เชียงใหม่ (คำเมือง: ) มีขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นเมืองวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุด ในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นเมืองศูนย์กลางของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นอดีตนครหลวงแห่งอาณาจักรล้านนา ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือเป็นระยะทาง 700 กิโลเมตร (435 ไมล์) มีแม่น้ำปิงไหลผ่านเมือง และตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศ
ชื่อของเชียงใหม่หมายความว่า "เมืองใหม่" เนื่องจากเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักรล้านนา ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 1839 แทนเมืองเชียงราย อดีตนครหลวงที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 1805:208–209
ต่อมาได้มีการจัดตั้งเทศบาลนครอย่างเป็นทางการเป็นเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอเมืองเชียงใหม่ มีประชากรประมาณ 160,000 คน เทศบาลนครเชียงใหม่แบ่งการปกครองออกเป็น 4 แขวง ได้แก่ แขวงนครพิงค์ แขวงศรีวิชัย แขวงเม็งราย และแขวงกาวิละ โดย 3 แขวงแรกดังกล่าว ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ส่วนแขวงกาวิละตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก แต่ละแขวงตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออกของเมืองตามลำดับ ส่วนเขตใจกลางเมือง ซึ่งอยู่ในกำแพงเมือง จะอยู่ในแขวงศรีวิชัยเป็นส่วนใหญ่
เทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อเริ่มแรกมีฐานะเป็นเพียงสุขาภิบาลเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2458 และยังขึ้นตรงต่อมณฑลพายัพ แต่ต่อมาเมื่อประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติสมควรจัดตั้งชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุขาภิบาลให้มีฐานะเป็น เทศบาล โดยในครั้งนั้นนครเชียงใหม่ได้รับฐานะใหม่จากสุขาภิบาลเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็น "เทศบาลนครเชียงใหม่" ในปี พ.ศ. 2478 ถือได้ว่าเป็นเทศบาลนครแห่งแรกของไทย
ดวงตราสัญลักษณ์ของเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นรูปพระบรมธาตุดอยสุเทพตั้งตระหง่านอยู่บนปุยเมฆ และยังมีพญานาค รวงข้าว และลายดอกประจำยาม ในดวงตราสัญลักษณ์อีกด้วย
เทศบาลนครเชียงใหม่มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 40.216 ตารางกิโลเมตร โดยครอบคลุมพื้นที่ 14 ตำบลของอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ ตำบลหายยา ตำบลช้างม่อย ตำบลศรีภูมิ ตำบลวัดเกต ตำบลช้างคลาน ตำบลพระสิงห์ ตำบลสุเทพ ตำบลป่าแดด ตำบลฟ้าฮ่าม ตำบลหนองป่าครั่ง ตำบลท่าศาลาบางส่วน ตำบลป่าตัน ตำบลหนองหอย และตำบลช้างเผือก
ชุมชนเมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนกลางเชิงดอยสุเทพ มีแม่น้ำปิงไหลผ่านใจกลางเมืองในแนวเหนือ–ใต้ ส่วนชุมชนดั้งเดิมหรือบริเวณเมืองเก่าตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ต่อมาเมื่อชุมชนได้พัฒนาให้มีความเจริญขึ้น โดยมีการขยายตัวข้ามแม่น้ำปิงมาทางฝั่งตะวันออก และภายหลังจากที่ได้มีการตัดถนนอ้อมเมือง ชุมชนได้พัฒนาออกไปหลายทิศทางตามเส้นทางคมนาคม และโครงข่ายสาธารณูปโภค ธุรกิจการพัฒนาที่ดินและที่พักอาศัยได้ขยายตัวเป็นอย่างมาก สภาพที่แท้จริงของชุมชนเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันไม่ได้คงอยู่แต่เฉพาะในเขตเทศบาลเท่านั้น แต่ได้ขยายออกไปตามบริเวณชานเมืองและชนบทโดยรอบ อย่างเช่น เขตอำเภอหางดง, อำเภอสันทราย, อำเภอแม่ริม, อำเภอสารภี, อำเภอสันกำแพง, อำเภอดอยสะเก็ด, อำเภอสันป่าตอง, อำเภอจอมทอง และอำเภอแม่แตง เป็นต้น
เทศบาลนครเชียงใหม่มีประชากรประมาณ 174,235 คน แบ่งเป็นชาย 66,036 คน หญิง 75,325 คน จำนวนบ้านเรือน 75,878 หลังคาเรือน ในปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญทุก ๆ ด้านของภูมิภาค ทำให้มีประชากรแฝง อพยพมาอาศัยในเทศบาลนครเชียงใหม่ มากกว่า 2.5 ล้านคน และมีประชากรในต่างอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาใช้บริการในเขตเมืองในเวลากลางวัน และอพยพออกไปในเวลากลางคืนประมาณ 250,000 คนต่อวัน ทำให้ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่มีความหนาแน่น และมีสภาพการจราจรที่คับคั่ง ไม่ต่างจากกรุงเทพมหานคร
ภาษาราชการที่ใช้ในจังหวัดเชียงใหม่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก และมีภาษาท้องถิ่นซึ่งเรียกว่า ภาษาคำเมือง ซึ่งแต่ละท้องถิ่นของทางภาคเหนือ มีคุณลักษณะของภาษาที่คล้าย ๆ กัน จะแตกต่างกันเฉพาะสำเนียงและศัพท์บางคำ แต่ละท้องถิ่นก็จะมีความไพเราะ ต่างกันไปนักท่องเที่ยวที่มาจากถิ่นอื่น ล้วนชื่นชมว่า "ภาษาคำเมืองนั้น มีความไพเราะ นุ่มนวล ยิ่งนักแล"
ประชากรในเทศบาลนครเชียงใหม่ นับถือศาสนาพุทธ 91.80% ศาสนาคริสต์ 5.60% ศาสนาอิสลาม 1.17% ศาสนาฮินดูและศาสนาซิกข์ 0.02% และอื่น ๆ 1.14%
เทศบาลนครเชียงใหม่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน คนเชียงใหม่ได้สั่งสมวัฒนธรรมประเพณีสืบทอดมาจากบรรพบุรุษอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มีความผูกพันกับพุทธศาสนาและความเชื่อดั้งเดิม ประเพณีที่สำคัญ ได้แก่
ในปี พ.ศ. 2550 เทศบาลนครเชียงใหม่มีโรงเรียนในสังกัดจำนวน 11 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 1 แห่ง มีจำนวนห้องเรียนทั้งสิ้น 162 ห้อง มีจำนวนครูทั้งสิ้น 273 คน และมีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 4,289 คน
เทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นเมืองหลักของภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ อุตสาหกรรมและการคมนาคม จึงมีเส้นทางคมนาคมหลักทั้งทางบก และทางอากาศ มีทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัด และเส้นทางมาตรฐานหลายสาย ทำให้การเดินทางติดต่อภายในจังหวัด การเดินทางสู่จังหวัดใกล้เคียงและกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความสะดวก
การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังนครใหม่ใช้ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดอ่างทอง, จังหวัดนครสวรรค์ แล้วใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์) ผ่านจังหวัดลำปาง แยกซ้าย ผ่านจังหวัดลำพูน จนถึงจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับการเดินทางในเทศบาลนคร จะใช้การจราจรโดยรถส่วนบุคคลหรือรถจักรยานยนต์รวมทั้งจักรยาน สำหรับระบบมวลชนจะมี รถแดง, รถตุ๊กตุ๊ก, รถโดยสารประจำทาง และประมาณ พ.ศ. 2550 เริ่มมีแท็กซี่มิเตอร์ในบริการในจังหวัดเชียงใหม่ โดยรถมีสีเหลือง-น้ำเงิน เป็นแท็กซี่สหกรณ์ ส่วนสีแดง-เหลืองเป็นแท็กซี่ส่วนบุคคล มีสถานีขนส่งภายในตัวจังหวัดเชื่อมต่ออำเภอต่าง ๆ คือ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 1 (สถานีขนส่งช้างเผือก) และสถานีขนส่งระหว่างจังหวัดคือ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 2 และสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 3 (สถานีขนส่งอาเขต)
ส่วนระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษนครเชียงใหม่ (อังกฤษ: Chiangmai Transit System) จะเปิดให้บริการในอนาคต แต่ยังติดปัญหาเรื่องงบประมาณและการพิจารณาอนุมัติของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
การคมนาคมทางรถไฟ ปัจจุบันมีรถไฟสายกรุงเทพ–เชียงใหม่ โดยผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา–ลพบุรี–นครสวรรค์–พิษณุโลก–อุตรดิตถ์–แพร่–ลำปาง–ลำพูน เปิดการเดินรถเร็ว, รถด่วน, รถด่วนพิเศษ, และรถดีเซลรางปรับอากาศ รวมวันละ 14 ขบวนไป–กลับ และนครสวรรค์–เชียงใหม่ วันละ 2 ขบวนไป–กลับ มีสถานีรถไฟหลักและเป็นสถานีปลายทางในนครเชียงใหม่ คือ สถานีรถไฟเชียงใหม่
นครเชียงใหม่มีท่าอากาศยานเชียงใหม่ ที่มีความหนาแน่นของผู้ใช้บริการเป็นอันดับ 4 ของประเทศรองจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานภูเก็ต ตามลำดับ โดยมีเที่ยวบินไป–กลับวันละหลายเที่ยวบิน ทั้งสายการบินภายในประเทศ และสายการบินระหว่างประเทศ โดยสายการบินระหว่างประเทศ มีสายการบินในแถบเอเชียมีเที่ยวบินโดยตรงจากเชียงใหม่ไปยังหลายประเทศ เช่น ประเทศจีน, ประเทศเกาหลีใต้, ประเทศลาว, ประเทศพม่า, ประเทศมาเลเซีย, ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น