จังหวัดเชียงราย (คำเมือง: ;พม่า: ) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นที่ตั้งของเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคก่อตั้งอาณาจักรล้านนา เช่น เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองเชียงของ เมืองเธริง หรือ เมืองเทิง เชียงรายเดิมก่อน"ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่" สมัยพระเจ้ากาวิละ ชนชาติที่เป็นต้นกำเนิดของคนเชียงรายดั้งเดิม (อาจรวมถึงคนในภาคเหนือทั้งหมด) ก่อนมีแคว้นโยนกซึ่งเป็นรัฐของชาวไทยวน หรือที่เรียกว่าคนเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะได หรือ ตระกูลภาษาไท-กะได ก็คือชนชาติจีนแถบมณฑลยูนนาน ที่อพยพลงมาตั้งรกรากนั่นเอง ได้แตกเป็นกลุ่มหลายกลุ่มชนเผ่า จึงไม่แปลกที่คนเมืองจะมีพื้นฐานรากเหง้าเป็นคนจีนยูนนาน ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายแบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ มีแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และแม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสายสำคัญ ทำเลที่ตั้งของจังหวัดเชียงรายอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศพม่า หรือรู้จักกันในนามของดินแดนสามเหลี่ยมทองคำที่เป็นแหล่งผลิตฝิ่นที่สำคัญของโลก ปัจจุบัน จังหวัดเชียงรายได้รับความสนใจในฐานะประตูสู่พม่า ลาว และจีนตอนใต้ ผ่านทางหลวงเอเชียสาย 2 และทางหลวงเอเชียสาย 3
จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาแต่โบราณกาลประมาณ 750 ปีที่ผ่านมา มีอายุเก่าแก่กว่าจังหวัดเชียงใหม่ไปโดยประมาณ 50 กว่าปี มี"คำเมือง" เป็นภาษาท้องถิ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งด้านศิลปะ ประเพณีวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในรูปแบบล้านนา ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทเขิน จากสิบสอบปันนาผสมผสาน เข้าด้วยกัน และมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอนาคต จังหวัดเชียงราย กำลังพิจารณาวางแผนโครงการวางผังเมืองเป็นนครสร้างสรรค์ และ ถ้าเป็นไปได้ จังหวัดเชียงรายอาจจะกำลังพิจารณาสมัครเข้าเป็นนครสร้างสรรค์ของยูเนสโก รองถัดมาจากจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง ด้วยเช่นกัน
จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ตอนเหนือสุดของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 19 องศาเหนือ ถึง 20 องศา 30 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 15 ลิปดา ถึง 100 องศา 45 ลิปดาตะวันออก
จังหวัดเชียงราย มีชายแดนติดกับประเทศพม่ายาวประมาณ 130 กิโลเมตร และมีชายแดนติดต่อกับประเทศลาวประมาณ 180 กิโลเมตร
พงศาวดารโยนกว่า พญามังรายสร้างขึ้น ณ ที่ซึ่งเดิมเป็นเวียงไชยนารายณ์ เมื่อ พ.ศ. 1805 และครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองเชียงรายจนถึง พ.ศ. 1839 จึงไปสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นในท้องที่ระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิง และครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่จนถึง พ.ศ. 1860 ส่วนตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า พญามังรายทรงเสด็จตามช้างมาทางทิศตะวันออกแล้วเห็นชัยภูมิเหมาะแก่การสร้างเมืองริมฝั่งแม่น้ำกก จึงสร้างเป็นเวียงล้อมรอบดอยจอมทองไว้ในปี พ.ศ. 1805
สำหรับเมืองเชียงรายนั้น เมื่อพญามังรายย้ายไปครองราชสมบัติที่เมืองเชียงใหม่แล้ว พระราชโอรสคือ ขุนคราม หรืออีกชื่อหนึ่งว่าพญาไชยสงคราม ก็ได้ครองราชสมบัติสืบต่อมา นับแต่นั้นเมืองเชียงรายก็ขึ้นต่อเมืองเชียงใหม่
ครั้นต่อมาเมื่อล้านนาตกไปอยู่ในปกครองของพม่า ในปี พ.ศ. 2101 พม่าได้ตั้งขุนนางปกครองเมืองเชียงรายเรื่อยมา หลังจากนั้น พ.ศ. 2317 เจ้ากาวิละแห่งลำปางได้สวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ ทำให้หัวเมืองล้านนาฝ่ายใต้ตกเป็นประเทศราชของสยาม ขณะที่เชียงรายและหัวเมืองล้านนาฝ่านเหนืออื่น ๆ ยังคงอยู่ใต้อำนาจพม่า ล้านนากลายเป็นพื้นที่แย่งชิงอำนาจระหว่างสยามกับพม่า ในช่วงเวลาดังกล่าวเมืองเชียงรายเริ่มร้างผู้คน ประชาชนอพยพหนีภัยสงครามไปอยู่เมืองอื่น บ้างก็ถูกกวาดต้อนลงไปทางใต้ พ.ศ. 2247 เมืองเชียงแสนฐานที่มั่นสุดท้ายของพม่า ถูกกองทัพเชียงใหม่ ลำปาง และน่าน ตีแตก เมืองเชียงรายจึงกลายสภาพเป็นเมืองร้างตามเมืองเชียงแสน
ในปี พ.ศ. 2386 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้าหลวงเชียงใหม่ฟื้นฟูเชียงรายขึ้นใหม่ ภายหลังเมืองเชียงรายได้เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลพายัพ กระทั่งปี พ.ศ. 2453 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีประกาศกระทรวงมหาดไทย ยกฐานะเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวามณฑลพายัพ ในปี พ.ศ. 2453 เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ ตั้งเป็นเมืองจัตวาเรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ และจัดแบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเมืองเชียงแสน อำเภอเมืองฝาง อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอเมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ เหมือนอย่างหัวเมืองชั้นในที่ขึ้นกับกรุงเทพมหานครทั้งปวง ภายหลังเมืองเชียงรายได้เปลี่ยนเป็นจังหวัดเชียงราย
ตั้งแต่มีการตั้งจังหวัดเชียงราย อาณาเขตของจังหวัดเชียงรายมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ โดยมีการโอนพื้นที่บางส่วน ไปขึ้นกับจังหวัดข้างเคียง และโอนพื้นที่จังหวัดข้างเคียง เข้ามารวมกับจังหวัดเชียงราย รวมถึงการแบ่งพื้นที่บางส่วน ตั้งเป็นจังหวัดใหม่ ดังนี้
การโอนอำเภอเมืองฝาง ไปขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่ มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง โอนอำเภอเมืองฝาง จังหวัดเชียงรายไปขึ้นจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2468 เนื่องจากความลำบากในการเดินทางติดต่อราชการ ปัจจุบันคือ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
การโอนหมู่ 7 ตำบลป่าตึง อำเภอเชียงแสน ไปขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่ พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด พุทธศักราช 2479 ได้มีการโอนพื้นที่เหนือลำน้ำแม่งามในเขตตำบลป่าตึง อำเภอเชียงแสนในขณะนั้น (อำเภอแม่จันในปัจจุบัน)ไปขึ้นตำบลแม่อาย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันอยู่ในเขต ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
การโอนอำเภอปง จังหวัดน่าน มาขึ้นกับจังหวัดเชียงราย ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ พ.ศ. 2495 ได้มีการโอนอำเภอปง จังหวัดน่าน ยกเว้น ตำบลสวด (อำเภอบ้านหลวง ในปัจจุบัน) มาขึ้นกับจังหวัดเชียงราย (สีเขียว) และโอนตำบลสะเอียบ (สีส้ม) อำเภอปง ไปขึ้นกับอำเภอสอง จังหวัดแพร่
การโอนหมู่บ้านหมู่ที่ 10 ตำบลควน อำเภอปง จังหวัดเชียงราย ไปขึ้นตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน และโอนตำบลยอด อำเภอปง จังหวัดเชียงราย ไปขึ้นอำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 137 ซึ่งมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติซึ่งออกตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 กำหนดให้เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน โดยโอนหมู่บ้านหมู่ที่ 10 ตำบลควน อำเภอปง จังหวัดเชียงราย ไปขึ้นตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน และโอนตำบลยอด อำเภอปง จังหวัดเชียงราย ไปขึ้นอำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน
การแบ่งพื้นที่บางส่วนตั้งเป็นจังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2520 ได้แบ่งแยกพื้นที่บางส่วนทางตอนใต้ของจังหวัดจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา
จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ 11,678.369 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,290,000 ไร่ มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงในทวีปตอนเหนือ (North Continental Highland) มีพื้นที่ราบสูงเป็นหย่อม ๆ ในเขตอำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอเชียงของ บริเวณเทือกเขาจะมีความสูงประมาณ 1,500-2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยมีดอยลังกาหลวง เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัด มีความสูง 2,031 เมตรบริเวณส่วนที่ราบตามลุ่มแม่น้ำสำคัญในตอนกลางของพื้นที่ ได้แก่ อำเภอพาน อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ มีความสูงประมาณ 410-580 เมตร จากระดับน้ำทะเล ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีป่าไม้ปกคลุม บริเวณเทือกเขามีชั้นความสูง 1,500-2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีที่ราบเป็นหย่อม ๆ ในระหว่างหุบเขา และตามลุ่มน้ำสำคัญ จังหวัดเชียงรายมีภูเขาล้อมรอบโดยเฉพาะทางทิศตะวันตกเป็นแนวเทือกเขาผีปันน้ำ ติดต่อกันไปเป็นพืดตลอดเขตจังหวัด
จังหวัดเชียงรายมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 24 องศาเซลเซียส ฤดูร้อน เริ่มจากกลางเดือน(กุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม) มีอุณหภูมิเฉลียประมาณ 32 องศาเซลเซียส ฤดูฝน เริ่มจากกลางเดือน(พฤษภาคม-กลางเดือนตุลาคม) มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 27 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 1,768 มิลลิเมตร มากที่สุดในปี 2544 จำนวน 2,287.60 มิลลิเมตรน้อยที่สุดในปี 2546 จำนวน 1,404.10 มิลลิเมตร จำนวนวันที่มีฝนตกเฉลี่ย 143 วันต่อปี ฤดูหนาว (พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์) จังหวัดเชียงรายมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 15.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 0.9 - 1.0 องศาเซลเซียส 2542 สภาพอากาศของจังหวัดเชียงราย ถือว่าหนาวจัดในพื้นที่ราบ อุณหภูมิจะอยู่ที่ 7-9 องศาเซลเซียส ส่วนบนยอดดอย อุณหภูมิต่ำสุดจะอยู่ที่ 0-5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิ -1.5 องศาที่ภูชี้ฟ้า ปลายปี 2556 จึงทำให้อากาศที่เชียงรายในช่วงฤดูหนาว เป็นพื้นที่ๆ นักท่องเที่ยวอยากมาเป็นอย่างยิ่ง
การปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็นระดับอำเภอ จำนวน 18 อำเภอ ระดับตำบล จำนวน 124 ตำบล และระดับหมู่บ้าน จำนวน 1,751 หมู่บ้าน ได้แก่
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มี 1 เทศบาลนคร 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลจำแนกตามอำเภอ ดังนี้
จังหวัดเชียงรายมีประชากรหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยภูเขา และชาวจีนฮ่อที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บนดอยสูง แต่ละชนชาติจะมีประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ เป็นเสน่ห์ห์อีกอย่างที่ทำให้เชียงรายได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
บุลคลหลายสัญชาติที่อพยพมาจากพม่าเข้าอยู่ในประเทศไทยก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2519 การออกนอกเขตจังหวัดที่อยู่อาศัยต้องขออนุญาตจากปลัดกระทรวงมหาดไทย
คนลาวที่อาศัยอยู่กับญาติพี่น้องตามแนวชายแดนของประเทศไทย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของลาวในปี พ.ศ. 2517 ขณะนี้ทางการของไทยยังไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกเขตจังหวัดที่อยู่อาศัย
ชนกลุ่มน้อยซึ่งสืบเชื้อสายจีน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นอดีตทหารพรรคก๊กมินตั๋ง ได้มาตั้งรกรากในพื้นที่ ที่มีความโดดเด่นได้แก่ หมู่บ้านสันติคีรี
พื้นที่จังหวัดเชียงรายมีทั้งสิ้น 11.678.369 ตารางกิโลเมตร หรือ 7,298,981 ไร่ ในปี 2542 มีพื้นที่ป่าไม้จำนวน 2,365,967 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 32.42 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ป่าไม้แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
จังหวัดเชียงราย มีวนอุทยาน (Forest Park) ซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติที่รัฐจัดไว้ ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด จำนวน 27 แห่ง ดังนี้
ประเพณีอัญเชิญพระพุทธรูปแวดเวียงเชียงราย ซึ่งมีพื้นฐานความคิดมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ด้วยมีจุดมุ่งหมาย ให้ประชาชนได้มีโอกาสสักการบูชาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในตัวเมืองเชียงราย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในวาระของการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ โดยอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงราย มาประดิษฐานบนบุษบกที่ได้สร้างขึ้นโดยช่างศิลปินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงราย จัดตั้งเป็นขบวนอัญเชิญไปรอบเมืองเชียงราย ให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสกราบไหว้สักการบูชาด้วย ข้าวตอก ดอกไม้ เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่เป็นสิริมงคลยิ่งนัก
งานบุญปอยหลวงเป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนาซึ่งเป็นผลดีต่อสภาพทางสังคมหลายประการ นับตั้งแต่ชาวบ้านได้มาทำบุญร่วมกัน ร่วมกันจัดงานทำให้เกิดความสามัคคีทำงาน งานทำบุญปอยหลวงยังเป็นการรวมญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน และมีการสืบทอดประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาครั้งแต่บรรพชนไม่ให้สูญหายไปจากสังคม ช่วงเวลา จากเดือน 5 จนถึงเดือน 7 เหนือ (ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน
จัดขึ้นประมาณกลางเดือนเมษายน ในงานมีขบวนแห่และสรงน้ำพระเจ้าล้านทอง การแข่งเรือ และการละเล่นพื้นเมืองและมหรสพ จัดบริเวณตัวเมืองเชียงราย และอำเภอเชียงแสน
เทศกาลที่ชาวเกษตรกรต่างนำผลผลิตทางการเกษตรของตนมาออกร้าน โดยเฉพาะลิ้นจี่ที่มีชื่อเสียงมากของเชียงราย จัดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี ภายในงานมีการประกวดขบวนรถและธิดาลิ้นจี่ และการออกร้าน บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย
จัดให้มีพิธีบวงสรวงพญามังราย มีการออกร้าน จัดนิทรรศการของส่วนราชการและเอกชน และงานรื่นเริงอื่น ๆ จัดวันที่ 23 มกราคม-1 กุมภาพันธ์
“เป็งปุ๊ด” หรือ “เพ็ญพุธ” เป็นประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนค่อนรุ่งเข้าสู่วันเพ็ญขึ้น15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ตามวัฒนธรรมและความเชื่อของบรรพบุรุษล้านนาไทย ที่เชื่อกันว่าพระอุปคุตซึ่งพระอรหันต์องค์หนึ่งแปลงกันยายนป็นสามเณรน้อยมาบิณฑบาตโปรดสัตว์โลกในยามเที่ยงคืน และชาวล้านนาในอดีตเชื่อว่าการทำบุญตักบาตรถวายพระอุปคุตในวันเป็งปุ๊ดก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญ มีโชคลาภและร่ำรวย บังเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยบรรพบุรุษชาวล้านนาเชื่อว่า ทุกคืนที่ย่างเข้าสู่วันพุธขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันเป็งปุ๊ด และจะมีประชาชนชาวล้านนาจำนวนมากมารอเพื่อประกอบพิธีทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณร
จัดในเดือนเมษายน มีการจัดนิทรรศการและการแสดงแบบไทยล้านนา มีการสาธิตงานศิลปะ บริเวณหอวัฒนธรรมนิทัศน์ อำเภอเมือง
จัดขึ้นในวันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือนหกเหนือ หรือเดือนมีนาคม เป็นประเพณีของชาว ล้านนา รวมทั้งชาวไทยใหญ่ในพม่าที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยชาวบ้านและพระสงฆ์ จะเดินขึ้นพระธาตุในตอนกลางคืน เมื่อมาถึงก็จะพากันนมัสการองค์พระธาตุก่อน จากนั้นจึงหาพื้นที่ประกอบอาหารเพื่อตักบาตรในตอนเช้า หลังจากตักบาตรแล้วจะ ช่วยกันบูรณะบริเวณองค์พระธาตุ เมื่อถึงยามค่ำคืนก็มารวมกันที่ปะรำพิธีเพื่อฟังเทศน
เป็นประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อของผู้คนที่อยู่ริมแม่น้ำโขง โดยเฉพาะชาวประมง ในเขตบ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ เกี่ยวกับปลาบึกซึ่งเป็นปลาขนาด ใหญ่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงว่า เป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ มีเทพเจ้าคุ้มครอง ก่อนที่ชาวประมง จะจับปลาบึกต้องมีการบวงสรวงก่อน ฤดูกาลจับปลาบึกันยายน่ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม
หรือที่เรียกตนเองว่า "อาข่า" มีเชื้อสายจากจีน-ทิเบต เดินทางอพยพมาอยู่บริเวณ ชายแดนไทย-พม่า แถบตอนเหนือของลำน้ำกก โดยเฉพาะอำเภอแม่จัน และแม่สาย การโล้ชิงช้าเป็นการขึ้นไปขอพรและแสดงความรำลึกถึงพระคุณของเทพธิดาแห่ง สรวงสวรรค์ ผู้ประทานความชุ่มชื่นอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหารและ ยังเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกด้วย จัดในช่วงเดือนสิงหาคม
อำเภอแม่จัน เดิมชื่อว่าอำเภอเชียงแสน มีพื้นที่อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงราย (พื้นที่สีเขียวในแผนที่ ในรูป 2) ต่อมาถูกแบ่งพื้นที่บางส่วนเพื่อตั้งเป็นกิ่งอำเภอและอำเภอต่างๆ ได้แก่ อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอดอยหลวง ตามลำดับ
อำเภอเมืองเชียงรายเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการของจังหวัดเดิมมีพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กกส่วนใหญ่ (พื้นที่สีส้มในแผนที่ ในรูป 2) ต่อมาแยกเป็น อำเภอเวียงชัย และอำเภอแม่ลาว และต่อมาอำเภอเวียงชัยได้แยกพื้นที่บางส่วนเพื่อตั้งเป็นอำเภอเวียงเชียงรุ้งตามลำดับ
อำเภอพาน ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดเขียงราย (พื้นที่สีฟ้าในแผนที่ ในรูป 2) ต่อมาได้แยกพื้นที่ตำบลป่าแดดเพื่อตั้งเป็นกิ่งอำเภอป่าแดด (หมายเลข 4 ในรูป 2)ในปี พ.ศ. 2512 และยกฐานะเป็นอำเภอป่าแดดในปี พ.ศ. 2518
อำเภอเชียงของ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงราย (พื้นที่สีม่วงอ่อนในแผนที่ ในรูป 2) ต่อมาได้แยกตำบลปอ ตำบลหล่ายงาว และตำบลม่วงยายเพื่อตั้งเป็นกิ่งอำเภอเวียงแก่น(หมายเลข 6) ในปี พ.ศ. 2530 และยกฐานะเป็นอำเภอเวียงแก่นในปี พ.ศ. 2538
อำเภอเทิงเป็นอำเภอที่มีพื้นที่กว้างขวางตั้งอยู่ทิศตะวัตออกเฉียงใต้ของตัวจังหวัด (สีแดง ในรูป 2) ต่อมาได้แบ่งพื้นที่บางส่วนตั้งเป็นอำเภอพญาเม็งราย และอำเภอขุนตาล ตามลำดับ
เนื่องจากบางอำเภอของจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่กว้างใหญ่ แม้ว่าการคมนาคมจะสะดวกง่ายดายแต่ก็ใช้เวลานานในการเดินทางติดต่อราชการ รวมถึงบางพื้นที่ได้มีมีประชากรหนาแน่นขึ้นและมีความเจริญมากขึ้นเป็นลำดับ จึงมีการเสนอโครงการจัดตั้งกิ่งอำเภอต่างๆในหลายพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 (ดังรูป 3) ดังนี้
ในช่วงปี พ.ศ. 2540-2545 หลังจากได้มีการจัดตั้งหน่วยงานราชการระดับจังหวัด เช่น เรือนจำจังหวัดเทิง ศาลจังหวัดเทิง สำนักงานอัยการจังหวัดเทิง สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงราย สาขาเทิง จึงได้มีกระแสการเสนอรณรงค์เพื่อเสนอโครงการจัดตั้งจังหวัดเทิงขึ้นโดยนักการเมืองในเขตอำเภอเทิง โดยใช้ชื่อที่ใช้ในการรณรงค์ในขณะนั้นว่า จังหวัดเทิงนคร โดยเสนอที่จะแยก อำเภอเทิง อำเภอเชียงของ อำเภอป่าแดด อำเภอพญาเม็งราย อำเภอขุนตาล และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ขึ้นเป็นจังหวัดใหม่ แต่โครงการนี้ได้เงียบไปแและเป็นที่กล่าวถึงใหม่เป็นระยะๆบนกระดานสนทนาต่างๆบนอินเทอร์เน็ต
หลังจากมีการก่อสร้าง สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ขึ้นที่อำเภอเชียงของ ในปี พ.ศ. 2554 และมีโครงการเชียงของเมืองใหม่ขึ้นมารับการพัฒนาที่จะตามมาตามทางหลวงเอเชียสาย 3 (AH3) หรือเส้นทาง R3A จึงมีแนวคิดที่จะเสนอโครงการจัดตั้งจังหวัดเชียงของ โดยแยกอำเภอเชียงแสน อำเภอดอยหลวง อำเภอเทิง อำเภอเชียงของ อำเภอป่าแดด อำเภอพญาเม็งราย อำเภอขุนตาล และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ขึ้นเป็นจังหวัดใหม่ และก่อให้เกิดข้อถกเถียงบนกระดานข่าวในอินเทอร์เน็ตอยู่ระยะหนึ่งหลังจากมีข่าวลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2554 อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวได้เงียบไปหลังจากนั้นไม่นาน
ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2554 จังหวัดเชียงรายแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 7 เขต มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 7 คน โดยแต่ละเขตแบ่งออกดังนี้