เซอร์เบียและมอนเตเนโกร (อังกฤษ: Serbia and Montenegro, SCG) เป็นชื่อของอดีตสหพันธรัฐซึ่งเป็นการรวมอย่างหลวม ๆ ของเซอร์เบียและมอนเตเนโกร อดีตสาธารณรัฐของยูโกสลาเวีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 จนถึง พ.ศ. 2549 ตั้งอยู่บนคาบสมุทรบอลข่านตอนตะวันตกกลาง ซึ่งแต่เดิมมีชื่อประเทศว่า สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย ต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อประเทศในปี2003 ในชื่อ สหภาพรัฐเซอร์เบียและมอนเตเนโกร
เซอร์เบียและมอนเตเนโกรมีความร่วมมือกันเฉพาะบางด้านในการเมือง (เช่น ผ่านสหพันธ์การป้องกันประเทศ) ทั้ง 2 รัฐมีนโยบายเศรษฐกิจและหน่วยเงินของตนเอง และประเทศไม่มีเมืองหลวงรวมอีกต่อไป โดยที่แบ่งแยกสถาบันที่ใช้ร่วมกันระหว่างเมืองเบลเกรดในเซอร์เบียและเมืองพอดกอรีตซาในมอนเตเนโกร ทั้งสองรัฐแยกออกจากกันหลังจากมอนเตเนโกรจัดให้มีการลงประชามติเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 และประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ปีเดียวกัน ทำให้เกิดประเทศใหม่คือประเทศมอนเตเนโกร ส่วนประเทศเซอร์เบียก็กลายเป็นผู้สืบสิทธิ์ต่าง ๆ ของประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกร
ความแตกแยกของยูโกสลาเวียในปัจจุบันมีที่มาเป็นปัจจัยพื้นฐานหลายประการ ที่สำคัญประการหนึ่งคือปัจจัยทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสั่งสมมานานกว่าพันปีจากการที่สาธารณรัฐต่าง ๆ ซึ่งมาร่วมกันเป็นสหพันธ์ฯ มีเชื้อชาติ ศาสนา ความเป็นมาทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์แตกต่างกัน ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติจึงเป็นปัญหาที่คุกรุ่นมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างชาวโครแอต ชาวเซิร์บ และชาวมุสลิม ในอดีตสโลวีเนียและโครเอเชียเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Hapsburg Empire) มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ จึงมีความเกี่ยวพันทางสังคม วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และจิตใจกับยุโรปตะวันตก ในขณะที่รัฐทั้งหลายทางตอนใต้ คือ เซอร์เบีย มอนเตเนโกร บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และมาซิโดเนีย เคยอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) และจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman) มานับพันปี จึงได้รับการหล่อหลอมวัฒนธรรมแบบบอลข่าน คือ แบบมุสลิมหรือคริสเตียนตะวันออก (Orthodox) ถึงแม้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงด้วยการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และมีการก่อตั้ง "ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน" (Kingdom of Serbs, Croates and Slovenes) เป็นประเทศเอกราช โดยมีกษัตริย์ปกครอง แต่เสถียรภาพทางการเมืองภายในยังคงคลอนแคลน เพราะรัฐต่าง ๆ ซึ่งมีความแตกต่างด้านเชื้อชาติและศาสนา ยังคงมีความขัดแย้งกันลึก ๆ ในปี 1929 กษัตริย์อาเลกซานดาร์ได้ทรงเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย" (Kingdom of Yugoslavia) และปกครองประเทศด้วยนโยบายเด็ดขาดโดยความร่วมมือของทหารตลอดมา จนได้รับขนานนามว่าเป็น “Royal Dictatorship” เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง ประธานาธิบดียอซีป ตีโต สามารถยึดเหนี่ยวรัฐต่าง ๆ ของยูโกสลาเวียให้รวมกันอยู่ต่อไป ทั้งนี้ โดยใช้นโยบายอันเด็ดขาดกอปรกับอัจฉริยภาพของประธานาธิบดีตีโตเอง จนกระทั่งเมื่อประธานาธิบดีตีโตถึงแก่กรรมเมื่อปี 1980 ความแตกแยกระหว่างรัฐทั้งหลายที่ประกอบขึ้นเป็นสหพันธรัฐยูโกสลาเวียก็เริ่มปรากฏขึ้น และเมื่อนายสโลโบดัน มิโลเชวิช ผู้นำเชื้อสายเซิร์บ ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยม ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 1989 ความขัดแย้งภายในจึงได้ทวีความรุนแรงจนเกิดวิกฤตการณ์ยูโกสลาเวียเดิมประกอบด้วย 6 สาธารณรัฐ กล่าวคือ สาธารณรัฐสโลวีเนีย โครเอเชีย เซอร์เบีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกร และมาซิโดเนีย รวมทั้งจังหวัดปกครองตนเองคอซอวอและวอยวอดีนา ซึ่งเป็นมณฑลปกครองตนเอง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1991 สาธารณรัฐสโลวีเนียและโครเอเชียได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช ไม่อยู่ภายใต้การปกครองของยูโกสลาเวียอีกต่อไป ภายหลังจากการออกเสียงประชามติทั่วประเทศในสาธารณรัฐทั้งสอง การประกาศเป็นเอกราชดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการณ์ยูโกสลาเวีย ซึ่งได้ขยายตัวเป็นสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา เมื่อสาธารณรัฐมาซิโดเนียและบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ได้ประกาศยกตัวออกเป็นรัฐเอกราชเช่นเดียวกัน เมื่อเดือนกันยายนและตุลาคม 1991 ตามลำดับ
คอซอวอเป็นจังหวัดปกครองตนเองแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของสาธารณรัฐเซอร์เบีย ประกอบด้วยชาวแอลเบเนียร้อยละ 90 จากประชากรจำนวน 2 ล้านคน ในปี 1998 เคยเกิดการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังชาวคอซอวอเชื้อสายแอลเบเนียกับกองทัพของเซอร์เบียเมื่อเซอร์เบียประกาศยกเลิกสถานะการปกครองตนเองของคอซอวอ การสู้รบขยายตัวไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวแอลเบเนียอย่างโหดเหี้ยม ส่งผลให้เกิดผู้ลี้ภัยชาวแอลเบเนียในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก
การสู้รบดังกล่าว ยุติลงเมื่อ NATO ใช้ปฏิบัติการทางทหารกับเซอร์เบีย ในปี 1999 ซึ่งต่อมา NATO ได้ส่งกองกำลังคอซอวอ (Kosovo Force, KFOR) เข้าไปปฏิบัติการรักษาสันติภาพในคอซอวอ และสหประชาชาติได้จัดตั้งองค์กรบริหารชั่วคราวขึ้นในคอซอวอ (UNMIK) อย่างไรก็ดี กล่าวได้ว่า สถานการณ์ในคอซอวอหลังปี 1999 ยังไม่สงบนัก เนื่องจากมีการปะทะกันระหว่างชาวคอซอวอเชื้อสายแอลเบเนียกับเชื้อสายเซิร์บอยู่เป็นประจำ ก่อให้เกิดความตึงเครียดเป็นระยะ ๆ
เมื่อวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2006 ได้มีการเจรจาแบบเผชิญหน้าครั้งแรกระหว่างฝ่ายเซิร์บกับฝ่ายแอลเบเนียในคอซอวอที่กรุงเวียนนา เพื่อกำหนดสถานะในอนาคตของคอซอวอ โดยเป็นการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับกลางของทั้งสองฝ่าย และมีเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นผู้ประสานการเจรจา โดยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2006 ได้มีการเจรจาระดับสูงระหว่างประธานาธิบดีเซอร์เบียและนายกรัฐมนตรีคอซอวอขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1999 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องสถานะทางการเมืองที่ถาวรของคอซอวอ ฝ่ายเซิร์บยืนกรานให้คอซอวอเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบีย โดยยินยอมให้อิสระในระดับหนึ่ง ขณะที่ฝ่ายแอลเบเนียต้องการอิสรภาพ สำหรับการเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 7-8 สิงหาคม ที่ผ่านมายังไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดยฝ่ายเซิร์บได้คว่ำบาตรการเจรจาในหัวข้อที่เกี่ยวกับอนาคตของคอซอวอ
มอนเตเนโกรลงประชามติแยกตัวออกจากประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกรเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2006 มอนเตเนโกรได้จัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวออกจากประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกร โดยมีผู้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้รัฐมอนเตเนโกรแยกตัวออกจากประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกร ร้อยละ 55.4 ซึ่งเกินเกณฑ์ขั้นต่ำ (ร้อยละ 55) ที่สหภาพยุโรปกำหนดที่จะให้การรับรอง โดยมีจำนวนผู้ที่มาใช้สิทธิมากถึง ร้อยละ 86.3 จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด 485,000 คน ซึ่งผลการลงประชามติในครั้งนี้ จะทำให้มอนเตเนโกรกลายเป็นประเทศเกิดใหม่ล่าสุดของโลก และมีแนวโน้มที่มอนเตเนโกรจะได้รับโอกาสในการพัฒนาประเทศและเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม เซอร์เบียจะเป็นรัฐสืบสิทธิเพียงผู้เดียว สำหรับมอนเตเนโกรนั้น เมื่อแยกตัวออกมาเป็นประเทศเอกราชจะต้องขอรับการรับรองจากนานาประเทศ และสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ อีกครั้งหนึ่ง
ประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกรปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยประธานาธิบดีเป็นประมุขมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ได้รับเลือกตั้งจากสภาสำหรับจังหวัดปกครองตนเองคอซอวออยู่ภายใต้การบริหารของสหประชาชาติ
ในพื้นที่ดินแดนทั้ง 3 แห่งข้างต้น จะแบ่งออกเป็น เขต (districts) รวม 29 เขต และแต่ละเขตแบ่งย่อยลงไปอีกเป็น เทศบาล (municipalities)
สโลวีเนีย, โครเอเชีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา วอยวอดีนา และอ่าวโคตาร์เป็นส่วนหนึ่งของ ออสเตรีย–ฮังการี
(ถึง ค.ศ. 1918)ดู รัฐแห่งชาวสโลวีน โครแอต และเซิร์บ และบานัต บัชกา และบารันยาเสรีรัฐฟีอูเม
(รีเยกา)
(ค.ศ. 1920–1924)ถูกผนวกเข้ากับอิตาลีในปี ค.ศ. 1924, เป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวียในปี ค.ศ. 1947
นาซีเยอรมนี ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสโลวีเนีย(ค.ศ. 1941–1945)ฟาสซิสต์อิตาลี ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสโลวีเนีย โครเอเชีย และมอนเตเนโกร(ค.ศ. 1941–1943)
บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา(ตั้งแต่ ค.ศ. 1992)ประกอบด้วย สหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และ สาธารณรัฐเซิร์บ ตั้งแต่ ค.ศ. 1995 และ เขตเบิร์ชโก ตั้งแต่ ค.ศ. 2000
เซอร์เบีย(ค.ศ. 2006–2008) *คอซอวอ เป็นจังหวัดปกครองตนเองของเซอร์เบียภายใต้การบริหารของสหประชาชาติ
แอลเบเนีย ผนวกส่วนใหญ่ของคอซอวอ ทางตะวันตกของมาซิโดเนีย และทางตะวันออกเฉียงใต้ของมอนเตเนโกร(ค.ศ. 1941–1944)