pharmacodynamics) หรือ Net-MCPD ซึ่งใช้ศึกษาผลของยาต่อสารพันธุกรรม
ภายหลังจากการสังเคราะห์หรือสกัดค้นพบหรือได้มาซึ่งตัวยา และผ่านการทดสอบทางเภสัชวิทยาแล้ว จะต้องมีการตรวจคุณสมบัติของสารเชิงโมเลกุล อาทิ สมบัติการไหลของสาร, ขนาดของอนุภาค, ความพรุนของสาร เป็นต้น แล้วนำไปเป็นปัจจัยในการเลือกหารูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่ยาเหล่านั้น การออกแบบเภสัชภัณฑ์เหล่านั้นต้องอาศัยความรู้ทางเภสัชภัณฑ์หรือวิทยาการเภสัชกรรม "เภสัชภัณฑ์" ตามความหมายของพจนานุกรมการแพทย์ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นศาสตร์ทางการเตรียมเภสัชภัณฑ์ แต่ทั้งนี้เภสัชภัณฑ์มีความมุ่งเน้นไปยังสารใหม่ที่ใช้เป็นยา
ในการเลือกรูปแบบเภสัชภัณฑ์จำเป็นต้องมีการผสมสารที่นำมาใช้เป็นยาเข้ากับสารเติมแต่งหรือสารปรุงแต่งทางเภสัชกรรมอีกด้วย โดยออกแบบนั้นมีเป้าหมายสำคัญคือการนำส่งยาสู่อวัยวะเป้าหมายในการออกฤทธิ์ และต้องคำนึงถึงรูปแบบยาเตรียมที่มีความสะดวก มีความคงตัว ปลอดภัย และคงประสิทธิภาพในการรักษา สารที่นำมาใช้เป็นยาชนิดหนึ่งสามารถเตรียมได้ในหลายรูปแบบเภสัชภัณฑ์ ทั้งนี้ปัจจัยที่จำเป็นต้องพิจารณาได้แก่ ปัจจัยทางชีวเภสัชกรรม เหี่ยวกับวิธีการดูดซึมของยาและเวลาการออกฤทธิ์ของยา, ปัจจัยด้านการรักษาว่าต้องการให้ยาออกฤทธิ์ในบริเวณใด ส่วนใด ระยะเวลาออกฤทธิ์เท่าใด และปัจจัยด้านยาว่ามีความคงตัวทางเคมีหรือไม่ ลักษณะทางกายภาพเหมาะสมหรือไม่ อาทิ การละลาย เป็นต้น ภายหลังการได้มาซึ่งรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่ตัวยานั้นแล้ว จะต้องมีการตั้งสูตรตำรับของยา
เภสัชอุตสาหกรรมเป็นสาขาวิชาทางเภสัชศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา การผลิต และสิทธิบัตรยา เดิมเภสัชกรจะเป็นผู้เตรียมยา แต่ปัจจุบันการพัฒนายาและคุณสมบัติของยาจัดทำโดยภาคอุตสาหกรรม ถือกำเนิดขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการค้นพบยาอินซูลินและเพนนิซิลิน และเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงคริตทศวรรษ 1970 เมื่อเริ่มมีการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิบัตรยา เภสัชอุตสาหกรรมจำแนกได้ในสองสาขาคือ สาขาวิจัยและพัฒนา และสาขาการผลิต
มนุษย์มีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและนำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติใช้เป็นยาในการรักษาโรคมาเป็นเวลาช้านาน โดยเภสัชเวทเป็นศาสตร์ทางเคมีที่ศึกษาเกี่ยวกับเครื่องยาที่เกี่ยวกับพืชและสมุนไพรจากแหล่งตามธรรมชาติ ทั้งนี้ยังหมายรวมถึงสัตว์, จุลินทรีย์, แร่ธาตุ และกระบวนการผลิตยาจากธรรมชาติด้วย อาทิ การสกัดสารที่นำมาใช้เป็นยาจากพืช เป็นต้น โดยสมาคมเภสัชเวทแห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้คำจำกัดความมของเภสัชเวทไว้ว่า "เป็นการศึกษาลักษณะทางกายภาพ, เคมี, ชีวเคมี และคุณสมบัติทางชีวเคมีของยา, สารที่นำมาใชเป็นตัวยา หรือศักยภาพของตัวยา หรือสารตัวยาจากธรรมชาติตลอดจนการค้นพบยาตัวใหม่จากธรรมชาติ" เภสัชเวทมีการจำแนกในสาขาย่อยๆอีกหลายสาขา ได้แก่ พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (ethnobotany), เภสัชพฤกษศาสตร์วิทยา (ethnopharmacology), การบำบัดด้วยพืช (phytotherapy), สัตวเภสัชเวท (Zoopharmacognosy), เทคโนโลยีชีวภาพ, ปฏิกิริยาของสมุนไพร และเภสัชเวทใต้ทะเล
พืชในธรรมชาติหลายชนิดโดยแต่ละชนิดสารมารถสังเคราะห์สารเคมีได้หลากหลายและโดยมนุษย์ได้นำมาใช้เป็นยาทั้งในรูปของการใช้ส่วนของพืชสดตลอดจนการสกัด เพื่อให้ได้สารเคมีออกมา และจัดกลุ่มอนุกรมวิธานของพืชตามประเภทของสารพฤกษเคมีที่พืชผลิตผ่านวิถีชีวสังเคระห์ของพืช เรียกการจัดประเภทในลักษณะดังกล่าวว่า "Chemotaxonomy" อาทิ สารจำพวกแทนนิน คาร์โบไฮเดรต น้ำมันหอมระเหย คาร์ดิแอกไกลโคไซด์ แอลคาลอยด์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละกลุ่มสารจะมีอนุพันธ์ของสารที่นำมาใช้เป็นยาได้อีกหลายชนิด โดยจัดจำแนกกลุ่มของสารตามสูตรโครงสร้างทางเคมี และแต่ละกลุ่มจะมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่คล้ายคลึงกัน เช่น กลุ่มคาร์ดิแอกไกลโคไซด์จะมีคุณสมบัติในการรักษาโรคหัวใจและการบำรุงหัวใจเป็นส่วนใหญ่ หรือในกลุ่มแทนนินส์ที่มีฤทธิ์ทางการฝาดสมาน เป็นต้น
ปัจจุบันการใช้ยาสมุนไพรเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีผลงานการวิจัยหลายผลงานที่สนับสนุนความสามารถของสารในพืชรักษา และในสารบางกลุ่มซึ่งไม่สามารถสังเคราะห์ให้ได้ในรูปของอนุพันธ์ที่ต้องการ หากแต่พืชสามารถสังเคราะห์สารดังกล่าวได้ เป็นต้น
เภสัชพฤกษศาสตร์มีความสัมพันธ์และคล้ายคลึงกับวิชาพฤกษศาสตร์ แต่เป็นการศึกษาสัณฐานของพืชเพื่อนำไปใช้ทางเภสัชกรรม เภสัชพฤกษศาสตร์เป็นการตรวจสอบลักษณะที่สำคัญของพืชในแต่ละวงศ์ อาทิ ใบ ดอก ลำต้น ผล
รากเป็นส่วนของพืชที่อยู่ใต้ดิน มีหน้าที่โดยทั่วไปในการดูดซึมน้ำและแร่ธาตุในดินรวมทั้งการลำเลียงน้ำและแร่ธาตุขึ้นไปส่วนอื่นๆของพืช นอกจากนี้รากยังทำหน้าที่ค้ำจุนพืชและสะสมอาหารในพืชบางประเภท โดยทั่วไปไม่นิยมนิรากมาใช้ในการตรวจเอกลักษณ์ของพืชเนื่องจากมีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันในพืชหลายชนิด เมื่อพ้นส่วนใต้ดินไปแล้วจะมีลำต้นในการชูต้นเป็นแกนหลักของพืช ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำและแร่ธาตุและสะสมอาหารในพืชบางชนิด โดยทั่วไปบนลำต้นจะมีกิ่งแตกก้านเป็นสาขา
ดอกและช่อดอกเป็นที่นิยมในการจัดจำแนกพืชอย่างยิ่ง โดยแบ่งตามฐานของกลีบดอก และส่วนประกอบพิเศษของดอกและใบ เมื่อดอกได้รับการปฏิสนธิแล้วจะเจริญเป็นผล
เมื่อมีการผลิตเภสัชภัณฑ์ออกมาผ่านกระบวนการทางเภสัชอุตสาหกรรมแล้ว จำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพของเภสัชภัณฑ์โดยใช้ศาสตร์ทางสาขา "เภสัชวิเคราะห์" ซึ่งมีพื้นฐานมากจากวิชา "เคมีวิเคราะห์" เภสัชวิเคราะห์เป็นการใช้ความรู้ทางเคมีวิเคราะห์มาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบเภสัชภัณฑ์ ยา อาหาร เครื่องดื่ม สารพิษ สารเสพติด สารตัวอย่างจากแหล่งธรรมชาติ เพื่อการควบคุมคุณภาพเภสัชภัณฑ์ และการคุ้มครองผู้บริโภค
วิชาเภสัชวิเคราะห์จำแนกได้เป็น 2 ส่วน คือ เภสัชวิเคราะห์เพื่อการควบคุมคุณภาพในโรงงานยาและเครื่องสำอาง และเภสัชวิเคราะห์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค อาทิ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น
วิธีการทางเภสัชวิเคราะห์สามารถจำแนกได้หลายรูปแบบ เช่น การวิเคราะห์เชิงน้ำหนัก, การวิเคราะห์เชิงปริมาตร, การวิเคราะห์เชิงแสง ,การวิเคราะห์เชิงไฟฟ้าเคมี, การวิเคราะห์ทางโครมาโตกราฟฟี และ การวิเคราะห์ทางสเป็คโตรโฟโตเมทรี เป็นต้น
คือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลข้อกำหนดทางการใช้ยาในการรักษาเพื่อผลลัพธ์ทางการรักษาสูงสุดต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ผลลัพธ์ดังกล่าวประกอบไปด้วยการกำจัดโรค, การควบคุมและติดตามการใช้ยาในผู้ป่วย และการป้องกันโรค
กระบวนการข้างต้นจะเกี่ยวข้องกับเภสัชกรคลินิกในการดูแลรักษาผู้ป่วยร่วมกับแพทย์, นักเทคนิคการแพทย์ และข้อมูลจากผู้ป่วย เภสัชกรคลินิกมีความเกี่ยวข้องการทางการทำงานร่วมกับแพทย์และผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องของยาต่างๆในการรักษาผู้ป่วย
เภสัชกรรมคลินิกเป็นสาขาทางเภสัชศาสตร์ที่เภสัชกรและนักเภสัชวิทยาดูแลผู้ป่วยและจัดหายาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยเพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการและป้องกันโรค เภสัชกรที่ทำงานในสาขานี้เรียกว่าเภสัชกรคลินิกซึ่งมักปฏิบัติการในคลินิกหรือโรงพยาบาล โดยปฏิบัติการร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุข
เภสัชกรรมคลินิกประกอบด้วยสาขาวิชาอีกหลายสาขา อาทิ กระบวนแปรสภาพยาในร่างกายขั้นสูงซึ่งเกี่ยวกับกระบวนการแปรสภาพยาในร่างกายโดยเน้นถึงกลไกการแปรสภาพและผลที่เกิดขึ้นเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุของอาการคนไข้ที่ปรากฏทั้งทางด้านเภสัชวิทยาและพิษวิทยาเนื่องจากฤทธิ์ของยาได้อย่างถูกต้องตามเหตุผล เภสัชบำบัดซึ่งเป็นการรักษาด้วยยา การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลสำหรับโรคและความผิดปกติของระบบต่างๆ เช่น ระบบหัวใจหลอดเลือด ระบบไตและตับ โรคติดเชื้อ ระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม ระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
การให้คำปรึกษาทางเภสัชกรรมเป็นอีกหนึ่งสาขาที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาและแก้ปัญหาการใช้ยาในผู้ป่วยเฉพาะราย ทักษะสำหรับการสื่อสารที่จำเป็นในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หลักการและวิธีการของการสื่อสารระหว่างบุคคล เพื่อให้เป็นที่เข้าใจกับคนไข้ในสภาวะต่างๆ จริยธรรมที่เกี่ยวข้อง การให้ความร่วมมือและการไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย ปัจจัยที่มีผลให้ความร่วมมือในการใช้ยา เทคนิคและวิธีการในการเสริมสร้างให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการใช้ยา การให้การศึกษาแก่ผู้ป่วยทั้งในลักษณะเฉพาะรายและรายกลุ่ม การเขียนเกณฑ์ในการให้คำปรึกษาทางยา เป็นต้น
ระบบเภสัชสนเทศทางคลินิกเป็นแนวคิดและระบบในการบริหารจัดการข้อมูลของยาที่ใช้ใน การบริการทางคลินิก โดยเน้นการค้นหาข้อมูล การวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข้อมูล การรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล การบริหารจัดการกับฐานข้อมูลและการสื่อการข้อมูลโดยวิธีต่างๆ และระบบการกระจายยาในโรงพยาบาลเกี่ยวกับแนวคิดทั่วไปในการกระจายยา ธรรมชาติของวิถีการกระจายยา ชนิดของระบบการกระจายยาที่ใช้เพื่อให้มียาเพียงพอแก่การใช้ในตึกผู้ป่วย รวมทั้งระบบยูนิตโดส
เภสัชกรรมชุมชนมีความเกี่ยวข้องกับร้านยาเป็นส่วนใหญ่ "เภสัชกรรมชุมชน" เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการร้านยา เช่น ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับร้านยา ประเภทของร้านยา การดำเนินธุรกิจร้านยา การให้บริการประชาชนในฐานะของเภสัชกรชุมชน เป็นต้น โดยผู้ศึกษาเฉพาะในสาขานี้จำป็นต้องมีความรู้พื้นฐานด้านยา และระบาดวิทยารวมถึงการสาธารณสุขมูลฐาน งานด้านระบาดวิทยาเป็นไปเพื่อป้องการการระบาดของโรคและการเกิดอุบัติซ้ำหรือโรคอุบัติใหม่ในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังต้องมีความรู้เรื่องการให้บริการด้านการให้คำปรึกษาเรื่องยาและสุขภาพอนามัยแก่บุคลากรสาธารณสุขและประชาชนทั่วไป การจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ และการซักประวัติและจ่ายยาในโรคที่พบได้บ่อยในร้านยา
การจัดการข้อมูลสาธารณสุขด้วยคอมพิวเตอร์เป็นการศึกษาการจัดระเบียบข้อมูล เรียบเรียง การเลือกใช้โปแกรมในเครื่องคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับการบริหารทรัพยากรทางสาธารณสุข การพัฒนาความเป็นผู้นำ และการจัดการด้านบุคลากรด้านเภสัชสาธารณสุข โดยเน้นการใช้ทรัพยากรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
บทบาทงานด้านเภสัชกรรมชุมชนแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ การบริการทางเภสัชกรรมในร้านยา หรือบทบาทเชิงธุรกิจการค้า และการบริบาลทางเภสัชกรรมในร้านยา ซึ่งช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อช่วยบำบัด บรรเทาอาการของโรค รวมถึงการป้องกันโรคอีกด้วย
โรคทั่วไปสามารถอุบัติใหม่ได้เสมอจากการกลายพันธุ์และวิวัฒนาการของจุลินทรีย์ หรือแม้กระทั่งโรคเดิมที่สามารถควบคุมการระบาดได้แล้วสามารถอุบัติซ้ำได้ จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังโรคเหล่านี้เสมอ ซึ่งต้องปฏิบัติทั้งในระดับบุคคลถึงระดับประชากร "เภสัชสาธารณสุข" เป็นการศึกษางานด้านสาธารณสุขมูลฐานและการประยุกต์ความรู้เหล่านี้มาใช้ในทางเภสัชกรรม วิชาด้านเภสัชสาธารณสุขมีความสัมพันธ์กับความรู้ทางสังคมและมานุษยวิทยาเป็นอย่างยิ่ง
เภสัชศาสตร์สังคมเป็นการวิเคราะห์ระบบยาพฤติกรรมการใช้ยา ระบาดวิทยา การคุ้มครองผู้บริโภค และเภสัชเศรษฐศาสตร์ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ วิจัยและวิเคราะห์ระบบยาทางเภสัชศาสตร์สังคม
เป็นกลุ่มวิชาทางเภสัชศาสตร์ในการบริหารยาในภาคอุตสาหกรรม การบริหารจัดการ การตลาด การวิเคราะห์โอกาส หลักการตัดสินใจ การบริหารเวชภัณฑ์ การบริหารการเงิน และงบประมาณขององค์กรเภสัชกิจ
นอกจากนี้บริหารเภสัชกิจยังรวมถึงเภสัชกรรมการตลาดที่ศึกษาด้านหลักการตลาดยา พฤติกรรมของตลาด การจูงใจแพทย์ผู้เขียนใบสั่งยาและผู้ป่วย การพัฒนาเภสัชภัณฑ์การแข่งขัน และการส่งเสริมการตลาดของเภสัชภัณฑ์ โดยต้องใช้ความรู้ของหลักเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการวิเคราะห์วิจัยประเมินเปรียบเทียบผลการใช้ยา การให้บริการเภสัชกิจและการแพทย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา รวมทั้งการประยุกต์เภสัชเศรษฐศาสตร์ในงานเภสัชกรรม รวมถึงการฝึกปฏิบัติการดำเนินการวางแผนการวิจัย ขั้นตอนการทำวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งการนำเสนอผลงานด้านเภสัชกรรม
บริหารเภสัชกิจยังรวมไปถึงการจัดการร้านขายยา การลงทุน การเลือกทำเลที่ตั้ง การจัดแผนผังร้าน การส่งเสริมการขาย การตั้งราคา การขาย และการให้บริการการควบคุมยาคงคลัง การบริหารบุคลากรของร้านขายยา และบทบาทความรับผิดชอบของร้านขายยาต่อสังคม และการวิจัยทางการตลาดยา ศึกษาความหมาย ขอบเขต และประเภทของการวิจัยการตลาดยา รวมทั้งขั้นตอนของการวิจัย การเก็บข้อมูล การสุ่มตัวอย่าง การวางแผนวิเคราะห์ข้อมูล การเลือกใช้สถิติที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ข้อมูล การแปลผลการรายงานผล และการเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา