เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) เป็นมุสลิมชีอะหฺอิษนาอะชะรียะหฺ (สิบสองอิมาม) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2086 ณ ตำบลปาอีเนะชาฮาร ในเมืองกุม ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของศาสนาอิสลามตั้งอยู่บนที่ราบต่ำทางตอนเหนือของเตหะราน ในประเทศอิหร่าน
ในยุคสมัยที่ท่านเฉกอะหมัดเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยานั้น เป็นยุคที่โปรตุเกสเรืองอำนาจทางทะเลในแถบมหาสมุทรอินเดีย ทำให้พ่อค้าชาวพื้นเมืองต้องใช้เส้นทางขนส่งสินค้าทางบกเป็นช่วงๆ เส้นทางที่เป็นไปได้ในการเดินทางจากอิหร่านเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น คือเดินเท้าจากเมืองแอสตะราบาดเข้าสู่แคว้นคุชราตในอินเดียตะวันตก จากนั้น เดินเท้าตัดข้ามประเทศอินเดียมายังฝั่งตะวันออกทางด้านโจฬมณฑล จากนั้นลงเรือข้ามอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันมายังเมืองตะนาวศรีหรือเมืองมะริด แล้วจึงเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา
ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เฉกอะหมัดและบริวารได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนและห้างร้านค้าขาย อยู่ที่ตำบลท่ากายี ท่านค้าขายจนกระทั่งมีฐานะเป็นเศรษฐีใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา ท่านสมรสกับท่านเชย มีบุตร 2 คนและธิดา 1 คน ได้แก่
ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ท่านเฉกอะหมัดได้ช่วยปรับปรุงราชการกรมท่า จนได้ผลดี จึงโปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีเจ้ากรมท่าขวาและ จุฬาราชมนตรี นับได้ว่าท่านเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีและเป็นผู้นำพาศาสนาอิสลามนิกายชีอะหฺอิษนาอะชะรียะหฺ มาสู่ประเทศไทย ต่อมาท่านเฉกอะหมัดพร้อมด้วยมิตรสหาย ร่วมใจกันปราบปรามชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่ง ที่ก่อการจลาจล และจะยึดพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัด รัตนาธิบดี สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ
ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้า ฯ ให้ท่านเฉกอะหมัดซึ่งมีอายุ 87 ปี เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายกจางวางกรมมหาดไทย ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ พ.ศ. 2174 รวมอายุ 88 ปี ท่านเฉกอะหมัดนี้ท่านเป็นต้นสกุลของไทยมุสลิมหลายนามสกุลและสกุลบุนนาค เป็นต้นสกุลของเจ้าพระยาหลายท่านในระยะเวลาต่อมา อาทิ เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) เจ้าพระยาชำนาญภักดี (สมบุญ) เจ้าพระยาเพชรพิไชย (ใจ) และมีบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 3 ท่าน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ)สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) รวมทั้งเป็นต้นสกุลของสายสกุลที่มีความสำคัญปกครองประเทศตลอดมา สถานที่ฝังศพของท่านเฉกอะหมัด ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา