เทศบาลนครหาดใหญ่ หรือ นครหาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หาดใหญ่ถือได้ว่าเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า และการคมนาคมขนส่งที่สำคัญของภาคใต้ หาดใหญ่ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลนครหาดใหญ่ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 112 ตอนที่ 40 ก ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2538 โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2538
หาดใหญ่ เป็นชื่อรวมของหมู่บ้านโคกเสม็ดชุนและบ้านหาดใหญ่ เดิมดินแดนหาดใหญ่เป็นเนินสูง มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากนัก การคมนาคมไม่สะดวก เป็นป่าต้นเสม็ดชุน โดยทั่วไปชาวบ้านจึงเรียกว่า บ้านโคกเสม็ดชุน เมื่อทางการได้ตัดทางรถไฟมาถึงท้องถิ่นนี้ จึงมีประชาชนอพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินและเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ สมัยนั้นชุมทางรถไฟอยู่ที่สถานีรถไฟอู่ตะเภา (ด้านเหนือของสถานีรถไฟหาดใหญ่ ในปัจจุบันเป็นเพียงที่หยุดรถไฟ) เนื่องจากสถานีอู่ตะเภาเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมเป็นประจำ ทางการรถไฟจึงได้ย้ายสถานีมาอยู่ที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ประชาชนได้ทยอยย้ายบ้านเรือนมาสร้างตามบริเวณสถานีนั่นเอง ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่ากิจการรถไฟมีบทบาทขยับขยายและความเจริญก้าวหน้าของนครหาดใหญ่ตลอดมา
ต่อมาได้มีผู้เห็นการไกลกล่าวว่าบริเวณสถานีรถไฟหาดใหญ่นี้ ต่อไปภายหน้าจะต้องเจริญก้าวหน้าอย่างแน่นอน จึงได้มีการจับจองและซื้อที่ดินแปลงใหญ่จากราษฏรพื้นบ้าน ในที่สุดปี พ.ศ. 2471 หาดใหญ่จึงมีฐานะเป็นสุขาภิบาล ซึ่งประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขาภิบาลเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2471
ต่อมาสุขาภิบาลแห่งนี้เจริญขึ้น มีพลเมืองหนาแน่นขึ้น และมีกิจการเจริญก้าวหน้า กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็น เทศบาลตำบลหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งในขณะนั้นมีเนื้อที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 5,000 คน รวมถึงมีรายได้ประมาณ 60,000 บาท
เมื่อประชากรในเขตเทศบาลมีมากขึ้น พร้อมทั้งกิจการได้เจริญขึ้น จึงได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเทศบาล และมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเทศบาลตำบลหาดใหญ่เป็น เทศบาลเมืองหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2492 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2492 ซึ่งในขณะนั้นมีเนื้อที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตรเช่นเดิม แต่มีประชากรเพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ 19,425 คน มีรายได้ 374,523.33 บาท
เมื่อท้องที่ในเขตเทศบาลเจริญและมีประชากรอยู่หนาแน่นเพิ่มปริมาณมากขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองหาดใหญ่ จากเนื้อที่ 8 ตารางกิโลเมตร เพิ่มขึ้นอีก 13 ตารางกิโลเมตร รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมด 21 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2520 ตามราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2520 ในขณะนั้นมีประชากร 68,142 คน มีรายได้ 49,774,558.78 บาท นับได้ว่าเทศบาลเมืองหาดใหญ่เป็นเทศบาลชั้น 1 มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก
หาดใหญ่ยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางบก และทางอากาศ ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร หาดใหญ่ยังเป็นชุมทางรถไฟ และศูนย์กลางทางด้านคมนาคม และด้วยศักยภาพที่โดดเด่น และถึงพร้อมด้วยคุณลักษณะรวมไปถึงวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลของผู้บริหาร ทำให้เทศบาลเมืองหาดใหญ่ได้ยกฐานะเป็น เทศบาลนครหาดใหญ่ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 112 ตอนที่ 40 ก ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2538 โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2538 ซึ่งปัจจุบัน เทศบาลนครหาดใหญ่มีพื้นที่ทั้งหมด 21 ตารางกิโลเมตร
นครหาดใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมเมืองร้อน มีลมมรสุมพัดผ่านประจำทุกปี คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงกลางเดือนมกราคม และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม จากอิทธิพลของลมมรสุมดังกล่าว ส่งผลให้มีฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือ
หาดใหญ่เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจการค้าและการบริการของภาคใต้ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพาณิชยกรรม (รองรับกิจกรรมการท่องเที่ยว) และอุตสาหกรรม ได้แก่ อาชีพค้าขาย ธุรกิจบริการ และเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ ลักษณะของเมืองมีขนาดกระชับตัวมาก มีศูนย์กลางเมืองกว้างประมาณ 1 กิโลเมตร ยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ตั้งอยู่ประชิดทางรถไฟ สภาพเมืองขยายตัวออกไปทางทิศตะวันออก ลักษณะของอาคารสิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นตึกแถวพาณิชย์ชั้นล่างและอยู่อาศัยชั้นบน อาคารลักษณะเดี่ยวมีน้อยและกระจายตัวอยู่ประปราย จำนวนอาคารสถานประกอบการต่างๆ ดังนี้
เทศบาลนครหาดใหญ่มีประชากรทั้งสิ้น 158,218 คน เป็นชาย 73,701 คน หญิง 84,517 คน จำนวนบ้าน 58,434 หลัง (ข้อมูล ณ มิถุนายน พ.ศ. 2555) แบ่งเป็น 101 ชุมชน ความหนาแน่นของประชากร 7,529 คนต่อตารางกิโลเมตร (บริเวณกลางเมืองความหนาแน่นถึง 20,000 คนต่อตารางกิโลเมตร) ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นและอพยพมาจากจังหวัดใกล้เคียง ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาคือศาสนาอิสลาม (ร้อยละ 10 ของประชากร)
นครหาดใหญ่มีโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างสมบูรณ์สามารถเชื่อมโยงกับจังหวัดต่าง ๆ เป็นเมืองหลักของภาคใต้ เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ อุตสาหกรรมและการคมนาคม จึงมีเส้นทางคมนาคมหลักทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และทางอากาศ มีทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัด และเส้นทางมาตรฐานหลายสาย ทำให้การเดินทางติดต่อภายในจังหวัด การเดินทางสู่จังหวัดใกล้เคียง และกรุงเทพมหานคร เป็นไปด้วยความสะดวกได้ทั้งภายในภูมิภาค และนานาชาติ
สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ยังคงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างอำเภอหาดใหญ่กับกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่น อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงประเทศมาเลเซียได้ โดยชุมทางรถไฟหาดใหญ่เป็นชุมทางรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ เส้นทางรถไฟสายใต้เริ่มต้นจากกรุงเทพมหานครลงไปถึงชุมทางหาดใหญ่ ระยะทางยาวประมาณ 945 กิโลเมตร จากนั้นจะแยกเป็น 2 เส้นทาง คือ เส้นทางสายหาดใหญ่–ปาดังเบซาร์ ความยาว 45 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของมาเลเซียจนถึงสถานีรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งคือ ทางสายหาดใหญ่–อำเภอสุไหงโก-ลก ความยาว 110 กิโลเมตร หาดใหญ่เป็นสถานีชุมทางต่างประเทศแห่งเดียวของประเทศไทยที่เชื่อมไปยังคาบสมุทรมลายูด้วย เป็นสถานีรถไฟที่มีปริมาณผู้ใช้บริการหนาแน่นมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ โดยในอนาคต อาจมี 2 เส้นทาง ได้แก่
และจะมีบางช่วงที่สายสีฟ้าและสายสีแดงใช้ทางร่วมกันได้ เรียกว่า จุดซ้อน (Overlap) ซึ่งเป็นระยะทางจาก จุดชุมทาง A และชุมทาง B ระยะทาง 1.78 กิโลเมตร จากแยกโรงแรมวีแอล ถึงแยกเพชรเกษม–ราษฎร์ยินดี
ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ และตำบลคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง ห่างจากเขตเทศบาลประมาณ 12 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ได้รับการยกฐานะเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 มีพื้นที่ประมาณ 4.80 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,000 ไร่โดยให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00–24.00 น. ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่เป็นท่าอากาศยานที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นมากเป็นอันดับ 3 ของภาคใต้รองจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต และท่าอากาศยานนานาชาติสมุย