เพลงมหาชัย เป็นเพลงเกียรติยศสำหรับพระบรมวงศ์ สมเด็จพระบรมราชชนนี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรี ใช้เป็นเพลงเดินธงในพิธีการสำคัญทางทหาร และใช้บรรเลงในการอวยพร
เพลงมหาชัยเดิมเป็นเพลงไทยอัตราสองชั้น มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ใช้บรรเลงคู่กับเพลงมหาฤกษ์ในโอกาสอันเป็นมงคลต่างๆ จนเรียกขานกันโดยทั่วไปว่า "มหาฤกษ์-มหาชัย" ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพลงนี้ได้ถูกนำมาบรรจุอยู่ในเพลงปี่พาทย์ เรื่องเวียนเทียน หรือทำขวัญ เป็นเพลงในลำดับที่ 5 ที่เริ่มจาก เพลงนางนาค แล้วออก เพลงมหาฤกษ์ มหากาล สังข์น้อย มหาชัย ดอกไม่ไทร และดอกไม้ไพร ตามลำดับ นอกจากนี้เพลงมหาชัย ยังปรากฏอยู่ในเพลงตับมโหรี เรื่องทำขวัญครั้งกรุงเก่า โดยเป็นเพลงในลำดับที่ 6 ซึ่งมี พัดชา นางนาค นางนกครวญ สรรเสริญพระจันทร์ มอญแปลง มหาชัย มโนราห์โอด ราโค หงส์ไซร้ดอกบัว เนรปาตี
ใน พ.ศ. 2438 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทรงพระนิพนธ์เพลงมหาชัยทางสากลขึ้นจากเพลงมหาชัยแบบดั้งเดิมของไทย แล้วประทานให้พระยาวาทิตบรเทศนำไปเรียบเรียงประสานเสียงสำหรับแตรวงทหารบรรเลงเป็นเพลงเดิน และทรงให้ มร.ยาคอบ ไฟต์ (บิดาของพระเจนดุริยางค์) เรียบเรียงดนตรีสำหรับให้แตรวงทหารม้าบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีทองเหลือง (Brass Band) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงนำเพลงนี้มาแก้ไขปรับปรุงใหม่ให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยให้วงดุริยางค์ทหารบกและทหารเรือบรรเลงกันเป็นเพลงเคารพหรือเพลงคำนับพระบรมวงศ์ที่มีศักดิ์ไม่ถึงสมเด็จพระบรมราชินี
เพลงมหาชัยทางสากลที่ใช้เป็นเพลงคำนับนี้ใช้บรรเลงอย่างเดียว ไม่มีคำร้อง รัฐบาลไทยได้จัดเพลงนี้ให้เป็น 1 ใน 6 เพลงสำคัญของแผ่นดิน ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546
เพลงมหาชัยใช้เป็นเพลงเกียรติยศของพระบรมวงศ์ที่มีศักดิ์ต่ำกว่าสมเด็จพระบรมราชินี ซึ่งในปัจจุบันนี้ ได้แก่
นอกจากนี้ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และนายกรัฐมนตรี ยังได้รับสิทธิให้ใช้เพลงนี้เป็นเพลงคำนับด้วยเช่นกัน
เพลงมหาชัย ยังใช้บรรเลงเมื่อผู้เป็นประธานหรือแขกเกียรติยศสูงสุดของงานมาถึง และเมื่อผู้เป็นประธานของงานกล่าวคำปราศรัยจบ และใช้บรรเลงในงานรับรองบุคคลสำคัญ งานสโมสรสันนิบาต การดื่มอวยพรเลี้ยงคณะทูตเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างชาติ
ในพิธีการทางทหาร เพลงมหาชัยจะใช้บรรเลงเป็นเพลงเดินธง ในขณะที่ทำการเชิญธงชัยเฉลิมพลเข้าประจำที่หน้าพลับพลาที่ประทับ ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ และ ในกิจการลูกเสือ เพลงมหาชัยจะใช้บรรเลงเป็นเพลงเดินธง ในขณะที่ทำการเชิญธงคณะลูกเสือแห่งชาติและธงลูกเสือประจำจังหวัด ในงานพิธีสำคัญทางกิจการลูกเสือ ด้วยเช่นกัน หมู่เชิญธงจะเดินในท่าเดินเปลี่ยนสูงระหว่างทำการเชิญธงจนกว่าหมู่เชิญธงที่เข้าร่วมพิธีดังกล่าวทุกหมู่จะเข้าประจำที่ทั้งหมด
ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้นำเอาเพลงมหาชัย (ทางร้องแบบไทยเดิม) มาใช้เป็นเพลงปฏิวัติ มีชื่อว่า "เพลงชาติมหาชัย" โดยใช้คำร้องของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เพลงนี้แต่งขึ้นเพื่อใช้ขับร้องและบรรเลงปลุกเร้าใจประชาชน ก่อให้เกิดความรักชาติและสร้างความสามัคคี ในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำนองเดียวกันกับเพลงปฏิวัติอื่นๆ และมีความคิดจะใช้เพลงนี้เป็นเพลงสำหรับชาติในลักษณะเดียวกับเพลง La Marseillaise ของฝรั่งเศส แต่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน ภายหลังจึงได้เปลี่ยนมาใช้เพลงชาติไทยฉบับประพันธ์ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ แทน[ต้องการอ้างอิง]
จากการค้นคว้าของ ดร.สุกรี เจริญสุข ได้จัดเพลงนี้ให้เป็นเพลงชาติ (National anthem) ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง]
พลตรี หลวงวิจิตรวาทการได้แต่งเนื้อร้องใส่ทำนองเพลงมหาชัย เพื่อใช้เป็นเพลงประกอบบทละครปลุกใจให้รักชาติ ขับร้องหมู่โดยนักร้องกรมศิลปากร มีเนื้อร้องดังต่อไปนี้
(พูด)
ไปเถอะเพื่อนรัก
ไปรบสู้เสียสละ
เพื่อประเทศชาติที่รักของเรา
(ดนตรีขึ้นเพลงมหาชัย)
(พูด)
ขอไทยจงอยู่เป็นไทย ขอไทยจงอยู่คู่ฟ้า
ขอปวงหมู่ประชา ไทยเป็นสุขและสมบูรณ์พูนผล
ใครกล้ามาผจญ ขอให้ศัตรูทุกคนแพ้ภัยมลายไป
(ร้องทำนองเพลงมหาชัยทางสากล) ขอไทยจงอยู่เป็นไทย ขอไทยจงอยู่คู่ฟ้า
ขอปวงหมู่ประชา ไทยเป็นสุขและสมบูรณ์พูนผล
ใครกล้ามาผจญ ขอให้ศัตรูทุกคนแพ้ภัยมลายไป
ในปี พ.ศ. 2550 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้ประพันธ์เนื้อร้องบทหนึ่งโดยใส่ทำนองตามเพลงมหาชัยทางสากล ปรากฏความดังต่อไปนี้
เพลงมหาชัยซึ่งขับร้องด้วยบทร้องข้างต้น ได้มีการบันทึกเสียงอยู่ในซีดีชุด บันทึกเสียงเพลงเกียรติยศ - National Music "Songs of Honor" โดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล ปรากฏเป็นเพลงลำดับที่ 4 จากทั้งทมด 13 เพลง ในซีดีชุดนี้