เพลงมหาฤกษ์ (วิธีใช้?ข้อมูล) เป็นเพลงที่ใช้บรรเลงในเวลาได้ฤกษ์เปิดงานที่เป็นพิธีสำคัญ สำหรับเชื้อพระวงศ์ที่ต่ำกว่าชั้นพระบรมวงศ์ลงมา ข้าราชการที่มีระดับต่ำกว่านายกรัฐมนตรี และทหารที่มียศต่ำกว่าจอมพลลงมา จนถึงสามัญชนทั่วไป ประพันธ์ทำนองโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระนิพนธ์ดัดแปลงจากทำนองไทยของเดิม เพลงมหาฤกษ์นี้เป็นเพลงที่มีทำนองใช้สำหรับบรรเลงอย่างเดียวไม่มีบทร้อง เช่นเดียวกับเพลงมหาชัย
รัฐบาลไทยได้จัดเพลงนี้ให้เป็น 1 ใน 6 เพลงสำคัญของแผ่นดิน ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546
เพลงมหาฤกษ์เป็นเพลงคู่กันกับเพลงมหาชัย มาตั้งแต่โบราณ จนเรียกติดปากกันว่า มหาฤกษ์มหาชัย ใช้บรรเลงคู่กันเพื่อแสดงฤกษ์งามยามดี และความสวัสดีมีโชคชัย ในโอกาสต่างๆ เพลงมหาฤกษ์นั้น สันนิษฐานว่ามีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเพลงทำนองอัตรา2ชั้น พอมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ถูกนำบรรจุอยู่ในเพลงปี่พาทย์ เรื่องทำขวัญหรือเวียนเทียน ที่เริ่มต้นด้วย เพลงนางนาค ออกเพลงมหาฤกษ์ มหากาล สังข์น้อย มหาชัย ดอกไม้ไทร และดอกไม้ไพร ตามลำดับ โดยทั่วไปแล้ว เพลงมหาฤกษ์ ใช้ในการเปิดสถานที่ หรือเปิดงานต่างๆตามฤกษ์ยามที่กำหนด เนื่องจากการดำเนินทำนองเพลงมหาฤกษ์นั้น ดำเนินทำนองแบบไทยแท้ ตามลักษณะการแปรลูกฆ้องออกเป็นทำนองเต็มจากเครื่องดนตรีที่บรรเลงร่วมกัน ทำให้ผู้ฟังได้รับฟัง จะได้ยินเสียงครึ้มกระหึ่มของเสียงดนตรีที่บรรเลงพร้อมเพรียงกัน ก่อให้เกิดความปีติยินดี และความศรัทธา แก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง.
ต่อมาจอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงดัดแปลงเพลงมหาฤกษ์ทางไทย ออกเป็นทางประสานเสียงตามแบบสากล โดยพระองค์ท่านได้ยึดหลักทำนองของเก่า แต่เพียงแก้ไขเฉพาะตอนขึ้นต้นและลงท้ายให้สง่าผ่าเผยขึ้น ซึ่งทำให้การประสานเสียงตามแบบสากล จะช่วยให้ผู้ฟังเกิดความเร้าใจขึ้นเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้บรรเลงเป็นเพลงเกียรติยศ ต่อมาก็ใช้บรรเลงกล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกัน ในพิธีมงคลฤกษ์ต่างๆ เช่น เปิดป้ายหรือเจิมศิลาฤกษ์ ก็ใช้บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ขึ้น หรือในการกล่าวคำปราศรัย หรือกล่าวสุนทรพจน์ ก็ใช้บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทุกคนในงานก็จะยืนขึ้น เป็นการให้เกียรติพร้อมกัน.