เปอรานากัน (มลายู: Peranakan) หรือ บาบ๋า-ย่าหยา (อังกฤษ: Baba-Nyonya, จีน: ????, พินอิน: B?b? Ni?ngr?, ฮกเกี้ยน: B?-b? Ni?-li?) คือกลุ่มลูกครึ่งมลายู-จีนที่มีวัฒนธรรมผสมผสาน และสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้นมาโดยเป็นการนำเอาส่วนดีระหว่างจีน และมลายูมารวมกัน โดยชื่อ "เปอรานากัน" มีความหมายว่า "เกิดที่นี่"
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นิยาม "บาบ๋า" และ "ย่าหยา" ว่า "เรียกชายที่เป็นลูกครึ่งจีนกับมลายูที่เกิดในมลายูและอินโดนีเซีย ว่า บ้าบ๋า, คู่กับ ย่าหยา ซึ่งหมายถึงหญิงลูกครึ่งจีนกับมลายูที่เกิดใน มลายูและอินโดนีเซีย." อย่างไรก็ตามชาวเปอรานากันในประเทศไทย บริเวณจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันโดยเฉพาะภูเก็ตและตรังทั้งเพศชายและหญิง จะถูกเรียกรวม ๆ ว่า บ้าบ๋า หรือบาบา ส่วน ย่าหยา เป็นเพียงชื่อของชุดสตรีเท่านั้น[ต้องการอ้างอิง] ส่วนในภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีกระจายตัวอยู่แถบพื้นที่โดยเฉพาะ ปัตตานี สงขลา นราธิวาส
ถึงอย่างไรก็ดีชาวจีนที่อพยพมาทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยสมัยโบราณตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 5ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนซึ่งจะกระจายอยู่แถบพื้นที่โดยเฉพาะ ปัตตานี สงขลา นราธิวาส ถ้าเป็นลูกครึ่งจีน หรือ ลูกจีนที่เกิดในพื้นที่ ก็จะเรียกว่า บาบ๋า หรือ เปอรานากัน ด้วยเช่นกัน
เปอรานากัน เป็นกลุ่มชาวจีนที่มีเชื้อสายมลายูเนื่องจากในอดีต กลุ่มพ่อค้าชาวจีนโดยเฉพาะกลุ่มฮกเกี้ยนเดินทางเข้ามาค้าค้าในบริเวณดินแดนคาบสมุทรมลายู และตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ในตอนต้นทศวรรษที่ 14 โดยแต่งงานกับชาวมลายูท้องถิ่น โดยภรรยาชาวมลายูจะเป็นผู้ดูแลกิจการการค้าที่นี่ แม้แต่คนในระดับพระราชวงศ์ก็มีสัมพันธไมตรีระหว่างกันระหว่างสุลต่านมะละกากับจักรพรรดิราชวงศ์หมิง โดยในปี ค.ศ. 1460 สุลต่านมันโซชาห์ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงฮังลีโปแห่งราชวงศ์หมิง และทรงประทับบนภูเขาจีน หรือ บูกิตจีนา (Bukit Cina) พร้อมเชื้อพระวงศ์อีก 500 พระองค์
สำหรับสายเลือดใหม่ของชายชาวจีนกับหญิงมลายูหากเป็นชายจะได้รับการเรียกขานว่า บ้าบ๋า หรือบ้าบ๋า (Baba) ส่วนผู้หญิงจะเรียกว่า ย่าหยา (Nyonya) และเมื่อคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้น ก็ได้สร้างวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ต่างจากเดิมของบรรพบุรุษโดยมาผสมผสานกันเป็นวัฒนธรรมใหม่ เมื่อพวกเขาอพยพไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ก็ได้นำวัฒนธรรมของตนกระจายไปด้วย วัฒนธรรมใหม่นี้จึงถูกเรียกรวมๆว่า จีนช่องแคบ (อังกฤษ: Straits Chinese ; จีน:????) ต่อมาเมื่อสมัยอาณานิคมดัตช์ช่วงต้นทศวรรษ 1800 ได้มีชาวจีนอพยพเข้ามามากขึ้น จนทำให้เลือดมลายูของชาวเปอรานากันจางลง จนรุ่นหลังแทบจะเป็นจีนเต็มตัวไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้วัฒนธรรมผสมผสานของชาวเปอรานากันจืดจางลงไปเลย การผสมผสานนี้ยังมีให้เห็นในการแต่งกายแบบมลายูเช่น ซารุง กบายา และชุดย่าหยาซึ่งถือเป็นการแต่งกายอันสวยงามที่ผสมผสานรูปแบบของชาวจีนและมลายูเข้าด้วยกันอย่างงดงาม ฝ่ายหญิงใส่เสื้อฉลุลายดอกไม้ รอบคอ เอว และปลายแขนอย่างงดงาม นิยมนุ่งผ้าซิ่นปาเต๊ะ ฝ่ายชายยังคงแต่งกาย คล้ายรูปแบบจีนดั้งเดิม อาหารแบบเฉพาะตัว และภาษาที่ผสมผสานคำทั้งมลายู จีน และอังกฤษไว้ด้วยกัน
อาหารเปอรานากันมีลักษณะผสมระหว่างสองวัฒนธรรม ซึ่งหารับประทานได้ในประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผลพวงจากการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ เหล่าสาวย่าหยาจึงนำส่วนดีที่สุดของอาหารทั้งสองชาติมารวมกัน
อาหารเปอรานากันนำส่วนประกอบของอาหารจีน เช่น หมู ซีอิ๊ว เต้าหู้ยี้ มาปรุงกับเริมปะห์ (Rempah) เครื่องผัดของชาวมลายู กะทิ และอาจใส่น้ำมะขาม ด้วยความที่ชาวเปอรานากันไม่ใช่มุสลิม จึงมีหมูเป็นส่วนประกอบของอาหารด้วย อาหารที่นิยมได้แก่ แกงหมูน้ำมะขาม (บาบีอาซัม) และหมูสะเต๊ะ น้ำจิ้มถั่วลิสงใส่สับปะรดเพื่อเพิ่มรสชาติ
เป็ดซึ่งชาวมลายูไม่นิยมกิน แต่สำหรับอาหารเปอรานากันนั้นกลับเป็นที่นิยม โดยนำเป็ดมาตุ๋นทั้งตัว ใส่แกงหรือต้มส้ม (อีตะก์ ซีโย) ส่วนไก่นั้นใช้รับประทานทั่วไป โดยสามารถทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ไก่ต้มกะทิรสจัด (กาปีตันไก่) และไก่ทอดพร้อมน้ำจิ้ม (เอินจิก์ กาบิน)
อาหารเปอรานากันนั้นคล้ายกับอาหารมาเลย์ตรงที่มีวิวัฒนาการแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น อย่าง ละก์ซา (Laksa) เป็นอาหารต้นฉบับย่าหยา มีสองแบบ คือ แบบมะละกาจะเป็น ละก์ซา ลมะก์ (แกงละก์ซา) ประกอบด้วยเส้นก๋วยเตี๋ยว กุ้ง และเครื่องอื่นๆในน้ำแกงที่เข้มข้น ส่วนอาซัม ละก์ซา เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของชาวย่าหยาในปีนัง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากไทย เป็นก๋วยเตี๋ยวปลาน้ำใส โรยหน้าด้วยแตงกวาดิบ และใบสะระแหน่
อาหารเปอรานากันเป็นอาหารที่อร่อย และใช้เวลาปรุงนาน บ้านเปอรานากันแบบเก่าจะมีคนรับใช้มาก และสาวย่าหยาจะใช้เวลาในการปรุงอาหารให้ถูกใจหนุ่มบ้าบ๋า โดยจะมีหญิงย่าหยาสูงวัยคอยกำกับอยู่
ภาษาของชาวเปอรานากันคือ ภาษาบ้าบ๋ามาเลย์ (Bahasa Melayu Baba) ถือเป็นภาษาถิ่นหนึ่งของภาษามลายู (Bahasa Melayu) โดยมีการยืมคำในภาษาฮกเกี้ยนค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันเป็นภาษาที่ใกล้ตาย และใช้กันในกลุ่มคนรุ่นเก่า ในขณะที่คนรุ่นใหม่หันไปพูดภาษาอังกฤษกัน
ส่วนชาวเปอรานากันในประเทศอินโดนีเซีย คนรุ่นใหม่ยังสามารถใช้ภาษาผสมนี้ได้ แต่ใช้ได้อย่างจำกัด จึงได้นำคำใหม่เข้ามาใช้ (และเสียคำเก่าไป)จนกลายเป็นศัพท์สแลง จึงกลายเป็นช่องว่างของภาษาระหว่างคนเปอรานากันรุ่นเก่า และรุ่นใหม่
ชาวเปอรานากัน แม้จะมีเชื้อสายมลายูแต่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่นับถือลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื๊อ และศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่มีบางส่วนได้หันไปนับถือศาสนาคริสต์ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ชาวเปอรานากันได้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมตามถิ่นที่ตั้งถิ่นฐาน อย่างอิทธิพลของโปรตุเกส ดัตช์ มาเลย์ อังกฤษ และอินโดนีเซีย
ด้วยการรับเอาวัฒนธรรมอันหลากหลายเข้ามาคำเรียกของชาวเปอรานากันนั้นจึงแบ่งเป็นชายและหญิง โดยรับต่อภาษาต่างๆที่เข้ามามีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมในดินแดนแห่งนี้
ในประเทศไทยคนกลุ่มนี้จะอยู่ในแถบจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะภูเก็ต ตรัง และจังหวัดใกล้เคียง โดยมีบรรพบุรุษอพยพมาจากปีนัง และมะละกา โดยคนกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับกลุ่มเปอรานากันในประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ชาวเปอรานากันในไทยใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ ที่เจือไปด้วยคำศัพท์จากภาษามาเลย์, จีน และอังกฤษ ชาวเปอรานากันในประเทศไทย นิยมเรียกกันว่า บ้าบ๋า หรือบาบา ได้ทั้งชายและหญิง