เจ้าแม่วัดดุสิต พระบรมราชบรรพบุรุษของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี พระองค์เป็นพระนมชั้นเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระราชทานสร้างวังมีตำหนักตึกที่ริมวัดดุสิดารามถวายพระองค์เจ้าพระนมนาง ดังนั้นจึงเป็นที่มาของคำว่า เจ้าแม่ดุสิต มีข้อสันนิษฐานมากมายเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดของเจ้าแม่วัดดุสิต เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานอย่างแน่ชัดว่าเจ้าแม่วัดดุสิตสืบเชื้อสายมาจากผู้ใด โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวไว้ในหนังสือโครงกระดูกในตู้โดยอ้างจากหนังสือราชินิกุลบางช้างไว้ว่า "เจ้าแม่วัดดุสิตมีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา ซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย" นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงพระนามของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ฟังคำบอกเล่าจากพระวันรัตน์(ฉิม)ว่า เจ้าฟ้าหญิงรัศมี และเจ้าฟ้าจีกเคยเล่าว่า สมเด็จพระเอกาทศรถแห่งราชวงศ์พระร่วง ได้อภิเษกสมรสกับราชธิดาของพระยาเกียรติ์ (ขุนนางชาวมอญที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) มีราชธิดา คือ เจ้าครอกบัว(หม่อมเจ้าบัว) และเจ้าครอกอำภัย (หม่อมเจ้าอำไพ) แต่ในหนังสือนี้ยังมีข้อความที่คลุมเครือระหว่างเจ้าครอกบัวและเจ้าครอกอำไพอยู่มาก ซึ่งทำให้สับสนว่า เจ้าแม่วัดดุสิตมีชื่อเดิมว่าอย่างไรกันแน่? บางแห่งกล่าวว่าชื่อ "หม่อมเจ้าหญิงบัว" มีเชื้อสายพระร่วงสุโขทัย บางแห่งก็กล่าวว่าชื่อ "หม่อมเจ้าหญิงอำไพ" เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเอกาทศรถ อย่างไรก็ตาม หลักฐานหลายแห่งก็ไม่ได้บ่งบอกว่าสายตระกูลของเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นสืบเชื้อสายมาจากเชื้อพระวงศ์สายไหนเช่นกัน แต่จากเอกสารพงศาวดารไทยหลายฉบับและของต่างประเทศเป็นที่ยืนยันว่าเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นมีตัวตนอย่างแน่นอน
ภายหลังมีความเปลี่ยนแปลงในราชสำนัก จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าและขึ้นทรงกรมที่ กรมพระเทพามาตย์ ตามลำดับในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นที่รู้จักกันดีในพระนาม "เจ้าแม่วัดดุสิต" ต่อมาภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าได้เอ่ยถึงเจ้าแม่วัดดุสิตในนาม "เจ้าแม่ผู้เฒ่า" รัชกาลที่ ๔ เคยมีพระราชหัตถเลขาถึงเซอร์จอห์น เบาว์ริง ทรงอ้างถึงต้นตระกูลชาวมอญหงสาวดี ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรหรือที่ทรงเรียกว่าพระนเรศร (King Phra Naresr) มายังกรุงศรีอยุธยา
"ในตอนนี้คนในตระกูลที่รับราชการเป็นทหารของพระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ติดตามมากับสมเด็จพระนเรศรด้วย แล้วตั้งหลักแหล่งอยู่ในอยุธยา"
ส่วนปัญหาที่ว่า เจ้าแม่วัดดุสิตนั้น เป็น "เจ้า" จริงหรือไม่นั้น อาจจะอนุมานได้จากคำพูดของสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งทรงใช้คำตรัสเรียกว่า "เจ้าแม่วัดดุสิต" คือเป็นพระนามโดยตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมนิยมแต่ก่อนจะไม่นิยมเรียกพระนามผู้เป็นเจ้ากันตรงๆ อย่างไรก็ดี อาจเป็นไปได้แต่เพียงว่า สมเด็จพระนารายณ์ตรัสเรียกให้เกียรติเสมอด้วย "เจ้า" ทั้งนี้เนื่องจากหลักฐานตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ขึ้นไป คือประเภทจดหมายเหตุชาวต่างประเทศ หรือพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับต่างๆ ไม่ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของเจ้าแม่วัดดุสิตรวมไปถึง "ความเป็นเจ้า" ของท่านแม้แต่น้อย