เทศบาลนครแม่สอด เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเภทเทศบาลนคร ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเทศบาลนครที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2553
เทศบาลนครแม่สอด แต่เดิมก่อนปี พ.ศ. 2480 มีฐานะการปกครองท้องถิ่นโดยขึ้นอยู่กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีที่ว่าการอำเภอและหน่วยงานของแผนกต่าง ๆ คือ แผนกมหาดไทย แผนกที่ดิน แผนกสัสดี แผนกคลัง แผนกศึกษาธิการ แผนกสรรพสามิต แผนกสรรพากร แผนกอัยการ และมีหน่วยงานที่เป็นเอกเทศอีก คือ สถานีตำรวจภูธร และสถานีวิทยุอุตุนิยม ต่อมามีประชากรแน่นหนา มีจำนวนพลเมืองในท้องถิ่นสมัยนั้นประมาณ 12,000 คนเศษ จึงได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะจัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาลตำบล เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2480 มีอาณาเขตในการปกครองสมัยนั้น มีเนื้อที่ 480 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนหมู่บ้าน 27 หมู่บ้าน
ต่อมาโดยคณะเทศมนตรี และด้วยความเห็นชอบของอำเภอและจังหวัดได้พิจารณาเห็นว่าเขตเทศบาลกว้างขวางมากเกินไปไม่สามารถที่จะปกครองดูแลทำนุบำรุงได้ทั่วถึง จึงพิจารณาของเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลให้เล็กลงมาอีกเพื่อเหมาะสมกับกำลังเงิน รายได้ ของท้องถิ่นที่จะทำการปกครองดูแลและทำนุบำรุงท้องถิ่นได้ทั่วถึง จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล เมื่อปี พ.ศ. 2492 ลงเหลือพื้นที่การปกครอง 27.2 ตารางกิโลเมตร และ ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลเมืองแม่สอด เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยว่า เทศบาลเมืองแม่สอด มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้ควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 และเข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.เทศบาล มาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2496 สมควรให้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาล "นครแม่สอด" ตามเจตนารมณ์ของท้องถิ่น อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 และมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงประกาศเปลี่ยนแปลงเทศบาลเมืองแม่สอด เป็น "เทศบาลนครแม่สอด"
อาคารสำนักงานเทศบาลตำบลแม่สอด ในระยะเริ่มแรกได้ทำการเช่าอาคารของเอกชนเพื่อใช้เป็นสำนักงานเทศบาล ตั้งอยู่ที่ถนนอินทรคีรี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2485 กิจการบริหารของท้องถิ่นได้เจริญขึ้น ทำให้อาคารสถานที่คับแคบไม่เหมาะสมปฏิบัติราชการ จึงได้ย้ายตัวอาคารสำนักงานเทศบาลโดยเช่าอาคารของเอกชนเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น กว้างขวางกว่าเดิมเหมาะสมกับการใช้เป็นอาคารสำนักงาน อยู่จุดกลางตลาด เป็นที่ชุมชน ตั้งอยู่ที่ริมถนนศรีพานิช
ในปี พ.ศ. 2489 ได้ย้ายอาคารสำนักงานเทศบาลไปเช่าอาคารเอกชนและเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ตั้งอยู่ที่ริมถนนประสาทวิถี ติดกับโรงเรียนรัฐบาล (โรงเรียนแม่สอดสรรพวิทยาคม) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2495 เทศบาลได้จัดซื้อที่ดินจากกระทรวงมหาดไทย มีเนื้อที่1,512 ตารางเมตร ดำเนินการก่อสร้างอาคารไม้ชั้นเดียวตามแบบแปลนของกรมโยธาธิการ แบบที่ 503 งบประมาณค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 59,900 บาท
ต่อมาได้มีการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีกจำนวน 15 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา ตั้งอยู่ใกล้ถนนสายเอเชียและเยื้องกับโรงเรียนเทศบาลวัดชุมพลคีรี พร้อมทั้งก่อสร้างสำนักงานเทศบาลหลังใหม่ เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท เทศบาลยังได้รับความร่วมมือจาก นางอะมีนา คาตูน ได้อุทิศที่ดินซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินที่สำนักงานใหญ่แห่งนี้เพิ่มอีกประมาณ 4 ไร่ เพื่อสมทบเป็นที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลด้วย
เทศบาลนครแม่สอด ตั้งอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีพื้นที่ประมาณ 27.2 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 17,000 ไร่ มีระยะทางห่างจากตัวจังหวัดตาก ประมาณ 87 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 509 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลต่าง ๆ คือ
ภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา ทิศตะวันออกเป็นเทือกเขาถนนธงชัย ภายในเขตเทศบาลมีลำห้วยแม่สอดไหลผ่านตัวเมือง
ดวงตราเทศบาลเป็นรูปประตูเมือง เพราะตามประวัติศาสตร์นั้นพม่าได้ยกทัพเข้ามาตีประเทศไทยผ่านทางอำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นเมืองด่านหน้า รับข้าศึกที่ด่านแม่ละเมา ด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์เทศบาลจึงได้กำหนดดวงตราเป็นรูปประตูเมือง เพื่อแสดงว่าครั้งหนึ่งเมืองแม่สอด เป็นเมืองหน้าด่านของประเทศไทยในการป้องกันการรุกรานจากประเทศพม่า
ในปี พ.ศ. 2552 เทศบาลนครแม่สอดมีโรงเรียนในสังกัดจำนวน 4 แห่ง สถาบันอุดมศึกษา ที่ตั้งในเขตพื้นที่ เทศบาลนครแม่สอด
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 (เทศบาลนครแม่สอด - จังหวัดตาก) เชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ซึ่งเป็นถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่จังหวัดตาก