เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเมืองที่เจริญเติบโตมายาวนาน และได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลนครแห่งแรกของภาคใต้ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ยกฐานะเมื่อปี พ.ศ. 2537 มีประชากรประมาณ 106,322 คน บนเนื้อที่ 22.56 ตร.กม. เป็นเมืองเอกของจังหวัด และ จัดเป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับ 12 ของประเทศไทย
เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้จัดตั้งตามพระราชกฤษฎีการจัดตั้งเทศบาล โดยใช้สถานที่บริเวณห้องแถว หน้าศาลากลางจังหวัด เป็นสถานที่ทำการ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2482 ได้ย้ายมาอยู่ ณ อาคารเรือนไม้ทรงมานิลาชั้นเดียว (สถานที่ทำงานปัจจุบัน) ซึ่งทางจังหวัดได้ยกให้ มีลักษณะอาคารเก่า มีสภาพทรุดโทรม และ หลังคามุงจาก จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2505 ได้เกิดวาตภัยขึ้นอย่างร้ายแรง อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย สำนักงานเทศบาลซึ่งมีสภาพเก่าชำรุดอยู่แล้ว ก็ได้รับความเสียหายมาก คณะเทศมนตรีจึงดำเนินการขออนุมัติกู้เงิน กสท. มาดำเนินการสร้างใหม่ เป็นอาคารตึกสอง ชั้นทรงไทยตามแบบเทศบาลขนาดใหญ่ ของกรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นแบบมาตรฐานของเทศบาลทั่วไป และได้ทำพิธีเปิดใช้สำนักงานนี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2507 รวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน 1,725,000 บาท ทำการก่อสร้างโดย บริษัท กรุงเทพฯ วิวัตน์ จำกัด ในสมัย ของนายเหรียญ สร้อยสนธิ์ เป็นนายกเทศมนตรี
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2456 ได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลนครศรีธรรมราช โดยมีพื้นที่ 3 ตารางกิโลเมตร ต่อมาได้ยกฐานะเป็น เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2478 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2478 มีพื้นที่ 3.2 ตารางกิโลเมตร และได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2508 และครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2536
ต่อมาได้มีการยกฐานะเป็น เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2537 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2537
ปัจจุบัน เทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ 22.56 ตารางกิโลเมตร มีความหนาแน่นของประชากร 4,647.21 คนต่อตารางกิโลเมตร
เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่กว่าพันไร่ เดิมทีพื้นที่ส่วนนี้เคยเป็น "สวนราชฤดี" มาก่อน บริเวณโดยรอบสวนสาธารณะร่มรื่น ด้วยดอกไม้และพันธุ์ไม้หลายชนิด ภายในสวนฯ ยังประกอบไปด้วย สวนสัตว์เปิด สวนนก พันธุ์สัตว์หายากนานาชนิด สระน้ำขนาดใหญ่ ต้นไม้ที่ร่มรื่นอันเป็นที่พักอาศัยของนกที่อพยพเข้ามา นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ซึ่งช่วยสืบสานประเพณีอันดี นั่นคือ จะถูกใช้เป็นที่จัดงานประเพณีวันสารทเดือนสิบอย่างยิ่งใหญ่ เป็นเวลา 10 วัน 10 คืน ในเดือนกันยายนของทุกปี และมีการแสดงคอนเสิร์ตภายในอาคาร "พิพิธภัณฑ์เมืองนครฯ" ซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชนทั้งภายในจังหวัดตลอดจนในประเทศ
ในปี 2546 เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ปรับปรุงอาคารวีรไทย ซึ่งตั้งอยู่ภายในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 ทุ่งท่าลาด และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เมือง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของเมือง โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยราชการและเอกชน ตลอดจนประชาชนในท้องถิ่น และเมื่อเปิดทำการก็ได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดียิ่ง ดังนั้น เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช มีความสมบูรณ์แบบ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ประวัติเมืองและวิถีชีวิตครบถ้วน จึงได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เพิ่มเติม โดยใช้วิธีจัดแสดงด้วยสื่ออันทันสมัย เพื่อสร้างความน่าสนใจ ให้ผู้ชมเรียนรู้จดจำได้ง่าย อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมและบรรลุวัตถุประสงค์ของพิพิธภัณฑ์เมือง
โรงพยาบาลเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2547 ณ อาคารของศูนย์บริการสาธารณสุข หอนาฬิกา เลขที่ 479 ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยปรับปรุงอาคารซึ่งมีอยู่เดิมให้เป็นสัดส่วนสำหรับการบริการประชาชน ตามแนวคิดและนโยบายการบริหารงานด้านการสาธารณสุข โดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาล ของนายสมนึก เกตุชาติ นายกเทศมนตรี โดยปรับเปลี่ยนและขยายการบริการด้านการรักษาพยาบาล จากรูปแบบเดิมที่ดำเนินการอยู่เพียงในรูปแบบของศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งมีจำนวน 6 ศูนย์และมีศูนย์เทศบาลสาขา อีกจำนวน 10 สาขา และมีพยาบาลวิชาชีพเป็นตัวหลักในการรักษาพยาบาลเบื้องต้น และมีแพทย์ให้บริการในบางเวลา อันเป็นการไม่สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของประชาชน ที่ต้องการเข้ารับการตรวจรักษาที่มีมาตรฐานการรักษาที่สูงกว่าและสามารถเข้าถึงการแพทย์ได้โดยตรง มีแพทย์ปริญญาเป็นผู้ทำการตรวจรักษา ประกอบกับสถานะความเป็นอยู่ของประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ยังมีฐานะยากจนและเมื่อเกิดการเจ็บป่วยยังไม่สามารถเข้าถึงการแพทย์ที่ถูกต้องได้ ความจำเป็นและความต้องการของประชาชนเช่นนี้ เทศบาลซึ่งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นต้องเป็นผู้ดูแล เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ภายใต้การบริหารงานของนายสมนึก เกตุชาติ นายกเทศมนตรี จึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลเทศบาล ขนาด 30 เตียงขึ้น ด้วยความเห็นพ้องต้องกันและสนับสนุนจาก โรงพยาบาลมหาราชนครนครศรีธรรมราช และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนคณะกรรมการกลั่นกรองการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพจังหวัดนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลเทศบาลนครนครศรีธรรมราชตั้งอยู่บนพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา ติดกับบริเวณสวนหย่อมหอนาฬิกา มีอาคารประกอบจำนวน 3 หลัง เป็นตึก 3 ชั้น ขนาดกว้าง 12 เมตรยาว 16 เมตรจำนวน 1 หลัง จัดเป็นส่วนบริการของงานเวชระเบียนห้องฉุกเฉิน ห้องตรวจจำนวน 3 ห้อง ห้องชันสูตรทางสาธารณสุข ห้องจ่ายยา ส่วนของกลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ งานทันตกรรม ห้องพักแพทย์ ส่วนงานบริหารและห้องประชุมอาคารผู้ป่วยในชั้นเดียว ขนาดกว้าง 12 เมตรยาว 20 เมตร จำนวน 1 หลังและอาคาร 2 ชั้นขนาดกว้าง 6 เมตรยาว 18 เมตร จำนวน 1 หลังซึ่งเป็นอาคารเดิมของสุขศาลาที่สร้างอุทิศโดย คุณผัน ณ นคร จัดเป็นส่วนของผู้ป่วยใน ห้อง X-Ray ศูนย์บริการพิเศษ 20,000 เตียง และชั้นบนเป็นส่วนของสต๊อกยาและเวชภัณฑ์ ขณะนี้มีอีกหนึ่งโครงการที่ทางเทศบาลกำลังดำเนินการคือ อาคารผู้ป่วย 4 ชั้น ซึ่งเริ่มก่อสร้างแล้วและจะเสร็จภายใน 240 วัน
ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ 17 กิโลเมตร มีเที่ยวบินให้บริการ 10 เที่ยวบินต่อวัน โดยมี 2 สายการบินคือ นกแอร์ และ ไทยแอร์เอเชีย รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช