เซ็นทรัลเวิลด์ เดิมชื่อ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เป็นโครงการศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ ตัดกับถนนพระราม 1 และถนนเพลินจิต เป็นศูนย์การค้าครบวงจรที่มีพื้นที่รวมใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีพื้นที่ขายมากเป็นอันดับสามของโลก นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ชั้น 1 มากเป็นอันดับสามของโลก รองจากท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ และหอคอยอบราจ อัล เบท ประเทศซาอุดีอาระเบีย
พื้นที่ของศูนย์การค้าเป็นที่ตั้งเดิมของวังเพ็ชรบูรณ์ วังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ สิ้นพระชนม์ นักธุรกิจญี่ปุ่นได้ขอซื้อที่ดินบริเวณวังเพื่อก่อสร้างห้างไทยไดมารู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศูนย์การค้าราชประสงค์ จากนั้น บริษัท วังเพชรบูรณ์ โดยนายอุเทน เตชะไพบูลย์ ได้เช่าที่ดินนี้จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อก่อสร้างห้างสรรพสินค้า
เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 และเปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2532 ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าเซน (ZEN) และ อิเซตัน (Isetan) แต่ในปลายปี 2545 ทางบริษัท วังเพชรบูรณ์ ประสบปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงแรมและอาคารสำนักงานให้แล้วเสร็จ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงเปิดโอกาสให้บริษัทอื่นเข้ามาประมูลเป็นผู้บริหารศูนย์การค้า รวมทั้งพัฒนาพื้นที่และต่อเติมอาคารให้แล้วเสร็จตามข้อตกลงในคู่สัญญา โดยมีการเปิดประมูลและปรับโครงสร้างจากเดิมด้วยวิธีการเปลี่ยนถ่ายสัญญาไปเป็น โดยมีกลุ่มเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ เป็นผู้เข้าร่วมประมูล
ปัจจุบันโครงการนี้บริหารงานโดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (CPN) โดยในระยะแรกเป็นการปรับปรุงและต่อเติมอาคารสำนักงาน ที่ทางเจ้าของพื้นที่เดิมได้สร้างไว้แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จากนั้นจึงเริ่มปรับปรุงศูนย์การค้าโดยเปลี่ยนชื่อเป็น เซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า (Central World Plaza) และสร้างเซ็นทรัลเวิลด์สกายวอล์ก (CentralWorld Skywalk) ทางเชื่อมลอยฟ้าระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีชิดลม และสถานีสยาม โดยความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ต่อมาในปี 2549 บริษัทได้มีการปรับปรุงทั้งบริเวณโดยรอบทั้งหมด ต่อเติมโครงสร้างที่เหลือจากชั้นบนเป็นพื้นที่สำหรับส่วนการพัฒนาเป็นลานกิจกรรม และสร้างอาคาร Zen รวมทั้งภัตตาคารและส่วนโรงแรมซึ่งต่อเติมไปจากช่วง อิเซตัน พร้อมกับเปลี่ยนชื่อศูนย์การค้าเป็นเซ็นทรัลเวิลด์ ถือเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียเป็นอันดับ 2 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์การค้า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ประกอบด้วยอาคารทั้งหมด 7 หลัง และแบ่งพื้นที่ออกเป็นทั้งหมด 9 โซน ดังต่อไปนี้
เอเทรียมเป็นอาคารหลักฝั่งปีกซ้าย มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 20 ชั้น เป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าเซน อาคารเซนเวิลด์ และเมืองไทย จีเอ็มเอ็มไลฟ์เฮาส์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ มีจุดเด่นคือเป็นอาคารโถงขนาดใหญ่ ตกแต่งอย่างหรูหรา โดยพื้นที่ชั้น 1 รองรับการทำกิจกรรมและการออกงานต่างๆ มากมาย
บีคอนเป็นอาคารหลักฝั่งปีกขวา มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 8 ชั้น เป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าอิเซตัน สาขาเดียวในประเทศไทย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าเต็มพื้นที่ และบางจุดเป็นร้านค้าที่เซ้งมาตั้งแต่สมัยศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ จุดเด่นของอาคารนี้มีลานกว้างทรงรูปเปลือกหอย และเพดานเป็นรูปหยดน้ำมาร์ควิส
เซ็นทรัลคอร์ทเป็นอาคารทรงกลมที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่ มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 7 ชั้น หลักๆ ใช้เป็นทางเชื่อมต่ออาคารและโซนต่างๆ ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เข้าไว้ด้วยกัน จุดเด่นคือมีลานวงกลมขนาดใหญ่ไว้ใช้ในการจัดกิจกรรม มีการติดตั้งลิฟต์แก้วแบบพาโนรามา 360 องศาเป็นแห่งที่สองจากสยามพารากอน และมีบันไดเลื่อนติดตั้งเป็นทางวนรอบไปตามอาคาร
แดซเซิลเป็นอาคารขนาดใหญ่ความสูง 10 ชั้น เป็นที่ตั้งร้านค้าในรูปแบบ One Floor One Shop เป็นหลัก ได้แก่ ฟอร์เอเวอร์ เทวนตี้วัน ซูเปอร์สปอร์ต ยูนิโคล่ สาขาแรกในประเทศไทย เพาเวอร์บาย บีทูเอส เอสบีดีไซน์สแควร์ อุทยานการเรียนรู้ จีเนียสพาร์ค เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ ขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มเซ็นทรัล และเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า อุทยานการเรียนรู้ ทีเคพาร์ค เป็นที่ตั้งของจีพอยต์ ศูนย์บริการประชาชนของรัฐบาล รวมถึงมีทางเชื่อมขึ้นสู่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ที่ชั้น 10
อีเด็นเป็นอาคารขนาดเล็กความสูง 3 ชั้น เป็นที่ตั้งของร้านค้าระดับกลาง-บน มีจุดเด่นคือเป็นอาคารโถงเพดานสูงโปร่ง และมีการติดตั้งโมบายพลาสติกใสที่เปิดให้มีแสงส่องจากธรรมชาติ ผู้ชมจะสังเกตได้เสมือนว่าตัวโมบายพลาสติกสามารถเปลี่ยนสีได้ และอาคารนี้ยังเป็นอาคารที่เชื่อมเข้ากับอาคารสำนักงานดิ ออฟฟิสเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ในตัวด้วย
ฟอรัมเป็นอาคารขนาดเล็กความสูง 3 ชั้น เป็นที่ตั้งของร้านค้าแนวฮิปชิค จุดเด่นคือเป็นอาคารที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดแฟชันโชว์ โดยมีราวขอบที่สามารถเปลี่ยนสีได้ตามโอกาส แต่ปัจจุบันอาคารดังกล่าวถูกลดพื้นที่ใช้สอยเหลือเพียงแค่ 2 ชั้น โดยชั้น 1 เป็นที่ตั้งของร้าน เอชแอนด์เอ็ม สาขาใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาคารนี้ยังเป็นที่ตั้งของเดอะสเปซ เดอะ ริงก์ ไอซ์สเก็ต และร้านไอสตูดิโอสาขาใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริหารงานโดยกลุ่มบริษัทคอปเปอร์ไวล์ด
กรูฟเป็นอาคารหลังล่าสุดความสูง 2 ชั้น จุดเด่นคือเป็นอาคารที่มีการต่อพื้นที่สองส่วนเข้าด้วยกัน คือพื้นที่แบบปิด (Indoor) และพื้นที่แบบเปิด (Outdoor) ซึ่งพื้นที่แบบปิด เป็นที่ตั้งของร้านค้าแนวฮิปชิค ส่วนใหญ่เป็นร้านจากศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซีที่มาเปิดทำการ และพื้นที่แบบเปิด เป็นที่ตั้งของร้านอาหารแนวฮิปชิค ผับ บาร์ อาคารนี้เป็นอาคารเดียวในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ที่เปิดทำการจนถึงเวลา 1.00 น. ของวันถัดไป เป็นอาคารส่วนหน้าสุดที่ติดจากสกายวอล์คไปยังรถไฟฟ้าบีทีเอสสองจุด เป็นต้นแบบของอาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ ถนนประดิษฐ์มนูธรรมที่เพิ่งเปิดทำการไปด้วย
โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ และ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นโรงแรมระดับห้าดาว ความสูง 55 ชั้น ประกอบด้วยห้องพัก จำนวน 505 ห้อง ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า ห้องอาหาร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตัวอาคารเป็นอาคารทรงกระบอกสองอันมาผสานต่อกัน และมีจุดเด่นคือมีพื้นที่ไขว้ออกมานอกอาคารสลับกันไปตามแต่ละความสูง และชั้นเพดานเปิดโล่งพร้อมติดตั้งสถาปัตยกรรมโค้งสูงนับเป็นยอดสูงสุดของอาคารหลังนี้
ดิ ออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นอาคารสำนักงานอัจฉริยะอาคารแรกในประเทศไทย ตัวอาคารมีความสูง 45 ชั้น มีระบบการจัดการการจราจรในแนวตั้งด้วยลิฟท์โดยสารความเร็วสูง และระบบคีย์การ์ดที่ลิฟท์ อาคารดังกล่าวเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของเซ็นทรัลพัฒนา ซึ่งได้ย้ายออกมาจากอาคารสำนักงานที่เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าวเดิม บริษัทในกลุ่มเซ็นทรัลบางบริษัท สำนักงานสาขาประเทศไทยของบริษัทข้ามชาติต่างๆ เช่น ซิสโก้ และหลักทรัพย์ เมย์แบงค์ กิมเอ็ง เป็นต้น
ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน เริ่มใช้พื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมือง จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าสลายการชุมนุม จนทำให้แกนนำต้องประกาศยุติการชุมนุม และเข้ารายงานตัวกับตำรวจ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุจลาจลขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร ลุกลามไปสู่ปริมณฑลและต่างจังหวัด โดยจุดหนึ่งที่มีการลอบวางเพลิง และเข้าทุบทำลายอาคารคือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ด้วยสาเหตุข้างต้น จึงส่งผลให้เซ็นทรัลเวิลด์เกิดเพลิงไหม้ที่ฝั่งห้างสรรพสินค้าเซน โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปควบคุมเพลิงได้เนื่องจากความไม่ปลอดภัยในพื้นที่และถูกขัดขวางจากกลุ่มผู้ชุมนุม หลังเหลิงไหม้ได้ลุกขึ้นนานเกินกว่า 10 ชั่วโมง โดยที่สปริงเกอร์ที่ติดตั้งไว้ในศูนย์การค้าไม่สามารถทำงานได้ และถูกขัดขวางจากกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่ปักหลักต่อต้านเจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาดับเพลิง เริ่มส่งผลให้ส่วนของห้างสรรพสินค้าเซนทรุดตัวลงจนด้านหน้า (บริเวณป้ายโลโก้เซ็นทรัลเวิลด์) ถล่มลงมา จนในเวลา 02.00 น. วันที่ 20 พฤษภาคม เจ้าหน้าจึงสามารถควบคุมเพลิงได้
หลังจากนั้นเซ็นทรัลพัฒนาได้เข้ามาสำรวจสภาพของศูนย์การค้าที่คงเหลืออยู่ในวันถัดมา พบว่าเพลิงไหม้ได้ทำลายตัวอาคารประมาณหนึ่งในสาม โดยส่วนของห้างสรรพสินค้าเซน ได้รับความเสียหายมากที่สุด ส่วนโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ อาคารสำนักงาน และอาคารอิเซตัน ไม่ได้รับความเสียหาย ต่อมา เซ็นทรัลพัฒนา แถลงข่าวชี้แจงว่า การซ่อมแซมจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์ ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 หลังจากนั้นไม่นานส่วนของห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ก็สามารถเปิดให้บริการตามปกติได้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ส่วนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ได้เปิดให้บริการบางส่วนในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553 โดยจะปรับภูมิทัศน์ใหม่ ให้เป็นสวนกลางใจเมือง เสริมเทคโนโลยี ที่สามารถเปลี่ยนสีสันของแต่ละโซน ได้ตามช่วงเวลาของวัน และเพิ่ม "เดอะริงก์" ลานสเก็ตน้ำแข็งในร่มขนาดใหญ่ บริเวณหน้าบีทูเอส[ต้องการอ้างอิง]
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้เซ็นทรัลพัฒนาต้องสูญเสียรายได้บางส่วน ซึ่งประกอบไปด้วยรายได้จากการเช่าพื้นที่ที่จำเป็นต้องละเว้นให้กับร้านค้าผู้เช่า เนื่องจากไม่สามารถเปิดทำการได้ตามปกติ รวมถึงรายได้สัมพัทธ์รายการอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัท ยังต้องบันทึกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมโครงการทั้งหมดเอง โดยระหว่างนั้นเซ็นทรัลพัฒนาได้แจ้งไปยังบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน เพื่อขอเบิกค่าสินไหมทดแทนกรณีที่อาคารถูกเพลิงไหม้ แต่เทเวศประกันภัยกลับแจ้งว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุก่อการร้ายจึงไม่ได้เข้าเงื่อนไขการเบิกสินไหมทดแทน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเซ็นทรัลพัฒนาก็ได้ดำเนินการฟ้องร้องเทเวศประกันภัยต่อศาลฎีการ่วมกับ กองทุนรวมธุรกิจไทยสี่ (ในฐานะโจกท์คนที่หนึ่ง) บริษัท เซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด (ในฐานะโจกท์คนที่สาม) และบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด (ในฐานะโจกท์คนที่สี่) ในเวลาต่อมา รวมถึงได้ยื่นฟ้องร้องเอาผิดกลุ่มคนเสื้อแดงในข้อหาบุกรุกและทำลายทรัพย์สินกับศาลอาญาด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ศาลได้มีคำสั่งตัดสินเกี่ยวกับสองคดีที่เซ็นทรัลพัฒนายื่นฟ้องร้องไป โดยคดีแรกที่ได้รับการตัดสินก็คือคดีการเบิกสินไหมทดแทน โดยศาลแพ่งตัดสินว่าให้เทเวศประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเซ็นทรัลพัฒนาเป็นจำนวนเงิน 2,719 ล้านบาทสำหรับค่าความเสียหายของทรัพย์สิน รวมถึงค่าชดเชยทดแทนกรณีเหตุธุรกิจหยุดชะงักอีก 989 ล้านบาท โดยให้จ่ายรวมดอกเบี้ยอีก 7.5% ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554 ไปจนกว่าจะชำระครบทั้งหมด พร้อมทั้งจ่ายค่าทนายและค่าดำเนินการทั้งหมดให้แก่เซ็นทรัลพัฒนาอีก 60,000 บาทด้วย ทำให้ผลประกอบการในปี พ.ศ. 2556 ของเซ็นทรัลพัฒนามีการบันทึกรายการเงินสดเข้ามาเพิ่มเติมถึง 3,000 ล้านบาท จากเหตุนี้
ส่วนคดีความที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษที่ 4 ได้ยื่นฟ้องกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ศาลอาญาได้ตัดสินว่าจำเลยทั้งสองนั้นไม่มีความผิดเพราะศาลเห็นว่าในหลักฐานจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลที่ถือถังดับเพลิง ไม่ใช่อุปกรณ์วางเพลิง ถึงแม้ว่าจากหลักฐานจะมีภาพถ่ายของยามรักษาความปลอดภัยของศูนย์การค้าที่สามารถจับภาพของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บุกทำลายเข้ามาเข้ามาพร้อมโยนขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่บรรจุน้ำมันก๊าซพร้อมจุดไฟเอาไว้ได้ จากเหตุนี้ทำให้นายกิตติพงษ์ สมสุข โดนไฟคลอกจนถึงแก่ความตาย แต่ศาลวินิจฉัยว่าพยานที่เห็นเหตุการณ์นั้น อยู่ไกลจากตัวจำเลยที่ 1 ไปเกินกว่า 30 เมตร ศาลจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดไป แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีการเปิดเผยคลิปหลักฐานที่สามารถชี้ตัวได้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเป็นฝ่ายบุกทำลายอาคารและลอบวางเพลิงสู่สาธารณะ และคนเปิดเผยคลิปจะนำคลิปนี้ไปให้กับทางเซ็นทรัลพัฒนาเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลต่อไป
ในระหว่างการซ่อมแซมห้างสรรพสินค้า ZEN นั้น ได้เกิดเหตุนั่งร้านที่ใช้ค้ำยันเพดานชั้น 7 ได้เกิดทรุดตัวลงและถล่มลงมา ส่งผลให้คนงานเสียชีวิต 2 คน และ ได้รับบาดเจ็บ 6 คน และยังมีถังแก๊สที่ใช้ในการเชื่อมเหล็กได้ถูกแผ่นปูนตกลงมาใส่ ได้เกิดความเสียหายและมีแก๊สรั่วออกมา จึงทำให้ต้องรีบตัดกระแสไฟฟ้า ก่อนใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเพื่อให้แก๊สเจือจาง สาเหตุนั้นเกิดจากบริเวณระหว่างนั่งร้านชั้น 1 กับชั้น 2 ซึ่งใช้เป็นที่พักของอิฐก่อสร้าง รวมถึงนั่งร้านได้ถูกใช้งานเป็นที่ขนแผ่นพื้นคอนกรีต จึงไม่สามารถแบกรับน้ำหนักเอาไว้ได้ส่งผลให้นั่งร้านพังถล่มลงมาจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บดังกล่าว จากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้การซ่อมแซมห้างสรรพสินค้า ZEN ต้องระงับการซ่อมแซมไปเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการออกแบบของแบบแปลนนั่งร้าน
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้า ZEN ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จุดเกิดเหตุอยู่บนชั้น 11 ของอาคาร ZEN World โดยมีกลุ่มควันโพยพุ่งออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เจ้าหน้าดับเพลิงใช้เวลาเพียง 15 นาทีจึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ โดยตัวอาคารได้รับความเสียหายที่ส่วนฝ้าเพดานและช่องแอร์ ได้ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายกินพื้นที่ประมาณ 15 ตารางเมตร ในเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้นั้นคาดว่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ในขณะที่เกิดเหตุการณ์นั้นศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ยังคงเปิดให้บริการตามปกติอยู่ ซึ่งเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งนี้ไม่ได้กระทบกับผู้ที่ใช้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กลุ่ม กปปส. ได้เริ่มปักหลักชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพมหานครชั้นในกว่า 9 จุด เพื่อเป็นการขัดขวางไม่ให้ข้าราชการ และตำรวจสามารถเดินทางไปทำงานได้ตามปกติ โดยจุดหนึ่งที่มีการตั้งเวทีใหญ่ก็คือบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งหลังจากที่เริ่มมีการตั้งเวทีการชุมนุม เซ็นทรัลพัฒนาก็ได้ส่งจดหมายด่วนถึงร้านค้าเช่าว่าจะขอปิดศูนย์การค้าเร็วกว่าปกติ ก็คือเวลา 10.00-18.00 น. โดยใช้เวลานี้เท่ากันทั้งอาคารศูนย์การค้าหลักและอาคารกรูฟ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ในช่วงอาทิตย์แรกของการชุมนุม แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเวลาเปิด-ปิดศูนย์การค้าเป็น 10.00 - 20.00/21.00 น. ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในแต่ละวัน ก่อนที่จะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติในช่วงอาทิตย์ที่สามของการชุมนุม แต่ภายหลังที่เกิดเหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม เซ็นทรัลพัฒนาก็ใช้เวลาในการเปิดปิดศูนย์การค้าเป็นเวลา 10.00-19.00 น. อีกครั้ง และจะประเมินสถานการณ์รายวันต่อไป
จากเหตุการณ์นี้ทำให้เซ็นทรัลเวิลด์ต้องปิดกั้นพื้นที่บริเวณศูนย์การค้าบางส่วนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รวมถึงปิดตายบริเวณทางเข้าอาคารกรูฟ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ฝั่งถนนพระราม 1 และฝั่งโซนอีเดน และไม่อนุญาตให้รถยนต์ผ่านเข้า-ออกบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งรถที่จะเข้า-ออกศูนย์การค้า จะต้องใช้ทางเลี่ยงด้านหลังสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์/สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอนในการเดินทางเข้ามาแทน แต่ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมก็มีการเปิดเส้นทางให้รถยนต์สามารถเข้า-ออกศูนย์การค้าได้จากฝั่งถนนราชดำริตามปกติ อีกทั้งเหตุการณ์นี้ทำให้การตกแต่งภายในของอาคารกรูฟ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงการก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซีต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากลำเลียงวัสดุก่อสร้างเข้ามาไม่ได้อีกด้วย แต่พอกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เซ็นทรัลเวิลด์ก็กลับมาเปิดให้บริการตามปกติอีกครั้งตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น. สำหรับอาคารศูนย์การค้า และเวลา 10.00-01.00 น. สำหรับอาคารกรูฟ
ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้เซ็นทรัลพัฒนาต้องปรับลดค่าเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าอีกครั้ง นับเป็นการปรับลดราคาเช่าพื้นที่เป็นครั้งที่สองหลังจากไม่ได้ปรับลดอีกตั้งแต่เหตุชุมนุม พ.ศ. 2553 และทำให้เซ็นทรัลพัฒนาต้องสูญเสียรายได้ไปกว่าร้อยล้านบาทภายในระยะเวลา 2 เดือนที่กลุ่ม กปปส. ใช้พื้นที่บริเวณศูนย์การค้าเป็นที่ชุมนุม