เฌอรี่ (จีนตัวย่อ: ????; จีนตัวเต็ม: ????; พินอิน: Q?ru? Q?ch? (ฉีร่วยชี่เชอ หรือ ฉีรุ่ยชี่เชอ); อังกฤษ: Chery Automobile [????i?]) เป็นบริษัทผลิตรถยนต์จากประเทศจีน ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาลท้องถิ่นของเมืองอู๋หู (จีน: ??; พินอิน: W?h?) มณฑลอานฮุย
เฌอรี่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ลำดับแรก ๆ ของจีน เฌอรี่จำหน่ายรถยนต์ได้ 307,232 คันทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2549 และ 427,882 คันทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2550
บริษัทเฌอรี่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 ในระยะแรกนั้นบริษัทมีสถานภาพเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เท่านั้น และสามารถจำหน่ายรถยนต์ที่ผลิตได้เฉพาะที่เมืองอู๋หูเท่านั้น (หุ้นส่วนใหญ่ของเฌอรี่ในขณะนั้นเป็นของรัฐบาลท้องถิ่นของเมืองอู๋หู) ยังไม่ได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายในการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่ผลิตขึ้นได้ทั่วประเทศจีน ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 เมื่อเอสเอไอซี (ช่างไห่ออโตโมทีฟอินดัสทรีคอร์เปอเรชัน, Shanghai Automotive Industry Corporation) ซึ่งมีสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายรถทั่วประเทศอยู่ก่อนแล้ว ได้ลงทุนในเฌอรี่โดยซื้อหุ้นของเฌอรี่ 20% ทำให้เฌอรี่ได้รับสิทธิ์ในการผลิตรถยนต์จำหน่ายทั่วประเทศตามไปด้วย เฌอรี่เริ่มมีการผลิตรถยนต์แบบสำเร็จรูปทั้งคันเมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยเฌอรี่ได้สิทธิ์ในการใช้แชสซีส์ของรถยนต์ เซียต โทเลโด (Seat Toledo) โดยมีสิทธิ์ในการพัฒนารถของตนเองโดยใช้แชสซีส์ดังกล่าว
และในปีเดียวกันนั้นเอง เฌอรี่ส่งออกรถยนต์จำนวนหนึ่งเข้าไปจำหน่ายในประเทศซีเรีย ทำให้เป็นบริษัทรถยนต์จีนบริษัทแรกที่มีการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศอื่น (ที่อยู่ไกลออกไปจากจีน) ในปีเดียวกันบริษัทเฌอรี่ผ่านการรับรองคุณภาพ ISO 9001 และในเดือนกันยายน พ.ศ. 2545 บริษัทผ่านการรับรองคุณภาพ ISO/TS 16949
ในปี พ.ศ. 2548 มีความร่วมมือกันระหว่างบริษัทเฌอรี่ กับบริษัทวิชันนารีวีฮิเคิลส์ (Visionary Vehicles) ซึ่งเป็นบริษัทของนายมัลคอล์ม บริคลิน (Malcolm Bricklin) โดยในช่วงนั้นมีแผนว่าจะเป็นบริษัทรถยนต์จีนรายแรกที่นำรถเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกา แต่ต่อมาเกิดปัญหาบางประการ ทำให้แผนการดังกล่าวต้องล้มเลิกไป
รถยนต์เฌอรี่บางรุ่นได้รับการออกแบบโดยเบอร์โทเน (Bertone) หรือ พินินฟารินา ซึ่งทั้งคู่ต่างก็เป็นบริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงจากประเทศอิตาลี นอกจากนี้บริษัทเฌอรี่และบริษัทเอวีแอลจากประเทศออสเตรีย ได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องยนต์แบบต่าง ๆ ซึ่งผ่านมาตรฐานไอเสียระดับยูโร 4 และมีเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบรวมอยู่ด้วย เครื่องยนต์เหล่านี้มีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า ACTECO (ทางบริษัทสะกดชื่อเป็นตัวพิมพ์ใหญ่)
ในปี พ.ศ. 2545[ต้องการอ้างอิง] เฌอรี่ได้มีความพยายามเจรจากับบริษัทแดวูที่กำลังจะล้มละลายในขณะนั้น เพื่อซื้อสิทธิ์ในการผลิตรถยนต์บางรุ่นของแดวู ก่อนหน้าการซื้อกิจการรถยนต์แดวูโดยเจเนอรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม) แต่การเจรจาของเฌอรี่ไม่เป็นผลสำเร็จ และจีเอ็มได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกินกึ่งหนึ่งในกิจการรถยนต์แดวู แต่หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2546 ทางเฌอรี่ได้เริ่มผลิตรถยนต์เฌอรี่ คิวคิว ที่ดูเหมือนกับรถยนต์แดวู มาทิส (Daewoo Matiz) ในขณะนั้นเป็นอย่างมาก ทำให้ทางจีเอ็มฟ้องร้องเฌอรี่ด้วยข้อกล่าวหาว่าลอกเลียนแบบ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 แต่ในที่สุด ด้วยเหตุผลบางประการ (จีเอ็มต้องการสัมพันธไมตรีกับรัฐบาลจีนเพื่อให้ขายรถรุ่นต่างๆ ของจีเอ็มเองในประเทศจีนได้อย่างราบรื่น จึงเห็นว่าการฟ้องร้องเฌอรี่นั้นอาจไม่เป็นผลดีต่อจีเอ็ม) ทำให้จีเอ็มถอนการฟ้องร้องครั้งนี้ไปในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548